ผลรางวัล Berlin Film Festival ครั้งที่ 72 และ “หนังไทย” ในเทศกาล

ผลรางวัล Berlin Film Festival ครั้งที่ 72 และ “หนังไทย” ในเทศกาล

หนังเล็ก ๆ จากแคว้นคาทาลันในสเปนเรื่อง Alcarràs คว้ารางวัลหมีทองคำในเทศกาล Berlin Film Festival ขณะที่มีหนังไทย 2 เรื่องเข้าร่วมฉายในสาย Forum และสายหนังทดลอง

ถึงแม้ว่าเทศกาล Berlin Film Festival ครั้งที่ 72 ประจำปี 2022 จะสามารถกลับมาฉายภาพยนตร์ในโรงด้วยมาตรการอันเข้มงวดจากการระบาดหนักของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์โอไมครอน แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้ร่วมงาน ผู้จัดงานจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบโดยแบ่งส่วนงานออกเป็นสองช่วงแยกกันอย่างชัดเจน

 

ส่วนแรกระหว่างวันที่ 10-16 กุมภาพันธ์ จะเป็นการจัดฉายหนังรอบกาล่าและรอบสื่อ โดยเฉพาะหนังสายประกวดหลัก และจะต้องอัดแน่นฉายหนังสายประกวดทั้ง 18 เรื่องวนไป วันละ 2-4 เรื่อง เพื่อให้คณะกรรมการดูหนังได้ทันภายใน 6 วัน และเพิ่งจะประกาศผลรางวัลกันไปในค่ำคืนของวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2022

หลังจากนั้นจึงจะเป็นการนำหนังในโปรแกรมทั้งหมดกลับมาฉายใหม่ ณ โรงต่าง ๆ ทั่วกรุงเบอร์ลิน ให้สาธารณชนทั่วไปสามารถซื้อตั๋วเข้าชมได้ ไปจนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2022

 

ซึ่งคณะกรรมการในสายประกวดหลักประจำปีนี้ ก็มีผู้กำกับดัง M. Night Shyamalan เป็นประธาน ร่วมด้วยผู้กำกับ Karim Ainouz, Anne Zohra Berrached, Ryusuke Hamaguchi ผู้อำนวยการสร้าง Said Ben Said นักเขียน Tsitsi Dangarembga และนักแสดง Connie Nielsen โดยได้ประกาศรางวัลให้หนังเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

 

ผลรางวัล Berlin Film Festival ครั้งที่ 72 และ “หนังไทย” ในเทศกาล

เทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน 2022 ครั้งที่ 72

สำหรับรางวัลใหญ่สุดคือรางวัล ‘หมีทองคำ’ ประจำเทศกาลปี 2022 นี้ ได้แก่หนังเล็ก ๆ จากแคว้นคาทาลันในสเปนเรื่อง Alcarràs ของผู้กำกับหญิง Carla Simón

 

ผลรางวัล Berlin Film Festival ครั้งที่ 72 และ “หนังไทย” ในเทศกาล Alcarras     credit : LluisTudela

 

ชื่อหนัง Alcarràs คือชื่อหมู่บ้านเกษตรกรรมเล็ก ๆ ในคาทาลัน โดยหนังได้เล่าชะตากรรมของครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่ง ซึ่งมีบิดาวัยกลางคนเป็นหัวหน้าครอบครัว สมาชิกของบ้านในชนบทหลังนี้มีอาชีพปลูกไร่พีชขายมาหลายชั่วอายุคน ถ่ายทอดศาสตร์แห่งการเลี้ยงดูพืชพันธุ์ผลไม้ชนิดนี้จากรุ่นสู่รุ่นเลี้ยงดูทุก ๆ ปากท้องอย่างดีเสมอมา

 

กระทั่งวันหนึ่งมีรถตู้จากบริษัทใหญ่ทยอยเดินทางเข้ามาในหมู่บ้าน พร้อมการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีอันทันสมัย พวกเขานำแผงสร้างพลังงานโซลาร์เซลมาติดตั้งบนพื้นที่บริเวณขนาดใหญ่ พร้อมข่าวร้ายว่าครอบครัวชาวไร่พีชบ้านนี้ กำลังจะถูกไล่ที่ทำกินเพื่อพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมสร้างพลังงานทางเลือก!

