"บง" (봉) ที่เป็นมากกว่า บง! วัฒนธรรม "แท่งไฟ" ที่ซึมลึกในคอนเสิร์ต "K-POP"

"บง" (봉) ที่เป็นมากกว่า บง! วัฒนธรรม "แท่งไฟ"  ที่ซึมลึกในคอนเสิร์ต "K-POP"

ส่องพัฒนาการ “แท่งไฟ” หรือ “บง” (봉) อุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้สำหรับการดูคอนเสิร์ต “K-POP” แถมยังสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับค่ายเพลง จนวันนี้ “บง” เป็นได้มากกว่า “บง” ชนิดที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง

แสงไฟระยิบระยับสว่างไสวสีสันสวยงาม จาก “แท่งไฟ” (Light Stick) หรือ “บง” ที่ฉายแสงออกมาท่ามกลางกลุ่มแฟนคลับที่กำลังสนุกสนานและอิ่มเอมไปกับการแสดงคอนเสิร์ตของศิลปิน “K-POP” ที่พวกเขาหลงรัก เป็นหนึ่งในไอเท็มที่ขาดไม่ได้ในการไปดูคอนเสิร์ต ซึ่งนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นถึงการเป็นแฟนด้อมและการแสดงความรักที่มีต่อศิลปินแล้ว ยังช่วยให้การรับชมคอนเสิร์ตของแฟนคลับสนุกสนานมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสร้างรายได้ให้แก่ค่ายเพลงได้เป็นกอบเป็นกำ

 

  • จุดกำเนิดของแท่งไฟ

การแข่งขันอุตสาหกรรม K-POP ดำเนินมาอย่างยาวนานและดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ปีมีศิลปินหน้าใหม่เดบิวต์หลายสิบวง ดังนั้นค่ายเพลงจึงต้องหาทางสร้าง “อัตลักษณ์” ให้แก่ศิลปินของตนเอง เพื่อให้ผู้ชมจำได้ และไม่ถูกลืมเลือนไปจากความทรงจำของผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดแนวเพลง คอนเซ็ปต์ของวง ตราสัญลักษณ์ของวง ตำแหน่งของสมาชิกประจำวง สีประจำวง รวมไปถึงชื่อเรียกกลุ่มแฟนคลับ (แม้ว่าศิลปินในยุคหลัง ๆ ไม่ค่อยมีการกำหนดสีประจำวงและตำแหน่งของสมาชิกที่ชัดเจนแล้วก็ตาม)

หากจัดคอนเสิร์ตเดี่ยวของแต่ละวง ย่อมการันตีได้ว่าส่วนมากคนที่ไปดูคอนเสิร์ตจะเป็นแฟนคลับของศิลปินวงนั้น แต่ถ้าเป็นคอนเสิร์ตรวมศิลปิน แฟนคลับจะทำอย่างไรถึงจะให้ศิลปินของพวกเขาได้เห็นว่า มีแฟนคลับมาให้กำลังใจอยู่? 

ในระยะแรกนั้น เหล่าแฟนคลับได้หยิบเอาอัตลักษณ์ของศิลปินมาใช้เป็นสัญลักษณ์ให้ศิลปินได้เห็นว่ายังมีกลุ่มคนที่คอยสนับสนุนอยู่และให้กำลังอยู่เสมอ ผ่าน “ลูกโป่ง” ที่มีสีประจำวงเป็นตัวแทน เมื่อศิลปินมองลงมาจากเวทีจะได้เห็นเหล่าแฟนคลับที่อยู่บนอัฒจันทร์อย่างชัดเจน แม้ว่าพวกเขาจะนั่งอยู่บนจุดสูงสุด หรือที่เรียกว่า “ยอดดอย” ก็ตาม แต่วิธีนี้ก็ใช้ได้ดีกับงานกลางแจ้งเท่านั้น เพราะเมื่อเวลากลางคืนหรือในฮอลล์ที่ต้องปิดไฟระหว่างการแสดง ศิลปินไม่สามารถมองเห็นกลุ่มแฟนคลับได้ เพราะลูกโป่งไม่มีแสงสว่างในตัวเอง

