12 จุดเดินชมแสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก

12 จุดเดินชมแสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก

ครั้งแรก เดินชมความงาม Night Museum ‘วังพญาไท’ ผ่าน 12 จุดการแสดงแสงสีเสียง งาน 101 ปี พระราชวังพญาไท โชว์สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ผสานโกธิค Projection Mapping รำลึกพระราชกรณียกิจ ย้อนความประทับใจพระราชนิพนธ์มัทนะพาธา สักการะ 2 สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองประจำพระราชวังพญาไท

KEY

POINTS

  • ครั้งแรกกับการเดินชมความงาม Night Museum ‘วังพญาไท’ ผ่านการแสดงแสงสีเสียงเต็มรูปแบบ จำนวน 12 จุดการแสดง ในงาน 101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM
  • เปิด ประวัติพระราชวังพญาไท พร้อมรายละเอียดสถาปัตยกรรมของพระตำหนักพิมานจักรี พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ สวนโรมัน และที่มาพระบรมนามาภิไธย ร.ร.๖
  • Projection Mapping รำลึกพระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ 5 ผู้ทรงสร้างวังพญาไท และ รัชกาลที่ 6 ผู้ทรงสถาปนาวังพญาไท ขึ้นเป็น พระราชวังพญาไท ย้อนความประทับใจพระราชนิพนธ์ มัทนะพาธา
  • สักการะ 2 สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองประจำพระราชวังพญาไท พระพุทธรูปนาคปรก และ ท้าวหิรัญพนาสูร พร้อมประวัติความเป็นมา

ครั้งแรก เดินชมความงาม Night Museum ‘วังพญาไท’ ผ่าน 12 จุดการแสดงแสงสีเสียง งาน 101 ปี พระราชวังพญาไท โชว์สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ผสานโกธิค Projection Mapping รำลึกพระราชกรณียกิจ ย้อนความประทับใจพระราชนิพนธ์มัทนะพาธา สักการะ 2 สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองประจำพระราชวังพญาไท

รูปแบบ Night Museum ในการจัดแสดงนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน งานครบรอบ 101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM วิจิตรตระการตาด้วยการแสดงแสงสีเสียง เทคนิค Projection Mapping, ศิลปะจัดวาง (installation art) การติดตั้งไฟส่องสว่างงานสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ การแสดงจินตลีลา

เพื่อให้ประชาชนได้รู้จัก พระราชวังพญาไท ซึ่งมีสถาปัตยกรรรมงดงามและน่าศึกษามากยิ่งขึ้น ผ่านการเทิดพระเกียรติพระราชกรณียกิจใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ในฐานะผู้ทรงริเริ่มให้มีการก่อสร้าง ‘พระตำหนักพญาไท’ หรือ วังพญาไท และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ผู้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยก  ‘พระตำหนักพญาไท’ ขึ้นเป็น พระราชวังพญาไท ในรัชสมัยของพระองค์

12 จุดเดินชมแสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก พระราชวังพญาไท พ.ศ.2567

ทั้งยังจัดขึ้นเพื่อแสดงศักยภาพด้านการสร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าและระบบแสงสีเสียงที่ทันสมัยทัดเทียมงานระดับโลกโดยฝีมือคนไทย บนสถานที่อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ออกสู่สายตาชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้เข้ามาชื่นชมความงดงามของ พระราชวังพญาไท ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน (Night  Museum)

งานแสดง แสงสีเสียงครบรอบ 101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM แบ่งออกเป็น 2  พื้นที่หลัก คือ Free Area  และ Ticket Area

 

แสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก Projection Mapping บนอาคารรูปโดม

Free Area (ชมฟรี) มีด้วยกัน 2 โซน

โซนที่ 1 : อาคารรูปโดม พระที่นั่งพิมานจักรี

จัดการแสดง Architecture Lighting  & Projection Mapping  (จุดแสดงที่ 1) การฉายภาพแสง กับงานออกแบบภาพเคลื่อนไหวแสดงพระราชกรณียกิจใน รัชกาลที่ 5 พระผู้ทรงวางรากฐานความเจริญของประเทศให้ทัดเทียมอาณาอารย อาทิ การประปา การไฟฟ้า ไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ การรถไฟ  

