“Mean Girls” หนังวัยรุ่นสุดแสบยุค 2000 เสียดสีสังคมที่เด็กรุ่นนี้อาจไม่รู้

“Mean Girls” หนังวัยรุ่นสุดแสบยุค 2000 เสียดสีสังคมที่เด็กรุ่นนี้อาจไม่รู้

รู้หรือไม่? วันที่ 3 ต.ค. 65 ถูกกำหนดให้เป็น “Mean Girls Day” ภาพยนตร์แนวชีวิตไฮสคูลสุดจี๊ดในช่วงยุค 2000 ที่หลายคนยังคงนึกถึง ด้วยเนื้อเรื่องสุดแสบเสียดสีสังคมวัยรุ่นในยุคอดีตซึ่งมาพร้อมกับเสื้อผ้าหน้าผมสุดปัง

“Mean Girls” ภาพยนตร์วัยรุ่นชื่อดังแห่งยุค 2000 ที่เล่าถึงการใช้ชีวิตของ เคดี้ เฮรอน (แสดงโดย “ลินด์เซย์ โลฮาน”) วัยรุ่นสาววัย 16 ปี ที่ย้ายมาจากแอฟริกาและเรียนที่บ้าน (Home School) มาโดยตลอด เนื่องจากพ่อแม่ของเธอทำงานเป็นนักสัตววิทยาที่ต้องลงพื้นที่ทำงานต่างประเทศอยู่เป็นประจำ ทำให้เธอไม่เคยได้สัมผัสการใช้ชีวิตในโรงเรียนหรือสังคมเพื่อนมาก่อน 

แต่การย้ายมาเรียนในเมืองครั้งนี้กลับทำให้ชีวิตของเธอต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล เมื่อเธอได้รู้จักกับ “แก๊งพลาสติก” สามสาวสุดเริ่ดที่ถือได้ว่าเป็นตัวแม่ของโรงเรียน ประกอบด้วย เรจิน่า จอร์จ หรือ ควีน บี ผู้เป็นหัวหน้ากลุ่ม, เกร็ตเชน วีเนอร์ส เด็กสาวผู้มีบุคลิกไม่น่าไว้วางใจแต่มีฐานะร่ำรวย และ แคเรน สมิธ เด็กสาวผู้มีรูปลักษณ์ภายนอกน่ารักแต่ไม่ฉลาด

แม้ว่าในช่วงแรก เคดี้ จะยังอยู่กับกลุ่มเพื่อนปกติ ได้แก่ ​​เจนีส เลน และ เดเมียน แต่หลังจากนั้นไม่นานทั้ง 2 วางแผนที่จะทำลายแก๊งพลาสติกเนื่องจากมองว่าสามสาวนั้น วางตัวเป็นอันธพาล ใช้อำนาจข่มเหงรังแกคนที่ด้อยกว่า ซึ่งมีคนตกเป็นเหยื่อหลายคน ทั้งหมดจึงวางแผนให้ คาดี้ ลอง เข้าไปตีสนิทกับแก๊งพลาสติกและใช้เวลาไม่นานก็ได้ผลเมื่อทั้งสามสาวสนใจในตัวเคดี้ แม้จะมองว่าเธอเป็นพวกบ้านนอกเนื่องจากย้ายมาจากแอฟริกาก็ตาม 

แต่นานวันเข้า แทนที่จะทำลายแก๊งพลาสติกตามแผน แต่กลับกลายเป็นเคดี้เสียเองที่ถูกความเป็นพลาสติกกลืนกิน และเริ่มมองว่าตัวเองอยู่เหนือคนอื่น จนผลสุดท้ายทำให้เกิดความวุ่นวายไปทั้งโรงเรียน และบทสรุปของเรื่องราวทั้งหมดในตอนจบ ผู้ชมที่เป็นแฟนคลับของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คงจะรู้กันอยู่แล้ว

ทำไมวันที่ 3 ตุลาคม ถึงถูกเลือกให้เป็น “วันมีนเกิร์ล” ?

แน่นอนว่าเมื่อเข้าไปในโรงเรียนสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเด็กสาวหลายคนคือการปิ๊งรุ่นพี่ผู้ชายเจ๋งๆ สักคน ซึ่งเคดี้เองก็รู้สึกแบบนี้กับรุ่นพี่คนหนึ่งที่เจอกันในคาบคณิตศาสตร์อย่าง แอรอน ซึ่งเขาได้ถามเขาว่า “วันนี้วันที่เท่าไร” และเธอตอบกลับไปว่า “3 ต.ค.” ทำให้เคดี้รู้สึกใจฟูเพราะได้คุยกับคนที่ชอบ 

แต่เธอก็ดีใจได้ไม่นานเมื่อรู้ว่าแอรอนคือแฟนเก่าของเรจิน่า นั่นหมายความว่า เธอแทบจะไม่มีสิทธิ์สมหวังเลย แต่หลังจากนั้นเพียงไม่นานเธอก็ได้รับคำเชิญจากควีนบีอย่างเรจิน่าให้มาร่วมโต๊ะอาหารกลางวันด้วยตลอดสัปดาห์พร้อมกับคำพูดที่ทำให้เธอรู้สึกพิเศษอย่าง “เราไม่ได้ทำอย่างนี้บ่อยๆ”

จากฉากดังกล่าวนี้เองที่ นำไปสู่การกำหนดให้ทุกๆ วันที่ 3 ต.ค. คือวัน “Mean Girls Day” หรือ วัน Mean Girls เพื่อเฉลิมฉลองให้กับภาพยนตร์เรื่อง “Mean Girls” ในปี 2004 ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในสื่อโซเชียลมีเดียที่มีการนำมุกต่างๆ จากหนังเรื่องนี้มาทำเป็นมีมและใช้โพสต์ถึงเพื่อนๆ ในวันที่ 3 ตุลาคมของทุกปี Mean Girls จึงกลายเป็นลัทธิคลาสสิก ที่วัยรุ่นอเมริกันยังใช้คำพูดที่เป็นสัญลักษณ์บางอย่างของภาพยนตร์เรื่องนี้ เช่น “That's so fetch !” เป็นต้น

“แก๊งพลาสติก” ตัวแทน “อำนาจ” ของโลกวัยทีน

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า ในเรื่องนี้มีตัวละครเด่นคือ สาวสวยสุดแซ่บ(แสบ) ทั้ง 3 คนอย่าง  เรจิน่า, เกร็ตเชน และ แคเรน ที่ไม่ว่าจะเยื้องกรายไปที่ไหนก็มักจะมีแต่ผู้คนเข้ามาทักทายด้วยความชื่นชมรักใคร่ผสมกับความหวาดกลัวว่า เพราะถ้าหากใครทำอะไรไม่ถูกใจพวกเธอขึ้นมาจะต้องถูกเล่นงานแน่ๆ

ในภาพยนตร์จะมีฉากที่ตัดสลับมาเป็นเหมือนการสัมภาษณ์ตัวละครในเรื่องว่าเคยถูกแก๊ง 3 สาวแสบกระทำกับตนเองอย่างไรบ้าง ซึ่งมีทั้งโดนทำร้ายด้วยคำพูดและการทำร้ายร่างกาย แต่กลับไม่มีใครกล้าลุกขึ้นสู้เพราะไม่อยากให้ปัญหาบานปลาย เนื่องจากเกรงกลัวในอำนาจของนักเรียนนิสัยเสียกลุ่มนี้

ไม่ใช่แค่ข่มเหงรังแกนักเรียนคนอื่นๆ นอกแก๊งเท่านั้น แต่ในแก๊งพลาสติกเอง หัวหน้าแก๊งก็ตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาให้ทุกคนในแก๊งต้องทำตามอย่างไม่มีเงื่อนไข แม้ว่าจะเป็นกฎที่ดูไม่ค่อยมีเหตุผล เช่น ทุกวันพุธเราจะใส่สีชมพู, รวบผมได้สัปดาห์ร์ละครั้ง, ใส่ยีนส์ได้สัปดาห์ละครั้ง, ถ้าสนใจใคร หรือจะใส่อะไรต้องปรึกษาเพื่อนๆ ก่อน และ ห้ามคบกับแฟนเก่าเพื่อน ฯลฯ

ฉากต่างๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรม “บูลลี่” และพฤติกรรมชอบ “ควบคุมผู้อื่น” ของเด็กวัยรุ่นที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไฮสคูลอเมริกัน จนถึงปัจจุบันเชื่อว่ายังมีหลายๆ โรงเรียนที่ยังคงประสบกับปัญหาเหล่านี้อยู่ และเป็นเรื่องที่แย่เมื่อเราค้นพบว่าปัญหา “บูลลี่” นี้มีมานานเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ก็ยังคงแก้ไขปัญหานี้ให้หมดไปจากสังคมไฮสคูลไม่ได้ 

ทั้งนี้ มีอีกหลายๆ ฉากในหนังเรื่องนี้ที่หยิบยกเอาพฤติกรรมกลั่นแกล้งแรงๆ ของเหล่าวัยรุ่นตัวแสบมานำเสนอให้เห็นถึงความรุนแรงของผู้กระทำ และผลเสียที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็น

  • ฉากที่เรจิน่าพร้อมลูกสมุนสาวๆ ขับรถเปิดประทุนมาตะโกนเรียก เคดี้ ที่กำลังเดินกลับบ้านว่า “ขึ้นมาเร็วนังบ้านนอก เราจะไปช้อปปิ้งกัน” ทำให้เคดี้จำใจต้องไปด้วยเพราะไม่อยากรู้สึกแปลกแยก ทั้งๆ ที่เธอก็ไม่ได้รู้สึกดีที่ถูกเรียกว่านังบ้านนอก
  • ฉากที่เกร็ตเชน เห็น “เจสัน” แฟนเก่าของเธอกำลังไปเดตกับแฟนใหม่ที่ศูนย์การค้า ด้านเรจิน่าผู้เป็นหัวหน้าแก๊งก็ไม่รอช้า รีบจัดการให้ทันทีโดยการโทรไปหาแม่ของผู้หญิงคนนั้นพร้อมแจ้งว่าเธอฝากครรภ์ไว้กับคลินิกวางแผนครอบครัว ทำให้แฟนสาวคนใหม่ของเจสันต้องมีปัญหากับครอบครัว

“เบิร์นบุ๊ก” ภัยคุกคามโลกวัยทีน

อีกฉากหนึ่งที่ถือว่าเป็นไคลแม็กซ์และจุดแตกหักของเรื่องราวทั้งหมดในหนังเรื่องนี้ นั่นคือ ฉากเปิดตัว “เบิร์นบุ๊ก” ซึ่งเป็นสมุดรายชื่อและภาพที่เอามาจากหนังสือรุ่นพร้อมกับข้อความเสียดสีและใส่ร้าย เปรียบเสมือกับ Fake News และ Twitter ในปัจจุบัน เพราะเหมือนเป็นพื้นที่ที่จะใส่ร้ายป้ายสีโจมตีใครอย่างไรก็ได้ เพราะสมุดถูกเก็บซ่อนไว้และเชื่อว่าเจ้าตัวคงไม่มีทางรู้ โดยเหยื่อในสมุดนั้นมีตั้งแต่ครูใหญ่ ครู และนักเรียนเกือบทั้งชั้น ม.5

โดยผลกระทบของเจ้าเบิร์นบุ๊กดังกล่าว ได้ส่งผลเสียไปถึงตัวละครทุกๆ ตัวในภาพยนตร์ รวมถึงตัวนางเอกของเรื่องด้วย ขณะที่เนื้อเรื่องดำเนินมาถึงช่วงที่เคดี้เริ่มถูกกลืนกินและออกห่างจากชีวิตความเป็นจริง ออกห่างจากเพื่อนเก่า ไม่สนใจการฝึกซ้อมแข่งขันคณิตศาสตร์ที่เธอเป็นตัวแทนโรงเรียน และเธอก็เริ่มกลายเป็นจอมวางแผนผู้ร้ายกาจ ลงมือกำจัดเรจิน่าออกไปจากแก๊งด้วยการบูลลี่และหลอกลวงต่างๆ นานา 

