จับเทรนด์มาเป็นรายได้ ปิ้งย่าง+แคมป์ปิ้ง ร้านที่ไม่ต้องโปรโมทก็มีลูกค้า

จับเทรนด์มาเป็นรายได้ ปิ้งย่าง+แคมป์ปิ้ง ร้านที่ไม่ต้องโปรโมทก็มีลูกค้า

ล้วงมุมมองการต่อยอดเทรนด์ให้เป็นรายได้ กับร้าน พังกาบังกา โคเรียนแคมป์ไซต์ ปิ้งย่างแนวใหม่สไตล์แคมปิ้ง ที่มองเห็นช่องทางธุรกิจจากสิ่งที่ชอบ และเทรนด์สังคม จนเกิดร้านอาหารที่ไม่ต้องโปรโมทก็มีลูกค้า

กระแสท่องเที่ยว "แคมป์ปิ้ง" กลายเป็นเทรนด์เที่ยวยุคใหม่ที่มาแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คอนเทนต์เกี่ยวกับ “ลานกางเต็นท์” สถานที่ท่องเที่ยวเอาใจสายแคมป์ปิ้งต่างได้รับผลตอบรับอย่างล้นหลามในโซเชียลมีเดีย

The Business Research Company รายงานว่า มูลค่าตลาดการท่องเที่ยวสไตล์แคมป์ปิ้งทั่วโลก อาจเติบโตจาก 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2564 เพิ่มเป็น 6.89 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2565 ที่อัตราการเติบโตต่อปี  11.2%  และคาดว่าจะโตถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2569 หรือเติบโตขึ้นอีก 9.9% โดยส่วนสำคัญคือ ประชากรกลุ่มมิลเลนเนียล หรือกลุ่ม Gen Y เป็นประชากรหลักที่ขับเคลื่อนธุรกิจลานกางเต็นท์ให้เติบโต

สำหรับคนไทย ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งเริ่มมองหาลู่ทางในเทรนด์แคมป์ปิ้งนี้แล้ว ทั้งคาเฟ่ ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว แต่ยังมีอีกร้านหนึ่งที่จับทั้งเทรนด์แคมป์ปิ้ง และ ปิ้งย่างเกาหลี ที่ถือว่าเป็น 2  เทรนด์มัดใจคนไทย มารวมกันไว้ในร้านเดียว กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จึงชวนคุยกับ ชรภัทร ภังคานนท์ อายุ 25 ปี เจ้าของร้าน พังกาบังกา โคเรียนแคมป์ไซต์ ร้านอาหารที่ต่อยอดเทรนด์มาเป็นรายได้ หลังเปิดร้านได้เพียงแค่ 5 เดือน กระแสร้านก็กลายเป็นไวรัลโดยไม่ต้องโปรโมท

 

จับเทรนด์มาเป็นรายได้ ปิ้งย่าง+แคมป์ปิ้ง ร้านที่ไม่ต้องโปรโมทก็มีลูกค้า

 

  • ร้าน พังกาบังกา โคเรียนแคมป์ไซต์ ปิ้งย่างแนวใหม่สไตล์แคมป์ปิ้ง

ร้านนี้เปิดมาได้ประมาณ 5 เดือน เริ่มต้นจากการที่เราจะตั้งร้านอาหารมาในยุคโควิด แล้วก็รู้สึกว่าธุรกิจนี้มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ด้วยสถานการณ์โควิด เรารู้สึกว่าการที่เราจะเปิดร้านอาหารมาร้านหนึ่ง เราต้องการที่จะได้รับความสนใจจากลูกค้าเลยจากครั้งแรกที่เปิด ก็กลับมาทำการบ้านดูว่าจะทำมาในรูปแบบไหน สรุปได้ที่รูปแบบแคมป์ปิ้ง

 

จับเทรนด์มาเป็นรายได้ ปิ้งย่าง+แคมป์ปิ้ง ร้านที่ไม่ต้องโปรโมทก็มีลูกค้า

 

  • กว่าจะเป็นร้านพังกาบังกา และการต่อยอดเทรนด์ให้เป็นรายได้

ชรภัทรเล่าว่าก่อนที่จะมาทำร้าน เคยทำฟรีแลนด์เกี่ยวกับด้านงานประชุม แต่ด้วยสถานการณ์โควิดจึงทำให้มีงานน้อยลง เราเลยตัดสินใจมาทำธุรกิจเป็นของตัวเอง จริงๆ ก็มีความฝันว่าอยากเปิดร้านมาหลายปี จริงๆ เราก็มีเซฟโซน เราไม่กล้าเปิดเพราะเรายังไม่พร้อมสักที ด้วยสถานการณ์โควิดทำให้งานปัจจุบันมันกระทบมากๆ เลยรู้สึกว่ามันถึงเวลาที่จะต้องเริ่มทำแล้ว

จริงๆ เรื่องแคมป์ปิ้งมันเป็นเรื่องที่เราชอบอยู่แล้ว เรื่องปิ้งย่างเราก็ชอบทานอยู่แล้วด้วย แต่ว่าเราทำไม่เป็น เราก็ลองทำเองก่อนก็คือในช่วงระยะเวลา 4 ปีเรากินปิ้งย่างมาตลอด เราทำเมนูทานเองทีละเมนูมาเรื่อยๆ จนเรารู้สึกว่า เราทำได้หลายเมนูแล้ว และคิดว่ารสชาตินี้ลูกค้าอาจจะชอบ น่าจะขายได้แล้วเราก็เริ่มทำร้านออกมา

