"รสนา โตสิตระกูล" มือปราบโกง ผู้กล้าท้าชิงตำแหน่งผู้ว่ากทม.

"รสนา โตสิตระกูล" มือปราบโกง ผู้กล้าท้าชิงตำแหน่งผู้ว่ากทม.

ตอนลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา "รสนา"ไม่มีใครคิดว่าจะได้ตำแหน่งนี้ และการสมัครเป็น"ผู้ว่ากทม." แม้จะยากกว่า แต่เธอเชื่อว่า ไม่ใช่แค่แพ้หรือชนะ อย่างน้อยๆ ได้บอกเล่าสิ่งที่คิดให้คนกทม.รับรู้

สองปีที่แล้ว รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นักเคลื่อนไหวทางสังคม นักรณรงค์ด้านสุขภาพด้านพลังงานและสิทธิผู้บริโภค ประกาศจะลงสมัครผู้ว่ากทม. 

แม้ในวันเปิดตัวปีนี้จะไม่หวือหวาเท่า รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ฯลฯ 

แต่ถ้ามองในแง่ผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำงานเพื่อสังคมมายาวนาน มีผลงานเชิงประจักษ์หลายเรื่อง เคยเปิดโปงทุจริตการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ในกระทรวงสาธารณสุข ปี2541 และยับยั้งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปี 2549 ฯลฯ ก็ถือว่าไม่ธรรมดา

แม้โพลความนิยมว่าที่ผู้ว่ากทม. คะแนนเสียงของเธอจะอยู่อันดับเกือบท้ายๆ และหลายคนคาดว่าจะไม่ได้คะแนนเสียงจากกลุ่ม 3 นิ้ว หรือคนหมู่มาก แต่อย่าพึ่งปรามาส 

จุดประกาย-กรุงเทพธุรกิจ ชวนคุยกับ รสนา ม้านอกสายตา ผู้ลงชิงตำแหน่งผู้ว่ากทม. เธออยากมีส่วนทำให้คุณภาพชีวิตคนกทม.ดีขึ้น...

สมัครเป็นผู้ว่ากทม.ครั้งนี้ ตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

การเมืองท้องถิ่น สามารถลงสมัครได้โดยไม่มีพรรค ดิฉันประกาศว่าเป็นผู้สมัครอิสระ และอิสระจริงๆ ไม่มีพรรคการเมืองหรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่อยู่เบื้องหลัง

\"รสนา โตสิตระกูล\" มือปราบโกง ผู้กล้าท้าชิงตำแหน่งผู้ว่ากทม.

ดิฉันเห็นว่า การเมืองท้องถิ่นสามารถพัฒนาประชาธิปไตยทางตรง หรือประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือได้ เพราะการบริหารท้องถิ่นมีเจตนารมย์ในเรื่องการกระจายอำนาจ

ผู้ว่าฯกับประชาชนในท้องถิ่น สามารถร่วมมือกันพัฒนาปรับปรุงการบริหาร เพื่อให้เกิดประโยชน์ และสิ่งที่ดิฉันให้ความสำคัญคือ คุณภาพชีวิต

การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่ผ่านมาไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิต จะเน้นไปที่โครงการขนาดใหญ่ จัดการน้ำท่วม การระบายน้ำ ฯลฯ แต่คุณภาพชีวิตของคนกทม.ไม่ได้รับความสนใจ

ดิฉันมองว่า มือของรัฐบาลที่จะจัดการกับท้องถิ่น บางครั้งใหญ่เกินไป ไม่ตอบสนองประชาชน และบางทีก็เล็กเกินกว่าจะจัดการกับปัญหาบางอย่าง

ในฐานะคนทำงานภาคประชาชน ถ้าเราสามารถเข้ามาในพื้นที่ตรงนี้ได้  ตั้งใจว่าจะเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ ที่ผ่านมาประชาชนมีอำนาจเลือกผู้ว่าฯ หรือผู้บริหารประเทศในคูหาแค่ 3-4 นาที หลังจากนั้นประชาชนไม่มีอำนาจอีกเลย

ต้องยอมรับว่า กทม.มีคนที่มีความรู้ความสามารถแต่ละเรื่องเยอะ ซึ่งความรู้เหล่านั้น เราควรนำมาปรับปรุงกทม.

