เปลี่ยนโลกด้วยสองล้อ "สรณัญช์ ชูฉัตร" ปั้น ETRAN สู่ สตาร์ตอัพ "รถอีวี" คนไทย

เปลี่ยนโลกด้วยสองล้อ "สรณัญช์ ชูฉัตร" ปั้น ETRAN สู่ สตาร์ตอัพ "รถอีวี" คนไทย

เปลี่ยนความฝันเป็นมิชชั่นที่สำเร็จ ‘สรณัญช์ ชูฉัตร’ เจ้าของแบรนด์ ETRAN สตาร์ตอัพรถ "มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า" สัญชาติไทย เล่าถึงจุดเริ่มต้นและสิ่งที่กำลังดำเนินไปของคนตัวเล็กๆที่คิดการใหญ่บุกตลาด "รถพลังงานไฟฟ้า"

ถ้าคุณเคยดูภาพยนตร์เรื่อง Mission Impossible (มิชชั่น อิมพอสซิเบิ้ล) คุณก็น่าจะคุ้นเคยกับตัวเอกสายลับของเรื่องที่ชื่อ “อีธาน ฮันท์” ซึ่งมักจะถูกส่งไปทำภารกิจตามล่าองค์กรผู้ร้ายซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อโลก และดูเหมือนภารกิจทั้งหมดนั้นดูจะแทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่ด้วยความสามารถ โชคชะตา และอีก ฯลฯ มิชชั่นที่อิมพอสซิเบิ้ลก็กลับเป็นจริงขึ้นได้

ชื่อของ “อีธาน ฮันท์” เดียวกันนี้ ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อของแบรนด์ “ETRAN” (อีทราน) บริษัทผลิตรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ที่ถูกคิดค้น ออกแบบ และดำเนินโปรเจคตั้งแต่เริ่มโดยคนไทย

“เรากำลังทำเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ พวกผมคือกลุ่มคนธรรมดาที่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตรถยนต์หรือเครื่องยนต์รายใหญ่ แต่มีความฝันอยากจะใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นพลังงานแห่งอนาคต” เอิร์ธ-สรณัญช์ ชูฉัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ถึงที่มาของแบรนด์ซึ่งเขาบอกว่ามีภารกิจเพื่อเปลี่ยนการใช้พลังงานและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

  • มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสำหรับวินมอเตอร์ไซค์

เอิร์ธ-สรณัญช์ เรียนจบด้านออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เขากับเพื่อนเปิดบริษัทให้คำปรึกษาด้านการออกแบบ (Design Consulting Firm) จากนั้นก็ขยับจากงานดีไซน์มาเป็นงานที่ปรึกษาด้านนวัตกรรม (innovation consulting firm) ซึ่งชีวิตการเป็นเจ้าของบริษัทก็ดูจะราบเรียบดี จนกระทั่งวันหนึ่งเขาต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แล้วรู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่ไม่น่าภิรมย์เอาเสียเลย

“วันนั้นนั่งวินจากทองหล่อ ซอย 18 ไปรถไฟฟ้า แล้วไอ้การนั่งวิน มันก็เหมือนเสี่ยงดวงเหมือนกันนะ ถ้าเราได้นั่งคันดีๆหน่อยก็จะนั่งสบาย แต่ถ้าเจอพี่วินตัวใหญ่ แล้วมอเตอร์ไซค์เล็กก็แย่หน่อย วันนั้นอากาศร้อนอีก รถติด ควันเยอะ มันเป็นช่วงเวลาที่แย่มาก ผมมองไปรอบๆ ไม่มีอะไรดีเลย”

พอถึงสถานีรถไฟฟ้า สรณัญช์ เริ่มปะติดปะต่อปัญหาที่เจอและประสบการณ์การใช้มอเตอร์ไซค์รับจ้างของคนกรุงเทพฯ  เกิดเป็นไอเดียที่อยากออกแบบมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้กับพี่วินมอเตอร์ไซค์โดยเฉพาะ แบบเดียวกับที่เคยมีการผลิตรถยนต์ให้กับรถแท๊กซี่โดยเฉพาะ ซึ่งมีหลักสำคัญคือต้องช่วยลดพลังงานและใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง

“คืนนั้นผมโทรบอกเพื่อนทุกคนที่ทำบริษัทออกแบบด้วยกัน บอกให้มันเจอกันที่คอนโดแล้วก็ระดมสมองว่า เฮ้ย! เราน่าจะทำมอเตอร์ไซค์สำหรับมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่นั่งสบาย ช่วยเจ้าของประหยัดพลังงาน คือแทนที่จะเติมน้ำมัน ก็จะใช้พลังงานไฟฟ้า และใช้โมเดลการเช่าแบบดียวกับเช่ารถแท็กซี่”

ETRAN เริ่มจากตรงนั้น พวกเขาทำการบ้านและใช้ Data Research ที่แต่ล่ะคนมีข้อมูล วาดรถออกมาหลายรูปแบบ จากนั้นก็แยกย้ายไปทำการบ้าน คำนวณความเป็นไปได้ ก่อนจะรวบรวมคัดสิ่งที่ดีที่สุดเสนอไปยังองค์กรใหญ่ๆที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ขนส่งสาธารณะ ที่พอจะมีเครือข่ายและเคยทำงานในฐานะที่ปรึกษาด้านการออกแบบ แต่ถึงเช่นนั้นมันก็พอเดาได้ว่ากับเรื่องใหม่อย่างรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้านี้ ไม่ใช่ไอเดียที่ใครจะซื้อง่ายๆ

เปลี่ยนโลกด้วยสองล้อ \"สรณัญช์ ชูฉัตร\" ปั้น ETRAN สู่ สตาร์ตอัพ \"รถอีวี\" คนไทย

ผู้บริหารทุกคนชอบ แต่จะให้ลงทุนเป็นอีกเรื่อง ลองนึกย้อนไปเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ถ้ามีคนบอกว่าคนไทยจะทำรถไฟฟ้าเอง  คงยากจะเชื่อ เพราะเรายังไม่มีของ มีแต่สไลด์ 20-30 หน้า วิเคราะห์การตลาดไป ทำแผนธุรกิจไปนำเสนอ ก็เลยไม่มีคนเข้าใจ แต่เราไม่ยอม จึงใช้เงินที่มีอยู่ทำรถโมเดล เราออกแบบเอง แล้วค่อยๆประกอบชิ้นส่วนที่สั่งมาจากต่างประเทศ สั่งเครื่องยนต์จากอาลีบาบา ลองเอามาประกอบกัน แล้วก็มาทดสอบวิ่ง แล้วในทีสุดมันก็วิ่งได้จริง

  • PROM-Myra-KRAFT (พร้อม-ไมร่า-คร๊าฟ)

จนในที่สุดพวกเขาก็ได้โมเดลรถรุ่นแรกที่ชื่อ PROM และโมเดลนี้ก็ถูกนำไปประกวดในเวทีโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัพต่างๆ และก็ได้รับรางวัลยอดนิยมกลับมา ก่อนที่ไอเดียนี้จะถูกนำเสนอให้กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จนได้รับทุนสนับสนุนเพื่อทำมอเตอร์ไซค์ตัวต้นแบบเพิ่มขึ้นอีก 10 คันเพื่อทดสอบเทคโนโลยี

เปลี่ยนโลกด้วยสองล้อ \"สรณัญช์ ชูฉัตร\" ปั้น ETRAN สู่ สตาร์ตอัพ \"รถอีวี\" คนไทย รถรุ่น Prom ซึ่งออกแบบสำหรับวินมอเตอร์ไซค์ โดยแยกเบาะคนนั่งกับผู้ขับขี่

“ระหว่างนั้นเราก็ลองทำต้นแบบกับบริษัทอื่นดูด้วย เพราะอยากรู้ว่าเทคโนโลยีแบบไหนที่จะรีดประสิทธิภาพออกมาให้ดีที่สุด จนมาสู่การมีโมเดลในรุ่นที่ 2 คือ ETRAN KRAF ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพจากรุ่นแรก รุ่นแรกคือเจาะกลุ่มรถบริการสาธารณะ เพราะมีเบาะที่นั่งใหญ่ แต่รุ่นที่สองนี้ ทั้งความเร็ว ความแรง และการประหยัดพลังงานดีขึ้น มีการเปิดจอง ซึ่งออเดอร์แรกมีผู้มีความต้องการประมาณ 100 คัน”

