วันดินโลก ยูเนสโกก่อตั้งจากพระอัจฉริยภาพ รัชกาลที่ 9 ทรงจัดการทรัพยากรดิน

วันดินโลก ยูเนสโกก่อตั้งจากพระอัจฉริยภาพ รัชกาลที่ 9 ทรงจัดการทรัพยากรดิน

ที่มาของ “วันดินโลก” สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ เทิดพระเกียรติพระอัจฉริยภาพ “รัชกาลที่ 9” ทรงจัดการทรัพยากรดินเป็นที่ประจักษ์ ขอพระราชทานวันที่ 5 ธันวาคมเป็น วันดินโลก (World Soil Day) นับแต่ปี 2555 เป็นต้นมา

ย้อนกลับไปในปีพ.ศ.2493 หลังจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  (รัชกาลที่ 9) เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงตัดสินพระราชหฤทัยทรงงานในเรื่องการพัฒนาในทันที ด้วยการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในต่างจังหวัดและทุกสภาพพื้น ไม่ว่าจะยากลำบากทุรกันดารอย่างไร พระองค์ก็เสด็จไปจนถึง

"การเสด็จฯ ต่างจังหวัดทุกพื้นที่ ทำให้ทรงรับรู้ถึงปัญหาของเกษตรกรชนบทห่างไกล ก็คือ ความยากจนแร้นแค้น เนื่องจากประกอบอาชีพทางการเกษตรไม่สัมฤทธิ์ผล ขาดน้ำ ทรงเห็นด้วยสายพระเนตรของพระองค์เอง" ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

ประกายแห่งความสนพระราชหฤทัยเรื่อง ดิน ได้ริเริ่มตั้งแต่ครั้งพระองค์เสด็จประพาสพื้นที่ เขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปีพ.ศ.2506
 

เวลานั้น สิริพงศ์ บุญหลง ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่กับ FAO (Food and Agriculture Organization of the United Nations : องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ) และมีตำแหน่งอยู่ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ได้นำ มร.แฟรงค์ อาร์ มอร์แมน (Dr.Frank R. Moormaan) นักวิทยาศาสตร์ดินชาวฮอลแลนด์จาก FAO เข้าเฝ้าฯ ณ เขาเต่า

"ดร.มอร์แมนได้เจาะ ดิน ถวายให้ทอดพระเนตร และถวายรายงานให้ทรงทราบว่า ดินบริเวณนี้ไม่ดี เป็นทั้งดินเปรี้ยวและดินเค็ม ทำให้ทรงรู้จักดินประเภทนี้ตั้งแต่ตอนนั้น และทรงให้ความสนใจเรื่องดินมากขึ้นหลังจากดร.มอร์แมนได้อธิบายให้ทรงทราบถึงความแตกต่างของดินประเภทต่างๆ  รวมทั้งส่วนที่ไม่ควรเรียกว่าดินด้วย" ศ.พิเศษสันทัด โรจนสุนทร ราชบัณฑิต กล่าว

วันดินโลก ยูเนสโกก่อตั้งจากพระอัจฉริยภาพ รัชกาลที่ 9 ทรงจัดการทรัพยากรดิน

เสด็จพระราชดำเนินทำพิธีเจิมเสาเข็มพืดท่อระบายน้ำ เขาเต่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2506

วันดินโลก ยูเนสโกก่อตั้งจากพระอัจฉริยภาพ รัชกาลที่ 9 ทรงจัดการทรัพยากรดิน สภาพพื้นที่ในอดีตและปัจจุบันของโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่าฯ

"สมัยก่อน กรมพัฒนาที่ดิน มี 'กองสำรวจดิน' เพื่อสำรวจดินทั่วประเทศ รัชกาลที่ 9 ทรงใช้หน่วยงานนี้เข้าไปสำรวจและศึกษาสภาพดิน เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็จะถวายรายงาน จากนั้นทรงวินิจฉัยว่า จุดไหนทำการเกษตรได้ จุดไหนควรแก้ไข ซึ่งบางจุดอาจกินพื้นที่ถึง 300-500 ไร่" สมพงษ์ ถีรวงศ์ อดีตอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งเคยถวายงาน บันทึกไว้ในหนังสือ 'แม่อยากให้เธออยู่กับดิน'

การสำรวจดินโดย กรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการสำรวจด้วยระบบอนุกรมวิธานดิน ตามมาตรฐานกระทรวงเกษตร ประเทศสหรัฐฯ ทำให้มีข้อมูลดินของประเทศไทยมากมาย เรียกว่า ชุดดิน แบ่งเป็นกลุ่ม ดินดี เช่น ชุดดินบางกอก ชุดดินท่าเรือ ชุดดินนครปฐม ชุดดินกำแพงแสน ชุดดินโคกกระเทียม ฯลฯ และกลุ่ม ดินมีปัญหา เช่น ชุดดินจันทึก ชุดดินสกล ชุดดินห้วยยอด ชุดดินกุลาร้องไห้ ชุดดินนราธิวาส ฯลฯ 

ชุดดินแต่ละกลุ่ม แสดงข้อมูลและแสดงตัวอย่างดินของจริงที่ขุดลึกลงไป 117 เซนติเมตรไว้ในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำให้เห็นทั้งสี ลักษณะการเรียงตัว ความหนาแน่น องค์ประกอบของเนื้อดิน อินทรีย์วัตถุ ระบุค่าความเป็นกรด-ด่าง ความเสื่อมโทรม ฯลฯ จึงทำให้ทราบว่าดินแต่ละประเภทเหมาะสำหรับปลูกพืชชนิดใด หรือต้องหาวิธีปรับปรุงแก้ไขดินอย่างไรเพื่อให้เพาะปลูกได้ หรือใช้ผืนดินนั้นๆ ให้เหมาะกับประโยชน์แบบใด

สภาพดินที่มีปัญหาต่อการทำการเกษตรของชาวบ้านนี้เองที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงแบกรับไว้เพื่อหาวิธีแก้ไขผ่านโครงการพระราชดำริต่างๆ

"โครงการของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งหมด ไม่ว่าจะชี้ไปที่ไหน เป็นดินที่มีปัญหาทั้งนั้น การเข้าไปแก้ปัญหาเรื่องดินอย่างจริงจัง จึงแสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน" รศ.พิเศษ เล็ก มอญเจริญ อดีตข้าราชการกรมพัฒนาที่ดิน ที่เคยถวายงานสนองพระบาทตั้งแต่ยุคแรกๆ ของโครงการพระราชดำริหนองพลับ-กลัดหลวง กล่าว

วันดินโลก ยูเนสโกก่อตั้งจากพระอัจฉริยภาพ รัชกาลที่ 9 ทรงจัดการทรัพยากรดิน โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ จากพระตำหนักสู่โครงการเพื่อเกษตรกร

โครงการพระราชดำริที่เป็นตัวอย่างของการเข้าถึงแก่นกลางของปัญหาความเสื่อมโทรมของดินแห่งหนึ่ง คือ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (จังหวัดฉะเชิงเทรา) ซึ่งราษฎรได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน จำนวน 264 ไร่ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2522 เพื่อสร้างพระตำหนัก

แต่พื้นที่ดังกล่าว ราษฎรใช้ปลูกมันสำปะหลังต่อเนื่องหลายสิบปี โดยปราศจากการทำนุบำรุงดินที่เหมาะสม สภาพดินทั่วไปในวงวิชาการเรียกว่า ชุดดินสัตหีบ หรือ ชุดดินจันทึก ดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ อุ้มน้ำได้น้อย ปลูกอะไรก็ไม่ค่อยขึ้น

