"ฮ่องกง"ในวันที่ไม่มีเสรีภาพ "นักข่าว"ต้องทิ้งอาชีพที่รักไปสู่อาชีพอื่น

"ฮ่องกง"ในวันที่ไม่มีเสรีภาพ "นักข่าว"ต้องทิ้งอาชีพที่รักไปสู่อาชีพอื่น

ในวันที่สื่อใน"ฮ่องกง"ไม่มีเสรีภาพ นักข่าวจำต้องโบกมือลาอาชีพที่พวกเขารัก หลายคนต้องหันไปทำอาชีพอื่น มีทั้งขับแท็กซี่ พนักงานส่งของ เปิดร้านอาหาร ฯลฯ และนี่คือเรื่องราวพวกเขา

เมื่อ 3 เดือนก่อน รอนสันชาน ทำงานเป็นรองบรรณาธิการฝ่ายคัดเลือกข่าวที่สำนักข่าวสแตนด์นิวส์ สื่อที่มีจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกง

หน้าที่หลักของเขา คือ มอบหมายประเด็นข่าวให้กับนักข่าวช่วยกำหนดวาระข่าวของกองบรรณาธิการและโพสต์ข่าวบนโซเชียลมีเดียของสื่อออนไลน์อิสระแห่งนี้

ในฐานะประธานสมาคมผู้สื่อข่าวฮ่องกง ชานได้ติดตาม และเห็นถึงผลกระทบของการปราบปรามสื่อของจีนอย่างใกล้ชิด

เมื่อสื่อฮ่องกงถูกสั่งปิด

ไม่ว่าจะเป็นการสั่งปิดสื่อการจับกุมคนในกองบรรณาธิการ รวมถึงการย้ายสำนักงานสื่อออกไปนอกประเทศ

จนมาถึงวันที่อาชีพของเขาต้องสะดุดลง เมื่อเพื่อนร่วมงานของเขา ซึ่งรวมถึงหัวหน้ากองบรรณาธิการ และกรรมการบริหารบางคนถูกตำรวจความมั่นคงแห่งชาติจับในข้อหา“สมรู้ร่วมคิดในการเผยแพร่เนื้อหาปลุกระดม”ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 29 ธันวาคม 2564

โดยมีเจ้าหน้าที่หลายร้อยคนบุกเข้าไปในสำนักข่าวด้วย จนทำให้สแตนด์นิวส์ สื่อออนไลน์ที่ไม่แสวงหากำไร ต้องประกาศปิดตัว หลังจากที่ดำเนินการมาเป็นเวลามากกว่า 7 ปี

\"ฮ่องกง\"ในวันที่ไม่มีเสรีภาพ \"นักข่าว\"ต้องทิ้งอาชีพที่รักไปสู่อาชีพอื่น (แอปเปิลเดลีฉบับสุดท้าย /ภาพ :เอเอฟพี)

ตอนนี้ชานทำงานเป็นพนักงานขับรถส่งของ เขาเป็นหนึ่งในนักข่าวและบรรณาธิการจำนวนมากในฮ่องกงที่เผชิญกับความไม่แน่นอนในอาชีพ

แต่เขาก็ไม่ย่อท้อ เขาใช้เวลาช่วงวันตรุษจีนขับรถไปรอบๆ เกาะฮ่องกง เพื่อส่งของให้ลูกค้าของร้านค้าออนไลน์ของเพื่อนคนหนึ่ง

ถ้าชานหางานสื่อทำไม่ได้ในเร็วๆ นี้ เขาจะต้องออกจากตำแหน่งประธานสมาคมผู้สื่อข่าวฮ่องกง

“ผมยังอยากจะทำอาชีพสื่อมวลชนต่อไป แต่มันขึ้นอยู่กับว่าโอกาสที่รออยู่ข้างหน้าคืออะไร”เขากล่าว

ปิดตำนานสื่อประชาธิปไตย

การปราบปรามสื่อฮ่องกงเกิดขึ้นภายใต้การใช้อำนาจตามกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกงฉบับใหม่ที่รัฐบาลจีนประกาศใช้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563

นักวิเคราะห์มองว่ากฎหมายฉบับนี้ อาจนำไปสู่จุดจบของเสรีภาพที่มีลักษณะเฉพาะของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง

ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือความเป็นอิสระของรัฐบาลฮ่องกง เพราะเป็นการบัญญัติกฎหมายแบบครอบจักรวาล และมีบทลงโทษสูงถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต

หากกระทำความผิดในเรื่องที่จีนให้นิยามไว้อย่างกว้างๆว่า เป็นการแบ่งแยกดินแดนการบ่อนทำลายการก่อการร้าย และการสมคบคิดกับต่างชาติบ่อนทำลายความมั่นคง

