13 เมษายน "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ" เกี่ยวข้องกับ "สงกรานต์ 2565" อย่างไร?

13 เมษายน "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ" เกี่ยวข้องกับ "สงกรานต์ 2565" อย่างไร?

เปิดที่มา "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ" ที่ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 ของวันสำคัญในช่วงเทศกาล "สงกรานต์ 2565" มีความสำคัญยังไง? ลูกหลานคนไทยต้องรู้!

วันนี้ 13 เมษายน ของทุกปี นอกจากจะเป็น วันสงกรานต์ หรือ วันปีใหม่ไทย แล้ว รัฐบาลไทยกำหนดให้เป็น "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ" อีกด้วย เพื่อให้ลูกหลานได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่บุพการี ญาติพี่น้อง ผู้อาวุโส หรือผู้ใหญ่ในชุมชนที่เคยทำคุณประโยชน์แก่สังคม

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนลูกหลานไทยรู้ประวัติและที่มาของ "วันผู้สูงอายุ" ให้มากขึ้น

 

1. "บ้านพักคนชรา" มีครั้งแรกในสมัยจอมพล ป.

ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบาย ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข

จึงได้มอบให้กรมประชาสงเคราะห์ จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชราขึ้น เพื่อให้การสงเคราะห์ผู้สูงอายุ ที่เดือดร้อนมีความทุกข์ยาก ประสบปัญหาและไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง (แต่ในยุคนั้นยังไม่มีการกำหนด "วันผู้สูงอายุ" ขึ้นมา)

กรมประชาสงเคราะห์จึงได้จัดตั้ง "สถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค" ขึ้นมาเป็นแห่งแรกในปี พ.ศ. 2496 โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

  • ให้การสงเคราะห์คนชราที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้  หรือประสบปัญหาความทุกข์ยาก ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้
  • ให้บริการแก่คนชราที่อยู่กับครอบครัวของตน แต่มีความต้องการ บริการสงเคราะห์คนชราบางอย่าง เช่น การรักษาพยาบาล กายภาพบำบัด นันทนาการ

 

  • แบ่งเบาภาระของครอบครัวผู้มีรายได้น้อย หรือยากจน ที่ไม่สามารถจะอุปการะเลี้ยงดูคนชราไว้ในครอบครัวได้
  • ป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมอันเกี่ยวกับคนชรา ไม่ให้เร่ร่อน ทำความเดือดร้อนรำคาญแก่สังคม และให้สามารถอยู่ในสังคม ได้อย่างผาสุกตามอัตภาพ
  • เป็นการตอบแทนคุณความดีที่คนชราได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ
  • ช่วยให้ผู้สูงอายุได้คลายวิตกกังวล เมื่อชราภาพ ทางรัฐบาลมีหน้าที่ที่จะเป็นผู้อุปการะคุณเลี้ยงดู 

2. "วันผู้สูงอายุโลก" ริเริ่มโดย WHO

ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้จัดประชุมสมัชชาโลกเกี่ยวกับ "ผู้สูงอายุ" ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรเลีย และได้ให้ความหมายของคำว่า "ผู้สูงอายุ" ไว้ว่า หมายถึง บุคคลทั้งเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป 

อีกทั้งได้พิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ไว้ 3 ประการ คือ ด้านมนุษยธรรม ด้านการพัฒนา และด้านการศึกษา 

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังได้กำหนดให้ปี พ.ศ. 2525 เป็นปีรณรงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ โดยกำหนดคำขวัญไว้ว่า "Add life to years" เพื่อให้ประเทศต่างๆ ช่วยกันส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ

 

3. "วันผู้สูงอายุ" ในไทย มีครั้งแรกสมัย พล.อ.เปรม

หลังจาก WHO ประกาศให้รัฐบาลทั่วโลกร่วมกันรณรงค์ ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ประเทศไทยเองก็ได้ตอบรับการรณรงค์เรื่องนี้ด้วย โดยสมัยนั้นตรงกับรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ และปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ และคิดว่าจะทำอย่างไร จึงจะให้ลูกหลานได้กลับมารวมตัวกันในวันสำคัญเช่นนี้

ต่อมามีการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงประเด็นดังกล่าว และที่ประชุม ครม. ได้มีมติเมื่อ วันที่ 14 ธันวาคม 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เป็น "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ" 

สาเหตุที่เลือกวันที่ 13 เมษายน เนื่องจากเป็นวันที่ตรงกับวันสงกรานต์หรือปีใหม่ไทย ซึ่งถือเป็นเสมือนวันรวมญาติ ทางรัฐบาลเองมองว่ามีความสำคัญและมีความสอดคล้องกัน จึงกำหนดวันสงกรานต์ให้เป็นวันผู้สูงอายุร่วมด้วย

โดยกระทรวงสาธารณสุขไทยในขณะนั้น ได้มีมติให้ใช้ คำขวัญวันผู้สูงอายุ เป็นภาษาไทยว่า "ให้ความรัก พิทักษ์อนามัย ผู้สูงวัยอายุยืน" 

 

4. รัฐบาลไทยกำหนดให้ "ดอกลำดวน" เป็นสัญลักษณ์ผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ รัฐบาลในสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้เลือก "ดอกลำดวน" เป็นดอกไม้แทนสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุด้วย สาเหตุที่เลือกดอกไม้ชนิดนี้ เนื่องจากว่าต้นลำดวนเป็นพืชยืนต้นที่มีอยู่มากในสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ที่สำคัญ.. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงดำริให้จัดสวนแห่งนี้ขึ้นเพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้สูงอายุ

อีกทั้ง ต้นลำดวนเป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ให้ร่มเงาดีและดอกมีสีนวล กลิ่นหอม กลีบแข็งไม่ร่วงง่าย จึงเปรียบเสมือนผู้สูงอายุที่ทรงวัยวุฒิ และคงคุณธรรมความดีงามไว้ให้เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานตลอดไป

 

5. "ลำดวน" ดอกไม้หอมโบราณของไทย

ต้นลำดวน เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 8 - 20 เมตร ลำต้นตรง เรือนยอดรูปกรวยต่ำทึบ เปลือกแตกเป็นสะเก็ด ใบลำดวนมีลักษณะมนรี ในทางด้านพฤกษศาสตร์ ต้นลำดวนยังใช้เป็นยาบำรุงหัวใจได้ด้วย

ส่วนดอกลำดวนมีสีขาวนวล กลีบดอกมีสองชั้น ชั้นนอกมี 3 กลีบมีลักษณะคล้ายสามเหลี่ยม แผ่แบนออก กลีบชั้นในมีลักษณะเป็นคลื่นหุ้มเข้าหากัน ดอกมีกลิ่นหอมเย็น โดยจะเริ่มส่งกลิ่นหอมตั้งแต่ช่วงเย็นไปจนถึงเช้าของวันรุ่งขึ้น ออกดอกตลอดปี มีถิ่นกำเนิดอยู่ในภูมิภาคอินโดจีน

--------------------------------------

อ้างอิง : หอสมุดกลาง ม.รามคำแหงthaihealth