ความหมาย 6 ปาง พระโพธิสัตว์กวนอิม มหัศจรรย์ภาพวาดลายเส้นโดย อ.หวัง ฉางลี่

เปิดความหมายพลังศรัทธา 6 ปาง พระโพธิสัตว์กวนอิม สุดยอดภาพวาดลายเส้นจากการนั่งสมาธิโดย อ.หวัง ฉางลี่ ศิลปินระดับหอเกียรติยศของประเทศจีน มูลค่านับพันล้านบาท จัดแสดงเป็นครั้งแรกในไทย เชิญกราบขอพร-ร่วมเชิดชูคุณธรรมอันสูงส่งของพระโพธิสัตว์กวนอิม ณ หอมนสิการ จ.สระบุรี
ครั้งแรกในประเทศไทยกับโอกาสที่จะได้ชมผลงานจิตรกรรมสุดวิจิตรและหาชมยากยิ่งแห่งทศวรรษกับ นิทรรศการภาพวาด พระโพธิสัตว์กวนอิม ผลงานการวาดภาพจากปลายพู่กันจีนของอาจารย์ หวัง ฉางลี่ (Master Wang Changli)
อาจารย์หวัง ฉางลี่ เป็นจิตรกรชาวจีนระดับหอเกียรติยศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นับถือศาสนาพุทธ เกิดปี 1974 (พ.ศ.2517) ที่กรุงปักกิ่ง
ตั้งแต่อายุ 6 ขวบก็ได้เป็นศิษย์ของปรมาจารย์ภาพวาดจีน ‘หวัง ซูฮุย’ และได้รับการถ่ายทอดความรู้จากปรมาจารย์อีกหลายท่าน อาทิ หลี่ คู๋เฉิน, หลิว จี้โย่ว และ หลิว หลิงชาง
ต่อมาได้ศึกษาศิลปะอย่างลึกซึ้งภายใต้การชี้แนะของปรมาจารย์ศิลปะชื่อดังระดับโลก Willem de Kooning (วิลเลิม เดอ โกนิง) 1 ใน 10 ศิลปินที่มีมูลค่าผลงานสูงสุดในโลก
อาจารย์ฉางลี่ผสมผสานศิลปะของตะวันออกและตะวันตกอย่างลงตัว สะท้อนถึงความงดงามสูงสุดในด้านจิตวิญญาณ อารมณ์ ความรู้สึก และความมีชีวิตชีวา จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “บุคคลแรกที่สร้างงานศิลปะให้ศักดิ์สิทธิ์ได้ทั้งแบบโบราณและสมัยใหม่”
ประสบความสำเร็จในการจัดนิทรรศการภาพวาดส่วนตัวที่โรม ฟลอเรนซ์ ซิดนีย์ ลอนดอน และปารีส
ผลงานภาพเขียนลายเส้นแบบจีนโบราณสร้างความฮือฮาจนกระทั่งพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ แย่งกันสะสม ผลงานหลายชิ้นได้รับการคัดเลือกให้มอบเป็นของขวัญแห่งชาติ และเก็บรักษาโดยผู้นำของแต่ละประเทศ
ผลงานภาพเขียนพระพุทธรูปขนาดใหญ่ยังได้รับการนำไปประดิษฐานถาวรในวัดชั้นนำหลายแห่ง เช่น วัดจิ้งอันในเซี่ยงไฮ้ วัดผู่จี้และวัดฝ่าหยูในภูเขาผู่โถว วัดหลิงกวงและวัดเต๋อโซ่วในแปดสถานที่สำคัญของปักกิ่ง วัดตงฮว่าในกวางตุ้ง วัดฮุ่ยจวีในภูเขาจิ่วหัว วัดผู่ฮว๋าในภูเขาอู่ไถ วัดจื้อเจ่อในจินหัว และวัดไป่หลินในเหอเป่ย
ปี 2014 (พ.ศ.2557) อาจารย์ฉางลี่ออกแบบมังกรและหงส์น่ารักคู่หนึ่งชื่อ “จ้วงจ้วงและเหม่ยเหม่ย” และได้รับเลือกเป็นสัญลักษณ์มงคลของ พระราชวังต้องห้าม นับตั้งแต่นั้น
อาจารย์หวัง ฉางลี่ ตั้งปณิธานวาดภาพ พระโพธิสัตว์กวนอิม ขนาดใหญ่ทั้งหมด 33 ภาพ จาก 33 ปาง ที่ได้รับการบัญญัติไว้ใน ‘พระสูตรมหายาน’ คัมภีร์พุทธศาสนาจากอินเดียที่เผยแพร่ในประเทศจีน
ในการวาดภาพพระโพธิสัตว์กวนอิมแต่ละปาง อาจารย์หวังวาดโดยไม่มีต้นแบบว่านำมาจากสถานที่ใดหรือภาพวาดของใคร แต่วาดขึ้นจากนิมิตที่มองเห็นจากการนั่งสมาธิด้วยตนเอง ซึ่งการนั่งสมาธินี้อาจารย์หวังเริ่มปฏิบัติมาตั้งแต่วัยหนุ่ม
“ก่อนวาดภาพพระโพธิสัตว์กวนอิม ผมจะจุดธูปไหว้ก่อนนั่งทำสมาธิ จะมองเห็นตอนนั่งสมาธิ เป็นภาพลอยอยู่เบื้องหน้า เห็นได้ชัดเจน จึงถ่ายทอดมาเป็นภาพวาด” อาจารย์หวังตอบคำถามผ่านล่ามว่าภาพใบหน้าพระโพธิสัตว์กวนอิมในภาพวาดมีต้นแบบจากที่ใดหรือไม่อย่างไร
จากนั้นจึงลงมือวาดภาพพระโพธิสัตว์กวนอิมตามภาพที่มองเห็นจากการนั่งสมาธิ ไม่มีการวาดตกแต่งเพิ่มเติมจากภาพที่มองเห็น ไม่มีการนำจินตนาการอื่นใดมาใส่ในภาพวาด
“ถ้าเราวาดไม่ใช่จากความเป็นจริงที่เรามองเห็นจากการนั่งสมาธิ ภาพนั้นก็จะไม่ใช่พระโพธิสัตว์กวนอิม” อาจารย์หวังกล่าว
มีอาจารย์ท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังในจีนกล่าวว่า ที่ ‘อาจารย์หวัง’ วาดภาพทั้งหมดเหล่านี้ จริงๆ ไม่ใช่อาจารย์หวังเป็นคนวาดออกมาเอง แต่เป็น ‘พระโพธิสัตว์กวนอิม’ วาดออกมาผ่านมืออาจารย์หวัง ฉางลี่
ถ้าสังเกต จะเห็นว่าอาจารย์หวัง ฉางลี่ ใช้คำว่า ‘พระโพธิสัตว์กวนอิม’ ทุกครั้ง, ไม่ใช้คำว่า ‘เจ้าแม่กวนอิม’
เนื่องจาก ‘อาจารย์หวัง’ ศึกษาและนับถือพุทธศาสนาที่เผยแพร่ในประเทศจีน ซึ่งกล่าวถึงพระโพธิสัตว์กวนอิมทรงเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้ภาพวาดพระโพธิสัตว์กวนอิมจึงมีภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งบนมุ่นมวยผมเสมอ
ขณะที่ ‘เจ้าแม่กวนอิม’ เป็นคำที่ชาวจีนนำความเชื่อในองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมในพุทธศาสนามาประยุกต์เข้ากับ ‘ลัทธิเต๋า’ ลัทธิซึ่งให้ความสำคัญกับการนับถือเทพเจ้า พิธีกรรมและตำนานพื้นบ้าน
อ.วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์
อ.วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญศิลปวัฒนธรรมและประเพณีจีน เคยให้สัมภาษณ์ว่า ‘ลัทธิเต๋า’เปรียบเสมือน ‘ลัทธิโอท็อป’ ของประเทศจีน ชาวจีนคิดเองและตั้งลัทธินี้ขึ้นมาเอง เช่นเดียวกับ ‘ลัทธิขงจื๊อ’ ต่างกันตรงที่ลัทธิขงจื๊อให้ความสำคัญกับคำสอนด้านจริยธรรมและปรัชญาต่างๆ
พระโพธิสัตว์กวนอิม ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งความเมตตา ตั้งพระทัยโปรดสัตว์ทั่วไตรภูมิให้พ้นห้วงทุกข์ กลับใจคนชั่วให้กลายเป็นคนดี ปัดเป่าทุกข์ภัย อ.วิโรจน์กล่าวว่า การขอพรจากพระโพธิสัตว์กวนอิมมีเพียงประการเดียวคือ “ขอให้ท่านเมตตา”