 

หนังเล่าเรื่องราวสมาชิกของครอบครัวใหญ่ครอบครัวนี้อย่างใกล้ชิด โดยติดตามชีวิตของพวกเขาแต่ละรายทั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่เพื่อสะท้อนว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะส่งผลต่อชีวิตพวกเขาอย่างไร ทั้งฝ่ายผู้ใหญ่ที่อยู่ในสภาวะเข้าตาจนไม่รู้ว่าจะต่อสู้อย่างไร และฝ่ายเด็ก ๆ ที่เอาแต่ตื่นเต้นกับสีสันชีวิตใหม่ ๆ จากประดิษฐ์กรรมต่างด้าวดูแปลกตา โดยหาได้รับรู้ถึงหายนะที่กำลังมาเยือนครอบครัวนี้เลย

นับเป็นตัวแทนความสำเร็จของวงการหนังสเปนที่ดูจะห่างหายจากการได้รับรางวัลใหญ่จากเทศกาลหนังชั้นนำมานาน จนกระทั่งได้กลับมาส่งเสียงเฮกันอีกครั้งกับ Alcarràs เรื่องนี้

 

ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ หมีเงิน Grand Jury Prize ก็เป็นผลงานของผู้กำกับที่มีงานชุกมากที่สุดคนหนึ่งของวงการภาพยนตร์โลกร่วมสมัย นั่นก็คือผู้กำกับเกาหลีใต้ Hong Sang-soo ผู้มีผลงานเข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองเบอร์ลินท้าโควิดแบบ 3 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ The Woman Who Ran เมื่อปี 2020 เรื่อง Introduction เมื่อปี 2021

 

ล่าสุดกับเรื่อง The Novelist’s Film ในปี 2022 นี้ เรียกได้ว่าโควิดไม่สามารถหยุดเขาได้เลยจริง ๆ มีโรคระบาดก็ให้นักแสดงสวมหน้ากากอนามัยไปแล้วถ่ายทำไป ราวกับว่าชีวิตยังดำเนินไปอย่างไร ภาพยนตร์ก็ต้องทำหน้าที่ส่องสะท้อนกันต่อไปฉันนั้น

 

ผลรางวัล Berlin Film Festival ครั้งที่ 72 และ “หนังไทย” ในเทศกาล The Novelists Film     credit : Jeonwonsa Film Co Production

 

The Novelist’s Film ยังเป็นหนังขาวดำที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวข้องกับศิลปินนักเล่าเรื่องผู้ทำงานด้านการสร้างสรรค์ โดยจับเรื่องราวไปยัง Junhee นักเขียนนิยายหญิงที่ไม่มีผลงานตีพิมพ์มาหลายปี เธอใช้เวลาไปเยี่ยมเยียนเพื่อนนักเขียนเก่าที่วางปากกามาเปิดร้านขายหนังสือ และได้พบกับผู้กำกับที่ไม่ได้ดัดแปลงนิยายของเธอเป็นหนังตามสัญญา

 

เมื่อ Junhee ได้เจอกับนักแสดงหญิงชื่อดังที่ไม่มีผลงานมานานเช่นกัน เธอจึงรู้สึกถูกชะตาและชักชวนให้นักแสดงหญิงท่านนั้นมาร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่องที่เธอวางแผนจะกำกับ!