โดยการฉายภาพเคลื่อนไหวด้วยศิลปะร่วมสมัยเกี่ยวเนื่องกับพระราชกรณียกิจดังกล่าวขึ้นไปยังพื้นผิวสถาปัตยกรรม อาคารรูปโดม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ‘พระที่นั่งพิมานจักรี’  

12 จุดเดินชมแสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก Projection Mapping บนอาคารรูปโดม

พระที่นั่งพิมานจักรี ก่อสร้างขึ้นในสมัย รัชกาลที่ 6 เป็นพระที่นั่งก่ออิฐถือปูน สูง 2 ชั้น ลักษณะสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างโรมาเนสก์กับโกธิค ลักษณะพิเศษคือมี อาคารรูปโดม มีลักษณะเป็นอาคารทรงกลม สูง 3 ชั้น หลังคาเป็นยอดโดมแหลมประดับแป้นเกล็ดไม้

พื้นที่อาคารรูปโดมไม่ใหญ่นัก ชั้นล่างเป็นห้องพระโอสถ(มวน) ชั้นที่ 2 เป็นห้องทรงพระอักษร ยังปรากฏตู้หนังสือโค้งแบบติดฝาผนัง เป็นตู้สีขาวลายทอง มีอักษรพระปรมาภิไธย ร.ร.๖ ใต้พระมหาพิชัยมงกุฎทุกตู้

ด้านข้างเป็นห้องบันไดเวียนขึ้นสู่ชั้นที่ 3 หรือห้องใต้หลังคาโคม ซึ่งเป็นหอพระ (ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูป ร.6) สมัยนั้นเมื่อรัชกาลที่ 6 เสด็จประทับ ณ พระราชวังพญาไท เจ้าพนักงานจะเชิญธงมหาราชขึ้นสู่ยอดเสาเหนือยอดโดม 

 

12 จุดเดินชมแสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก

พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ในงาน 101 ปี วังพญาไท

โซนที่ 2 : พระที่นั่งเทวราชสภารมย์

จัดการแสดง Architecture Lighting  & Interior Lighting (จุดแสดงที่ 2) นิทรรศการแสงไฟส่องสว่างเพื่อนำเสนอสถาปัตยกรรมอันงดงามภายใน พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ โดยการเปิดแสงไฟโทนสีต่างๆ สาดส่องไปทั่วทั้งพื้นที่ภายใน พร้อมเสียงดนตรีบรรเลงหลากหลายบทเพลง อาทิ เพลงขับไม้บัณเฑาะว์ เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นหู

เพลงขับไม้บัณเฑาะว์ เดิมเป็นทำนองเพลงเก่าสมัยอยุธยา อยู่ในตับเพลงเรื่องกระแตไต่ไม้ ซึ่งประกอบด้วยเพลงกระแตไต่ไม้ ขับนก และ 'ขับไม้บัณเฑาะว์' ซึ่งมีท่วงทำนองเชิงโน้มน้าวจิตใจให้มีปณิธานแน่วแน่ในการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยความเคารพ

ต่อมาหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) แต่งขยายจากเพลงตับกระแตไต่ไม้สองชั้นเป็นสามชั้น กลายเป็นเพลงโหมโรงเมื่อปีพ.ศ.2456

ผู้เรียบเรียงการบรรเลงเพลงขับไม้บันเฑาะว์เชิงดนตรีสากลท่านแรกคือ พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยากร) เพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘พระเจ้าช้างเผือก’ ราวพ.ศ.2484

12 จุดเดินชมแสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก การแสดงแสงสีเสียงภายในพระที่นั่งเทวราชสภารมย์

12 จุดเดินชมแสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก หลังคาโค้งทรงประทุนภายในพระที่นั่งเทวราชสภารมย์

พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ งาน 101 ปี พระราชวังพญาไท แสงสีที่จัดแสดงภายในพระที่นั่งเทวราชสภารมย์

ขณะที่ครูมนตรี ตราโมท แต่งขยายจากเพลงขับไม้บันเฑาะว์สองชั้นเป็นเพลงโหมโรงโดยแต่งให้วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ของกรมศิลปากรนำไปเล่นเมื่อพ.ศ.2491