เนื่องจาก พระโพธิสัตว์กวนอิม มี 33 ปาง แต่ละปางมีความหมายแตกต่างกันไปในการโปรดสัตว์ เมื่อกราบขอพรจึงควรขอพรให้ท่านเมตตาให้เกิดมงคลตามความเชื่อของปางนั้นๆ
ขณะนี้อาจารย์หวัง ฉางลี่ วาดภาพ พระโพธิสัตว์กวนอิม เสร็จสมบูรณ์แล้ว 11 ปาง (11 ภาพ) จากทั้งหมด 33 ปาง และได้นำมาจัดแสดงในประเทศไทยครั้งนี้ จำนวน 6 ปาง (6 ภาพ) นับเป็นโอกาสสำคัญครั้งแรกของชาวไทยที่จะได้ชมผลงานศิลปะระดับจิตวิญญาณอันโด่งดั่งอย่างใกล้ชิด และกราบขอพร ดังนี้
พระโพธิสัตว์กวนอิมจ้งเป่า
พระโพธิสัตว์กวนอิมจ้งเป่า หรือ ‘ปางจ้งเป่า’ เป็นปางแสดงถึงการสรรเสริญพระโพธิสัตว์กวนอิมที่มีพลังอันไร้ขอบเขต และเปี่ยมด้วยคุณงามความดีที่นำมาซึ่งประโยชน์และความมั่งคั่งแก่โลก
ทรงสวมเครื่องแต่งกายด้วยชุดพลิ้วไหวงามสง่า สวมใส่เครื่องประดับล้ำค่า อาภรณ์ประดับด้วยอัญมณี บนศีรษะสวมมงกุฎรูปสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า
พุทธศาสนาในประเทศจีน คำว่า ‘เป่า’ ใช้บรรยายถึง พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และพระธรรมอันสูงส่ง ส่วนคำว่า ‘จ้งเป่า’ หมายถึงสมบัติมหาศาล
พระโพธิสัตว์กวนอิมจ้งเป่าทรงมีคุณลักษณะ 10 ประการ คือ ตระกูลสูงศักดิ์ ตำแหน่งสูงส่ง ร่ำรวยมั่งคั่ง แข็งแกร่งกล้าหาญ อายุยืนยาว ปัญญาเลิศล้ำ ประพฤติบริสุทธิ์ เพียบพร้อมจรรยา ได้รับความเคารพจากเบื้องบนและความนอบน้อมจากเบื้องล่าง
รายละเอียดภาพวาดพระโพธิสัตว์กวนอิมจ้งเป่า
อ.หวัง ฉางลี่ มอบภาพวาดพระโพธิสัตว์กวนอิมจ้งเป่าภาพนี้ให้ท่านอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล ประธานมูลนิธิโนอิ้ง บุดด้า เพื่อการปกป้องพระพุทธศาสนา และผู้ดำริสร้างหอมนสิการ ด้วยความศรัทธาในปณิธานการเผยแผ่คำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของประธานมูลนิธิฯ
ภาพพระโพธิสัตว์กวนอิมจ้งเป่าของ อ.หวัง ภาพนี้ วาดด้วยสีที่มาจากอัญมณีสีนั้นๆ ขนาดภาพ 2.76 x 1.55 เมตร มูลค่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐ
ความเชื่อ : กราบขอพรให้เมตตาประทานความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรืองแก่กิจการงานในครอบครัว
พระโพธิสัตว์กวนอิมเหลียนอั้ว
พระโพธิสัตว์กวนอิม ‘ปางเหลียนอั้ว’ ทรงประทับนอนอยู่บนใบบัว ล้อมรอบด้วยดอกบัวศักดิ์สิทธิ์ พระพักตร์สง่างามสูงส่ง ท่าทีสบาย เปี่ยมด้วยความสุข ร่างกายผ่อนคลายและสงบ ท่ามกลางบรรยากาศงดงามและลึกลับ นำผู้ชมภาพวาดเข้าสู่สภาวะการทำสมาธิที่งดงาม