ก่อน พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จะทรงรับเอาที่ดินเข้าไว้ในโครงการ ทรงถามราษฎรที่น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินว่า หากไม่สร้างตำหนัก แต่สร้างเป็นสถานที่ศึกษาเกี่ยวกับการเกษตรจะเอาไหม เมื่อราษฎรตอบว่ายินดียิ่ง จึงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า

“ถ้าหากบอกว่าดินไม่ดี ไม่ช่วย ไม่ทำ ลงท้ายประเทศไทยทั้งประเทศจะกลายเป็นทะเลทรายหมด” 

ในเอกสารที่พระราชทานแก่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการพระราชดำริ(กปร.) ทรงบันทึกและวิเคราะห์อย่างแยบยล เป็นแนวทางพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ความว่า

“เป็นดินทราย มีแร่ธาตุน้อย ที่ดินที่อยู่ในร่องห้วย มีคุณภาพพอใช้ได้ ไม่มีปัญหามาก ใช้ปุ๋ยตามปกติ ที่บนเนินปรากฏว่าเป็นทราย ดินดาน และหิน ต้องปลูกหญ้าตามแนวระดับ เพื่อยึดดินและให้เกิดปุ๋ยอินทรีย์ ดิน(ทราย)ที่ไม่ปลูกหญ้า ถูกชะล้างเมื่อฝนตก ปลูกต้นไม้นานาชนิดเพื่อรักษาความชุ่มชื้น”

วันดินโลก ยูเนสโกก่อตั้งจากพระอัจฉริยภาพ รัชกาลที่ 9 ทรงจัดการทรัพยากรดิน

แหล่งน้ำโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ

ก่อนดำเนินการปรับปรุงบำรุงดิน ทรงให้เริ่มต้นด้วยการสร้างแหล่งน้ำ โดยมีพระราชดำรัสว่า

“ก่อนอื่นได้สร้างเขื่อนห้วยเจ๊ก ซึ่งมีน้ำซับ(พิกัด QR.715208) เมื่อไปทำพิธีเปิดพระบรมรูปสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ที่วัดเขาหินซ้อน ได้ไปสำรวจพื้นที่และกำหนดที่ทำเขื่อน(8 สิงหาคม 2522) ต่อจากนั้นได้สร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติม(นอกเขต) คืออ่างห้วยสำโรงเหนือและห้วยสำโรงใต้...

เมื่อพัฒนาน้ำขึ้นมาบ้างแล้ว ก็เริ่มปลูกพืชไร่ และเลี้ยงปลาในที่ลุ่ม ส่วนที่อยู่บนเนินก็เลี้ยงปศุสัตว์ ปลูกหญ้า และต้นไม้ผลและป่า การเลี้ยงปศุสัตว์ ปลูกหญ้า และต้นไม้นี้ จะทำให้ดินมีคุณภาพดีขึ้น ในที่สุดจะใช้ที่ดินได้ทั้งหมด กรรมวิธีนี้อาจต้องใช้เวลานาน จะสามารถเปลี่ยนจากกระบวนการที่ไปทางเสื่อม มาเป็นทางพัฒนาให้เป็นพื้นที่สมบูรณ์.."

ผลของการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ ทำให้ ศูนย์พัฒนาเขาหินซ้อน เป็นที่รู้จักในเรื่องการพัฒนา ดินในพื้นที่ยอดแย่ ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์หรือดีกว่าเก่าได้เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,500 ไร่ บังเกิดคุณูปการแก่พสกนิกรทั้งในและนอกพื้นที่

วันดินโลก ยูเนสโกก่อตั้งจากพระอัจฉริยภาพ รัชกาลที่ 9 ทรงจัดการทรัพยากรดิน ผลสำเร็จของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (จังหวัดนราธิวาส)

