ถ้าขึ้น"รถไฟฟ้า"ทุกวัน : ผู้บริโภคอยากจ่าย"ค่าโดยสาร"ราคามาตรฐานเท่าไร

ถ้าขึ้น"รถไฟฟ้า"ทุกวัน : ผู้บริโภคอยากจ่าย"ค่าโดยสาร"ราคามาตรฐานเท่าไร

กรุงเทพมหานคร (กทม.)พยายามผลักดันให้ต่อสัญญาสัมปทาน"รถไฟฟ้าสายสีเขียว" โดยเสนออัตราค่าโดยสารที่ 65 บาท หลายหน่วยงานไม่เห็นด้วย สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอที่ 25 บาท แล้วคุณอยากขึ้น"รถไฟฟ้า"ราคาเท่าไร

“เราจะได้ขึ้นรถไฟฟ้าในราคาเท่าไหร่”

นี่คงเป็นคำถามที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่อยากรู้ เมื่อกรุงเทพมหานคร (กทม.) พยายามผลักดันให้ต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยเสนออัตราค่าโดยสารที่ 65 บาท

แต่หลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงคมนาคมเสนอว่าค่ารถไฟฟ้าไม่ควรเกิน 36 บาท กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เสนอราคาไม่เกิน 42 บาท สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เสนอที่ 25 บาท

ประเด็นเรื่องอัตราค่าโดยสารนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียง และคาดว่าจะไม่จบลงง่ายๆ เนื่องจาก กทม. ไม่เปิดที่มาที่ไปของราคา 65 บาท

ราคาที่ทุกคนขึ้นรถไฟฟ้าได้?

ในเวทีเสวนาออนไลน์ “เปิดราคาค่ารถไฟฟ้าทุกคนขึ้นได้ ทำไมคมนาคมเสนอ 36 บาท และสภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอ 25 บาท”

ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ไม่เห็นด้วยกับการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไป ควรมีประมูล และเขียนสัญญาสัมปทานฉบับใหม่ขึ้น โดยกำหนดสิ่งที่เอกชนต้องทำ 4 เรื่อง ดังนี้

1) ต้องมีระบบตั๋วร่วม โดยเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว

2) คำนวณอัตราค่าโดยสารตามมาตรฐานของ รฟม. (MRT Assessment Standardization) และกำหนดเพดานราคาไม่เกิน 42 บาท

3) ต้องมีบัตรโดยสารแบบ 30 วัน หรือตั๋วเดือน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ใช้บริการรถไฟฟ้าเป็นประจำ

 4) มีส่วนลดสำหรับผู้มีรายได้น้อย – ผู้ด้อยโอกาส

ค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย ?

ด้าน คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการ อนุกรรมการด้านขนส่งและยานพาหนะ สอบ. อีกคนที่แสดงความเห็นคัดค้านการต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียว ในหลายประเด็น ดังนี้  

1) สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะหมดอายุในปี 2572 หรืออีก 7 ปี มีเวลามากพอที่จะจัดประมูลใหม่

2) อัตราค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย ไม่มีที่มาที่ไป และไม่สามารถชี้แจงต่อสาธารณะได้

3) ต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้า 30 ปี สร้างภาระในอนาคตให้กับทุกคน รวมไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน 

4) เราจะหมดโอกาสในการจัดการรถไฟฟ้าทั้งระบบ ทั้งเรื่องตั๋วร่วม การยกเว้นค่าแรกเข้า ค่าโดยสารสูงสุด ค่าโดยสารตารางเดียว ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นเรื่องราคาค่าโดยสารนั้น คงศักดิ์ยืนยันว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้า 25 บาทสามารถทำได้จริง โดยอ้างอิงข้อมูลต้นทุนค่าโดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยว จาก รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ที่ระบุว่าต้นทุนเฉลี่ยต่อเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 15 -16 บาทเท่านั้น

อีกทั้ง เมื่อดูข้อมูลรายได้ของทีบีเอสและกลุ่มบริษัทย้อนหลังจากพบว่าในปี 2562 – 2563 บริษัทมีกำไรถึง 8,817 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผลกำไรดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่บีทีเอส ควรได้รับ และบริษัทฯ ต้องได้ดำเนินกิจการต่อไปจนถึงปี 2572 ตามสัญญาสัมปทานเดิม

แต่หลังจากนั้น กทม. ต้องเป็นผู้เข้าไปบริหารจัดการต่อ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนจะได้รับ

“ตอนนี้สิ่งที่ประชาชนต้องการคืออยากได้ตัวเลขที่ชัดเจน ซึ่งราคา 25 บาทที่ทาง สอบ. เสนอ มาจากข้อมูลเรื่องต้นทุนค่าโดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยว ข้อมูลเรื่องกำไรของบีทีเอส ประกอบกับเรื่องภาระหนี้ของกทม.

โดยยึดหลักการสำคัญคือ ค่าเดินทางต่อวันไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจริงๆ ค่าโดยสารเที่ยวละ 25 บาทถ้าไปกลับก็เท่ากับ 50 บาท เกินร้อยละ 10 มานิดหน่อย แต่จากการสอบถามผู้ใช้บริการจริงก็ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่พอจะรับได้”