นอกจากนี้ยังมีผลบังคับใช้กับทั้งชาวฮ่องกงและชาวต่างชาติ รวมทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศด้วย

รายงานของสหพันธ์นักข่าวนานาชาติระบุว่า นักข่าวและนักรณรงค์เพื่อปกป้องสื่อมวลชนประมาณ 20 คนถูกจับกุม หรือควบคุมตัวภายใต้กฎหมายดังกล่าว

\"ฮ่องกง\"ในวันที่ไม่มีเสรีภาพ \"นักข่าว\"ต้องทิ้งอาชีพที่รักไปสู่อาชีพอื่น (รอนสันชาน โบกมือให้นักข่าว/ภาพ : รอยเตอร์)

สื่อกระแสหลักฮ่องกงค่อยๆหายไป

ย้อนไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 แอปเปิลเดลี แทบลอยด์ยอดนิยมที่สนับสนุนประชาธิปไตย และวิจารณ์ฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่มากว่า 26 ปีต้องปิดตัวลงหลังจากที่ตำรวจนับร้อยนายบุกไปยึดทรัพย์สิน และควบคุมตัวผู้บริหารด้วยข้อหา“สมคบคิดกับต่างชาติ”

เมื่อต้นปี 2565 เว็บไซต์ข่าวอิสระที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งในฮ่องกง อย่างซิติเซนนิวส์ ก็ตัดสินใจปิดตัว โดยอ้างว่า รู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะนำเสนอข่าวอีกต่อไป

นักข่าวต่างชาติถูกปฏิเสธวีซ่า ส่วนสื่อต่างชาติต้องปิดออฟฟิศและย้ายพนักงานไปประเทศอื่น

ลู่เหว่ย โรสลู่ฉี ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารของมหาวิทยาลัยฮ่องกงแบ๊บติสท์กล่าวว่า นักข่าวกลายเป็นพลังทางการเมืองในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของฮ่องกง พวกเขายังตกเป็นเป้าของผู้นำทางการเมือง เพราะอิทธิพลดังกล่าว

“การตั้งเป้าเล่นงานสื่อบางแห่งโดยเฉพาะก่อให้เกิด‘ชิลลิ่งเอฟเฟค’(บรรยากาศของความไม่แน่ใจหรือความหวาดกลัวที่ตามมาหลังการบังคับใช้กฎหมายหรือการลงโทษที่เข้มงวด)

ผลที่ได้ คือเสียงทางเลือกของสื่อกระแสหลักกำลังหายไป ซึ่งส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้น้อยลง”เธอกล่าว

ผลจากการปราบปรามสื่อทำให้นักข่าวในฮ่องกงมากกว่า1,000คนหรือ1ใน 5 ของนักข่าวที่ทำงานในสื่อภาษาจีนในฮ่องกงต้องตกงานปีที่แล้ว

หลายคนยังหาทางกลับเข้าสู่วงการสื่อไม่ได้และตอนนี้ก็ผันตัวไปขับรถแท็กซี่หรือขายไก่ทอด

\"ฮ่องกง\"ในวันที่ไม่มีเสรีภาพ \"นักข่าว\"ต้องทิ้งอาชีพที่รักไปสู่อาชีพอื่น (สแตนลีย์ไหลผันตัวจากช่างภาพมาขับแท็กซี่/ภาพ : VIOLA ZHOU)

วางกล้องมาถือพวงมาลัย

หลังจากที่ทำงานเป็นช่างภาพที่แอปเปิลเดลีมาเกือบ 30 ปี สแตนลีย์ไหลก็ต้องวางกล้องคู่ใจ และหันมาจับพวงมาลัยรถแท็กซี่กะกลางคืนแทน หลังจากที่หนังสือพิมพ์ถูกบังคับให้ปิดตัว

นักข่าวบางคนได้งานทำในสำนักข่าวอื่นๆ แต่ไหลเลือกที่จะเป็นคนขับแท็กซี่

“ผมขับรถมาตลอด มันน่าจะเป็นการเปลี่ยนอาชีพที่เร็วและง่ายที่สุด”ไหลกล่าว เพียงแค่ 4 เดือนเขาก็ปรับตัวเข้ากับบทบาทใหม่ของเขาได้ดี

สำหรับอดีตช่างภาพวัย 53 ปีคนนี้ การขับรถแท็กซี่มีหลายๆ อย่างที่เหมือนกับการเป็นช่างภาพข่าวด่วน เพราะงานทั้ง 2 อย่างต้องทำงานข้ามคืนต้องการทักษะในการขับรถและต้องรู้จักถนนหนทางที่สับสนวุ่นวายของเกาะฮ่องกง

