ย้อนดูเวที“ออสการ์”เรื่องอื้อฉาว เหยียดผิวและการเมืองที่นักแสดงขอพูด

ย้อนดูเวที“ออสการ์”เรื่องอื้อฉาว เหยียดผิวและการเมืองที่นักแสดงขอพูด

เวที“ออสการ์”เมื่อประกาศผลแต่ละรางวัลแล้ว เจ้าของรางวัลมักใช้โอกาสนี้พูดถึงความในใจที่เกิดขึ้นในแวดวงภาพยนตร์ ทั้งเรื่องการเหยียดผิว เหยียดชนเผ่า และการเมืองที่ไม่เป็นธรรม

พิธีประกาศผลรางวัลออสการ์ที่ผ่านๆมา มักจะได้รับความสนใจจากแฟนคลับสายบันเทิงภาพยนตร์ต่างประเทศเท่านั้น

แต่สำหรับในปีนี้ซึ่งเป็นครั้งที่94 คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ฉาวโฉ่บนเวทีออสการ์ระหว่างวิลล์ สมิธ ผู้รับรางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยมของปีนี้กับคริส ร็อก พิธีกรคนหนึ่งของงาน 

ทำให้ผู้คนทั่วโลกและทุกวงการตกตะลึงและพากันวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดข้อถกเถียงแตกประเด็นไปอย่างกว้างขวาง ในโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม มีการแบ่งเป็นทีมวิลล์ และทีมคริสอีกด้วย

ณ ตอนนี้ สมิธผู้ตัดสินใจใช้ความรุนแรงด้วยการขึ้นไปตบคริสบนเวทีออสการ์ในขณะกำลังถ่ายทอดสดไปทั่วโลก ได้ออกมาขอโทษและแสดงความเสียใจต่อการกระทำของเขา 

นอกจากนี้ เขายังได้ประกาศจะลาออกจากการเป็นสมาชิกของสถาบันสถาบันศิลปะและวิชาการด้านภาพยนตร์ ซึ่งเป็นผู้จัดงานประกาศผลรางวัลออสการ์อีกด้วย 

ในขณะที่ คริส ดาวตลกชื่อดัง ผู้นำเอาอาการป่วย “ผมร่วงเป็นหย่อม” (Alopecia Areata) ของเจดา ภรรยาของสมิธมาล้อเลียนบนเวที ยังไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้นหลังเหตุการณ์ นอกจากพูดเพียงสั้นๆ ว่า “ผมกำลังประมวลอยู่ว่า เกิดอะไรขึ้น”

ย้อนดูเวที“ออสการ์”เรื่องอื้อฉาว เหยียดผิวและการเมืองที่นักแสดงขอพูด

(ริชาร์ด เกียร์ วิพากษ์วิจารณ์บทบาทของจีนต่อทิเบต ระหว่างพิธีประกาศรางวัลออสการ์ ปี 1993)

การประกาศผลรางวัลออสการ์เมื่อวันที่ 27 มีนาคมเป็นการกลับมาอย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก หลังจากงานประกาศก่อนหน้านั้น 2-3 ปีไม่มีพิธีกร และไม่มีผู้เข้าชมอันเป็นผลมาจากสาเหตุการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 

แน่นอนว่า ความอื้อฉาวที่เกิดขึ้นในปีนี้จะถูกบันทึกและจดจำรวมไปกับเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นในพิธีประกาศรางวัลออสการ์หลายต่อหลายครั้งตลอด 93 ปีนับตั้งแต่มีการก่อตั้งมา

ย้อนดูเวที“ออสการ์”เรื่องอื้อฉาว เหยียดผิวและการเมืองที่นักแสดงขอพูด (แฮตตี้ แมคแดเนียล กับรางวัลออสการ์นักแสดงสมทบยอดเยี่ยม ปี1940 )

ออสการ์กับการกีดกันสีผิว

ในปี 1940 พิธีประกาศรางวัลถูกจัดขึ้นในขณะที่สหรัฐอเมริกามีปัญหาและนโยบายการกีดกันสีผิวอย่างเข้มข้น แฮตตี้ แมคแดเนียล นักแสดงหญิงผิวสี ได้รับเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลนักแสดงสมทบยอดเยี่ยมฝ่ายหญิงจากภาพยนตร์เรื่อง Gone With the Wind 

ตามจริงแล้ว แมคแดเนียลไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในโรงแรมแอมบาสเดอร์ในลาสเวกัส สถานที่จัดงานประกาศรางวัลเสียด้วยซ้ำ เพราะโรงแรมและสถานที่สาธารณะอื่นๆ ปฎิบัติตามนโยบายการเหยียดผิวที่อนุญาตให้เฉพาะ “คนขาวเท่านั้น” แต่โรงแรมก็ยกเว้นให้เธอเข้าได้เป็นกรณีพิเศษ

แต่เธอก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้านั่งร่วมโต๊ะกับดาราผิวขาวคนอื่นๆ เธอถูกพาเข้าไปนั่งรอผลประกาศด้านหลังของห้อง ห่างไกลจากคนอื่นๆ คนที่นั่งร่วมโต๊ะกับเธอก็มีเพียงผู้จัดการส่วนตัวที่เป็นคนผิวขาวเท่านั้น 

เมื่อมีการประกาศว่า เธอได้รับรางวัลนักแสดงสมทบยอดเยี่ยม เธอก็ไม่ได้รับเชิญให้ขึ้นไปกล่าวสุนทรพจน์เหมือนดาราคนอื่นๆ เธอต้องกล่าวสุนทรพจน์จากหลังห้องนั่นเอง 

เธอกล่าวว่า “หัวใจของฉันเต็มตื้น จนไม่สามารถจะบอกพวกท่านอย่างไรดี ฉันขอขอบคุณพวกท่าน และขอพระเจ้าคุ้มครองพวกท่าน”

แมคแดเนียลกลายเป็นผู้หญิงผิวสีคนแรกของสหรัฐอเมริกาที่ได้รับรางวัลออสการ์ และยังเป็นผู้หญิงผิวสีคนแรกที่ได้ร้องเพลงในรายการวิทยุของอเมริกาอีกด้วย

ก่อนที่แมคแดเนียลเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านมในปี 1952 ด้วยวัย 59 ปี เธออยากจะให้ฝังร่างของเธอที่สุสานฮอลลีวู้ด แต่คำขอของเธอถูกปฏิเสธ เพราะเธอเป็นคนผิวดำ และสุสานนั้นมีไว้สำหรับคนผิวขาวเท่านั้น

ย้อนดูเวที“ออสการ์”เรื่องอื้อฉาว เหยียดผิวและการเมืองที่นักแสดงขอพูด (เมื่อ"แบรนโด"ได้รางวัลดารานำชายยอดเยี่ยม ปี 1973 เขาให้ ซาชีน ลิตเทิลเฟทเธอร์ สาวอินเดียนแดง ขึ้นเวทีออสการ์อ่านสุนทรพจน์ )

หนังออสการ์กับการเหยียดอินเดียนแดง

ต่อมา ในปี 1973 มาร์ลอน แบรนโด  แบาราผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาลของโลกและฮอลลีวู้ดได้ใช้เวทีประกาศผลออสการ์ เพื่อแสดงการคัดค้านต่อการปฏิบัติต่ออินเดียนแดง ซึ่งเป็นชนเผ่าดั้งเดิมของอเมริกา 

แบรนโด เป็นนักสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ หลายครั้ง เป็นที่รู้กันว่า เขาไม่พอใจกับวิธีที่ฮอลลีวู้ดปฏิบัติต่อชาวอินเดียนแดง และมักทำภาพยนตร์เกี่ยวกับอินเดียนแดงอย่างไม่เป็นธรรมและบิดเบือน 

เมื่อเขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์จากบทบาทดอน คอลีโอเน ในภาพยนตร์เรื่อง The Godfather เขาปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในพิธีประกาศผลรางวัล แต่ได้ส่ง ซาชีน ลิตเทิลเฟทเธอร์ สาวอินเดียนแดงเป็นตัวแทนของเขา 

เมื่อพิธีกรประกาศว่า แบรนโดได้รางวัลดารานำชายยอดเยี่ยม เธอก็ขึ้นเวทีออสการ์ในชุดอินเดียนแดงและอ่านสุนทรพจน์ที่แบรนโดเขียนอธิบายไว้ว่า ทำไมเขาถึงปฏิเสธที่จะรับรางวัลนี้ สุนทรพจน์มีทั้งหมด 15 หน้า แต่เธออ่านแต่เพียงสั้นๆ

เพราะก่อนหน้างาน เธอถูกขู่ว่า จะถูกจับ หากเธอพยายามอ่านทั้งหมด ต่อมา New York Times ตีพิมพ์สุนทรพจน์ทั้งหมด

ย้อนดูเวที“ออสการ์”เรื่องอื้อฉาว เหยียดผิวและการเมืองที่นักแสดงขอพูด (ริชาร์ด เกียร์ กับ ดาไล ลามะผู้นำด้านจิตวิญญาณของทิเบต ปี 1993)

ใช้เวทีออสการ์ส่งสารถึงคนทั้งโลก

นอกจากนี้ ดาราฮอลลีวู้ดหลายคนใช้เวทีออสการ์ เพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหลายต่อหลายครั้ง ทำให้ในปี 1993 ฝ่ายจัดงานต้องออกมาเตือนว่า ใครทำอย่างนั้นอีก จะต้องโดนห้ามไม่ให้เข้างานตลอดชีวิต แต่ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ 

เพราะในปีนั้น ริชาร์ด เกียร์ ดาราสุดหล่อตลอดกาลขึ้นเวทีออสการ์ และกล่าวประณามการรุกรานทิเบตของจีน

ส่วนซูซาน ซาแรนดอนและทิม ร็อบบินส์ ดาราสองสามีภรรยา (ในขณะนั้น) พูดเรื่องที่ชาวไฮติที่ติดเชื้อเอชไอวีถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม งานนี้ทำเอาจิล เกตส์ ผู้จัดงานซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว ถึงกับควันออกหูและออกมาประกาศว่า จะไม่อนุญาตให้ทั้ง 3 คนเข้าร่วมงานอีก

 แต่ต่อมา ซูซานก็ขึ้นรับรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง Dead Man Walking ในปี 1995 และทิมขึ้นรับรางวัลออสการ์ในฐานะนักแสดงสมทบยอดเยี่ยมจาก Mystic River

ย้อนดูเวที“ออสการ์”เรื่องอื้อฉาว เหยียดผิวและการเมืองที่นักแสดงขอพูด

(ซูซาน ซาแรนดอน และทิม ร็อบบินส์ ขึ้นรับรางวัลออสการ์ปี 1995 )

การเมืองกับเวทีออสการ์

ส่วนในปี 2012 ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่การเมืองถูกนำมาเกี่ยวข้องกับงานประกาศผลออสการ์ เมื่อซาช่า บารอน โคเฮน ดาราตลกชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงโด่งดังจากภาพยนตร์เรื่อง Borat และ Ali G ปรากฏตัวบนพรมแดงในชุดนายพลอลาดีนที่เขาใส่ในภาพยนตร์เรื่อง the Dictator พร้อมอุ้มโถใบหนึ่ง 

เขาให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า ซัดดัม ฮุสเซน อดีตประธานาธิบดีอิรัก  แนะนำเขาว่า อย่าใช้เงินมากไปกับการซื้อถุงเท้า

แล้วเขาก็เล่าให้ฟังเกี่ยวกับโถว่า ภายในบรรจุเถ้ากระดูกของคิม จอง อิล อดีตผู้นำเกาหลีเหนือ (ซึ่งเสียชีวิตไปก่อนหน้านั้น 1 ปี) และอ้างต่อว่า คิม จอง อิล อยากมางานออสการ์อย่างมาก แล้วเขาก็แกล้งโปรยสิ่งที่เขาเรียกว่า เถ้ากระดูกใส่นักข่าวที่กำลังสัมภาษณ์เขา

เราคงต้องมาดูกันต่อไปว่า พิธีประกาศรางวัลออสการ์ในปีต่อๆ ไปจะเกิดเรื่องอื้อฉาว ฉาวโฉ่อะไรอีกหรือไม่

ย้อนดูเวที“ออสการ์”เรื่องอื้อฉาว เหยียดผิวและการเมืองที่นักแสดงขอพูด  (ปี 2012 ช่า บารอน โคเฮน นักแสดงตลก ปรากฏตัวบนพรมแดงในชุดนายพลอลาดีนที่เขาใส่ในภาพยนตร์เรื่อง the Dictator กับโถที่เขาอ้างว่า บรรจุเถ้ากระดูกของคิม จอง อิล)

.................... 

เรื่องและรูป : บีบีซี วิกิพีเดีย เดอะการ์เดี้ยน