วงไหมไทย หรือ ไหมไทยออร์เคสตร้า ก่อตั้งโดย ดนู ฮันตระกูล เป็นวงดนตรีที่นำเพลงไทยเดิม เพลงลูกกรุง และเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ มาเรียบเรียงเพื่อเล่นกับวงออร์เคสตรา โดยแผ่นเสียงชุด ‘ไหมไทย 1’ ที่จัดทำเมื่อปีพ.ศ.2531 มีเพลงขับไม้บันเฑาะว์รวมอยู่ด้วย

ต่อมา ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ได้นำทำนองเพลงขับไม้บันเฑาะว์มาใส่คำร้องเป็นเพลง ‘ตื่นเถิดไทย’ ที่ขึ้นต้นว่า “เราเผ่าไทย ต่างคนจากแดนไกล ต่างมารวมใจ สามัคคีทุกหมู่เหล่า พวกเราพร้อมพรั่ง...” หลายคนที่เดินอยู่ที่พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ในงานแสดงแสงสีเสียง ‘101 ปี พระราชวังพญาไท’ จึงน่าจะคุ้นหูกับท่วงทำนองเป็นอย่างยิ่ง

12 จุดเดินชมแสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก พระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี และพระนามาภิไธย สผ

พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ เดิมคือ ‘ท้องพระโรง’ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปีพ.ศ.2453 เมื่อครั้ง สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี (พระราชมารดา รัชกาลที่ 6) ประทับอยู่ ณ วังพญาไท โดยยังปรากฏ อักษรพระนามาภิไธย สผ (พระนามเดิม สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) ที่หน้าบันภายในพระที่นั่งองค์นี้

สถาปัตยกรรมภายในพระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมแบบไบเซนไทน์ มีโดมอยู่ตรงกลางเพดานพระที่นั่งฯ รับด้วยหลังคาโค้งประทุนทั้ง 4 ด้าน โดยมีเสาโรมันรับหลังคาทรงโค้งนี้ไว้ บนผนังตกแต่งด้วยงานจิตรกรรมรูปคนและลายพรรณพฤกษา

บริเวณกลางพระที่นั่งฯ เป็นโถงขนาดใหญ่ ล้อมรอบทั้ง 4 ด้านด้วย ‘ชั้นลอย’ ลักษณะคล้ายระเบียง มีราวระแนงกันตก

พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ เคยเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีทางศาสนาในงานพระราชกุศล เช่น งานเฉลิมพระชนมพรรษา วันธรรมดาใช้รับรองแขกส่วนพระองค์ บางครั้งเป็นโรงละครและโรงภาพยนตร์แล้วแต่โอกาส

 

12 จุดเดินชมแสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก ระยิบระยับรับแสงแห่งอุโมงค์ (จุดแสดงที่ 3) จุดเริ่มของ Ticket Area

Ticket Area (เสียค่าเข้าชม) จำนวน 4 โซน

โซนที่ 3 : ภายในพระที่นั่งพิมานจักรี สัมผัส Night Museum จำนวน 3 จุดจัดแสดง

เริ่มด้วย ระยิบระยับรับแสงแห่งอุโมงค์ (จุดแสดงที่ 3) จุดแสดงนี้เปรียบเสมือนทางเข้าชมงาน Night Museum  ‘101 ปี พระราชวังพญาไท’ ของ Ticket Area 

จุดแสดงนี้ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยเทคนิคการจัดแสดงแสงไฟจาก ‘สายไฟประดับ’ ทิ้งตัวลงมาจากเพดานโถงทางเดินของพระที่นั่งพิมานจักรี เว้นระยะความสูงจากพื้นพอสำหรับการเดินลอดผ่านสายไฟประดับเหล่านี้ราวกำลังเดินอยู่ในอุโมงค์แห่งแสง

แสงจากไฟประดับยังสะท้อนผ่าน ‘กระจกเงา’ ที่วางขนาบไปตลอดทางเดิน ดูละลานตาราวแสงไฟแผ่ขยายออกไปไม่สิ้นสุด อุโมงค์แห่งแสงนี้ออกแบบและจัดวางโดยทีมงาน ณ สัทธา อุทยานไทย จ.ราชบุรี (Na Satta)

“เราใช้สายไฟประดับแบบปกติทั่วไปนำมาจัดองค์ประกอบให้มีมิติด้วยการใช้กระจกเงา และเจาะจงใช้ ‘สีน้ำเงินขาบ’ ซึ่งเป็นสีที่รัชกาลที่ 6 ทรงโปรด และเป็นสีที่อยู่ในธงชาติไทย เนื่องจากพระองค์ท่านทรงเป็นผู้กำหนดการเรียงสีบนธงชาติไทย จึงขอเปิดด้วยสีน้ำเงินขาบที่บริเวณทางเข้างาน” ดิวัน ขัตติยากรจรูญ ตัวแทน ณ สัทธา กล่าว

ส่วนที่เลือกจัดองค์ประกอบไฟประดับให้มีลักษณะทิ้งตัวลงมาเป็นสาย คุณดิวันกล่าวว่า ได้แรงบันดาลใจจากวรรคทองของวรรณคดีเรื่อง เวนิสวานิช บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประพันธ์ไว้ในตอนที่นางเปอร์เซียพูดโน้มน้าวให้ ‘ไชล็อก’ เกิดความกรุณาปรานีต่อ ‘บัสสานิโย’ ความว่า

"อันความกรุณาปราณี จะมีใครบังคับก็หาไม่
หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน”

12 จุดเดินชมแสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก พระอัจฉริยภาพพระราชนิพนธ์ (จุดแสดงที่ 4)

ผ่านพ้นอุโมงค์แห่งแสงด้วยความอิดออด(เพราะอยากเก็บภาพให้ถูกใจที่สุด) เท่ากับคุณเดินอยู่ใน ‘พระที่นั่งพิมานจักรี’ เรียบร้อยแล้ว จุดแสดงงานต่อมาได้แก่ พระอัจฉริยภาพพระราชนิพนธ์ (จุดแสดงที่ 4) อยู่ในห้องทางขวามือของอุโมงค์แห่งแสง 

ห้องนี้ชื่อ ‘ห้องธารกำนัล’ มีสถานะเป็นห้องรับแขกของพระที่นั่งพิมานจักรี อยู่ตรงกลางพระที่นั่งฯ เป็นที่เสด็จออกให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท  

ภายในห้องธารกำนัลจัดแสดงเทคนิค Projection Mapping โดยการออกแบบได้รับแรงบันดาลใจจากบทพระราชนิพนธ์ ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 อาทิ วิวาหพระสมุท, โคลงภาษิตนักรบโบราณ, โคลงสยามานุสสติ, โรเมโอและจูเลียต, เวนิสวานิช เป็นการฉาย Projection Mapping ลงบนโต๊ะยาวที่จัดวางไว้กลางห้อง

เหนือช่องหน้าต่าง ‘ห้องธารกำนัล’ ประดับลายปูนปั้นอักษรย่อพระบรมนามาภิไธย ร.ร.๖ และปรากฏเป็นลายประดับทางสถาปัตยกรรมอยู่ทั่วไปในพระราชวังพญาไท 

อักษรย่อพระบรมนามาภิไธย ร.ร.๖ มีความหมายแทนพระบรมนามาภิไธยอย่างย่อว่า “พระบาทสมเด็จพระรามราชาธิบดี รัชกาลที่ 6” เริ่มใช้เมื่อทรงเปลี่ยนพระบรมนามาภิไธยใหม่เป็น “สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ” แทนพระบรมนามาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ เมื่อปีพ.ศ.2459

12 จุดเดินชมแสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก ภาพบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 6 ฉลองพระองค์วันประกาศเข้าร่วมสงครามโลก ครั้งที่ 1

ชนะพล โยธีพิทักษ์  ผู้ประสานงานพระราชวังพญาไท กล่าวว่า ภายใน ‘ห้องธารกำนัล’ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่หาชมที่อื่นไม่ได้ นั่นก็คือ ภาพบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 6 ทรงสวมใส่ฉลองพระองค์ในวันประกาศนำสยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2460

ทรงฉลองพระองค์สีมงคลคือสีแดง ทรงสังวาลนพรัตน์ พระหัตถ์ซ้ายทรงถือพระขรรค์ พระหัตถ์ขวาทรงถือใบมะตูม ศาสนาพราหมณ์ใช้ใบมะตูมแทนเทพ 3 องค์ พระนารายณ์ พระอิศวร พระศิวะ 

12 จุดเดินชมแสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก สง่างามยามยล (จุดแสดงที่ 5)

ออกจากห้องธารกำนัล เดินไปตามเส้นทางที่กำหนด พบจุดจัดแสดงถัดมา ชื่อ สง่างามยามยล (จุดแสดงที่ 5) จุดแสดงนี้ผู้เข้าชมงานจะได้รับชมเรื่องราวในอดีตของ พระราชวังพญาไท ย้อนไปเมื่อร้อยกว่าปีผ่านการยิง Projection Mapping บนผนังของอาคารพระที่นั่งพิมานจักรีที่ใช้ผ้าสีขาวเป็นพื้นจอ

 

12 จุดเดินชมแสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก พลังแห่งพญามังกร (จุดแสดงที่ 6) ในโซนที่ 4

โซนที่ 4 : สวนโรมัน เชิญชม Night Museum จำนวน 2 จุดจัดแสดง 

ด้านขวามือของจุดจัดแสดง ‘สง่างามยามยล’ เป็นประตูทางออกเชื่อมสู่ ‘สวนโรมัน’ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหลังพระที่นั่งพิมานจักรี 

ขณะเดินออกประตูทางเชื่อม ให้มองทางขวามือ จะพบจุดจัดแสดงชื่อ พลังแห่งพญามังกร (จุดแสดงที่ 6) เป็นประติมากรรมนูนต่ำชิ้นเก่าแก่ เป็นรูปสลัก “พญามังกร 5 เล็บ ถือวชิราวุธ” ออกแบบโดย กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์แทนปีนักษัตรมะโรง ปีเสด็จพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘มังกร 5 เล็บ’ ใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์

ในพระราชวังพญาไท พบลายมังกรประดับบนเพดานห้องพระบรรทม เป็นประติมากรรมนูนต่ำที่บ่อน้ำพุ บริเวณมุขทางเข้าที่เชื่อมโยงกับสวนโรมัน ณ พระที่นั่งพิมานจักรี (หรือจุดแสดงที่ 6) รวมทั้งประดับเป็นส่วนประกอบของรูปปั้นที่สระน้ำ

12 จุดเดินชมแสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก Projection Mapping จากเรื่องมัทนะพาธา

12 จุดเดินชมแสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก การแสดงจินตลีลาโดยนางรำประกอบ Projection Mapping

เดินต่อเนื่องเข้าไปยังสวนโรมัน เป็นจุดจัดแสดงชื่อ สวนรื่นรักมัทนา (จุดจัดแสดงที่ 7) สัมผัสบรรยากาศของพระราชวังพญาไท ผสมผสานจินตนาการในโลกศิลปะของการแสดงแสง สี เสียงอันน่าอัศจรรย์ ด้วยการยิง Projection Mapping ไปบนอาคารด้านหลังของพระที่นั่งพิมานจักรี ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง ประกอบการแสดงจินตลีลาบนระเบียงของพระที่นั่ง

โดยนำบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เรื่อง “มัทนะพาธา” ที่วรรณคดีสโมสรยกย่องให้เป็นยอดของบทละครพูดคำฉันท์ มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ภาพ Mapping ถือเป็นอีกหนึ่งโซนไฮไลต์ในการจัดแสดง Night Museum งานครบรอบ 101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM ครั้งนี้

การแสดงแสงสีเสียงประกอบการยิง Projection Mapping และจินตลีลา จัดแสดงวันละ 5 รอบ คือเวลา 19.00 น. 19.30 น. 20.00 น. 20.30 น. และ 21.00 น.

ทั่วบริเวณสวนโรมันยังประดับประดาให้ตื่นตาตื่นใจด้วยดอกกุหลาบสีแดงทำมือ จำนวน 2,466 ดอก มาจากตัวเลขปีพ.ศ.2466 ที่ทรงนิพนธ์เรื่อง ‘มัทนะพาธา’ สำเร็จ

12 จุดเดินชมแสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก ส่วนหนึ่งของดอกกุหลาบ จำนวน 2,466 ดอก

12 จุดเดินชมแสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก ศาลาภายในสวนโรมัน

‘สวนโรมัน’ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหลังพระที่นั่งพิมานจักรี เข้าใจว่าเดิมเป็น 1 ใน 3 ของพระราชอุทยานในพระราชวังพญาไท สำหรับพักผ่อนอิริยาบท

การจัดแต่งภูมิทัศน์เป็นลักษณะเรขาคณิต ประกอบด้วยศาลาในสวนที่ใช้รูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบโรมัน เป็นศาลาทรงกลม ตรงกลางมีหลังคาโดมรับด้วยเสาแบบคอรินเทียน ขนาบด้วยศาลาทรงสี่เหลี่ยมโปร่งไม่มีหลังคา กำหนดขอบเขตด้วยเสาคอรินเทียนรองรับเพียงคานที่พาดอยู่ด้านบน ศาลานี้ใช้เป็นเวทีการแสดงกลางแจ้งในบางโอกาส

บันไดทางขึ้นสู่ศาลา ประดับตุ๊กตาหินอ่อนแบบโรมัน  ตรงข้ามศาลามีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ในแนวแกนเดียวกับศาลาหลังคาทรงโดม 

 

12 จุดเดินชมแสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก แสงสิเนหา ณ แรกรัก (จุดจัดแสดงที่ 8)

โซนที่ 5 : สวนหน้าอาคารสมิตสโมสร เชิญชม Night Museum จำนวน 1  จุดจัดแสดง (แต่มี 3 ชุดงาน)

การจัดแสดงในโซนนี้ชื่อ แสงสิเนหา ณ แรกรัก (จุดจัดแสดงที่ 8) จุดจัดแสดงนี้มีมีงานศิลปะจัดวาง (Installation art) จำนวน 3 ชุดงาน เป็นผลงานการออกแบบและจัดทำโดยทีมงาน ณ สัทธา อุทยานไทย จ.ราชบุรี

ชุดแรกเป็นการจัดแสดงแสงไฟนับพันดวงประดับประดาบริเวณสนามหญ้าด้านขวาของอาคารสมิตสโมสร โดยแสงไฟนี้นำเสนอในรูปแบบของดอกบัว แสงไฟนับพันดวง เท่ากับมีดอกบัวทำด้วยมือนับพันดอกเช่นกัน

12 จุดเดินชมแสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก ลานดอกบัว แสงสิเนหา ณ แรกรัก (จุดจัดแสดงที่ 8)

“ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์การแสดงการเคารพ เราออกแบบไว้ใช้กับสถาปัตยกรรมไทย ประติมากรรมไทย และสถานที่ที่มีเอกลักษณ์ของไทย การเชิญดอกบัวมาเป็นอินสตอลเลชั่นเนื่องจากไปที่ไหน คนไทยสัมผัสได้ง่าย เป็นเอกลักษณ์ชัดเจน” ดิวัน ตัวแทน ‘ณ สัทธา อุทยานไทย’ อธิบาย

12 จุดเดินชมแสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก งานชุดที่สาม ของ แสงสิเนหา ณ แรกรัก (จุดจัดแสดงที่ 8)

งานชุดที่สอง อยู่ทางด้านซ้ายมือของลานพันบัว เป็นการสาดแสงไฟเข้าสู่ต้นไม้ใหญ่ที่รายล้อมด้วยองค์ประกอบก้านไลติ้งแอลอีดีสีเหลือง โยกไหวไปมาด้วยระบบมอเตอร์ ดูเหมือนหิ่งห้อยฝูงมหึมากำลังโบยบิน

สุดปลายสนามหญ้าด้านในสุดเป็นงานชุดที่สาม มีงานศิลปะจัดวางจอกระจกสมาร์ทกลาสของ BSG ผสานเทคนิค Projection Mapping ฉายวรรคทองบทพระราชนิพนธ์เรื่อง ‘มัทนะพาธา’ ของในหลวงรัชกาลที่ 6 

 

12 จุดเดินชมแสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก พระนาคปรกนำโชคคุ้มครอง (จุดจัดแสดงที่ 11) ในโซนที่ 6

โซนที่ 6 :  สักการะ 2 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังพญาไท

โซนที่ 6 เดิมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังพญาไท ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อออกจากโซนที่ 5 เพียงข้ามถนนภายในโรงพยาบาลฯ ก็จะเข้าสู่โซนที่ 6 โซนนี้มีจุดจัดแสดงแสงไฟ จำนวน 4 ชุดการแสดง

ชุดการแสดงแรก พรหมพฤกษ์ตระการตา (จุดจัดแสดงที่ 9) การย้อมแสงไฟใส่ต้นไม้, ชุดการแสดงที่สอง แดนโกเมศวิเศษพร (จุดจัดแสดงที่ 10) ดื่มด่ำไปกับความงดงามของดอกบัวประดิษฐ์ด้วยเทคนิคไฟย้อมสี สองชุดการแสดงแสงไฟนี้อยู่สองข้างทางเดินซ้ายและขวา(ตามลำดับ)เพื่อเดินไปสู่การสักการะ 2 รูปสลักเคารพสำคัญประจำพระราชวังพญาไท ซึ่งเป็นชุดการแสดงแสงไฟส่องสว่าง 2 ชุดสุดท้ายของงานครั้งนี้

12 จุดเดินชมแสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก พระนาคปรกนำโชคคุ้มครอง (จุดจัดแสดงที่ 11)

นั่นก็คือการแสดงแสงไฟชุด พระนาคปรกนำโชคคุ้มครอง (จุดจัดแสดงที่ 11)  พระพุทธรูปปางนาคปรกองค์นี้ถือเป็นพระพุทธรูปประจำพระราชวังพญาไท สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลอุทิศแด่รัชกาลที่ 6 ตามดำริของ พลตรี ปัญญา อยู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าในสมัยนั้น

โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาปรินายก องค์พระอุปัชฌาย์และผู้ประทานแบบในการก่อสร้าง ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเททองหล่อองค์พระ ณ ลานหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 พระราชวังพญาไท และทรงเป็นองค์ประธานในพิธีมหาพุทธาภิเษก ณ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2533

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า ‘พระมหานาคชินะวร วรานุสรณ์มงกุฎราช’

พระพุทธรูปองค์นี้จำลองแบบมาจากพระมหานาคชินะ ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงสร้างไว้เมื่อครั้งทรงผนวช ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก พระประจำวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันเสด็จพระราชสมภพ

12 จุดเดินชมแสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก พลังเมตตาจากท้าวหิรัญพนาสูร (จุดจัดแสดงที่ 12)

ก่อนอำลางาน ‘101 ปี พระราชวังพญาไท’ เชิญรับ พลังเมตตาจากท้าวหิรัญพนาสูร (จุดจัดแสดงที่ 12) อสูรศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าเป็นผู้พิทักษ์รักษา รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งเสด็จประพาสป่าในมณฑลพายัพเมื่อพ.ศ.2449

บันทึกเกี่ยวกับพระราชวังพญาไท ระบุว่า ครั้งนั้นผู้ตามเสด็จผู้หนึ่งกล่าวว่า ฝันเห็นชายรูปร่างล่ำสันใหญ่โตแจ้งว่าชื่อหิรันย์ เป็นอสูรชาวป่า จะมาตามเสด็จ เพื่อคอยดูแลระวังมิให้ภยันตรายทั้งปวงมากล้ำกรายพระองค์และข้าราชบริพาร

ครั้งทรงทราบความ จึงมีพระราชดำรัสให้จัดธูปเทียนและอาหารไปเซ่นที่ในป่าริมพลับพลา และเวลาเสวยค่ำทุกวันได้โปรดเกล้าฯ ให้แบ่งพระกระยาหารจากเครื่องเสวยไปตั้งเช่นเสมอ
หลังจากที่เสด็จประพาสมณฑลพายัพแล้ว ข้าราชบริพารก็พร้อมกันเชิญ ‘หิรันยอสูร’ ให้ตามเสด็จเมื่อเสด็จออกจากกรุงเทพฯ ด้วยเสมอ และโปรดให้เช่นหิรันยอสูรอย่างเช่นเมื่อครั้งเสด็จมณฑลพายัพเป็นธรรมเนียมตลอดมา

ครั้นเมื่อเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างหล่อรูปหิรันยอสูรด้วยทองสัมฤทธิ์ และพระราชทานนามใหม่ว่า ท้าวหิรันยพนาสูร (สะกดตามลายพระราชหัตถเลขา) มีชฎาเทริดอย่างไทยโบราณ และไม้เท้าเป็นเครื่องประดับยศ

12 จุดเดินชมแสงสีเสียงงาน 101 ปี วังพญาไท Night Museum เต็มรูปแบบครั้งแรก

ท้าวหิรัญพนาสูร รูปหล่อขนาดใหญ่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6