 

ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจที่หนังเกี่ยวกับกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานในวงการหนังวรรณกรรมอะไรเช่นนี้ จะเป็นที่ถูกอกถูกใจคณะกรรมการร่วมวงการได้โดยง่ายจนกระทั่งคว้ารางวัลหมีเงิน Grand Jury Prize ไป

 

มาที่รางวัลหมีเงิน Jury Prize ได้แก่หนังจากเม็กซิโก Robe of Gems ผลงานการกำกับเพียงเรื่องแรกของผู้กำกับหญิง Natalia Lopez Gallardo ซึ่งเล่าเรื่องราวการสืบทอดมรดกในครอบครัวคล้าย ๆ กับเรื่อง Alcarràs ที่คว้ารางวัลใหญ่สุดไป

 

เมื่อ Isabel ที่กำลังหย่าร้างกับสามีได้รับมรดกเป็นบ้านพักวิลลาในชนบทของเม็กซิโกจากมารดา เธอจึงเดินทางมายังวิลลาที่ถูกทอดทิ้งเป็นเวลานานแห่งนี้ และได้พบกับ Maria แม่บ้านคนเก่าที่กำลังเศร้าใจกับกรณีที่น้องสาวของเธอหายตัวไป

 

Isabel อาสาจะช่วย Maria ตามหาตัวน้องสาว พร้อม ๆ กับการฟื้นฟูนิวาสถานแห่งนี้ โดยที่ Isabel ไม่รู้เลยว่าชุมชนเล็ก ๆ ท่ามกลางธรรมชาติและป่าเขาแห่งนี้มีอาชญากรรมอันน่าสะดุ้งสะเทือนจากฝีมือเหล่ามาเฟียท้องถิ่นไม่เว้นแต่ละวัน!

 

ผลรางวัล Berlin Film Festival ครั้งที่ 72 และ “หนังไทย” ในเทศกาล

Robe of Gems     credit : Visit Films

 

หนังเรื่องนี้โดดเด่นในการนำเสนอภาพและบรรยากาศที่สวยแบบฟุ้ง ๆ ใช้ภาพ close-up เลื่อนไหลถ่ายทอดภาวะอารมณ์ของตัวละครรายต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด หลาย ๆ ฉากก็ชวนให้นึกไปถึงงานภาพของผู้กำกับหญิง Lucrecia Martel ได้เลยทีเดียว แต่เนื้อหาเรื่องราวอันโหดเหี้ยมอำมหิตที่ค่อย ๆ เผยออกมาก็นับว่าน่าสะเทือนใจ ทำให้เม็กซิโกยังดูเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนที่ไม่น่าจะเข้าไปอยู่อาศัยเลยจริง ๆ

 

หนังอีกเรื่องที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จไม่แพ้หนังที่ได้รับรางวัลใหญ่ ๆ คือหนังตลกเยอรมันสุดแสบร้ายเรื่อง Rabiye Kurnaz vs. George W. Bush ของผู้กำกับ Andreas Dresen สร้างจากเหตุการณ์จริงของ Rabiye Kurnaz มารดาเชื้อสายตุรกีที่ย้ายมาอาศัยอยู่ในเบรเมนเยอรมนี ที่ต้องต่อสู้ต่อกรกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาผ่านประธานาธิบดี George W. Bush

 

หลังจากที่ Murat บุตรชายของเธอถูกทางการสหรัฐฯ จับที่ปากีสถานหลังเหตุการณ์ 9/11 ด้วยข้อหาว่าข้องเกี่ยวกับกลุ่มตาลีบันโดยไร้หลักฐาน และถูกนำไปกักขังทำร้ายร่างกายที่ค่ายกวนทานาโม ที่คิวบา และได้พึ่งพาทนายความมนุษยชน ฟ้องร้อง George W. Bush โดยตรงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้บุตรชาย

 

ผลรางวัล Berlin Film Festival ครั้งที่ 72 และ “หนังไทย” ในเทศกาล Rabiye__ Luna Zscharnt     credit : Pandora Film

 

หนังได้รับรางวัลไปถึงสองรางวัล ได้แก่ บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากฝีมือการเขียนบทของ Laila Stieler ที่สามารถเล่าเรื่องราวการพิพาทกันทางกฎหมายของมารดานักต่อสู้ระดับชาวบ้านซึ่งทั้งตลกหรรษาและชวนให้เสียน้ำตาด้วยความซาบซึ้งสะเทือนใจได้อย่างแนบเนียน