แต่สิ่งที่ต่างกันคือ ความเร็วจากที่เคยขับรถเก๋งของบริษัทด้วยความเร็ว180กม./ชม.เพื่อให้ไปถึงที่เกิดเหตุ และเพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุด ตอนนี้เขาปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด

การพาผู้โดยสารไปถึงที่หมายช้าลงไม่กี่วินาทีไม่สำคัญมากเท่ากับการทำให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์ของเขาได้รับข่าวสารที่ช้าลง

นิสัยเดิมๆ สมัยเป็นช่างภาพ ยังคงติดตัวไหลมาทุกวันนี้ เขายังคงถือกระเป๋าเป้ใบเดิม แต่เปลี่ยนจากใส่กล้องมาเป็นเหรียญและแชมพูล้างรถแทน

และเขาอมยาอมแก้เจ็บคอแก้ง่วงตอนทำงานกลางคืน เขาซื้ออาหารเย็นจากร้านประจำที่ช่างภาพชอบใช้บริการ และนั่งทานที่จุดเดิม ซึ่งเคยมีรถข่าวเคยจอดอยู่ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือตอนนี้เขาไม่อ่านหรือฟังข่าวอีกต่อไป

“ตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องของผมแล้ว การฟังข่าวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไร”เขากล่าว และบอกว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะพูดอะไร ก็เป็นไปตามนั้นแหละ

\"ฮ่องกง\"ในวันที่ไม่มีเสรีภาพ \"นักข่าว\"ต้องทิ้งอาชีพที่รักไปสู่อาชีพอื่น (ชานซานชิงนักข่าวที่วางปากกามาจับกระทะ/ภาพ : VIOLA ZHOU)

ทิ้งปากกามาจับตะหลิว

ชานซานชิง เป็นนักข่าวอีกคนที่ต้องวางปากกา หันมาจับกระทะแทน อดีตนักข่าวสายการเงินของแอปเปิลเดลีคนนี้ทำงานมากว่า 10 ปี เขาเคยทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนตรวจสอบการเงินของมหาเศรษฐีในฮ่องกง และทำวิดีโอเกี่ยวกับบริษัทสตาร์ทอัพในฮ่องกง

ในวันที่แอปเปิลเดลีตีพิมพ์ฉบับสุดท้าย หลังจากที่ตำรวจอายัดทรัพย์สินและตั้งข้อหาผู้บริหารว่า ละเมิดความมั่นคงแห่งชาติ พนักงานถูกให้ออก โดยไม่ได้รับเงินเดือนๆ สุดท้าย หรือเงินชดเชย

ชานรู้สึกผิดหวังที่เห็นการกดดันสื่อของทางการด้วยการเซ็นเซอร์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นักข่าววัย 35 ปี จึงตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพจากการเล่าเรื่องมาหารายได้แทน

“ไม่มีประโยชน์ที่จะเป็นนักข่าวอีกต่อไป”อดีตนักข่าวกล่าว และว่า“ฮ่องกงเป็นที่สำหรับทำเงินไม่ใช่ที่สำหรับการใช้ชีวิต”

ตอนแรกชานทำงานเป็นคนส่งอาหารราว 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะเปิดร้านอาหารเล็กๆใกล้บ้านขายอาหารฮ่องกงดั้งเดิมเช่น ขาหมูก๋วยเตี๋ยว ซุปมะเขือเทศและชานมเมนูซิกเนเจอร์ของร้าน คือ ขาไก่ทอดยักษ์ ที่นักวิจารณ์อาหารท้องถิ่นยกย่องว่า“ใหญ่กว่าหน้าคน”

เสรีภาพที่ไม่ยืนยาว

ชาน อดีตรองบรรณาธิการสแตนด์นิวส์ ไม่รู้ว่าในอนาคต เขาจะถูกจับกุมเหมือนเพื่อนร่วมงานหรือไม่ เขาสนับสนุนเพื่อนร่วมอาชีพที่ยังคงทำงานอยู่แต่เตือนว่า พวกเขาสุ่มเสี่ยงต่อการถูกคุกคามหรือลงโทษจากการรายงานข่าว

“ไม่มีใครบังคับหรือบอกคุณว่า ควรจะเขียนหรือไม่เขียนอะไร แต่มันจะมีผลตามมา หากคุณทำอะไรที่ล้ำเส้น”ชานกล่าว

หกเดือนก่อนที่สำนักข่าวของเขาจะถูกตำรวจจู่โจม ชานเคยให้สัมภาษณ์ว่าไม่มีใครสามารถหยุดเขาจากการเขียนข่าว

“แต่คุณไม่รู้ว่าเราจะใช้เสรีภาพได้อีกนานแค่ไหน”

............

ที่มา : เว็บไซต์เดอะการ์เดียน และwww.vice.com