นโยบายกทม.ที่ผ่านมา มีเรื่องไหนกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

กทม.ควรจะจัดสรรพื้นที่ว่างเปล่าของกทม.ให้คนรายได้น้อยและคนชั้นกลางทำเอสเอ็มอีในเมืองทำเกษตรอินทรีย์ในเมือง เพื่อการบริโภคในครัวเรือน และเป็นอาชีพที่เป็นสัมมาอาชีวะและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ยกตัวอย่างโรงงานกำจัดขยะที่อ่อนนุช เพื่อนำขยะไปทำไบโอก๊าซขายไฟฟ้า กทม. จัดการโดยบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ให้สัมปทานกับเอกชนที่ประเทศจีน

แต่อ้างว่าเทคโนโลยีมาจากเยอรมัน ผลที่ออกมาคือ เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม โรงกำจัดขยะส่งกลิ่นเหม็น อันนี้ถือว่ากระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ชาวบ้านทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าดิฉันเป็นผู้ว่าฯ เป็นไปไม่ได้ที่จะให้สิ่งนี้เกิดขึ้น 

ถ้ามีคนร้องเรียน หากแก้ปัญหาไม่ได้ บริษัทที่ทำเรื่องขยะต้องรับผิดชอบแก้ไข โดยปิดโรงงานกำจัดขยะ หรือย้ายโรงงานขยะออกไปไกลจากชุมชน ที่ผ่านมามีคนร้องเรียน แต่ผู้ว่ากทม.ไม่รับรู้ ถ้าลงไปดูพื้นที่ ต้องตั้งคำถามเลยว่า ทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

\"รสนา โตสิตระกูล\" มือปราบโกง ผู้กล้าท้าชิงตำแหน่งผู้ว่ากทม.

“ขยะ”เป็นปัญหาที่พูดถึงทุกยุค และไม่เคยแก้ปัญหาได้ ถ้าอย่างนั้นต้องทำอย่างไร

การกำจัดขยะด้วยการทำเป็นไฟฟ้าเป็นการกำจัดที่ดี แต่ต้องใช้เทคโนโลยี่ที่เหมาะสม ต้องไม่ทำลวกๆ ทิ้งปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างหมู่บ้านอิมพีเรียล พาร์คที่อยู่มากว่า20 ปี ได้รับผลกระทบเรื่องกลิ่น จนอยู่กันลำบาก 

เด็กๆ ในหมู่บ้านบริเวณรอบโรงงานขยะ บ่นไม่อยากทำการบ้าน เบื่อเพราะเหม็นขยะ แบบนี้ปล่อยไว้ไม่ได้ต้องรีบแก้ไข บริษัทกรุงเทพธนาคมของกทม.เคยโฆษณาในเว็บไซต์ของตนเองว่า จะเปลี่ยนบ่อขยะเป็นป่าในเมือง แต่ของจริงเป็นการทำบ่อขยะมาติดประชิดรั้วบ้านชาวบ้าน

การจัดการเรื่องขยะ ต้องจัดระบบแยกขยะอาหาร ขยะเปียก ออกจากขยะแห้งอื่นๆ ตั้งแต่ต้นทาง ถ้าขยะเปียกไม่ปนขยะอื่น การจัดการจะง่ายขึ้น 

ขยะอาหารควรนำไปหมักปุ๋ย หรือจะมีกระบวนการนำไปทำไฟฟ้า ก็ต้องควบคุมไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องกลิ่น หากนำไปเผาก็ต้องควบคุมสารพิษที่จะออกมาทางอากาศ

เรื่องการทำเมกกะโปรเจค ทั้งโรงกำจัดขยะเป็นไฟฟ้า หรือการทำอุโมงค์ระบายน้ำ ชาวบ้านไม่เคยมีส่วนร่วมในการรับรู้ ในการออกความเห็น การทำประชาพิจารณ์ก็ไม่ใช่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เป็นการทำพิธีกรรมให้ครบตามกฎหมายกำหนดเท่านั้น 

อย่างอุโมงค์น้ำที่คลองแนวดิ่งจากภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย ทำสัญญาลงทุนต่อเนื่อง 6-7ปี เริ่มประมาณปี 2563-2564

ตอนนั้นประชาชนต่อต้าน จึงทำไม่ได้ เป็นโครงการ 6 พันล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 6 ปี เกินวาระผู้ว่าฯกทม. โดยรัฐบาลสมทบเงินให้ครึ่งหนึ่ง

ที่ผ่านมาโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่เคยขอความเห็นจากชาวบ้าน มีคนบอกว่าอุโมงพวกนี้ใช้การไม่ได้เลย เหมือนจุ่มหลอดกาแฟลงในมหาสมุทร

ปัญหาขยะในกทม.ไม่เคยถูกจัดการจริงจัง ?