และรางวัลการแสดงยอดเยี่ยมของนักแสดงหลักโดยไม่มีการแบ่งแยกเพศชายหญิงอีกต่อไปตามเจตนารมณ์ของเทศกาลที่ต้องการตอบสนองความเลื่อนไหลทางเพศของผู้แสดง ซึ่งได้แก่นักแสดงหญิง Melten Kaptan ในบท ‘มนุษย์แม่’ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถซื้อใจผู้ชมทุก ๆ รายให้หลงรักในความบริสุทธิ์จริงใจจนไม่เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมการเมืองของเธอได้อย่างถ้วนทั่ว จนเป็นการแสดงที่ถือว่าควรค่าแก่รางวัลไปอีกบทบาทหนึ่ง

 

ส่วนบทบาทที่ได้รับการแสดงสมทบยอดเยี่ยมแบบไม่ระบุเพศเช่นกัน ก็เป็นบทบาทของหญิงชู้ที่สุดท้ายก็กลายมาเป็นเพื่อนของผู้เป็นภรรยา ของ Laura Basuki จากอินโดนีเซีย ในหนังเรื่อง Before, Now & Then ของผู้กำกับหญิง Kamila Andini นั่นเอง

 

รางวัลพิเศษอีกรางวัลที่มอบให้กับภาพยนตร์ที่มีรายละเอียดทางศิลปะอันโดดเด่น นั่นคือรางวัลที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Outstanding Artistic Contribution ซึ่งปีนี้ก็ตกเป็นของหนังลูกผสมสารคดีและอนิเมชันเรื่อง Everything Will Be OK ของผู้กำกับ Rithy Pahn ซึ่งมอบให้ทั้งผู้กำกับเอง และ Sarit Mang

 

ผลรางวัล Berlin Film Festival ครั้งที่ 72 และ “หนังไทย” ในเทศกาล Everything Will Be OK     credit : CDP Anupheap Production

 

หนังเรื่องนี้ใช้เทคนิคภาพยนตร์ในรูปแบบหลากหลายสะท้อนภาพประวัติศาสตร์การเมืองทั้งในและนอกกัมพูชา โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ผสานกับลีลาของหนังวิทยาศาสตร์ Sci-Fi ได้อย่างแปลกใหม่น่าสนใจ

 

สไตล์งานอนิเมชันอาจไม่สามารถเรียกได้เต็มปากว่าเป็นอนิเมชันจริง ๆ เพราะ Rithy Panh กับ Sarit Mang ก็ไม่ได้สร้างตัวละคร clay animation ที่สามารถเคลื่อนไหวอะไร แต่กลับแกะตัวละครทั้งมนุษย์และสิงสาราสัตว์ต่าง ๆ อย่างหยาบ ๆ เหมือนใช้วัสดุไม้แล้วลงสี ก่อนจะปล่อยให้กล้องทำหน้าที่เคลื่อนไหวไหลเลื้อยไปตามหุ่นตุ๊กตาที่ตั้งวางแต่เพียงนิ่ง ๆ หากกลับสามารถสร้างอารมณ์ความรู้สึกให้ตัวละครได้อย่างน่าอัศจรรย์

 

กลายเป็นงานลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ในรูปแบบที่เราอาจไม่เคยเห็นมาก่อนแม้แต่จากใน The Missing Picture (2013) ของผู้กำกับเอง

 

สำหรับเทศกาลภาพยนตร์เมืองเบอร์ลินประจำปี 2022 นี้ ก็มีหนังไทยร่วมฉายด้วยถึง 2 เรื่องด้วยกัน แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในส่วนของการประกวด

 

เรื่องแรกเป็นสารคดีขนาดย่อมความยาวเพียง 65 นาที เรื่อง Scala กำกับโดย อนันตา ฐิตานัตต์ ในสาย FORUM 

