"บีมปภังกร" เสียชีวิต คาดเกิดจากภาวะ “ใหลตาย” ความตายที่คนตายไม่รู้ตัว

"บีมปภังกร" เสียชีวิต คาดเกิดจากภาวะ “ใหลตาย” ความตายที่คนตายไม่รู้ตัว

"บีม ปภังกร" พระเอกซีรีส์เรื่อง เคว้ง ออกอากาศทางเน็ตฟลิกซ์ได้เสียชีวิตในขณะที่นอนหลับไป ขณะที่หมอคาดเกิดจากภาวะใหลตาย ความตายที่ไม่รู้ตัว

ข่าวเศร้าการเสียชีวิตของนักแสดงหนุ่มวัย 25 ปี "บีม ปภังกร" พระเอกซีรีส์เรื่อง เคว้ง ออกอากาศทางเน็ตฟลิกซ์ได้เสียชีวิตในขณะที่นอนหลับไป ซึ่งครอบครัวพยายามปลุกแต่ไม่ตื่น นำส่งตัวส่งโรงพยาบาลสุดท้ายก็ไม่เป็นผล 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"บีม ปภังกร" พระเอกวัยรุ่นชื่อดัง เสียชีวิตปริศนา ด้วยวัย 25 ปี

 

ด้าน นพ.มานพ พิทักษ์ภากร  หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของ "บีม ปภังกร" พร้อมระบุคาดสาเหตุการเสียชีวิตของนักแสดงหนุ่มน่าจะมาจากการใหลตาย พร้อมระบุว่า อยากให้เห็นความสำคัญของภาวะ “ใหลตาย” (SUDS) ซึ่งพบบ่อยในคนเอเชียโดยเฉพาะผู้ชายอายุน้อย สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งคือ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะร้ายแรง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากโรคพันธุกรรม มีกลายพันธุ์ของยีนหลายชนิด เช่น long QT syndrome, Brugada syndrome, ARVD หรือกลุ่ม cardiomyopathy ปัจจุบันสามารถให้การวินิจฉัยได้ด้วย next generation sequencing

 

ประวัติ "บีม ปภังกร" เกิดวันที่  31 สิงหาคม 2539 (ปัจจุบันอายุ 25 ปี) โดยมีผลงานในวงการบันเทิง ประกอบด้วย ซีรีส์น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ , "Water Boyy รักใสใส…วัยรุ่นชอบ" 


ขณะที่ผลงานที่สร้างชื่อให้กับเจ้าตัว คือ ซีรีส์เรื่อง เคว้ง ที่ออกอากาศในเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ซึ่ง บีมรับบทแสดงเป็น "คราม" หนึ่งในตัวละครหลักของเรื่อง

 

สำหรับโรค ใหลตาย หรือ sudden unexplained (unexpected) nocturnal  death syndrome (SUND)ใช้เรียกการเสียชีวิตที่เกิดจากหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้ว (ventricular fibrillation, VF) มักพบขณะหลับทำให้เกิดอาการคล้ายหายใจไม่สะดวกอาจเกิดเสียงร้องคล้ายละเมอก่อนเสียชีวิต (ซึ่งเป็นที่มาของคำว่าใหลที่หมายถึงละเมอ)มักเกิดในผู้ชายวัยหนุ่มที่ปกติแข็งแรงดีก่อนเข้านอน แต่ต่อมาพบว่าเสียชีวิตในตอนเช้าวันถัดไป จึงเป็นที่มาของความเชื่อพื้นบ้านในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ว่าเกิดจากผีแม่หม้ายมาพาชายหนุ่มไปอยู่ด้วย

 

 

จากการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยที่รอดชีวิต พบว่าใหลตายมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจลักษณะบรูกาดา (Brugada pattern) โดยไม่พบความผิดปกติของโครงสร้างและการทำงานส่วนอื่นๆของหัวใจ  ทางการแพทย์เรียกกลุ่มอาการนี้ว่า กลุ่มอาการบรูกาดา (Brugada syndrome)

 

อาการใหลตาย

 

อาการใหลตายเกิดจากหัวใจที่เต้นผิดจังหวะขั้นรุนแรงที่สุด ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆโดยเฉพาะสมองได้ เมื่อสมองขาดออกซิเจนอาจแสดงอาการชักเกร็ง หายใจครืดคราดผิดปกติคล้ายนอนละเมอ เรียกไม่รู้ตัว โดยความผิดปกติมักพบในขณะนอนหลับ  ผู้ป่วยจะเสียชีวิตถ้าการเต้นผิดจังหวะของหัวใจนั้นเกิดนานพอและไม่ได้รับการรักษา แต่ผู้ป่วยอาจจะรอดชีวิตฟื้นขึ้นมาได้กรณีที่การเต้นผิดจังหวะของหัวใจหยุดเองหรือได้รับการรักษาที่เหมาะสมอันได้แก่การช็อคหัวใจหรือการปั๊มหัวใจ

 

นอกจากใหลตายจะพบบ่อยขณะที่ผู้ป่วยหลับแล้ว ก็ยังอาจพบได้ในขณะตื่นเช่นกัน โดยอาการที่เกิดอาจเกิดอาการใจสั่นช่วงสั้นๆ หรืออาการวูบเป็นลมหมดสติได้ 

 

ใครเป็นผู้มีความเสี่ยง

 

มักพบในเพศชายวัยทำงาน (อายุ 25-55 ปี) แต่ก็สามารถพบได้ทั้งในเพศหญิงในเด็กหรือในผู้สูงอายุได้เช่นกันสำหรับในประเทศไทย พบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และรองลงมาในภาคเหนือ

 

จะสงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อใหลตายเมื่อไหร่ 

 

ผู้ที่รอดชีวิตจากอาการใหลตาย อาจเนื่องจากอาการใหลตายหยุดเองหรือได้รับการรักษาที่ทันท่วงที

 

ผู้ที่มีญาติสายตรงเสียชีวิตเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุแต่ลักษณะอาการเข้าได้กับใหลตาย เนื่องจากพบว่าใหลตายมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติในหน่วยพันธุกรรมหรือยีนที่มีผลต่อการควบคุมประจุไฟฟ้าในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจและความผิดปกตินี้อาจส่งต่อไปในญาติสายตรงของผู้ป่วยใหลตายได้

 

ผู้ที่ตรวจพบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดBrugadaแม้จะไม่มีประวัติอาการใหลตายหรือประวัติครอบครัว

 

การวินิจฉัยใหลตายทำอย่างไร

 

การวินิจฉัยอาศัยการตรวจพบความผิดปกติที่เรียกว่า Brugada (Brugada pattern)จากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบปกติ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบยกสูงขึ้นกว่าการตรวจมาตรฐาน หรือขณะให้ยากระตุ้น

 

การรักษาใหลตายทำอย่างไร

 

ยังไม่มีการรักษาใดที่สามารถป้องกันหรือหยุดการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ทั้งหมด การรักษาจึงมุ่งหวังให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะน้อยครั้งที่สุด และระยะเวลาที่หัวใจเต้นผิดจังหวะแต่ละครั้งสั้นที่สุดก่อนที่ผู้ป่วยจะหมดสติหรือเสียชีวิตโดยวิธีการดังนี้

 

  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ อันได้แก่การดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะตึงเครียดของร่างกาย เช่นการพักผ่อนไม่เพียงพอ ออกกำลังกายหรือทำงานหนัก การรับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลปริมาณมาก
  • ใส่เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (automatic implantable cardioverter defibrillator, AICD)
  • การจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง

 

กรณีที่มีประวัติครอบครัวเป็นใหลตาย หรือมีอาการสงสัยใหลตายจะต้องทำอย่างไร

 

เข้ารับการตรวจพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงใหลตาย และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อวางแผนการตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม

 

ข้อมูลประกอบจาก : ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย