“ก่อพระเจดีย์ทราย” ก่อทำไม? กับพลวัตรการขนทรายเข้าวัด “สงกรานต์” ยุคนี้

“ก่อพระเจดีย์ทราย” ก่อทำไม? กับพลวัตรการขนทรายเข้าวัด “สงกรานต์” ยุคนี้

อีกหนึ่งสีสันของ “วันสงกรานต์” คือประเพณีขนทรายเข้าวัดภายใต้สัญลักษณ์ของการ “ก่อพระเจดีย์ทราย” ที่แม้จะไม่เลือนหาย แต่ก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา

ยุคสมัยเปลี่ยน อะไรต่อมิอะไรก็เปลี่ยน ยิ่งเป็นประเพณีด้วยแล้วย่อมเคลื่อนไหวไปตามกาลเวลา ถึงคนโบร่ำราณจะพยายามส่งต่อให้คนรุ่นหลังสานต่อประเพณีอันดีงาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า วันสงกรานต์ ในอดีตกับปัจจุบันแตกต่างกันมากมาย

ก่อพระเจดีย์ทราย เป็นหนึ่งในประเพณีที่เมื่อนึกถึงวันสงกรานต์ก็จะมีมาควบคู่กัน เพราะคือกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากความเชื่อทางพระพุทธศาสนา แล้วค่อยๆ พัฒนาสู่กิจกรรมเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ไม่ว่าจะสันทนาการ หรือเพื่อการท่องเที่ยว

ก่อเจดีย์ทรายทำไม?

ประเพณีก่อพระเจดีย์ทราย ผูกโยงกับคติความเชื่อเรื่องเวรกรรมในพระพุทธศาสนา เชื่อว่าการ ก่อเจดีย์ทราย ถวายวัดเพื่อนำเศษดินทรายที่ติดเท้าออกจากวัดไป มาคืนวัดในรูปของเจดีย์ทรายและเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เชื่อกันว่าจะได้อานิสงส์มาก คือจะไม่ตกนรกหลายร้อยชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเพรียบพร้อมด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ มีบริวารและเกียรติยศชื่อเสียง หากตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์ พรั่งพร้อมด้วยสมบัติและมีนางฟ้าเป็นบริวาร จึงทำให้คนโบราณนิยม “ก่อพระเจดีย์ทราย” ใน “วันสงกรานต์”

และเป็นกุศโลบายให้คนในชุมชนรวมตัวกันได้พบปะสังสรรค์กัน เพื่อจัดประเพณีรื่นเริงเป็นการสร้างความสามัคคีของคนในชุมชนด้วย

ความเชื่อเรื่อง “ก่อเจดีย์ทราย” ในท้องถิ่น

คล้ายเป็นความเชื่อบวกความบันเทิง แต่ในบางพื้นที่เช่นภาคเหนือให้ความสำคัญกับการ “ก่อเจดีย์ทราย” อย่างมาก โดยชาวเหนือจะ “ก่อพระเจดีย์ทราย” กันตอนบ่ายของวันเนาหรือวันเน่า (วันที่ 14 เมษายน) ตามตำนานเรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศลก่อพระเจดีย์ทราย 84,000 องค์ ถวายเป็นพุทธะ ธัมมะ สังฆะบูชา กับเรื่องพระโพธิสัตว์ครั้งเสวยชาติเป็นทุกขตะเข็ญใจ ได้ก่อพระเจดีย์ทรายและฉีกสบงแขวนเป็นตุง พร้อมกับขอให้เสวยชาติใหม่เป็นองค์สัพพัญญู

ตามความเชื่อของภาคเหนือ ผู้ใด “ก่อพระเจดีย์ทราย” จะได้บุญมหาศาลเท่าจำนวนเม็ดหินเม็ดทราย อีกทั้งยังจะเป็นคนมีปัญญากล้าแกร่ง ละเอียดเหมือนเม็ดทราย จะเกิดร่วมกับพระศรีอาริย์ มีญาติพี่น้องบริวารมาก ไปไหนไม่อดอยาก ถ้าเป็นคนแก่ก็จะมีอายุยืนยาว ส่วนหนุ่มสาวที่ก่อพระเจดีย์ทรายร่วมกัน ก็จะเป็นคู่กันตลอดไป