 

ผลรางวัล Berlin Film Festival ครั้งที่ 72 และ “หนังไทย” ในเทศกาล Scala     credit : Bandai Dam Studio

 

โดยหนังได้บันทึกภาพช่วงเวลาหลังการปิดตัวของโรงภาพยนตร์สกาล่า เมื่อคนงานได้เข้ามารื้อถอนโคมไฟ ผ้าม่าน ลำโพง เก้าอี้นั่ง รวมถึงข้าวของอุปกรณ์อื่น ๆ สลับกับเสียงเล่าชีวิตในวัยเยาว์ของผู้กำกับเองที่เคยมาขลุกและคลุกคลีกับพนักงานโรงหนังส่วนต่าง ๆ และคำบอกเล่าของพนักงานรุ่นก่อนเก่าว่าโรงหนังในเครือนี้เคยผ่านร้อนผ่านหนาวอะไรมาบ้าง

สร้างความรู้สึกโหยหาแบบ nostalgia โดยไม่บีบคั้น ด้วยสายตาที่มองความเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่างเป็นสัจธรรม ทำให้ภาพการฌาปนกิจโรงหนังสกาล่าที่รักของใครหลาย ๆ คนเป็นเพียงเสี้ยวชีวิตอีกบทหนึ่งที่ต้องดำเนินมาถึงจุดจบแบบไม่ช้าก็เร็ว

 

หนังเล่าผ่านมุมมองและประสบการณ์ส่วนตัวของผู้กำกับในฐานะคนใน ให้รายละเอียดที่แตกต่างไปจากสารคดีเกี่ยวกับโรงหนังแห่งนี้เรื่องก่อนหน้าอย่าง The Scala (2016) ของ อาทิตย์ อัสสรัตน์ ได้อย่างน่าสนใจ

 

ส่วนหนังไทยอีกเรื่องก็เป็นหนังสั้นทดลองความยาวเพียง 5 นาทีในสาย Forum Expanded เรื่อง Parasite Family ของผู้กำกับ ประพัทธ์ จิวะรังสรรค์ ซึ่งเพิ่งจะมีหนังเรื่อง Ploy ฉายที่เทศกาลเบอร์ลินในสายเดียวกันนี้เมื่อปีกลาย

 

ผลรางวัล Berlin Film Festival ครั้งที่ 72 และ “หนังไทย” ในเทศกาล Parasite Family     credit : Prapat Jiwarangsan

 

โดย Parasite Family ก็เป็นหนังทดลองที่นำเอาฟิล์มเนกาทีฟเก่าของร้านถ่ายรูปยุคอะนาล็อก ซึ่งบรรจุรูปผู้คนทุกเพศวัย แล้วอาศัยเทคโนโลยี AI ร่วมสมัย มาปรับแต่งและบิดเบือนภาพต่าง ๆ เหล่านี้ ให้เกิดความหมายใหม่

ทั้งการตัดซอยเป็นแถบส่วนมาเรียงต่อ การแต่งดวงตาให้กะพริบได้ การสาดสีแล้วทับซ้อน การยืดขอบของภาพ การ morph ใบหน้าหนึ่งเป็นอีกใบหน้าหนึ่ง ปรับแต่งความสามัญธรรมดาของภาพถ่ายบุคคลที่เราคุ้นเคยให้กลายเป็นความหลอนจนแลดูน่าสะพรึง 

 

ซึ่งคุณประพัทธ์ เองก็ได้เชิญให้คุณ AI หรือ Artificial Intelligence มารับเครดิตในฐานะผู้กำกับร่วมด้วย

 

ถือเป็นความแปลกใหม่ที่ทำให้หนังเล็ก ๆ สั้น ๆ แต่ไอเดียบรรเจิดเรื่องนี้ไปได้ไกลถึงกลุ่มสายหนังทดลองเทศกาลเบอร์ลิน!