เปลี่ยนโลกด้วยสองล้อ \"สรณัญช์ ชูฉัตร\" ปั้น ETRAN สู่ สตาร์ตอัพ \"รถอีวี\" คนไทย รุ่น KRAF ซึ่งได้รับรางวัลนวัตกรรมในหลายเวทีด้วยผลการทดลองที่ได้ประสิทธิภาพสูง

“หลังจากได้ต้นแบบมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการผลิต ออเดอร์จำนวน 100 คันทีเราได้รับจองมานั้น มันก็ไม่มากพอที่จะตั้งไลน์การผลิตได้ เราก็ใช้โมเดลของการหาพันธมิตร จนได้มาเจอกับ บริษัท ซัมมิท โอโต เข้าไปนำเสนอว่าต้องการผลิตรถตามต้นแบบ รถแบบนี้ ปัจจุบันมีผู้สนับสนุนประมาณนี้ อยากเอาต้นแบบของเรามาทำที่ซัมมิทได้หรือไม่ เขาก็ทำให้”

แต่เชื่อเถอะว่า ปัญหาของคนเล็กที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมใหญ่ หนีไม่พ้น “เรื่องเงิน” เมื่อมีไอเดียแต่ไม่มีทุนจึงนำมาสู่การเปิดระดมทุน รอบ Pre-series A ซึ่ง ETRAN มีรถต้นแบบทั้งทดสอบประสิทธิภาพทุกคนต่างยอมรับว่ามีโอกาสเป็นไปได้ ทำให้ ETRAN ระดมทุนรอบแรกได้มาประมาณ 18 ล้านบาท จากนักลงทุนอิสระ (Angel investor) ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาเริ่มนำรถที่ผลิตได้มาตรฐานจากโรงงานจริงไปให้ผู้ใช้งานกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ทดลองใช้งาน

เปลี่ยนโลกด้วยสองล้อ \"สรณัญช์ ชูฉัตร\" ปั้น ETRAN สู่ สตาร์ตอัพ \"รถอีวี\" คนไทย

“ผมเชื่อว่านักลงทุนเห็นโอกาส เพราะเรามีผลการทดลองใช้ มีต้นแบบที่พร้อมผลิต แต่จะให้ลงทุนมากกว่านี้ก็ยังไม่มีใครกล้าเสี่ยง เพราะต้นทุนของรถต่อหน่วยเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงน้ำมันก็สูงมาก อย่างรถรุ่น ETRAN KRAF ซึ่งมีคนจอง 100 คัน ก็ขายอยู่คันล่ะ 150,000 บาท ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าราคาสูงกว่ารถมอเตอร์ไซค์ทั่วไป ซึ่งจำนวน 100 คนที่จองมานี้ แง่หนึ่งก็รู้สึกขอบคุณ ประทับใจที่เขาเห็นคุณค่า แต่ก็อยากที่ตั้งไลน์การผลิตโรงงานสู่ระดับอุตสาหกรรมได้”

เปลี่ยนโลกด้วยสองล้อ \"สรณัญช์ ชูฉัตร\" ปั้น ETRAN สู่ สตาร์ตอัพ \"รถอีวี\" คนไทย รถ ETRAN ในขั้นตอนการผลิต

การเดินทางของ ETRAN ไม่ใช่มีแค่สมอง และเงินทุน เพราะการเติบโตดูเหมือนต้องรอโอกาสที่ใช่ และจุดเปลี่ยนของ ETRAN คือการไปเสนอโปรเจคกับ  Robinhood ซึ่งมีบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด บริษัทในเครือ เอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) บริหารอยู่ โดยช่วงนั้น Robinhood ได้ประกาศตัวเป็นแพลตฟอร์มส่งอาหารหน้าใหม่ และต้องการพาร์ทเนอร์ที่ผลิตรถพลังงานไฟฟ้มาสำหรับกลุ่มไรเดอร์ส่งอาหาร

 สรณัญช์ และทีมงาน จึงเอาไอเดียรถรุ่น Myra ที่เคยออกแบบมาก่อนแล้ว นำเสนอในโครงการประกวด จนชนะเป็นอันดับ 1 ก่อนจะมีออเดอร์สั่งซื้อในจำนวน 10,000 คัน เพื่อใช้เป็นพาหนะของไรเดอร์ Robinhood ทำให้พวกเขาเป็นสตาร์ทอัพระดมทุน series A เข้ามาอีกรอบเพื่อเริ่มการผลิตแบบ Mass Production

 

  • ETRAN สตาร์ทอัพรถอีวี

ถึงตรงนี้ก็ต้องบอกว่า ETRAN กลายเป็นสตาร์ทอัพเต็มตัว เพราะการระดมทุนในรอบนี้ มี บมจ. เอ็น.ดี.รับเบอร์ หรือ NDR ผู้ผลิตและจำหน่ายยางล้อรถมอเตอร์ไซค์สัญชาติไทย และนักลงทุนอิสระ มองเห็นศักยภาพบริษัท และโอกาสในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าจนตัดสินใจลงทุนด้วยงบประมาณรวมกว่า 200 ล้านบาท

เปลี่ยนโลกด้วยสองล้อ \"สรณัญช์ ชูฉัตร\" ปั้น ETRAN สู่ สตาร์ตอัพ \"รถอีวี\" คนไทย รุ่น Myra ที่เจาะกลุ่มไรเดอร์ส่งอาหาร ภาพ: Nation Photo

“มันมีแต่ยักษ์ที่ทำรถเท่านั้น ธุรกิจนี้มันไม่เคยมีแมวทำได้ จากความเป็นไปไม่ได้เราต้องหาจุดที่เป็นไปได้มากที่สุด ในวันแรกเราจึงเลือกมองรถวินมอเตอร์ไซค์ซึ่งมันเฉพาะกลุ่มไปเลย หรือตอนนี้เราก็โฟกัสที่ไมร่า (Myra) ซึ่งมีกลุ่มเฉพาะ และตอนนี้อยู่ในกระบวนการผลิตรถเพื่อส่งมอบให้กับ Robinhood ขณะที่รถรุ่นอื่นก็ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐรวม 16 ล้าน เพื่อผลิตเพิ่ม”

ใครจะเชื่อว่า รถแบรนด์ ETRAN เป็นของคนไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นจริงๆ สรณัญช์ บอกว่า สิ่งหนึ่งที่พาแบรนด์ของเขามาถึงจุดนี้คือความฝันที่ยิ่งใหญ่ คือฝันทั้งการทำรถที่ใช้ได้จริง ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ฝันถึงการมีสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ไฟฟ้าเพื่อลดระยะเวลาในการชาร์จ รวมถึงการมองสินเชื่อเช่ารถสำหรับกลุ่มไรเดอร์เพื่ออุด Pain point (จุดอ่อน) ของรถไฟฟ้าที่มีราคาแพงกว่า

เปลี่ยนโลกด้วยสองล้อ \"สรณัญช์ ชูฉัตร\" ปั้น ETRAN สู่ สตาร์ตอัพ \"รถอีวี\" คนไทย เอิร์ธ-สรณัญช์ ชูฉัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) ภาพ: Nation Photo

“ผมคิดว่ามันต้องเป็นภาพใหญ่ ถ้าเราคิดจะทำทีละจุด มันไม่ถึงฝัน อย่าง Mission Impossible เป้าหมายของเขามันก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ เช่น ไปเอายาเชื้อโรคในประเทศอีกซีกโลก ต้องจ้างเฮลิคอปเตอร์ เราก็ต้องฝันใหญ่แบบนั้น เพราะถ้าคิดว่าแค่จะทำรถ ก็คงไม่ชนะ Robinhood และก็มีแบรนด์รถอื่นที่ทำได้ดีกว่าเรา หรือถ้าเราลืมคิดเรื่องพลังงาน ไม่ได้คิดเรื่องการเช่าคนก็จะบ่นว่าแพง ใช้รถน้ำมันต่อไปดีกว่า แต่มอเตอร์ไซค์ของเรา คิดค่าเช่า150 บาท / วัน มีประสิทธิภาพ ทำเวลาได้ ซึ่งเมื่อเปรียบค่าน้ำมัน มันก็โอเคนิ แถมเสียแล้วก็ไม่ต้องทำอะไร คุณก็เปลี่ยนคันใหม่ได้”

เปลี่ยนโลกด้วยสองล้อ \"สรณัญช์ ชูฉัตร\" ปั้น ETRAN สู่ สตาร์ตอัพ \"รถอีวี\" คนไทย

ทิศทางธุรกิจในปี 65 นี้  สรณัญช์ ผู้บริหารหนุ่ม กล่าวว่า จะเร่งผลิตส่งรถ 5,000 คันในปีนี้ตามสัญญา ทั้งยังขยายผู้ใช้รวมถึงสถานีไปยังหัวเมืองต่างๆ นอกจากกรุงเทพฯ เช่น เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต

“รถ สถานี ระบบสินเชื่อ ผมมองเป็นฮาร์ดแวร์ ซึ่งก็ต้องเดินหน้าไป แต่ในปีนี้เราก็จะทุ่มเทกับ ซอฟต์แวร์ หรือฝั่ง Tech ที่จะเน้นสร้างความปลอดภัยให้เกิดกับมอเตอร์ไซค์”

เปลี่ยนโลกด้วยสองล้อ \"สรณัญช์ ชูฉัตร\" ปั้น ETRAN สู่ สตาร์ตอัพ \"รถอีวี\" คนไทย ทีมงาน ETRAN

“ย้อนกลับไปในวันแรกๆ นอกจากเรื่องพลังงาน และสิ่งแวดล้อม เราฝันที่จะทำมอเตอร์ไซค์ที่ช่วยลดอุบัติเหตุให้น้อยลง สิ่งที่ผมทำคือเราจะมีเซ็นเซอร์ ที่จะดูว่า ไม่ให้มีการขับขี่ย้อนศร ขึ้นฟุตบาท ฝ่าไฟแดง เรามีเซ็นเซอร์ที่จะตรวจจับสิ่งนี้

เพราะฉะนั้นคนขับขี่ ที่เช่ารถกับ ETRAN แล้วขับดี มีพฤติกรรมที่ทำให้สังคมปลอดภัยจากการขับขี่ มันจะมีแนวทางที่จะลดราคาค่าเช่า เพราะเราคงไม่ทำรถที่เร็วไปกว่านี้ แต่จะพัฒนาในเชิงความปลอดภัย โดยใช้เทคโนโลยีผสานเข้าไป

ขณะที่สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ (ETRAN Power Station) เราตั้งเป้าหมายไว้ 100 จุดทั่วกรุงเทพฯ ใน 3 ปี เจาะลูกค้า 4 กลุ่ม คือ 1.ไรเดอร์ดีลิเวอรี่ 2.วินมอเตอร์ไซค์ 3.ภาครัฐ และ 4.กลุ่มผู้รักรถมอเตอร์ไซค์ ตั้งเป้าส่วนแบ่งตลาดเกินครึ่งของตลาดรถจักรยานไฟฟ้าในไทย ใน 3 ปี

“บริษัทจะไปได้ดีแค่ไหน แต่สิ่งที่เราจะไม่ลืมคือเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างโลกที่ดีกว่า ทุกคนในองค์กรต้องจำไว้ว่ามีหน้าที่ไม่ใช่แค่ผลิตรถแต่คือการทำโลกนี้ให้ดีกว่า สะอาดขึ้น มีประสิทธิภาพ และเท่าเทียมกัน”

“ถ้าตอบแบบตรงไปตรงมาความยากของโปรเจค ตั้งแต่เริ่มคือแทบเป็นไปไม่ได้เลยนะ จะทำอุตสาหกรรมรถ คนธรรมดาจะไปทำได้อย่างไร มันต้องใช้เงินมหาศาล จริงๆ อีธานก็มาจาก มิชชั่นอิมพอสซิเบิ้ล เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าทำไม่ได้ แต่อีธาน ฮันท์ มันทำได้ ในวันที่คิดจะทำ เรามองหน้ากันเราคุยกันว่า เราทำสิ่งที่มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เหมือนกันนะ แต่อีกด้านเราก็มั่นใจ ว่ามันมีโอกาสจะเกิดขึ้นจริง”

จากจุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้ ผ่านมาราวครึ่งทาง มิชชั่น Possible ไปแล้ว