ปีนี้ทำบุญใหญ่“ทอดกฐิน"หรือยัง..ผ่านช่วงเวลานี้ไป ต้องรอปีหน้า

ปีนี้ทำบุญใหญ่“ทอดกฐิน"หรือยัง..ผ่านช่วงเวลานี้ไป ต้องรอปีหน้า

อีกไม่กี่วันก็หมดช่วงทำบุญใหญ่“ทอดกฐิน” ที่เริ่มมาตั้งแต่ 11 ตุลาคม-8 พฤศจิกายน 2565 ถ้าใครลืมไปแล้วว่าการ"ทอดกฐิน"และทำบุญมีความสำคัญอย่างไร ลองอ่านเรื่องนี้

จำได้ว่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เคยเดินทางไปทอดกฐินสองแผ่นดินในเขมร สิ่งที่เห็นคือ ศรัทธา ความร่วมมือร่วมใจ และประชาชนที่นับถือพุทธศาสนาต่างชาติต่างภาษาได้ทำบุญร่วมกัน 

สาเหตุที่ต้องมีการทอดกฐิน เนื่องจากในสมัยพุทธกาลบางท้องที่ พระภิกษุสามเณรหลายรูปมีผ้านุ่งผ้าห่มเก่าและขาด หาใหม่ไม่ได้

พระพุทธเจ้าจึงทรงให้ช่วยกันหาเศษผ้า หรือ ท่อนผ้าที่เขาทิ้งตามถนนหนทางหรือตามป่าช้ามาซักแล้วตัดเย็บเป็นจีวรหรือผ้านุ่งผ้าห่ม โดยนำไปย้อมด้วยเปลือกไม้ จากนั้นมีการประชุมสงฆ์อย่างน้อย 5 รูปขึ้นไป แล้วทำพิธีมอบถวายให้พระภิกษุสามเณรที่มีจีวรผ้านุ่งผ้าห่มเก่าขาด

  • ทอดกฐินในประเทศไทย 

สันนิษฐานว่าการทอดกฐินมีมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี แต่ปรากฏหลักฐานในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี โดยมีทั้งกฐินหลวงและกฐินราษฎร์

กฐินแต่ละปีมีกำหนดระยะเวลาเพียง 1 เดือน คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (วันเพ็ญเดือน 12) ปี 2565 การทอดกฐินเริ่มตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2565 – 8 พฤศจิกายน 2565 (ตรงกับวันลอยกระทง )

ปัจจุบันการถวายผ้ากฐิน จะให้ความสำคัญกับบริวารของกฐินทานแทน เช่น เงิน หรือวัตถุสิ่งของ เพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาถาวรวัตถุและทำนุบำรุงพุทธศาสนา ซึ่งจัดเป็นสังฆทานรูปแบบหนึ่ง

ปีนี้ทำบุญใหญ่“ทอดกฐิน\"หรือยัง..ผ่านช่วงเวลานี้ไป ต้องรอปีหน้า

  • กฐินหลวงและ กฐินราษฎร์

ถ้าเป็นกฐินราษฎร์ จะนำไปทอดถวายวัดทั่วไป โดยมีรูปแบบทั้งมหากฐิน และจุลกฐิน

-มหากฐิน คือกฐินที่ทอดถวายตามวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยรวบรวมจตุปัจจัยและสิ่งของต่าง ๆ นำไปเป็นเครื่องประกอบในงานกฐินถวายแก่พระสงฆ์ เพื่อนำไปทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาต่อไป (มหากฐินไม่ใช่ศัพท์ที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก) มหากฐินอาจเป็นกฐินที่มีเจ้าภาพเพียงคนเดียว หรือกฐินสามัคคีก็ได้ ไม่ต้องทำโดยเร่งรีบเหมือนจุลกฐิน

-จุลกฐิน เป็นคำเรียกการทอดกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วน โดยต้องอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธาจำนวนมาก เพื่อผลิตผ้าไตรจีวรให้สำเร็จด้วยมือภายในวันเดียว เริ่มตั้งแต่เก็บฝ้าย ตัดเย็บ ย้อม และถวายให้พระสงฆ์กรานกฐินให้เสร็จภายในเวลาเช้าวันหนึ่งจนถึงย่ำรุ่งของอีกวันหนึ่ง ซึ่งสมัยนี้คงไม่ได้ทำแบบนั่นแล้ว

ว่ากันว่าในสมัยโบราณการทำจุลกฐินจะได้อานิสงส์มาก เพราะต้องใช้ความอุตสาหะพยายามมากกว่ากฐินแบบธรรมดา (มหากฐิน) ภายในระยะเวลาอันจำกัด 

ปกติแล้วประเพณีการทอดจุลกฐิน พบเฉพาะในประเทศไทยและลาว และไม่ปรากฎประเพณีการทอดกฐินชนิดนี้ในประเทศพุทธเถรวาทประเทศอื่น 

ส่วนกฐินหลวง เป็นกฐินที่ทอดถวายแด่พระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษา ณ พระอารามหลวงแห่งใดแห่งหนึ่ง มีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน คือ 

-กฐินเสด็จพระราชดำเนิน เป็นกฐินหลวงที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปพระราชทานถวายด้วยพระองค์เองหรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ไปทอดถวายแทน

-กฐินต้น เป็นกฐินส่วนพระองค์ที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระราชทานแก่วัดใด วัดหนึ่งซึ่งอาจเป็นวัดหลวงหรือวัดราษฎร์ก็ได้

-กฐินของพระมหากษัตริย์พระราชทานให้แก่หน่วยงานข้าราชการ คฤหบดี พ่อค้า และประชาชนผู้กราบบังคมทูลขอพระราชทานผ้ากฐินนำไปทอดถวาย ณ พระอารามหลวง แห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นพิธีที่สำคัญ

นอกจากนี้ยังมีการทอดกฐินพระราชทาน เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เริ่มมีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538และถือปฎิบัติต่อเนื่องทุกปี

ปีนี้ทำบุญใหญ่“ทอดกฐิน\"หรือยัง..ผ่านช่วงเวลานี้ไป ต้องรอปีหน้า การทำบุญทอดกฐิน

เป็นบุญที่ถูกจำกัดในหลายเรื่อง...

1.) จำกัดด้วยเวลา คือต้องถวายภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่วันออกพรรษา

2.)จำกัดชนิดทาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอื่นไม่ได้

3.)จำกัดคราว คือ แต่ละวัดรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

4.) จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุรับกฐินได้จะต้องจำพรรษาที่วัดนั้นครบไตรมาส (3 เดือน)

5.) จำกัดงาน คือ เมื่อพระภิกษุรับผ้ากฐินแล้ว จะต้องกรานกฐินให้เสร็จภายในวันนั้น

6.)จำกัดของถวาย คือ ต้องเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวรเท่านั้น 

..............

อ้างอิง : วิกิพีเดีย /เฟซบุ๊ค พระอาจารย์ศรัทธาวุฒิ อตุโล