ดิฉันคิดว่า คนที่มีความรู้การจัดการขยะมีเยอะ พวกเขาต้องการปกป้องสิ่งแวดล้อม เราต้องดึงเข้ามามีส่วนร่วม คิดโมเดลแก้ปัญหา เพราะกทม.มีทั้งองค์ประกอบแบบบ้านเดียว คอนโด หมู่บ้าน ชุมชนแออัด วิธีการจัดการต่างกัน

กรุงเทพฯเป็นเมืองปากแม่น้ำ เราเป็นประเทศต้นๆ ที่ปล่อยขยะลงทะเล ขยะพลาสติกที่ทิ้งไปก็ทำร้ายสัตว์น้ำ เป็นเรื่องใหญ่พอๆ กับ Climate change การให้ความรู้การแยกขยะในโรงเรียนก็สำคัญ ถ้าไม่สร้างจิตสำนึก ขยะก็จะเป็นปัญหาตลอดไป

\"รสนา โตสิตระกูล\" มือปราบโกง ผู้กล้าท้าชิงตำแหน่งผู้ว่ากทม.

ขันอาสามาทำงานเป็นผู้ว่ากทม. มีนโยบายอย่างไรบ้าง

ดิฉันคิดนโยบายเรื่อง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในเชิงบูรณาการ เพื่อแก้ปัญหาคนกทม.ในช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่จากการระบาดของโควิด กทม.มีพื้นที่ว่างเยอะมาก 

ควรสนับสนุนให้ทำเกษตรขนาดเล็กในเมือง ทำให้มากขึ้นแทนตลาดพืชผักขนาดใหญ่ไม่กี่ราย คนก็จะพึ่งตนเองได้ เพราะมีคนจนเมืองหรือคนอยากทำเกษตรอินทรีย์ในเมืองไม่ใช่น้อย

ในสิงคโปร์ รัฐบาลจัดพื้นที่ในสวนสาธารณะให้ชนชั้นกลางที่อยากมีงานอดิเรก ปลูกผัก ทำสวนครัว โดยคิดค่าเช่าถูกๆ เพื่อทำให้เกิดพื้นที่สีเขียว ทำเกษตรอินทรีย์ปลูกแล้วขายเพิ่มรายได้

ดิฉันมองว่า เวลาที่เราพูดถึงประชาธิปไตยทางตรง ต้องคิดถึงประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจด้วย การกระจายอำนาจคือ การกระจายการผลิตให้คนเล็กคนน้อยมากที่สุด อาทิเช่น มีคนปลูกผักรายเล็กรายน้อยมากขึ้น

หรือการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อผลิตไฟฟ้า เป็นประชาธิปไตยทางพลังงานที่ประชาชนต้องเข้าถึงได้ ไม่ใช่การผลิตไฟฟ้าต้องมาจากกลุ่มทุนใหญ่แค่ไม่กี่ราย

โซล่าร์ รูฟ(Solar Roof) จึงเป็นเสมือนธนาคารบนหลังคา ลงทุนไม่สูง คืนทุนเร็ว สามารถลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

มีหลายคนมองว่า รสนา ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่ากทม.เป็นแค่ม้านอกสายตา ?

สื่อส่วนใหญ่มองดิฉันเป็นม้านอกสายตา แต่โพลที่ทำออกมา ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นอย่างนั้น  สมัยที่ดิฉันลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา ดิฉันไม่ติดโพล มีสื่อใหญ่บอกว่า รสนาไม่มีโอกาสได้ ในที่สุดเกินคาดหมาย ดิฉันเชื่อว่า ประชาชนมีวิจารณญาณ

การทำงานการเมืองภาคประชาชน ดิฉันไม่ได้สนใจแพ้ชนะ ทำให้ดีที่สุด เหมือนสมัยดิฉันฟ้องการแปรรูปกฟผ. เคยปรึกษานักกฎหมาย ก็ไม่มีใครเห็นด้วยสักคน น้องๆ ถามว่า “แล้วเราจะชนะหรือ”

ดิฉันตอบว่า มีแต่เรื่องชนะเท่านั้นหรือที่เราจะทำ เราทำเพราะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถือสุภาษิตแบบจีนว่า “ความพยายามเป็นของมนุษย์ ความสำเร็จอยู่ที่ฟ้า” ยกตัวอย่างรถไฟฟ้า ต้องเป็นขนส่งมวลชนจริงๆ

ถ้าดิฉันมีโอกาสเป็นผู้ว่ากทม. ดิฉันจะกำหนดนโยบายให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวรวมกับอีก 10 สายของรฟม.เพื่อทำให้เกิดตั๋วใบเดียว ราคาย่อมเยาว์สำหรับคนกทม.