ทรงปรากฏกายในร่าง "กษัตริย์น้อย" มีความหมายช่วยให้ทุกอย่างสำเร็จลุล่วงอย่างไม่มีอุปสรรค เพราะทรงมีโพธิญาณแห่งการนำโชค สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งทางกายและใจ ด้วยมหาเมตตาของพระโพธิสัตว์กวนอิม
อาจารย์หวังใช้เวลาวาดภาพพระโพธิสัตว์กวนอิมอิมเหลียนอั้ว นาน 6 เดือน
ความเชื่อ : กราบขอพรเมตตาให้เกิดความสำเร็จไร้อุปสรรค ครอบครัวมีความสุข-สามัคคี ชีวิตราบรื่น นอนหลับฝันดี สงบสุขยาวนาน
พระโพธิสัตว์กวนอิมหยางหลิ่ว
พระโพธิสัตว์กวนอิม ‘ปางหยางหลิ่ว’ ทรงเปี่ยมด้วยมหาเมตตา ทรงอุทิศตนขจัดความทุกข์ความโศกเศร้าเสียใจให้แก่โลกนี้ ปรากฏกายให้เห็นอย่างต่อเนื่องในทุกสถานการณ์ เพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร
พระพักตร์อวบอิ่ม สง่างาม พระหัตถ์ขวาถือคนโทบริสุทธิ์ พระหัตถ์ซ้ายถือกิ่งหลิวหยาดน้ำอมฤตไปบนแผ่นดิน ทรงเสื้อคลุมสักหลาดอันปราณีตงดงาม ดำเนินด้วยเท้าเปล่า
ภาพวาดลายเส้นอ่อนช้อยพลิ้วไหว มีทั้งบางและหนักผสมผสานทั้งความแข็งแกร่งและความอ่อนโยน แสดงให้เห็นถึงความเมตตา ความสงบและความสง่างามของพระโพธิสัตว์กวนอิม
ความเชื่อ : กราบขอพรเมตตาให้ราบรื่นในการงานและทุกสิ่ง ขจัดภัยพิบัติและโรคภัยทั้งปวง ลมฝนสม่ำเสมอตกต้องตามฤดูกาล ผลผลิตทางการเกษตรผลิดอกออกผล ประเทศชาติมั่งคั่ง ประชาชนผาสุข
พระโพธิสัตว์กวนอิมหยวนกวง
พระโพธิสัตว์กวนอิม ปาง ‘หยวนกวง’ เปรียบแสงสว่างบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน ทรงขจัดปัดเป่าภัยพิบัติและความยากลำบากในชีวิตให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย นำพาซึ่งความสงบสุขและความยินดีมาให้
ภาพวาดพระโพธิสัตว์กวนอิมหยวนกวงของอาจารย์หวัง ฉางลี่ เปี่ยมด้วยชีวิตชีวาและสง่างาม ลายเส้นอ่อนช้อยลื่นไหลเป็นธรรมชาติ สีสันสะอาดบริสุทธิ์และสูงส่ง พระพักตร์เปี่ยมด้วยความเมตตาและความสงบ ท่วงท่ามั่งคง สง่างามทรงพลัง ดูมีชีวิตชีวาเสมือนจริง
ความเชื่อ : กราบขอพรเมตตาให้ทุกสิ่งราบรื่น ความปรารถนาสำเร็จ ลูกหลานปลอดภัย สุขภาพแข็งแรงเติบโต
พระโพธิสัตว์กวนอิมเต๋อหวัง
พระโพธิสัตว์กวนอิม ปาง ‘เต๋อหวัง’ ทรงเปี่ยมด้วยคุณธรรม จิตใจบริสุทธิ์งดงาม แผ่แสงแห่งปัญญา เปิดปัญญาให้สรรพสัตว์ทั้งหลายมีสติอยู่กับปัจจุบันขณะ ฝึกฝนและเฝ้าสังเกตตนจนหลุดพ้นจากสังสารวัฏ ปรากฏกายในร่างพรหมเพื่อช่วยเหลือเวไนยสัตว์
ประทับนั่งอยู่บนบัลลังก์บัว มือขวาถือกิ่งหลิว ปางนี้เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญก้าวหน้าในงานราชการ ซึ่งสอดคล้องกับบทมหาปณิธานในพระสูตรมหายานเล่มที่ 7 (บทที่ 9, หน้าที่ 57) ที่กล่าวว่า