เรื่องกระแสและเทรนด์ต่างๆ ผมก็คิดมาอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าพูดถึงในเรื่องแคมป์ปิ้งก่อน ถ้าสมมุติว่ากระแสแคมป์ปิ้งหมดลงไปคือเราก็ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่าการเปิดร้านอาหาร จุดประสงค์ของลูกค้าคือมาทานอาหาร คือเราจะต้องทำรสชาติอาหารให้ถูกปากลูกค้า บริการต้องดี เราเน้นเรื่องนี้มากกว่า  ถ้าวันหนึ่งแคมป์ปิ้งมันหมดกระแส เราต้องมีแผนรองรับแน่นอน อาจจะเปลี่ยนรูปแบบร้านไป 

จับเทรนด์มาเป็นรายได้ ปิ้งย่าง+แคมป์ปิ้ง ร้านที่ไม่ต้องโปรโมทก็มีลูกค้า

  • การทำธุรกิจสไตล์คนรุ่นใหม่

ต้องบอกก่อนเลยว่าตัวผมเองก็ไม่ได้เรียนด้านธุรกิจมาโดยตรง แต่ว่าเรารู้สึกว่าถ้าเราอยากทำธุรกิจอะไรสักอย่างหนึ่ง การเงินก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่อีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือ เราต้องการที่จะทำจริงๆ มีความชอบจริงๆ หรือเปล่า และหมั่นดูว่าตอนนี้เทรนด์อะไรกำลังมา

“เราเริ่มจากลงทุนไม่เยอะเท่าไร เราเน้นเป็นที่เราลงทุนให้ได้น้อยที่สุด และเงินที่เหลือก็เป็นเงินสำรอง อย่างร้านนี้เราทำเองทุกอย่างตั้งแต่ทาสีเลย เพราะว่าช่วงแรกเราก็กลัวหลายอย่าง เราทำร้านช่วงล็อกดาวน์ คิดว่าร้านน่าจะได้เปิดตอนคลายล็อกดาวน์พอดี ซึ่งก็ถือว่ามันโชคดี เลือกที่จะทำร้านเองแล้วก็ประหยัดต้นทุนด้วย อุปกรณ์ทุกอย่างใช้อุปกรณ์แคมป์ปิ้งจริงๆ เรื่องต้นทุนถ้าใช้อุปกรณ์แคมป์ปิ้งจะมีราคาที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว แต่ถ้าเทียบกับของที่ร้านปิ้งย่างควรจะเป็น ราคาจะถูกกว่า แต่ว่ามันจะมีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ มันจะพังง่าย และไม่แข็งแรง ซึ่งตรงนี้เป็นต้นทุนที่ทางร้านจะต้องพร้อมรับมือ และทำยังไงให้ของอยู่กับเราให้นานที่สุด  พวกโต๊ะเก้าอี้เลือกเองทุกอย่าง  ออกแบบร้านคิดเอง และทำเองทั้งหมด”

สำหรับผมการทำร้านเราได้รับคำปรึกษาจากหลายๆ แต่ก็มีหลายคนที่ไม่ค่อยเห็นด้วย และไม่ค่อยเห็นภาพว่ามันจะออกมาได้ยังไง แต่ด้วยความที่ผมต้องการลองอะไรใหม่ๆ คืออย่างน้อยล้มก็ถือว่าได้ลองแล้ว เราก็ทำสุดฝีมือแล้ว เราก็เลยรู้สึกว่าเหมือนคนรุ่นใหม่น่าจะชอบลองอะไรใหม่ๆ ออกนอกรอบ เราคิดแค่นี้ว่าพยายามออกนอกกรอบให้ได้มากที่สุด

การเป็นเจ้าของร้าน ถามว่ายากไหม มันค่อนข้างยาก ยิ่งเป็นร้านอาหารด้วยมันเป็นธุรกิจที่เราต้องเจอปัญหาใหม่ๆ อยู่ตลอด ทักษะที่สำคัญมากกับการทำธุรกิจคือการปรับตัว เพราะว่าเราไม่สามารถจะมานั่งแก้ปัญหาได้ว่าปัญหาหนึ่งปัญหาสองปัญหาสาม ทุกวันมันมีสามปัญหาแล้วเราจะแก้แค่สามปัญหามันไม่ใช่ เพราะร้านอาหารมันจะมีปัญหาใหม่ๆ มาทุกวัน เราจะเจอลูกค้าแปลกๆ หรือว่าที่น่ารัก เราเจอทุกวัน เราก็ต้องมาทำการบ้านว่าเราจะรับมือยังไง

 

จับเทรนด์มาเป็นรายได้ ปิ้งย่าง+แคมป์ปิ้ง ร้านที่ไม่ต้องโปรโมทก็มีลูกค้า

 

  • มุมมองของการทำธุรกิจกับการเป็นนายตัวเอง

ผมเห็นด้วยมากครับ เพราะว่า เราก็เห็นว่าในหลายๆ เรื่องทั้งเรื่องการเมือง สังคมการทำงานของผู้ใหญ่มันอาจจะไม่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่แล้ว เราก็เลยรู้สึกว่าเราเข้าไปทำงานที่บริษัทหรือว่าเข้าไปอยู่ภายใต้คนที่เป็นผู้ใหญ่มันไม่ตอบโจทย์เราอีกแล้ว เราไม่สามารถมีปากมีเสียงหรือว่าแสดงความคิดเห็นอะไรได้ คนรุ่นใหม่เลยคิดจะมาตั้งเอง เริ่มใหม่เอง

ถ้าพูดถึงคนรุ่นใหม่ อยากบอกน้องๆ ทุกคนว่าไม่ผิดที่เราต้องการออกนอกกรอบ แต่เราต้องพึงระลึกไว้ว่า เราต้องเอาตัวรอดให้ได้