"ดร.ยุ้ย-เกษรา" นักธุรกิจพันล้าน :"เมืองสำหรับผู้หญิง" ไม่ได้ฝันเกินจริง

"ดร.ยุ้ย-เกษรา" นักธุรกิจพันล้าน :"เมืองสำหรับผู้หญิง" ไม่ได้ฝันเกินจริง

“เมืองสำหรับผู้หญิง” ขายฝันหรือเปล่าเนี่ย เมืองแบบนี้มีจริงหรือ หนึ่งในนโยบายสมัครผู้ว่าฯกทม. ที่เชื่อว่า ปัญหาผู้หญิงละเอียดอ่อนเกินกว่าจะมองข้าม เพราะผู้หญิงเป็นทุกอย่างในครอบครัว ยกเว้นกระสอบทรายสำหรับผู้ชาย 

ว้าว! “เมืองสำหรับผู้หญิง” ขายฝันลมๆ แล้งๆ เพื่อหาเสียงหรือเปล่าเนี่ย...

เมื่อได้ยินหนึ่งในทีม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. พูดถึงเมืองสำหรับผู้หญิง ก็จินตนาการไปไกล...

จนมีโอกาสจับเข่าคุยกับ ดร.ยุ้ย หรือ ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ นักธุรกิจพันล้าน กรรมการผู้จัดการ บริษัทเสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มาช่วยคิดนโยบายกทม.บางเรื่องให้ทีมชัชชาติ

 

พอสรุปได้ว่า นโยบายบางเรื่อง เธอมั่นใจว่าทำได้จริง ขอเพียงมีอำนาจ ทั้งงบประมาณและการสั่งการ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยค่อยๆ แก้ไป

“ตอนคนในชุมชนกู้หนี้นอกระบบ ก็ยังไม่ทันได้คิดเลยว่ากู้ในระบบได้หรือเปล่า เพราะลูกป่วย ไม่มีเวลาไปธนาคาร กู้เงินนอกระบบง่ายกว่า”

“เวลาผู้หญิงจะมีลูกสักคน ทำไมยากจัง แพงจัง ถ้าคิดจะมีลูก บางคนต้องลาออกจากงาน"

 

\"ดร.ยุ้ย-เกษรา\" นักธุรกิจพันล้าน :\"เมืองสำหรับผู้หญิง\" ไม่ได้ฝันเกินจริง

“ทำไมเวลาเลิกงาน ผู้หญิงบางคนต้องรีบกลับบ้าน เพราะบ้านในซอยมืดมาก ผู้หญิงจึงไม่สามารถทำโอทีได้ทุกวันเหมือนผู้ชาย "

“ทำเมืองให้เฟรนลี่สำหรับผู้หญิง ในซอยถนน มีไฟฟ้าอยู่แต่ไม่สว่าง ปัญหาแบบนี้คนไปคิดว่าต้องแก้เยอะ การทำให้ไฟสว่างทุกถนน เป็นสิ่งที่เราควรทำ” ฯลฯ

เศษเสี้ยวของปัญหาที่ ดร.ยุ้ย สะท้อนให้ฟังนิดๆ หน่อยๆ ก่อนจะเล่ากันถึงวิธีแก้ปัญหา เพื่อชีวิตที่ดีกว่าเดิม 

 เมืองที่อยากให้เป็น

ไม่อาจปฎิเสธได้ว่า ถ้าขันอาสาบริหารกทม. ต่างอยากทำเมืองให้น่าอยู่สำหรับทุกคน ดร.ยุ้ย แม้ไม่เคยข้องแวะกับการเมืองระดับกทม. เมื่อมีโอกาสเกี่ยวข้อง ทำให้นักธุรกิจพันล้านได้เรียนรู้กับชุมชน

“ไปชุมชนมากว่าร้อยแห่ง เมื่อก่อนไม่เคยรู้ว่ามีชุมชนแออัดขนาดนี้ รู้เลยว่าเราแย่มาก  ปัญหาคนกลุ่มนี้ต้องรีบแก้ ไม่ใช่แค่ปัญหาไม่มีที่อยู่ ปัญหาโยงกันหมด เด็กๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน เงินไม่มี ติดหนี้นอกระบบ”

เมื่อถามว่า แล้วเกี่ยวอะไรกับเมืองสำหรับผู้หญิง เธอ บอกว่า ผู้หญิงเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของครอบครัว ต้องดูแลลูกและพ่อแม่

“เมื่อศึกษาดู พบว่าในผังเมืองมีการออกแบบเมืองเพื่อผู้หญิงอยู่จริง ผู้หญิงสมัยนี้จะมีลูกสักคน ทำไมยากจัง แพงจัง ถ้าคิดจะมีลูก บางคนต้องออกจากงาน

ถ้าเราเริ่มต้นใหม่ กทม.มีศูนย์ดูแลเด็กปฐมวัยวัย 3 ปีขึ้นไปอยู่แล้ว เปลี่ยนมาดูแลเด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือนได้ไหม ถ้าทำได้จะทำให้ผู้หญิงไม่ต้องลาออกจากงานมาเลี้ยงลูก ปกติมีคนดูแลเด็ก 1 ต่อ 10 เปลี่ยนมาเป็น 1 ต่อ 5 ถ้าเทียบงบหลายอย่างที่กทม.ทำ อันนี้ใช้งบน้อยมาก

การมีศูนย์เลี้ยงเด็กใกล้บ้าน จะทำให้เมืองมีต้นทุนต่ำสำหรับผู้หญิง มีหลายชุมชนไม่มีศูนย์เลี้ยงเด็ก ทั้งๆ ที่กทม.มีได้ ในญี่ปุ่นย่านรถไฟฟ้า เขาให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กเอกชน เพื่อคนทำงานสามารถเอาลูกไปฝากเลี้ยงก่อนทำงาน การมีเส้นทางเมืองแบบนี้สำคัญมาก"

\"ดร.ยุ้ย-เกษรา\" นักธุรกิจพันล้าน :\"เมืองสำหรับผู้หญิง\" ไม่ได้ฝันเกินจริง

ผู้หญิงกทม.การศึกษาสูงกว่า โอกาสน้อยกว่า

มีข้อมูลยืนยันว่า ผู้หญิงกรุงเทพฯ ได้รับการศึกษาสูงกว่าผู้ชาย(ในระดับอุดมศึกษา) แต่รายได้ถูกกว่าผู้ชายประมาณ 5,000 บาท และผู้หญิงจำนวนมากต้องออกจากงานมาเลี้ยงลูก 

แค่นั้นยังไม่พอ กรุงเทพฯเป็นเมืองที่ไม่ปลอดภัย แล้วจะเอื้อให้ผู้หญิงได้มีโอกาสใช้ชีวิตดีขึ้น ง่ายขึ้นได้อย่างไร

ดร.ยุ้ย ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมเวลาเลิกงาน ผู้หญิงต้องรีบกลับบ้าน เพราะบ้านในซอยมืดมาก ไม่สามารถทำโอทีได้ทุกวัน

"ปัญหานี้เราไปคิดว่าต้องแก้เยอะ แค่ทำระบบไฟฟ้าให้ส่องสว่างทุกถนน เป็นสิ่งที่เราควรทำ และทำกล้องวงจรปิด

อีกอย่างไม่มีทางที่คนกทม.จะรู้ว่าซอยไหนมืด ถ้าช่วยกันรายงานหรือดูที่แอพฯTraffy Fondue” (ทราฟฟี่ ฟองดูว์) ตัวช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง ของสวทช. สามารถอัพเดทได้ว่า วันนี้ประชาชนไปเจออะไรมา ผู้บริหารเมืองควรแก้ไขเรื่องใด ถ้าผู้บริหารกทม.ใส่ใจก็ทำได้

ซึ่งแอพฯนี้เราจะพัฒนาเพิ่มในระบบคราวด์ หรือแอพฯ ปักหมุดจุดเผือก ถ้าเราจะไปสถานที่ไหนที่ไม่เคยไป ก็ดูได้ว่า ปลอดภัยหรือไม่ แอพฯนี้ องค์กรพัฒนาเอกชนทำ ขนาดเป็น NGO ยังทำได้ขนาดนี้ ถ้ากทม.ตั้งใจทำ ก็ต้องทำได้ 

เหมือนเช่นที่กล่าวมา สำหรับชุมชนเล็กๆ แล้วผู้หญิงเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในครอบครัว เมื่อลูกป่วย ไม่มีรายได้  ผู้หญิงก็ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อสมาชิกในครอบครัว

"กู้นอกระบบง่ายกว่า แม้ดอกเบี้ยสูง แต่มีคนเอาเงินมาให้ถึงบ้าน คนในชุมชนที่กู้ในระบบไม่ได้ จึงมีทั้งคนไม่มีหลักฐาน และคนที่ต้องการใช้เงินด่วน ดังนั้นสิ่งที่เราคิดไว้คือ ขอความร่วมมือรถธนาคารออมสิน เข้าไปในชุมชนให้กู้เงินง่ายขึ้นได้ไหม"

\"ดร.ยุ้ย-เกษรา\" นักธุรกิจพันล้าน :\"เมืองสำหรับผู้หญิง\" ไม่ได้ฝันเกินจริง

บ้านสำหรับคนจน 

ในฐานะนักบริหารด้านอสังหาริมทรัพย์ รู้เกือบทุกเรื่องเกี่ยวกับการสร้างบ้าน  ดร.ยุ้ย บอกว่า ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีบ้านออกมาเยอะ ขายไม่ออก แต่คนกลุ่มหนึ่งไม่มีบ้านอยู่

"ยุ้ยไปดูวิธีการปล่อยกู้ของบ้านมั่นคง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือพอช. กลไกนี้ดีอยู่แล้ว ปกติคนเหล่านี้ กู้ธนาคารไม่ได้ เพราะต้องหาที่ดินให้ได้ก่อน เมื่อได้ที่ดินแล้ว พอช.ถึงจะปล่อยกู้ได้

ที่ดินในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่อยู่ในมือเอกชน ถ้าหาที่ดินเอกชนแบบที่ครอบครัวเราทำธุรกิจด้านนี้ ไม่มีทางที่คนกลุ่มนี้จะซื้อได้

โจทย์ของเราคือ ต้องหาที่ดินที่เอกชนที่ทำไม่ได้ ซื้อไม่ได้ ยกตัวอย่างถนนแคบ 4 เมตร กฎหมายบอกไว้ว่า สร้างบ้านขาย ถนนต้องกว้าง 6 เมตร

ในกรุงเทพฯมี 2,500 ชุมชน ถ้าเอาที่ดินมาทำบ้านให้คนจน การหาที่ดินสำหรับคนที่เคยอยู่แถวเดิม ยากมาก ต้องหาที่ดินว่างๆ ของวัด กรมธนารักษ์ กทม. จริงๆ แล้วมีคนจำนวนมากใช้ที่ดินเหล่านี้อยู่แล้ว"

วิธีการหาที่ดินว่างเปล่าในแนวทางของดร.ยุ้ย  เธอใช้กูเกิล เอิร์ธ สำรวจตรวจสอบ ซึ่งเป็นงานที่คนทำอสังหาริมทรัพย์เช่นเธอทำอยู่ทุกวัน แต่เรื่องเหล่านี้ยากสำหรับคนในชุมชน

"เราก็ทำเครื่องมือนี้ขึ้นมา นโยบายคือ ตั้งอาสาสมัครเทคโนโลยี เพื่อหาว่า ที่ดินตรงไหนกทม. ทำได้ เอกชนทำไม่ได้ เราสามารถแบ่งเป็นเขตๆ ได้ 

อย่างการปลูกบ้าน พอช.ให้กู้ 15 ปี เขาทำบ้านเล็กๆ แต่มั่นคง บ้านจะเป็นลักษณะไหนก็ได้ ขอให้ถูกกฎเกณฑ์ สเกลที่ทำได้ราคาประมาณสามแสนบาท

วิธีของพอช.เป็นวิธีที่ดี เขาให้คนเหล่านี้ผ่อนสหกรณ์ แล้วสหกรณ์ผ่อนพอช. 5 ปี ดอกเบี้ย 4 เปอร์เซ็นต์ ปัญหาที่เราไปคุยคือ หาที่ดินไม่ได้ หากไม่ได้เป็นผู้บริหารกทม. คงทำอะไรที่ใหญ่ๆ ไม่ได้”

นักธุรกิจพันล้าน ลุยงานเพื่อสังคม

ถ้าถามว่า  ทำไม 7 เดือนที่แล้ว ดร.ยุ้ย ยอมมาช่วยอาจารย์ชัชชาติ ทำเรื่องนโยบาย โดยดึงเพื่อนๆ อาจารย์มาช่วยด้วย

“ช่วงที่เขาบอกว่าจะสมัครผู้ว่าฯกทม. เปิดตัวเมื่อสองปีที่แล้ว ทาบทามให้ยุ้ยมาช่วย ตอนนั้นยุ้ยบอกว่า อย่าเพิ่งเลย พ่อด่าอยู่ เพราะยุ้ยทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และเป็นอาจารย์”

แต่หลังจากคิดหลายตลบ ก็ยอมมาช่วยในที่สุด เพราะก่อนหน้านี้ ตอนเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ เธอเคยทำงานกับอาจารย์ชัชชาติหลายโครงการ จึงมีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี  

“ดร.ยุ้ย เคยเป็นอาจารย์ผม”อาจารย์ชัชชาติ กล่าว

ส่วนนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์พันล้าน ดีกรีด็อกเตอร์จากอเมริกา ด้านเศรษฐศาสตร์ และปริญญาโทด้านการเงินและเศรษฐศาสตร์บอกว่า ช่วงที่อาจารย์ชัชชาติเป็นผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาฯ ดูแลด้านทรัพย์สิน ก็เคยทำงานด้วยกัน ตอนนั้นเขาไม่รู้เรื่องการเงินเลย เขาก็เลยอยากเรียนเอ็มบีเอ

"ตอนนั้นยุ้ยสอนอยู่ ก็สอนเขาด้วย และยุ้ยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาตอนเขาทำวิทยานิพนธ์ แต่ก่อนหน้านี้ยุ้ยเป็นลูกน้องเขามาตลอด ยุ้ยกับอ.ชัชชาติเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ มีช่วงชีวิตการทำงานที่ยาวที่สุดคือเป็นอาจารย์ 20 ปี”

นั่นเป็นความสัมพันธ์รุ่นน้องรุ่นพี่ จุฬาฯ ส่วนงานด้านร่างนโยบายกทม. ดร.ยุ้ย บอกว่า

“เขาเก่งกว่ายุ้ย ทำได้ทุกนโยบาย บางนโยบายยุ้ยก็ช่วยดู ยุ้ยทำเรื่องอสังหาริมทรัพย์มาก่อน ก็อยากทำเรื่องบ้าน ไม่ว่าคนจนหรือคนไร้บ้าน ก็อยากให้มีบ้านอยู่”