แต่ในที่สุด เรจิน่าจับได้ว่าเคดี้กลั่นแกล้งเธอจนต้องออกจากกลุ่ม เธอจึงอยากแก้แค้นเคดี้และทุกคนในแก๊ง ด้วยการเอาสมุด “เบิร์นบุ๊ก” ที่มีข้อความเสียดสีและใส่ร้ายทุกคนในโรงเรียน ไปถ่ายเอกสารโปรยทั่วโรงเรียนและที่สำคัญเธอใส่ตัวเองลงไปในนั้นด้วยเพื่อให้ดูน่าสงสารก่อนจะนำไปให้ครูใหญ่ และใส่ความว่าเป็นฝีมือของเคดี้ การที่เบิร์นบุ๊กแพร่กระจายไปทั่วโรงเรียนนั้นทำให้นักเรียนทุกคนคลุ้มคลั่งเพราะต่างก็คิดว่าเพื่อนหรือคนใกล้ตัวเป็นคนนำความลับของตนไปเผยแพร่ จนสุดท้ายนักเรียนทุกคนถูกกักตัวและปรับทัศนคติอยู่ในโรงยิม

สปริงฟลิง คิงและควีน เมื่อตำแหน่งเป็นของทุกคน

 หลังการปรับทัศนคติผ่านไปด้วยการให้นักเรียนแต่ละคนต่อแถวกันขึ้นมาพูดความในใจ หรือกล่าวคำขอโทษต่อเพื่อนที่เคยทำตัวไม่ดีใส่กัน แล้วทิ้งตัวลงมาให้เพื่อนที่อยู่ข้างล่างอุ้มรับเอาไว้ แต่ในวันเดียวกันนั้นกลับกลายเป็นเรจิน่าเองที่ถูกรถบัสชนขณะกำลังเดินข้ามถนนมาต่อว่าเคดี้ 

หลังจากนั้นเคดี้ได้ปรับความเข้าใจกับเจนีสและเดเมียน กลับมาทุ่มเทให้กับการแข่งขันจนสามารถคว้าชัยชนะในระดับรัฐกลับมาได้ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่โรงเรียนจัดงานสปริงฟลิง และเธอเพิ่งรู้ตัวว่ามีชื่อเข้าประกวดด้วย และเธอก็ได้รับรางวัลพร้อมสวมมงกุฎประจำตำแหน่ง แต่เธอกลับหักมงกุฎนั้นแล้วแบ่งเป็นหลายส่วนเพื่อแจกให้ผู้เข้าประกวดคนอื่นอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเกร็ตเชน และ เรจิน่า รวมถึงเพื่อนร่วมชั้นคนอื่น พร้อมให้เหตุผลว่าตำแหน่งนี้ควรจะเป็นของทุกคน เพราะทุกคนต่างตั้งใจแต่งหน้าทำผมมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ นั่นคือเหตุผลที่ควรครองมงกุฎร่วมกัน ซึ่งหนังก็จบลงด้วยการที่ตัวละครแต่ละคนต่างก็รู้สึกสำนึกผิดและกลับตัวกลับใจมาเป็นคนดี

พูดได้ว่า Mean Girls คือหนึ่งในหนังวัยทีนขึ้นหิ้งที่สอนให้หลายคนเข้าใจถึงโลกของวัยรุ่น การดูถูกเหยียดหยาม การหักหลัง ความรักในวัยเรียน การเข้าอกเข้าใจผู้อื่น และนับตั้งแต่วันออกฉายจนถึงวันนี้เป็นเวลานานถึง 18 ปี ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังคงครองใจวัยรุ่นมาแล้วทุกยุค รวมถึงถูกนำไปเป็นแรงบันดาลใจในการทำมิวสิกวิดีโออีกหลายเพลง รวมถึงมีเพจที่นำฉากในเรื่องมาดัดแปลงให้เข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองด้วยมุขตลบขบขัน รวมถึงตัวร้ายสุดเปรี้ยวอย่าง เรจิน่า เอง ก็เป็นต้นฉบับของตัวร้ายในหนังวัยรุ่นยุคหลังอีกมากมาย

นั่นเพราะ Mean Girls เป็นหนังวัยรุ่นที่มีอะไรมากกว่าหนังวัยรุ่นทั่วๆ ไป ยังไงล่ะ ตัวแสบ!

อ้างอิงข้อมูล : มูลนิธิยุวพัฒน์, The Modenrnist และ Vogue