เรื่องที่รัฐจะทำสัญญาสายสีส้มตะวันตกกับเอกชน พรรคภูมิไทยที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องหยุดด้วย เพื่อให้เรามีโครงสร้างรางที่เป็นของรัฐ กำหนดค่าโดยสารเดียว เพื่อทำให้คนมีรายได้น้อย ชนชั้นกลางขึ้นรถไฟฟ้าราคาถูกได้

ต้องทำให้ระบบรางเป็นขนส่งมวลชนที่ทำให้คนทุกรายได้ใช้บริการได้ บางคนมีรายได้เดือนละสองหมื่นบาท จะขึ้นรถไฟฟ้าทุกวันก็ไม่ได้ ขึ้นได้เฉพาะเวลาจำเป็น รถไฟฟ้าในจีนราคา 25 บาทขึ้นได้ทั้งวัน 

เมื่อทำให้ราคาย่อมเยาว์ จะเพิ่มผู้โดยสารจาก 1 ล้านสองแสนคน เป็น 3-5 ล้านคนได้  ซึ่งการทำแบบนี้ก็ยังมีกำไร แต่อาจไม่เยอะเหมือนเอกชน

เรื่องรถไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ชาวกทม.ควรจับตารถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีส้ม เป็นการทะเลาะเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล

ทำไมมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อสังคม

ถ้าสังคมดี ดิฉีนก็ได้รับประโยชน์ด้วย ดิฉันเป็นชาวพุทธ มรรควิธีและเป้าหมายคือเรื่องเดียวกัน เมื่อกำหนดมรรควิธีถูกต้อง ถ้าเป็นเรื่องถูกต้องก็ทำไป สิ่งที่ดิฉันประทับใจคือ เคยแปลหนังสือของลุงฟูกูโอกะ เรื่อง ปฎิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว เมื่อ 30 ปีที่แล้วเป็นหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนไทย

ดิฉันเคยไปอยู่ที่ไร่ฟูกูโอกะที่ญี่ปุ่น มีอยู่วันหนึ่งเรากำลังจะขึ้นรถไฟฟ้าไปต่างเมือง ลุงฟูกูโอกะบอกดิฉันว่า "รสนา... ยูต้องไม่กังวลจุดหมายที่เรากำลังจะไปถึง สิ่งสำคัญที่สุดคือ ขึ้นรถไฟคันที่ถูกต้อง แม้จะนอนหลับก็ถึงเป้าหมายแน่นอน” 

\"รสนา โตสิตระกูล\" มือปราบโกง ผู้กล้าท้าชิงตำแหน่งผู้ว่ากทม.

ประเด็นร้อนๆ ที่ทำเพื่อสังคม เคยถูกขู่บ้างไหม

ขู่เรื่องธรรมดา สมัยทำเรื่องทุจริตยา 1,400 ล้านบาทของกระทรวงสาธารณสุข ถูกขู่ด้วยการฟ้องศาล แต่ดิฉันรอดจากการถูกฟ้องมาตลอด

จัดการกับความกลัวอย่างไร

บางทีขาสั่น กลัว แต่สู้ต่อ เป็นเรื่องที่เราต้องพัฒนาคุณภาพจิตใจของเราด้วย

แม้ไม่ได้เป็นผู้ว่ากทม. ก็ยังคงทำงานเพื่อสังคมต่อ? 

ดิฉันสู้ทั้งๆ ที่ไม่มีอำนาจ สู้เพื่อเปิดเผยเรื่องราวเหล่านี้ในฐานะประชาชน แต่ถ้ามีอำนาจเป็นตัวแทนชาวกทม. ดิฉันก็จะทำงานได้เต็มที่ ปกติทำงานกับหลายองค์กร เรื่องเล็กเรื่องน้อยดิฉันก็ช่วยหมด 

เคยมีรายเล็กๆ แถวสาธร กทม. ร้านอาหารฝรั่งเศส หลังบ้านติดกับร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ด เขาไปร้องเรียน ไม่มีใครช่วย จนมาร้องเรียนกับดิฉัน ดิฉันไปดึงผู้อำนวยการเขตและคนที่เกี่ยวข้องมาประชุม ก็แก้ปัญหาได้บางส่วน

แม้จะเป็นความเดือดร้อนแค่คนๆ เดียว ดิฉันก็ช่วย เพราะเป็นเรื่องคุณภาพชีวิต และนั่นทำให้ดิฉันนึกถึงปณิธานของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อยากให้ท่านเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง 

ท่านบอกว่า เป็นข้าราชการประจำจะไม่ทำงานการเมือง แต่เมื่อใดเกษียณ อยากสมัครเป็นผู้ว่ากทม. 