"หากควรปรากฏกายช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ ท่านก็จะปรากฏกายด้วยร่างพรหมเพื่อมาแสดงธรรม"
ชื่อของพระโพธิสัตว์กวนอิมปางเต๋อหวัง มาจากรูปแบบการจุติเป็นร่างของพระพรหมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคุณธรรมอันล้ำเลิศ เจ้าแห่งอาณาจักรรูป จึงได้ชื่อว่า ‘เต๋อหวัง’ หรือ ‘ธรรมราชา’ ภาพที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก คือภาพที่ประทับอยู่บนโขดหิน มือซ้ายวางที่เข่า มือขวาถือกิ่งหลิว
รูปปั้นพระโพธิสัตว์กวนอิมเต๋อหวัง มีลักษณะท่วงท่าน่าเกรงขาม สง่างาม เปี่ยมด้วยมหาเมตตา มีความเสมือนจริง ทำให้ผู้คนรู้สึกเคารพและศรัทธา
ภาพวาดพระโพธิสัตว์กวนอิม ปาง 'เต๋อหวัง' ขนาด 4.32 x 2.43 เมตร มูลค่า 4 ล้านเหรียญสหรัฐ อ.หวังวาดไว้ 2 ภาพ ภาพแรกอยู่ที่ประเทศจีน ภาพนี้คือภาพที่สอง ใช้เวลาวาด 1 ปี และนำมาจัดแสดงที่ประเทศไทย
ความเชื่อ : กราบขอพรเมตตาให้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานราชการ มีตำแหน่งสูงส่งและอำนาจยิ่งใหญ่ ประชาชนเคารพนับถือ
พระโพธิสัตว์กวนอิมฉือเหลียน
พระโพธิสัตว์กวนอิม ปาง ‘ฉือเหลียน’ งดงามทั้งรูปลักษณ์ภายนอกและภายในจิตใจ ศีรษะสวมมงกุฎ นุ่งห่มอาภรณ์สวรรค์ พระหัตถ์ถือดอกบัว ประทับยืนอยู่บนดอกบัว แสดงถึงกายที่บริสุทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์และปราศจาคมลทิน
พระโพธิสัตว์ในภาพวาดของปรมาจารย์หวัง เป็นหญิงสาวสวย รูปลักษณ์งดงามไร้ที่ติ ปราศจากมลทินและสง่างามเป็นพิเศษ มงกุฏส่องประกายแวววาว อาภรณ์พลิ้วไสว รูปร่างสง่างาม อิริยาบถนุ่มนวล ใบหน้าใจดีมีเมตตา สีหน้าอ่อนโยน รอยยิ้มสดใสสวยงามราวดอกไม้ งดงามจนไม่สามารถบรรยายด้วยคำพูดได้
ภาพวาดนี้มีขนาด 4.32 x 2.43 เมตร มูลค่าภาพ 4 ล้านเหรียญสหรัฐ
ความเชื่อ : กราบขอพรเมตตาให้ลูกหลานมีสติปัญญา ความสามารถโดดเด่นเป็นเลิศ เมตตาให้สตรีมีใบหน้าสวยงาม อ่อนวัย ในใจสงบนิ่ง อายุยั่งยืน
นิทรรศการภาพวาด พระโพธิสัตว์กวนอิม โดยอาจารย์หวัง ฉางลี่ จัดแสดงภายใต้ชื่อนิทรรศการ The Profound Beauty Art Exhibition ณ หอมนสิการ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ระหว่างวันที่ 1 กันยายน-14 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00 – 17.00 น. ปิดทำการทุกวันจันทร์
- บัตรเข้าชม คนไทย 250 บาท ชาวต่างชาติ 500 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี และผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ครึ่งราคา
- ซื้อบัตรล่วงหน้าได้ที่ megatix.in.th