กรณี ดินเปรี้ยว เป็นโจทย์ยากที่สุดโจทย์หนึ่งของการปรับปรุงดิน แต่พระองค์ทรงทำให้กลายเป็นเรื่องเข้าใจง่ายด้วยทฤษฎีที่ทรงเรียกว่า แกล้งดิน ทรงใช้ทฤษฎีนี้บำบัดทุกข์ให้เกษตรกร โดยเริ่มทดลองที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (จังหวัดนราธิวาส) เดิมทรงต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมพื้นที่ 'พรุ' ซึ่งเป็นอ่างกระทะ เวลาน้ำมากก็ล้นท่วมขอบพรุที่ชาวบ้านอาศัยอยู่

"พอดี ดร.มอร์แมน เข้าเฝ้าฯ และได้กราบบังคมทูลกับในหลวงว่า พื้นที่พรุมีศักยภาพที่จะเกิดกรดอยู่ตลอดเวลาถ้าระบายน้ำออกไป เนื่องจากมีแร่กำมะถันอยู่ข้างล่าง สารพวกนี้ถ้าน้ำแห้งแล้วโดนอากาศเมื่อไหร่จะทำปฎิกิริยากัน ทำให้ดินเปรี้ยว ท่านทรงทราบเรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่ได้ลึกเท่าไหร่ ท่านจึงได้ทรงลงพื้นที่ ตอนนั้นประมาณปี 2523 ผมเป็นข้าราชการชั้นโทอยู่ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระองค์ และได้กราบบังคมทูลเรื่องนี้ พระองค์ก็ทรงมีรับสั่งว่า งั้นเราก็อาจารย์คนเดียวกัน (คือดร.มอร์แมน) แต่ฉันไม่ใช่ระบายน้ำนะ ของฉันเป็นชักน้ำ" พิสุทธิ์ วิจารสรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาดิน มูลนิธิชัยพัฒนา กล่าว

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเริ่มต้นวิธีการด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อเร่งปฎิกิริยาทางเคมีของดิน วิธีการนี้กระตุ้นให้สารไพโรต์ทำปฎิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินเปรี้ยวสุดขีดจนพืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้ จากนั้นจึงหาวิธีปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถกลับมาทำการเพาะปลูกได้อีกครั้ง เช่น ปาล์มน้ำมัน สบู่ดำ มะพร้าว ผักหวานบ้าน ชะอม ผักกูด ข้าวโพด ลองกอง ส้มโชกุน แม้กระทั่งการทำ 'นาข้าว' ที่สามารถให้ผลผลิตเฉลี่ย 30-40 ถัง/ไร่

ต้นแบบความสำเร็จที่ 'พิกุลทอง' นำไปสู่การแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้กับเกษตรกรในอีกหลายพื้นที่ของประเทศ เช่น ลุ่มน้ำปากพนัง(นครศรีธรรมราช) พื้นที่ดินเปรี้ยวในจังหวัดนครนายก และบ้านโคกอิฐ-โคกใน(นราธิวาส)

วันดินโลก ยูเนสโกก่อตั้งจากพระอัจฉริยภาพ รัชกาลที่ 9 ทรงจัดการทรัพยากรดิน ทรงปลูกหญ้าแฝก ณ พื้นที่ลาดชันเชิงเขาด้านทิศเหนือ โครงการฯ เขาชะงุ้ม 7 มิ.ย.2535 

จนกระทั่งมาถึงการอนุรักษ์และแก้ปัญหาดินด้วย หญ้าแฝก พืชมหัศจรรย์อันแสนลือลั่น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงศึกษาและพบว่า หญ้าแฝกเป็นพืชที่มีระบบรากลึกแผ่กระจายลงไปในดินตรงๆ เป็นแผงเหมือนกำแพงช่วยกรองตะกอนดินและรักษาหน้าดินได้ดี ด้วยรากที่มีความยาวได้ถึง 170 เซนติเมตรและมีความแข็งแรง สามารถเจาะลงไปในดินที่มีความแข็ง จึงสามารถเปลี่ยน 'ดินดาน' ที่รากพืชเศรษฐกิจยากชอนไชลงไปได้ ให้กลายเป็นดินที่ร่วนซุยขึ้นได้

