‘สภาการภาพยนตร์เกาหลี’ ทำงานอย่างไร เพื่อผลักดันหนังเกาหลีสู่ระดับโลก

‘สภาการภาพยนตร์เกาหลี’ ทำงานอย่างไร เพื่อผลักดันหนังเกาหลีสู่ระดับโลก

ชวนดูการทำงาน ‘สภาการภาพยนตร์เกาหลี’ ทำอย่างไรถึงสามารถผลักดัน ‘หนังเกาหลี’ ให้ได้มีที่ยืนในระดับโลก พร้อมแอบส่องราคาตั๋วหนัง และต้นทุนการสร้างหนังของที่นั่นว่าไปถึงไหนแล้ว

อย่างที่เราทราบกันดีว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์เกาหลีใต้เดินทางไปไกลถึงระดับโลกได้ก็คือการสนับสนุนและส่งเสริมอย่างเป็นระบบของภาครัฐ แล้วบังเอิญว่าผู้เขียนได้ไปอ่านเจอตัวอย่างการทำงานของ สภาการภาพยนตร์เกาหลี (Korean Film Council) หรือ KOFIC พิจารณาเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในบ้าน จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังว่าเขาทำงานกันอย่างไร

 

KOFIC ไม่ได้มีหน้าที่วางแนวนโยบายและกำกับดูแลอุตสาหกรรมภาพยนตร์แบบกว้าง ๆ เท่านั้น แต่ยังลงลึกไปในรายละเอียด เช่น ราคาตั๋ว คนชอบดูหนังแนวไหน ดูโรงอะไร โดยล่าสุดก็เพิ่งประกาศว่าตอนนี้ค่าตั๋วหนังโดยเฉลี่ยทะลุระดับ 10,000 วอน (ประมาณ 260 บาท) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์แล้ว

 

‘สภาการภาพยนตร์เกาหลี’ ทำงานอย่างไร เพื่อผลักดันหนังเกาหลีสู่ระดับโลก

ผู้กำกับปาร์ค ชาน-วุค รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ จากภาพยนตร์ Decision To Leave  / Credit : LOIC VENANCE / AFP

 

 

 

 

 

 

KOFIC เพิ่งเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับภาพรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้ ประจำปี 2022 ระบุว่าตอนนี้ค่าตั๋วหนังเกาหลีเฉลี่ยอยู่ที่ 10,285 วอน เท่ากับว่ามีการปรับเพิ่มขึ้น 6.5 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า ซึ่งราคาตั๋วหนังอยู่ที่ 9,656 วอน (ประมาณ 250 บาท)

 

พร้อมระบุด้วยว่าในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์เกาหลีใต้ได้ขึ้นค่าตั๋วไปแล้ว 3 ครั้ง ครั้งละ 1,000 วอน (ประมาณ 26 บาท) โดยอ้างว่าเพื่อหักลบตัวเลขขาดทุนจากโควิด

 

‘สภาการภาพยนตร์เกาหลี’ ทำงานอย่างไร เพื่อผลักดันหนังเกาหลีสู่ระดับโลก

 

KOFIC ยังวิเคราะห์ภาพรวมของหนังเกาหลีเอาไว้ว่าเมื่อปีที่แล้ว “หนังภาคต่อ” ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ตัวเลขบ็อกซ์ ออฟฟิศสูงขึ้น โดยหนังที่ทำรายได้สูงสุดประจำปี 2022 คือ The Roundup ซึ่งเป็นภาคต่อของ The Outlaws เมื่อปี 2017

 

                The Roundup สามารถดึงคนเข้าโรงหนังได้มากถึง 12.69 ล้านคน สร้างรายได้จากการขายตั๋วทะลุ 131,200 ล้านวอน นับเป็นหนังเรื่องแรกที่มีคนดูเกิน 10 ล้านคนนับตั้งแต่โควิดระบาด

 

                ส่วนอันดับ 2, 3 เป็นหนังภาคต่อจากฝั่งฮอลลีวู้ด คือ อวตาร The Way of War และ Top Gun: Maverick ขณะที่อันดับ 4, 5 เรื่อง Hansan: Rising Dragon และ Confidential Assignment 2: International ก็ยังคงเป็นหนังภาคต่ออีกเช่นกัน

 

‘สภาการภาพยนตร์เกาหลี’ ทำงานอย่างไร เพื่อผลักดันหนังเกาหลีสู่ระดับโลก

บรรยากาศหน้าโรงหนังแห่งหนึ่งในกรุงโซล / Credit : ANTHONY WALLACE / AFP

 

                KOFIC ยังตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า โรงหนังระดับพรีเมียมอย่าง 4-D, IMAX, ScreenX  และ Dolby Cinema ก็ขยายตัวเป็นอย่างมากเช่นกัน โดยรายได้รวมจากโรงเหล่านี้พุ่งทะลุ 126.4 พันล้านวอน เพิ่มขึ้นถึง 271.2 เปอร์เซ็นต์ จากเมื่อปี 2021 ส่วนจำนวนคนดูก็พุ่ง 252.2 เปอร์เซ็นต์ เป็น 8.65 ล้านคน

 

                เท่ากับว่ายอดขายตั๋วจากโรงภาพยนตร์พรีเมียมเหล่านี้คิดเป็น 10.9 เปอร์เซ็นต์ ของยอดขายตั๋วหนังในเกาหลีเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 5.6 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า

 

                ส่วนรายได้รวมของโรงภาพยนตร์ในเกาหลีใต้ปี 2022 อยู่ที่ 1.16 ล้านล้านวอน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 254.7 เปอร์เซ็นต์ ส่วนจำนวนคน “ตีตั๋วเข้าโรง” นั้นเพิ่มขึ้น 86.4 เปอร์เซ็นต์ เป็น 112.81 ล้านคน

 

แต่ตัวเลขเหล่านี้ยังคิดเป็นเพียง 60.6 เปอร์เซ็นต์ และ 49.8 เปอร์เซ็นต์ ของเมื่อปี 2019 ซึ่งเป็นปีก่อนโควิดระบาดเท่านั้น

 

KOFIC ยังเก็บข้อมูลเรื่องต้นทุนการสร้างหนังโดยละเอียด พร้อมให้ข้อมูลว่าปี 2022 มีหนังเกาหลี 36 เรื่องที่มีต้นทุน 3,000 ล้านวอนหรือมากกว่านั้น ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2021 ที่มีอยู่เพียง 19 เรื่อง แต่ยังมีสัดส่วนเพียง 80 เปอร์เซ็นต์ของปี 2019

 

ส่วนค่าโปรดักชั่นโดยเฉลี่ยของหนังเกาหลีอยู่ที่ 12,460 ล้านวอน (ประมาณ 300 ล้านบาท) แต่มีหนังเกาหลีที่ใช้ทุนสร้าง 3,000 ล้านวอนหรือมากกว่านั้น อยู่เพียง 7 เรื่องเท่านั้นที่ทำเงินได้ในระดับไม่ขาดทุน

 

รายละเอียดพื้นฐานเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นค่าตั๋ว ตัวเลขบ็อกซ์ ออฟฟิศ รสนิยมคนดูหนังในขณะนั้น ต้นทุนการก่อสร้าง หนังเรื่องไหนทำเงิน หนังเรื่องไหนขาดทุน ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ควรจะมีหน่วยงานเก็บข้อมูลแล้วรายงานออกมาให้ทราบ จะเป็นรายเดือน หรือรายไตรมาสก็ได้

 

เพื่อที่เราจะได้เห็นภาพรวมของทั้งระบบ และนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้พัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยของเราได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น