เปิด “เพลย์ลิสต์” ฉลองคิงชาลส์ครองราชย์ ไร้เงาศิลปินหญิงตัวท็อป

เปิด “เพลย์ลิสต์”  ฉลองคิงชาลส์ครองราชย์ ไร้เงาศิลปินหญิงตัวท็อป

ส่องเพลย์ลิสต์เฉลิมฉลองพิธีบรมราชาภิเษก “สมเด็จพระราชาธิบดีชาลส์ที่ 3” ทำเพื่อยกย่องศิลปินอังกฤษและเครือจักรภพ กลับมีเพียงเพลงของชายแท้อังกฤษ ความหลากหลายกลับหายไป

ใกล้เข้ามาทุกขณะแล้วสำหรับงานใหญ่หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่คนทั้งโลกต่างรอคอย กับงาน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระราชาธิบดีชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ที่มีขึ้นในวันที่ 6 พ.ค. 2566 ที่จะถึงนี้ ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ แอบบีย์ ในกรุงลอนดอน 

แต่ก่อนที่จะได้รับชมพระราชพิธีครั้งสำคัญนี้ กระทรวงวัฒนธรรม สื่อ และ กีฬา หรือ DCMS (The Department for Culture, Media and Sport) ในนามตัวแทนของราชวงศ์ได้คัดเลือก 26 บทเพลง จัดทำเป็นเพลย์ลิสต์บน Spotify 

เปิด “เพลย์ลิสต์”  ฉลองคิงชาลส์ครองราชย์ ไร้เงาศิลปินหญิงตัวท็อป

สำหรับการทำเพลย์ลิสต์เพลงนี้จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็น “แรงบันดาลใจ” ในการงานปาร์ตี้และงานเฉลิมฉลองตามท้องถนน โดยทั้ง 26 เพลงล้วนเป็นเพลงของศิลปินชาวอังกฤษและประเทศในเครือจักรภพ เริ่มต้นด้วยเพลง "Come Together" ของวง “The Beatles” ศิลปินระดับตำนานของอังกฤษ และจบด้วยเพลง "King" ของ “Years & Years” ศิลปินแนวอิเล็กโทรป๊อปขวัญใจวัยรุ่น ซึ่งเพลย์ลิสต์นี้ประกอบด้วยเพลงดังนี้

  • "Come Together" by The Beatles
  • "Daddy Cool" by Boney M. 
  • "A Sky Full of Stars" by Coldplay
  • "Let's Dance" by David Bowie
  • "Celestial" by Ed Sheeran
  • "One Day Like This" by Elbow
  • "Mr. Blue Sky" by Electric Light Orchestra 
  • "Starry Eyed" by Ellie Goulding
  • "Starlight" by Emeli Sandé
  • "Dance All Over Me" by George Ezra
  • "Slave To The Rhythm" by Grace Jones
  • "Treat People With Kindness" by Harry Styles
  • "Running Up That Hill (A Deal with God)" by Kate Bush 
  • "Our House" by Madness
  • "It’s A Beautiful Day" by Micheal Bublé
  • "All over the World" by Pet Shop Boys
  • "We are the Champions" by Queen 
  • "People Get Ready" by Jeff Beck, Rod Stewart
  • "SPACE MAN" by Sam Ryder
  • "Gold" by Spandau Ballet
  • "Say You’ll Be There" by Spice Girl
  • "Shine" by Take That
  • "Waterloo Sunset" by The Kinks
  • "Love Reign O’er Me" by The Who
  • "Green Green Grass Of Home" by Tom Jones
  • "King" by Years & Years
  • เพลงโดนถอดออกจากเพลย์ลิสต์

อย่างไรก็ตาม เดิมทีเพลย์ลิสต์นี้มีเพลงของ ดิซซี ราสคาล (Dizzee Rascal) แร็ปเปอร์ชาวอังกฤษรวมอยู่ด้วยแต่ไม่นานเพลงนี้ก็ถูกตัดออกอย่างรวดเร็ว เนื่องจากในปีที่แล้วราสคาลมีข่าวทำร้ายร่างกายคู่รักของเขา ซึ่งการกระทำนี้เป็นความผิดที่ร้ายแรง และขัดต่อพระราชกรณียกิจของของสมเด็จพระราชาธิบดีชาลส์ที่ 3 ที่ทรงเป็นผู้รณรงค์ต่อต้านความรุนแรงในครอบครัวมาอย่างยาวนาน

เช่นเดียวกับเพลง "I’m Gonna Be (500 Miles)" ของ “The Proclaimers” วงร็อคจากสกอตแลนด์ ก็โดนถอดออกจากเพลย์ลิสต์ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนว่าพวกเขาเป็นกลุ่มต่อต้านราชวงศ์ โดยชาร์ลี รีด หนึ่งในสมาชิกวง มักให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าสนับสนุนผู้ที่ต่อต้านระบบกษัตริย์ และต้องการให้สกอตแลนด์แยกตัวเป็นอิสระจากสหราชอาณาจักร

  • ความหลากหลายที่ถูกมองข้าม

โฆษกของ DCMS ระบุว่า เพลย์ลิสต์นี้เป็น "การเฉลิมฉลองศิลปินอังกฤษและเครือจักรภพก่อนที่พิธีบรมราชาภิเษกจะเกิดขึ้น" ดังนั้นเพลงทั้งหมดที่อยู่ในเพลย์ลิสต์นี้จึงมี “ชื่อเพลง” ไปในทางบวกและสื่อให้เห็นถึงวันที่สวยงามจากการมีกษัตริย์องค์ใหม่ รวมถึงการได้รับชัยชนะจากสงครามในอดีต ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับวิธีการเลือกเพลงในเพลย์ลิสต์นี้

เดวิด มูริควอนด์ จากสำนักข่าว Euro News ชี้ให้เห็นว่า DCMS ลืมไปว่าเครือจักรภพไม่ได้มีแค่สหราชอาณาจักร จากทั้งหมด 26 ศิลปิน มีเพียง 3 ศิลปินเท่านั้นที่ไม่ได้เป็นคนอังกฤษ คือ วง Boney M. เป็นชาวเยอรมัน-แคริบเบียน ขณะที่ไมเคิล บูเบล เป็นคนแคนาดา และ เกรซ โจนส์ มาจากจาเมกา แถมมีเพียง 4 ศิลปินที่เป็นคนผิวสี และมีผู้หญิงเพียงแค่ 6 ศิลปินเท่านั้น

ทั้งที่เพลย์ลิสต์นี้ควรจะเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางเชื้อชาติและเพศ จากศิลปินที่เกิดใน 54 ประเทศเครือจักรภพ แต่กลับกระจุกตัวอยู่แค่ศิลปินชายผิวขาวเท่านั้น ศิลปินหญิงหลายคนที่มีชื่อเสียงกลับไม่ได้อยู่ในลิสต์นี้ทั้ง ไคลีย์ มิโนค (ออสเตรเลีย), ริฮานนา (บาร์โบโดส), เออร์มา (แคเมอรูน) หรือแม้กระทั่งศิลปินหญิงแห่งยุคที่เป็นคนอังกฤษแท้ ๆ อย่าง อเดล และ ดูอา ลิปา กลับไม่ได้อยู่ในเพลย์ลิสต์นี้ 

อีกทั้งเกินกว่าครึ่งของเพลงในเพลย์ลิสต์เป็นเพลงเก่า มีผลงานของศิลปินยุคใหม่อยู่ไม่กี่เพลง 

เพลย์ลิสต์นี้ จึงนำมาสู่การตั้งคำถามว่า หรือสหราชอาณาจักรจะไม่ได้ใส่ใจประเทศในเครือจักรภพมากนัก แถมยังแสดงให้เห็นว่า ผู้มีอำนาจยังคงยึดติดกับวัฒนธรรมที่ถูกคัดกรองมาแล้ว แม้ในปัจจุบันความหลากหลายจะเข้ามามีบทบาทและแทบจะกลายเป็นเสียงข้างมากแล้วก็ตาม

นอกจากเพลย์ลิสต์นี้จะปรากฏใน Spotify แล้ว ยังถูกใส่ไว้ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วย ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่แนะนำว่าควรทำกิจกรรมอะไรบ้างสำหรับการเฉลิมฉลอง รวมถึงมีสูตรอาหารสำหรับงานปาร์ตี้ที่ได้เหล่าเชฟคนดังของอังกฤษคิดค้นสูตรเด็ดเคล็ดลับ ตลอดจนเมนู “Poulet Reine Elizabeth” ที่เป็นเนื้อไก่ปรุงรสด้วยเครื่องแกงของอินเดีย สามารถทานกับสลัด หรือ เป็นไส้แซนด์วิชก็ได้ โดยเมนูนี้ถูคิดค้นเพื่อเป็นเมนูฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อปี 1953

ขณะที่ พระราชวังบัคกิงแฮม กล่าวว่า "พิธีบรมราชาภิเษกจะสะท้อนถึงบทบาทของกษัตริย์ในปัจจุบันและมองไปยังอนาคต ในขณะที่มีรากฐานมาจากประเพณีและขบวนแห่ที่มีมาอย่างยาวนาน" ดังนั้นจึงคาดว่าจะงานในครั้งนี้ มีความหลากหลายและสั้นกว่างานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของควีนเอลิซาเบธในครั้งก่อนหน้า 

ส่วนคอนเสิร์ตในการเฉลิมฉลองพิธีจะนำทัพศิลปินโดยเคที เพอร์รี,วง Take That, ไลโอเนล ริชชี พร้อมด้วยศิลปินอีกมากมาย จัดขึ้นที่ ปราสาทวินด์เซอร์ ในช่วงเย็นวันที่ 7 พ.ค. ซึ่งก่อนหน้านี้สื่ออังกฤษหลายสำนักได้รายงานว่า เอลตัน จอห์น, อเดล, และแฮร์รี่ สไตลส์ ปฏิเสธที่จะขึ้นแสดงคอนเสิร์ตดังกล่าว

 

ที่มา: BBCEuro NewsThe GuardianTown And Country MagazineVariety