สิ่งที่ท่านอยากทำคือ เรื่องคุณภาพชีวิต "ปฏิทินแห่งความหวังจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" ท่านให้ความสำคัญกับแม่และเด็ก อากาศสะอาด การศึกษาเล่าเรียน ดิฉันคิดว่า ความคิดอย่างนี้ยังทันสมัย จึงอยากสานปณิธานอาจารย์ให้เป็นรูปธรรม

ในฐานะแคนดิเดตผู้ว่ากทม. คุณมีทีมข้อมูลไหม

ดิฉันต้องการให้ประชากรทุกกลุ่มที่ทำงานในแต่ละด้านที่แก้ปัญหากรุงเทพฯมาเป็นหุ้นส่วน อีกเรื่องที่ดิฉันคิดคือ พื้นที่สำนักงานผู้ว่าฯ กทม.ที่ถนนดินสอ ตอนนี้สำนักงานย้ายไปอยู่ถนนดินแดง 

ถ้าดิฉันเป็นผู้ว่าฯ จะจัดพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ของประชาชนกลุ่มต่างๆ  หรือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ อยากฟื้นเอกลักษณ์เมืองเก่าและชุมชนให้เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กรุงเทพฯมีพื้นที่สวยๆเยอะ แต่ยังไม่มีชีวิต จำต้องพัฒนาให้ทันสมัย สะดวกและงามขึ้น

กทม.มีหน่วยธุรกิจ อย่างกรุงเทพฯธนาคม ตลาด โรงรับจำนำ กลุ่มเหล่านี้สามารถทำกองทุนเล็กๆ ให้คนเล็กคนน้อยที่กู้เงินนอกระบบมากู้เงินกับกทม. ดิฉันคิดว่า มีเรื่องให้ทำอีกเยอะ ถ้าเราเปิดใจ

ดิฉันเคยสู้เรื่องราคาน้ำมันเป็นสิบๆ ปี แม้จะเปลี่ยนแปลงช้า ก็ไม่หมดความหวัง ถ้าดิฉันมีอำนาจนิดหนึ่งในฐานะผู้ว่ากทม. ก็จะทำสิ่งนี้ได้มากขึ้น

แม้ตอนนี้ไม่ได้เป็น ก็ยังทำอยู่ ในเรื่องน้ำมัน สมาคมรถบรรทุกและกลุ่มแท็กซี่ที่อ่านข้อมูลจากดิฉัน ลุกขึ้นมาสู้ แม้ผลที่เกิดขึ้นจะใช้เวลานาน

2 ปีที่แล้วคุณประกาศคนแรกว่าจะสมัครผู้ว่ากทม.?

ดิฉันเคยให้สัมภาษณ์เอ็กซ์คลูซีฟทอล์คของเนชั่นสุดสัปดาห์ เมื่อ12 กันยายน 2562 ว่าดิฉันจะสมัครผู้ว่ากทม.และได้จัดงานประกาศตัวต่อสาธารณะเมื่อ 13 ธันวาคม 2562 ในสโลแกนว่า อิสระตัวจริง

และกรุงเทพฯมีทางออก บอกรสนา ซึ่งหมายถึง การเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางให้ประชาชนบอกปัญหา และวิธีแก้ปัญหากรุงเทพฯ 

 แม้ว่าดิฉันจะเป็นม้านอกสายตาสื่อใหญ่ที่รายงานเฉพาะว่าที่ผู้สมัครพรรคใหญ่ ฟอร์มใหญ่โดยมักจะไม่รายงานว่าดิฉันในฐานะผู้หญิงที่เสนอตัวเป็นหนึ่งในว่าที่ผู้สมัครผู้ว่ากทม. แต่ก็ยังมีสื่อเล็กๆที่มาสัมภาษณ์ดิฉันอยู่เสมอ