พระองค์พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2534 แก่ สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการสำนักงาน กปร.ในขณะนั้น

วันดินโลก ยูเนสโกก่อตั้งจากพระอัจฉริยภาพ รัชกาลที่ 9 ทรงจัดการทรัพยากรดิน พื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม ในอดีต

โดยให้ศึกษาทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อเก็บความชุ่มชื้นไว้ในดินและป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดินเสื่อมโทรม สูญเสียธาตุอาหาร ปลูกพืชไม่ขึ้น เกิดสภาพแห้งแล้ง พบมากในบริเวณที่ดินเชิงเขาซึ่งมีความลาดชัน ณ โครงการศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (จังหวัดราชบุรี) พื้นที่ส่วนใหญ่จากสภาพดินลูกรังแห้งแล้ง พื้นที่ลาดเท

วันดินโลก ยูเนสโกก่อตั้งจากพระอัจฉริยภาพ รัชกาลที่ 9 ทรงจัดการทรัพยากรดิน พื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม ในปัจจุบัน

หลังจากขุดร่องเพื่อปลูกหญ้าแฝก เมื่อฤดูฝนผ่านพ้น พื้นที่ด้านบนจากที่เคยเห็นเป็นสีแดงของดินลูกรัง ต้นหญ้าก็เริ่มงอกงาม แสดงให้เห็นว่ารากหญ้าแฝกอุ้มน้ำเอาไว้อย่างดี

พระราชกรณียกิจและโครงการเกี่ยวกับการฟื้นฟูคุณภาพดินอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อคลายทุกข์ของแผ่นดิน -พสกนิกรของพระองค์- กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค

วันดินโลก ยูเนสโกก่อตั้งจากพระอัจฉริยภาพ รัชกาลที่ 9 ทรงจัดการทรัพยากรดิน

ผู้แทน IUSS ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล 'วิทยาศาสตร์ทางดินเพื่อมนุษยธรรม'

พิสุทธิ์ วิจารสรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาที่ดิน สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวถึงความสนพระราชหฤทัยในการแก้ปัญหาเรื่องดินของ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ว่า

"เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2545 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพิพิธภัณฑ์เกษตรแห่งชาติคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พระองค์ทรงมีรับสั่งกับผมว่า....สมเด็จพระเทพรัตนฯ เคยถามว่าทำไมจึงทำเฉพาะดินยากๆ หรือทำแต่ดินปัญหา ก็อธิบายให้ฟังว่า ดินยากๆ นั้นไม่มีคนทำ จึงต้องทำ ถ้าทำได้ก็จะมีประโยชน์ เมื่อก่อนเขาไม่เข้าใจ แต่เดี๋ยวนี้เขาเข้าใจแล้ว ดินดีๆ จะไม่ทำ..."

ด้วยพระปรีชาสามารถและพระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรดินอันเป็นที่ประจักษ์ สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences : IUSS) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล วิทยาศาสตร์ทางดินเพื่อมนุษยธรรม (Humanitarian Soil Scientist) แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระองค์แรกของโลกเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2555 และขอพระราชทานวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเสด็จพระบรมราชสมภพของพระองค์ เป็น วันดินโลก (World Soil Day) เพื่อให้วันดังกล่าวเป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติ เกิดความต่อเนื่องและจริงจังในการรณรงค์ด้านทรัพยากรดินในทุกระดับ

ทรงครองแผ่นดิน ทรงแก้ปัญหาเรื่องดิน ทรงรวบรวมแผ่นดินไว้เป็นปึกแผ่นเพื่อคนไทย ทรงเป็น 'กำลัง' ให้กับชาวดิน เพื่อให้ชาวไทยอยู่ดีกินดีโดยแท้จริง

*  *  *  *  *  *  *

หมายเหตุ : ขอบคุณภาพจาก

  • เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)
  • เว็บไซต์ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมชลประทาน