“มงคลพุทธคุณ” สักการะ 10 พระพุทธรูปประจำวันรับเทศกาลปีใหม่

“มงคลพุทธคุณ” สักการะ 10 พระพุทธรูปประจำวันรับเทศกาลปีใหม่

กรมศิลปากรเชิญชวนพุทธศาสนิกชนกราบพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และพระพุทธรูปประจำวัน 9 องค์ที่เก่าแก่และหาชมได้ยาก เพื่อเป็นสิริมงคลรับปีใหม่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

กรมศิลปากร โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดกิจกรรมพิเศษสักการะพระพุทธรูปประจำวัน “มงคลพุทธคุณ” เนื่องในเทศกาลปีใหม่ 2566 ด้วยการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เป็นพระประธาน พร้อมด้วยพระพุทธรูปประจำวันอีก 9 องค์ ซึ่งล้วนมีประวัติความเป็นมายาวนาน และกอปรด้วยพุทธศิลป์อันงดงาม มาประดิษฐานให้ประชาชนสักการบูชา เพื่อความเป็นสิริมคลในวาระแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่

“มงคลพุทธคุณ” สักการะ 10 พระพุทธรูปประจำวันรับเทศกาลปีใหม่

 

ประกอบด้วย พระพุทธรูปปางถวายเนตร พระพุทธรูปประจำวันอาทิตย์ พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร พระพุทธรูปประจำวันจันทร์ พระพุทธรูปไสยาสน์ พระพุทธรูปประจำวันอังคาร พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร พระพุทธรูปประจำวันพุธ พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ พระพุทธรูปประจำวันพุธ กลางคืน (พระพุทธรูปบูชาแทนพระราหู) พระพุทธสิหิงค์จำลอง (ปางสมาธิ) พระพุทธรูปประจำวันพฤหัสบดี พระพุทธรูปปางรำพึง พระพุทธรูปประจำวันศุกร์ พระพุทธรูปปางนาคปรก พระพุทธรูปประจำวันเสาร์ พระหายโศก ปางสมาธิเพชร (พระพุทธรูปบูชาแทนพระเกตุ)

 

ขอเชิญพุทธศาสนิกชนสักการะพระพุทธรูปประจำวัน “มงคลพุทธคุณ” ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 8 มกราคม 2566 เวลา 09.00 น. – 16.00 น. ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ

มงคลพุทธคุณ

คติการสร้างพระพุทธรูป เป็นการสร้างขึ้นเพื่อแทนคุณแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบด้วย พระมหากรุณาธิคุณ (มีคุณด้วยความเมตตากรุณาต่อสัตว์โลก) พระวิสุทธิคุณ (มีคุณด้วยจิตวิสุทธิ์) และพระปัญญาธิคุณ (มีคุณด้วยปัญญา) พระพุทธรูปจึงมิใช่รูปเสมือนจริง แต่สร้างขึ้นตามอุดมคติตามแนวของมหาบุรุษ ผู้บำเพ็ญบารมีพร้อมสมบูรณ์กอปรด้วยความงาม ตามสุนทรียภาพหรือความรู้สึกถึงความงดงามของช่างฝีมือแต่ละยุคสมัย

 

พระพุทธรูปแต่ละองค์ที่สร้างขึ้นต่างมีคุณลักษณะเปี่ยมด้วยสรรพสิริสวัสดิมงคลต่าง ๆ อันเป็นเครื่องน้อมนำให้พระพุทธศาสนิกชนยึดมั่น ศรัทธาต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นกุศโลบายให้ตรึกถึงพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงอันเป็นหนทางพ้นทุกข์ภัยในวัฏสงสาร

 

เนื่องในเทศกาลปีใหม่ พุทธศักราช 2566 กรมศิลปากร โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดกิจกรรมพิเศษสักการะพระพุทธรูปประจำวัน ซึ่งเป็นส่วนแห่งพุทธอิริยาบถที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงคัดเลือกจากลักษณะปางหรือมุทราตามที่ได้ปรากฏในพุทธประวัติของพระบรมศาสดา จำนวน 40 ปาง มาสร้างถวายเป็นพุทธบูชาในครั้งนั้น

 

การอัญเชิญพระพุทธรูปประจำวันในกิจกรรมครั้งนี้ มีพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เป็นพระประธาน พร้อมด้วยพระพุทธรูปประจำวัน อีก 9 องค์ ที่จัดแสดงและสงวนรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จำนวน 8 องค์ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จำนวน 1 องค์ ซึ่งล้วนมีประวัติความเป็นมายาวนาน และกอปรด้วยพุทธศิลป์อันงดงาม มาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการบูชา เพื่อความเป็นสิริมคลในวาระแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ถึงวันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2566

 

พระพุทธรูปทั้ง ๑๐ องค์ ประกอบด้วย

1. พระพุทธสิหิงค์

“มงคลพุทธคุณ” สักการะ 10 พระพุทธรูปประจำวันรับเทศกาลปีใหม่

 

ศิลปะ : สุโขทัย-ล้านนา ปลายพุทธศตวรรษที่ 20-21 (500-600 ปีมาแล้ว)

ประวัติ : สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้าพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่เมื่อพุทธศักราช 2338 ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสัมฤทธิ์กะไหล่ทอง ประทับขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลาแสดงปางสมาธิ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ตามตำนานพระพุทธสิหิงค์ได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นสิริยังพระนครหลวงโบราณหลายแห่ง นับแต่สุโขทัย เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา ตราบเท่าถึงกรุงรัตนโกสินทร์

 

2. พระพุทธรูปปางถวายเนตร พระพุทธรูปประจำวันอาทิตย์

“มงคลพุทธคุณ” สักการะ 10 พระพุทธรูปประจำวันรับเทศกาลปีใหม่

 

ศิลปะ : รัตนโกสินทร์พุทธศตวรรษที่ 24 (200 ปีมาแล้ว)

ประวัติ : สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พระพุทธรูปปางถวายเนตร อิริยาบถทรงยืนประสานพระหัตถ์ขวาวางไขว้ทับบนพระหัตถ์ซ้ายบริเวณพระเพลา เหตุการณ์ในสัปดาห์ที่ 2 หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงยืนอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ลืมพระเนตรเพ่งดูต้นไม้ตรัสรู้โดยมิได้กะพริบพระเนตรเป็นเวลา 7 วัน สถานที่แห่งนั้น เรียกว่า “อนิมิสเจดีย์”

 

3. พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร พระพุทธรูปประจำวันจันทร์

“มงคลพุทธคุณ” สักการะ 10 พระพุทธรูปประจำวันรับเทศกาลปีใหม่

 

ศิลปะ : อยุธยา พุทธศตวรรษที่ 22 (400 ปีมาแล้ว)

ประวัติ : สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พระพุทธรูปทรงเครื่องอาภรณ์ปางห้ามสมุทร ทรงยืนยกพระหัตถ์ทั้งสองตั้งขึ้นเสมอพระอุระและหันฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองออกด้านนอก แสดงเหตุการณ์พุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าไปอาศัยอยู่ในโรงบูชาเพลิงของชฎิลอุรุเวลกัสสปริมแม่น้ำเนรัญชรา พระพุทธองค์ทรงบันดาลด้วยอิทธิฤทธิ์ป้องกันไม่ให้น้ำท่วม และทรงทรมานพญานาคที่อาศัยอยู่ในโรงเพลิงให้หมดพิษร้าย เหล่าชฎิลเห็นถึงความอัศจรรย์ในที่สุดก็ยอมเป็นศิษย์ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา

 

4. พระพุทธรูปไสยาสน์ พระพุทธรูปประจำวันอังคาร

“มงคลพุทธคุณ” สักการะ 10 พระพุทธรูปประจำวันรับเทศกาลปีใหม่

 

ศิลปะ : สุโขทัย พุทธศตวรรษที่ 20 (600 ปีมาแล้ว)

ประวัติ : กรมศิลปากร ซื้อมาจากพิพิธภัณฑ์หม่อมเจ้าปิยะภักดีนาถ สุประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2479

พระพุทธรูปอิริยาบถบรรทมตะแคงขวา พระหัตถ์ขวารองรับพระเศียรบนพระเขนย (หมอน) ส่วนพระหัตถ์ซ้ายวางทาบไปกับพระวรกายเบื้องซ้าย พระบาทซ้ายซ้อนทับบนพระบาทขวา พระพุทธรูปอิริยาบถบรรทมมีปรากฏในพุทธประวัติจากหลายเหตุการณ์ ในประเทศไทยนิยมสร้างพระพุทธรูปไสยาสน์เพียง 2 เหตุการณ์ คือ ปางโปรดอสุรินทราหูกับปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน ส่วนในเหตุการณ์อื่น ๆ มักจะปรากฏในงานจิตรกรรม

 

5. พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร พระพุทธรูปประจำวันพุธ

“มงคลพุทธคุณ” สักการะ 10 พระพุทธรูปประจำวันรับเทศกาลปีใหม่

 

ศิลปะ ล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21-22 (400-500 ปีมาแล้ว)

ประวัติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทาน เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2469

พระพุทธรูปอิริยาบถยื่นพระกรทั้งสองออกไปโอบรับบาตร ตามเหตุการณ์พระพุทธประวัติ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงเมืองกบิลพัสดุ์ พระประยูรญาติจัดการรับเสด็จให้ประทับ ณ พระนิโครธารามวิหาร โดยมิได้มีตระกูลหนึ่งตระกูลใดกราบทูลให้รับภัตตาหารบิณฑบาตในเช้าวันรุ่งขึ้นไม่ พระพุทธองค์จึงเสด็จพร้อมพระสาวกเข้ามาบิณฑบาตภายในเมืองเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ (ผู้ที่พึงสั่งสอนได้) ตามกิจของสงฆ์เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบจึงเสด็จออกไปอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยเหล่าพระสงฆ์สาวกให้เข้าไปกระท าภัตกิจเสวยภัตตาหารในพระมหามณเฑียร

 

6. พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ พระพุทธรูปประจำวันพุธ กลางคืน (พระพุทธรูปบูชาแทนพระราหู)

“มงคลพุทธคุณ” สักการะ 10 พระพุทธรูปประจำวันรับเทศกาลปีใหม่

 

ศิลปะ รัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24 (200 ปีมาแล้ว)

ประวัติ ขุดพบจากกรุในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2507

พระพุทธรูปประทับห้อยพระบาท พระหัตถ์ขวาคว่ าบนพระเพลา สร้างขึ้นตามพระพุทธประวัติเมื่อคราวภิกษุเมืองโกสัมพี เกิดแตกความสามัคคีกัน แม้พระพุทธองค์จะห้ามปรามอย่างไรก็ไม่เชื่อฟัง จึงทรงเสด็จจาริกไปอยู่ตามลำพังพระองค์เดียวในป่าที่ชื่อว่าปาลิไลยกะ โดยมีช้างปาลิไลยกะถวายตนเป็นอุปัฏฐาก และพญาวานรมีกุศลจิตน ารวงผึ้งติดกิ่งไม้มาถวายพระพุทธองค์ พระหัตถ์ซ้ายจึงวางหงายวางบนพระเพลาเป็นกริยาทรงรับ

 

7. พระพุทธสิหิงค์จำลอง (ปางสมาธิ) พระพุทธรูปประจำวันพฤหัสบดี

“มงคลพุทธคุณ” สักการะ 10 พระพุทธรูปประจำวันรับเทศกาลปีใหม่

 

ศิลปะ : รัตนโกสินทร์ ปลายพุทธศตวรรษที่ 24 -ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 (ประมาณ 150 ปีมาแล้ว)

ประวัติ : เป็นของอยู่ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์มาแต่เดิม

พระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบพระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลาแสดงปางสมาธิ มีความหมายถึงพุทธประวัติเหตุการณ์ที่พระโพธิสัตว์ได้รับหญ้าคา ๘ ก า จากพราหมณ์มาปูลาดบนรัตนบัลลังก์เบื้องตะวันออกแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ แล้วทรงนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์วางหงายซ้อนกันบนพระเพลา เจริญสมาธิและทรงตั้งปณิธานว่าหากไม่บรรลุพระโพธิญาณจะไม่ลุกขึ้น

 

8. พระพุทธรูปปางรำพึง พระพุทธรูปประจำวันศุกร์

“มงคลพุทธคุณ” สักการะ 10 พระพุทธรูปประจำวันรับเทศกาลปีใหม่

 

 

ศิลปะ : อยุธยา พุทธศตวรรษที่ 21 (500 ปีมาแล้ว)

ประวัติ : ขอยืมมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

พระพุทธรูปยืนไขว้พระหัตถ์ทั้งสองข้างทับกันบริเวณพระอุระ แสดงเหตุการณ์ตามพุทธประวัติเมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงรำพึงปริวิตกว่าพระธรรมที่ทรงตรัสรู้นั้น จะไม่สามารถเผยแผ่แก่สรรพสัตว์ให้เข้าใจได้โดยง่าย ท้าวสหัมบดีพรหมจึงมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์และกราบทูลอาราธนาให้พระองค์ทรงแสดงธรรมแก่สรรพสัตว์ พระพุทธองค์ทรงพิจารณาถึงความแตกต่างของเหล่าสรรพสัตว์เปรียบกับดอกบัว 3 เหล่า และมีพระประสงค์ที่จะเผยแผ่พระธรรมต่อไป

 

9. พระพุทธรูปปางนาคปรก พระพุทธรูปประจำวันเสาร์

“มงคลพุทธคุณ” สักการะ 10 พระพุทธรูปประจำวันรับเทศกาลปีใหม่

 

ศิลปะ : รัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24 (200 ปีมาแล้ว)

ประวัติ : สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบเหนือขนดนาค 4 ชั้น เบื้องพระปฤษฎางค์เป็นลำตัวพญานาค 7 เศียร แผ่พังพานปกเหนือพระเศียร ปางนาคปรก เหตุการณ์พุทธประวัติภายหลังจากตรัสรู้ในสัปดาห์ที่ 6 พระพุทธองค์เสด็จไปประทับบำเพ็ญสมาบัติ ณ ร่มไม้จิก (มุจลินทพฤกษ์) ขณะนั้นฝนได้ตกพรำอยู่ตลอด 7 วัน พญานาคตนหนึ่งชื่อมุจลินทนาคราชอาศัยอยู่ในสระใหญ่ใกล้ๆ ที่นั้น ได้ขึ้นมาแผ่พังพานและขดกายล้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้ถูกหมอกนำค้าง ลมและนำฝน กระทั่งฝนหยุดตกจึงแปลงกายเป็นมาณพเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

 

10. พระหายโศก ปางสมาธิเพชร (พระพุทธรูปบูชาแทนพระเกตุ)

“มงคลพุทธคุณ” สักการะ 10 พระพุทธรูปประจำวันรับเทศกาลปีใหม่

 

ศิลปะ : ล้านนา พุทธศตวรรษ 21 (500 ปีมาแล้ว)

ประวัติ : กรมพระราชพิธีส่งมาจากพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2474

พระพุทธรูปนามมงคลว่า “พระหายโศก” เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเพชร ประทับขัดสมาธิเพชรเห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ พระเกตุเป็นเทวดานพเคราะห์ที่ประจำอยู่ในทิศท่ามกลาง และไม่เสวยอายุโดยตรง แต่เป็นเทวดาจรพลอยเข้าเสวยอายุร่วมกับเทวดาองค์อื่นและส่งเสริมลักษณะดีและร้ายของพระเคราะห์ที่แทรกอยู่ด้วยนั้น

พระพุทธรูปปางสมาธิเพชร (บางตำราเป็นพระพุทธมารวิชัย) เป็นพระพุทธรูปปางประจำวันของผู้ที่ไม่ทราบวันเกิดของตน