ชนะพล โยธีพิทักษ์ ผู้ประสานงานพระราชวังพญาไท กล่าวว่า แรกเริ่มรูปหล่อท้าวหิรันยพนาสูร สูงประมาณ 20 เซนติเมตร มีจำนวน 4 องค์  องค์แรกเดิมประดิษฐานอยู่ข้างพระที่ในห้องพระบรรทมของรัชกาลที่ 6 ปัจจุบันอยู่ที่ ที่ ‘วังรื่นฤดี’ ที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี (พระราชธิดาในรัชกาลที่ 6)

องค์ที่สอง โปรดให้อัญเชิญไว้ในรถพระที่นั่ง ภายหลังนำไปประดิษฐานไว้ที่หมวดรถยนต์หลวง โดยอัญเชิญไว้บนหิ้งบูชา

องค์ที่สาม รัชกาลที่ 6 โปรดให้อัญเชิญไว้ที่กรมมหาดเล็กหลวง ปัจจุบันอยู่ที่พระที่นั่งราชกรัญยสภา ในพระบรมมหาราชวัง, องค์ที่สี่ อยู่ที่บ้านพระยาอนิรุทธเทวา อดีตอธิบดีกรมมหาดเล็กหลวงในสมัยรัชกาลที่ 6

ต่อมาในปีพ.ศ.2465 เมื่อการสร้างพระราชวังพญาไทสำหรับประทับเป็นการถาวรเสร็จเรียบร้อยแล้ว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ช่างหล่อรูปท้าวหิรันยพนาสูรขนาดใหญ่ด้วยทองสัมฤทธิ์ และมีพระราชพิธีบวงสรวงขอเชิญท้าวหิรันยพนาสูรเข้าสิงสถิตย์ในรูปสัมฤทธิ์นี้เพื่อเป็นศาลเทพารักษ์ประจำพระราชวังพญาไทตั้งแต่นั้นสืบมา 

“ทั้งพระพุทธรูปปางนาคปรกและท้าวหิรัญพนาสูรต่างก็ได้รับการสักการะบูชาและขอพรจากผู้เจ็บไข้ได้ป่วยที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าอยู่เสมอ เพราะต่างก็เป็นรูปเคารพที่มีความเชื่อด้านการปกปักรักษา”  ชนะพล โยธีพิทักษ์   กล่าว

101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM 101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM 

การจัดแสดงแสงไฟในงาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM รวบรวมทีมจัดแสงไฟยอดฝีมือระดับแถวหน้าของเมืองไทยซึ่งได้รับเชิญและมอบหมายหน้าที่ให้จัดแสดงงานในเทศกาลดีไซน์ใหญ่ๆ ทั้งเชิงครีเอทีฟและคอมเมอร์เชียล อาทิ อาม่า สตูดิโอ (AMA Studio), ดีไซนด์ คิท (DecideKit), ฟอส ไลท์ติ้ง ดีไซน์ (FOS Lighting Design), ไลท์ซอร์ส (LightSource) และ ณ สัทธา อุทยานไทย

นอกจาก จุดแสดงแสงไฟทั้ง 12 จุด ผู้เข้าชมงานยังสามารถพักผ่อนและดื่มด่ำไปกับเครื่องดื่มไทยแท้ที่ ร้านกาแฟนรสิงห์ ร้านคาเฟ่ที่ตั้งอยู่ในอาคารเทียบรถพระที่นั่ง ณ บริเวณส่วนหน้าพระที่นั่งพิมานจักรี โดยกำหนดเปิดให้บริการเป็นพิเศษในช่วงเวลา 16.00 - 20.30 น. ของทุกวัน และ สตรีทฟู้ด ในรูปแบบฟู้ดทรัค บริเวณพระตำหนักเมขลารูจี

101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM 101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM

ร่วมภาคภูมิใจกับ งานเฉลิมฉลอง “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM ผ่านกาลเวลาอันทรงคุณค่า สู่เรื่องเล่าของประวัติศาสตร์บทใหม่ที่มีชีวิตในบรรยากาศ Night Museum ได้ตั้งแต่ วันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 จนถึง วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2567 ระหว่างเวลา 18.00 -  21.30 น. ณ พระราชวังพญาไท ถนนราชวิถี กรุงเทพฯ

Ticket Area บัตรผู้ใหญ่ ราคา 200 บาท เด็กอายุไม่เกิน 12 ขวบ บัตรราคา 100 บาท สามารถซื้อบัตรที่หน้างาน หรือจองบัตรผ่าน 3 ช่องทาง คือ 

ภาพ : ธิติ วรรณมณฑา