ต่อมาจึงได้มีการคิดค้น “แท่งไฟ” (Light Stick) หรือที่เรียกกันจนติดปากในหมู่แฟนคลับว่า “บง” (봉) เปรียบเสมือนกับอุปกรณ์เชียร์ระหว่างดูคอนเสิร์ต ไม่แตกต่างจากสมัยก่อนที่ผู้ชมจุดไฟแช็ก หรือเปิดแฟลชจากสมาร์ทโฟนแล้วยกขึ้นโบกไปมาเพื่อมีส่วนร่วมกับศิลปินและให้พวกเขาได้เห็นว่ามีกลุ่มแฟนคลับที่คอยให้กำลังใจอยู่ตรงนี้

  • แท่งไฟ สินค้าทำรายได้ให้ค่าย

เพื่อให้บงมีลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ค่ายเพลงจึงใช้โอกาสนี้ในการออกแท่งไฟอย่างเป็นทางการขึ้นมาจากการนำอัตลักษณ์ต่าง ๆ ของศิลปินมารวมกัน ไม่ว่าจะเป็นตราสัญลักษณ์ของวง สีประจำวง ตลอดจนมีรูปทรงอันเป็นเอกลักษณ์ โดยแท่งไฟนี้ใช้ความสว่างจากหลอดไฟ LED ใช้พลังงานจากถ่ายแอลคาไลน์ขนาด AAA จำนวน 3 ก้อน และมีขนาดประมาณ 15-20 เซนติเมตร มีส่วนก้านให้จับได้ถนัดมือ โดยในปัจจุบันมีราคาเริ่มต้นประมาณ 1,200 บาท 

เนื่องด้วยราคาที่แสนมหัศจรรย์แบบนี้ แต่โอกาสใช้แทบจะไม่มี (โดยเฉพาะในต่างประเทศ) ทำให้แฟนคลับหลายคนคิดหนักว่าจะซื้อแท่งไฟนี้ดีหรือไม่ ค่ายเพลงจึงต้องแก้เกมด้วยการหา “ของแถม” มาล่อตาล่อใจแฟนคลับ ซึ่งก็คงหนีไม่พ้น “การ์ดไอดอล” แบบพิเศษที่จะได้ก็ต่อเมื่อซื้อแท่งไฟนี้เท่านั้น โดยมักจะมาในรูปของศิลปินถือแท่งไฟ ให้แฟนคลับได้นำไปสะสมกัน

เมื่อแท่งไฟอยู่รวมกันมากก็จะทำให้ทั้งฮอลล์จัดแสดงคอนเสิร์ตเต็มไปด้วยสีของวง ทำให้เกิดคำศัพท์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “Ocean” เปรียบเสมือนกับมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ที่มีสีสันต่าง ๆ กัน ส่วนเหตุการณ์ที่แฟนคลับพร้อมใจกันปิดไฟ เพื่อเป็นการแสดงออกว่าต่อต้านศิลปินคนนั้นจะเรียกว่า “Black Ocean” ซึ่งครั้งหนึ่งเกิดขึ้นกับวงเกิร์ลกรุ๊ปแห่งชาติอย่าง “Girls’ Generation” มาแล้ว

ในปัจจุบัน แท่งไฟไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่โบกให้กำลังใจศิลปินเท่านั้น เพราะแท่งไฟได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโชว์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อเปิดแท่งไฟขึ้นมา และทำการเชื่อมต่อผ่านแอปพลิเคชันของแท่งไฟ เพียงเท่านี้แท่งไฟก็จะเปลี่ยนสีไปตามการแสดงต่าง ๆ ในคอนเสิร์ตตามที่ได้ถูกเซ็ตติ้งไว้ ด้วยระบบส่งสัญญาณแบบบลูทูธ หรือ NFC ขึ้นอยู่กับบงแต่ละรุ่น

 

  • ลูกเล่นที่เป็นได้มากกว่า “แท่งไฟ”

นอกจากนี้ในบงรุ่นหลัง ๆ ยังสามารถเปลี่ยนสีได้อย่างหลากหลายตามต้องการ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สีของวงและสีขาวเท่านั้น อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนโหมดให้เป็นแบบกะพริบตามจังหวะได้อีกด้วย บางครั้งบงก็ทำหน้าที่มากกว่าบง เพราะสามารถใช้เป็นพาวเวอร์แบงก์ได้ด้วย รวมถึงสามารถปรับความสว่างได้ เพื่อใช้เป็นไฟฉายนำทางเวลาเดินกลับบ้านดึก ๆ หลังจากคอนเสิร์ตเลิก

เนื่องด้วยในปัจจุบันมีศิลปินเกิดขึ้นมากมาย ทำให้บางวงมีสีวงที่ซ้ำกัน ดังนั้นหลายวงจึงออกแบบแท่งไฟของตนเองให้มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ไม่ใช่แท่งไฟที่ให้ถือเฉย ๆ ไม่ว่าจะเป็น “อึงวอนบง” แท่งไฟของวง BigBang บอยแบนด์ตัวพ่อ ที่มาด้วยรูปทรงมงกุฎ (แต่หลายคนแซวว่าเป็นดอกบัว) และถือว่าเป็นแท่งไฟยุคแรก ๆ ของวงการ K-POP

ส่วน “อาร์มีบอมบ์” แท่งไฟประจำวง BTS บอยแบนด์อันดับ 1 ของโลก มาในรูปทรงระเบิด ขณะที่ แท่งไฟของสี่สาว BLACKPINK เกิร์ลกรุ๊ปแถวหน้าของวงการ เรียกว่า “บึลพิงก์บง” มีลักษณะสุดเก๋เป็นค้อนที่มีตัวด้ามสีดำ และหัวค้อนสีชมพูตามชื่อวง ด้าน “กะรัตบง” แท่งไฟของ SEVENTEEN มีลักษณะเป็นโดมและมีรูปเพชรอยู่ด้านใน โดยสามารถถอดโดมที่ครอบออกมา เพื่อทำการตกแต่งบงของตนเองได้อีกด้วย

"บง" (봉) ที่เป็นมากกว่า บง! วัฒนธรรม "แท่งไฟ"  ที่ซึมลึกในคอนเสิร์ต "K-POP"

(บนซ้าย) อึงวอนบง, (บนขวา) อาร์มีบอมบ์, (ล่างซ้าย) บึลพิงก์บง, (ล่างขวา) กะรัตบง

 

ขณะที่ “ไลท์ริง” ของ ITZY นั้นมาแปลกกว่าใคร เพราะมาเป็นลักษณะวงแหวน แถมยังใช้เป็นโคมไฟได้ด้วย จนทำเอาแฟนคลับงงตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็น ส่วน “รูนบง” ของ Golden Child มีลักษณะเป็นพินโบว์ลิงกลับหัวที่มีสีไฟหลากหลายสี ด้าน The Boyz มีแท่งไฟเป็นรูปโทรโข่งที่ใช้ชื่อว่า “ฮาร์ต บยอง บง

"บง" (봉) ที่เป็นมากกว่า บง! วัฒนธรรม "แท่งไฟ"  ที่ซึมลึกในคอนเสิร์ต "K-POP"

(บนซ้าย) ไลท์ริง ของ ITZY, (บนขวา) รูนบง, (ล่างซ้าย) ฮาร์ต บยอง บง, (ล่างขวา) เอ็นจีนบง

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ศิลปินทุกวงที่จะมีแท่งไฟเป็นของตนเอง ดังนั้นการที่ศิลปินมีแท่งไฟจึงการันตีได้ว่าพวกเขานั้นมีชื่อเสียงพอสมควร และมีแฟนคลับอยู่จำนวนหนึ่งที่เพียงพอจะทำแท่งไฟออกมาขายโดยไม่ขาดทุน และยิ่งมีแท่งไฟออกมาหลายรุ่นมากเท่าไหร่ก็ยิ่งแสดงว่าศิลปินเหล่านั้นมีชื่อเสียงมากขึ้นด้วย 

เห็นได้จากวงเกิร์ลกรุ๊ป fromis_9 ที่เดบิวต์มาเกือบ 5 ปีแล้วแต่เพิ่งจะประกาศมีบงเป็นของตนเอง เช่นเดียวกับวงบอยแบนด์ DKZ ที่กลายเป็นที่รู้จักอย่างมากเมื่อปีที่แล้วก็เพิ่งจะมี Light Ring เป็นของตนเอง ทั้งที่เดบิวต์มาตั้งแต่ปี 2561 ต่างจากวงเกิร์ลกรุ๊ปตัวท็อปจากเจน 4 ที่ปีแล้วทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมทั้ง “IVE” ผู้กวาดรางวัลเพลงแห่งปีจากเกือบทุกเวทีประกาศรางวัล และ “NewJeansแก๊งนมผงที่สร้างปรากฏการณ์มากมาย ก็ได้ประกาศแท่งไฟอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

"บง" (봉) ที่เป็นมากกว่า บง! วัฒนธรรม "แท่งไฟ"  ที่ซึมลึกในคอนเสิร์ต "K-POP" (ซ้าย) บงของ IVE, (ขวา) บงของ NewJeans

 

ในประเทศไทยที่วงการ T-POP กำลังกลับมาคึกคัก ศิลปินไทยบางส่วนก็เริ่มมีแท่งไฟเป็นของตนเองแล้ว เริ่มจาก “เป๊ก ผลิตโชค” ที่โด่งดังแบบสุดขีดจากการเป็น “หน้ากากจิงโจ้” ที่มีแท่งไฟออกมาแล้วถึง 2 เวอร์ชัน ตามมาด้วยวง “BNK48” วงเกิร์ลกรุ๊ปที่เปิดประตูวงการไอดอลไทย ก็มีแท่งไฟด้วยเช่นกัน หลังจากนั้นทั้งเกิร์ลกรุ๊ปรุ่นน้องอย่าง “4EVE” และ ศิลปิน-นักแสดงคู่จิ้นต่างมีแท่งไฟประจำด้อม ไม่ว่าจะเป็น “ไบร์ท วชิรวิชญ์-วิน เมธวิน” “พีพี กฤษฎ์” “บิวกิ้น พุฒิพงศ์” รวมถึงซีรีส์วายแห่งปี 2565 อย่าง “คินน์พอร์ช” ก็มีแท่งไฟเป็นของตัวเองด้วยเช่นกัน

"บง" (봉) ที่เป็นมากกว่า บง! วัฒนธรรม "แท่งไฟ"  ที่ซึมลึกในคอนเสิร์ต "K-POP"

(บนซ้าย) แท่งไฟของพีพี, (บนขวา) แท่งไฟของบิวกิ้น, (ล่างซ้าย) แท่งไฟคินน์พอร์ช, (ล่างขวา) แท่งไฟไบร์ทวิน

 

สำหรับ ประเทศไทยที่นิยมฟังเพลงจากบริการสตรีมมิงเป็นหลัก ไม่ได้เน้นซื้ออัลบั้มเหมือนกับตลาดเพลงประเทศอื่น ๆ การทำสินค้าที่ระลึก รวมไปถึงแท่งไฟ ออกมาขาย จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหาเงินเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ แต่สำหรับวงการ K-POP แล้ว แท่งไฟเปรียบเสมือนสิ่งที่แสดงความรักของแฟนคลับที่มีต่อศิลปิน ดังนั้นจึงเป็นไอเท็มที่ทุกคนต้องมี แต่ไม่ใช่เรื่องผิดถ้าคุณจะไปดูคอนเสิร์ตแล้วไม่มีบง ขึ้นอยู่กับการประเมินความคุ้มค่าและกำลังทรัพย์ที่มี

 

ที่มา: AkerufeedBe CommonHikocoKorea HeraldMashablThe Soul of Seoul