นอกจากแง่บุญกุศลของการ “ก่อเจดีย์ทราย” ในทางบาปตามความเชื่อของชาวเหนือก็เข้มข้นเช่นกัน เพราะคนโบราณเชื่อว่าทุกครั้งที่เดินเข้าวัดพุทธศาสนิกชนก็จะนำเม็ดทรายในวัดติดเท้าออกมาด้วยโดยไม่ตั้งใจ แต่หากไม่ขนทรายไปใช้แทน เมื่อตายไปจะเกิดเป็นเปรต เพราะคนล้านนาถือเรื่องสมบัติของสงฆ์ว่าเป็นของสูงของศักดิ์สิทธิ์ ใครจะลักขโมยหรือทำลายไม่ได้ เป็นบาปมหันต์

พลวัตรของ “พระเจดีย์ทราย”

ทางภาคตะวันออกและภาคกลางก็มี “ประเพณีขนทรายเข้าวัด” ด้วยการ “ก่อพระเจดีย์ทราย” ที่มีความเป็นมายาวนานเช่นกัน แต่ในอดีตจะเรียกกันว่า “ประเพณีก่อพระทรายน้ำไหล” ในช่วงวันทำบุญขึ้นปีใหม่ไทย ชาวบ้านจะนิยมก่อพระเจดีย์ทรายถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งจะจัดงานหลัง “วันสงกรานต์” ประมาณ 5-6วัน

ในเชิงเทคนิคการ “ก่อเจดีย์ทราย” คือ การขนทรายมากองแล้วรดน้ำ เอาไม้ปั้นกลึงเป็นรูปทรงเจดีย์ หรือ ทำเป็นกรวยเล็กๆ ก่อให้ครบ 84,000 กอง เท่าจำนวนพระธรรมขันธ์ แล้วประดับประดาด้วยธงทิวและดอกไม้

หลังจากก่อพระเจดีย์ทรายและจัดเตรียมบริขารเพื่อถวายพระ พระสงฆ์ก็จะพิจารณาบังสุกุล ทำบุญเลี้ยงพระ และเลี้ยงคนที่ร่วมงานด้วย เป็นประเพณีที่สนุกสนานใน “เทศกาลสงกรานต์”

ในอดีตวัดที่อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลองจะจัด “ประเพณีก่อพระทรายน้ำไหล” ขึ้น ด้วยการขุดลอกทรายที่น้ำฝนชะล้างไหลลงสู่แหล่งน้ำ ถือเป็นการขนทรายเข้าวัดให้ได้นำไปสร้างศาสนสถาน และพัฒนาท้องถิ่นโดยการร่วมแรงคนในชุมชนเพื่อร่วมขุดลอกเส้นทางน้ำให้สะอาด เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนน้ำฝนจะได้ไหลสะดวก

แต่ปัจจุบันสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การ “ขนทรายเข้าวัด” เปลี่ยนเป็นซื้อทรายมาจัดเป็นกิจกรรม วัดไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทรายในการสร้างศาสนสถานอย่างในอดีต และคูคลองที่ทรายเคยไหลรวมกันถูกตัดเป็นถนน งานก่อพระทรายน้ำไหลจึงเปลี่ยนผัน เรียกกันสั้นๆ เหลือแค่ “วันไหล” หรือ “ประเพณีวันไหล”

สำหรับบางวัดบางชุมชน ยังมีการ “ก่อพระเจดีย์ทราย” อยู่ แต่ปรับเป็นเพียงกิจกรรมเพื่อดึงดูดให้คนเข้าวัดทำบุญ หรือกลายเป็นอีเวนต์เพื่อการท่องเที่ยวทั้งในระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับจังหวัด จะมองว่าการขนทรายเข้าวัดผ่านรูปแบบพระเจดีย์ทรายได้รับการอนุรักษ์เอาไว้ก็ยังได้ เพียงแต่แก่นสารของประเพณีที่สอดคล้องกับคติความเชื่อได้เปลี่ยนไปแล้ว