ตากล้องไทยคว้ารางวัลเทศกาล ROTTERDAM FILM FESTIVAL 2022 พร้อมไฮไลท์หนังเด่น

ตากล้องไทยคว้ารางวัลเทศกาล ROTTERDAM FILM FESTIVAL  2022 พร้อมไฮไลท์หนังเด่น

“สยุมภู มุกดีพร้อม” คว้ารางวัลจากเทศกาล ROTTERDAM FILM FESTIVAL 2022 ประกาศศักดาคนไทยในแวดวงภาพยนตร์โลก ที่ได้รางวัลติดไม้ติดมือกลับมากันทุกปี พร้อมไฮไลท์หนังเด่นอีกหลายเรื่องจากเทศกาล

นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ตากล้องชื่อดังชาวไทย คุณสยมภู มุกดีพร้อม เป็นผู้คว้ารางวัล Robby Müller Award จากเทศกาล Rotterdam Film Festival สำหรับผู้มีผลงานการถ่ายภาพให้วงการภาพยนตร์ร่วมสมัยยอดเยี่ยม ประจำปี 2022 นี้

 

แต่น่าเสียดายที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ ทำให้เทศกาล Rotterdam Film Festival ไม่สามารถจัดเทศกาลแบบ on site ที่เมือง Rotterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ ทำให้คุณสยมภู ต้องรับรางวัลจากคุณ Andrea Müller-Schirmer ผู้ร่วมก่อตั้งรางวัล ที่ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และร่วมสัมภาษณ์กับทางเทศกาลฯ ผ่านวีดิโอคอลแบบออนไลน์

ตากล้องไทยคว้ารางวัลเทศกาล ROTTERDAM FILM FESTIVAL  2022 พร้อมไฮไลท์หนังเด่น

 

คุณสยมภู มุกดีพร้อม มีผลงานการถ่ายภาพให้หนังทั้งไทยและหนังนานาชาติเรื่องดังมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น ดอกฟ้าในมือมาร (๒๕๔๓) สุดเสน่หา (๒๕๔๕) แสงศตวรรษ (๒๕๔๙) ลุงบุญมีระลึกชาติ (๒๕๕๓) และ Memoria (2021) ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ไตรภาค Arabian Nights (2015) ของ Miguel Gomes และ Call Me Your Name (2017) กับ Suspiria (2018) ของ Luca Guadagnino

 

โดยก่อนจะเริ่มการสนทนา ผู้คนในวงการภาพยนตร์ที่เคยร่วมงานกับคุณสยมภู มุกดีพร้อม ได้ส่งคลิปแสดงความยินดีมาอย่างคับคั่ง ทั้ง Miguel Gomes, Luca Guadagnino, Tilda Swinton และที่ขาดไม่ได้เลยคือคุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

สิ่งที่น่าสนใจในการสนทนาครั้งนี้คือ คุณสยมภู เล่าว่า หนังที่เปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองการทำงานของเขาได้จริง ๆ กลับกลายเป็นหนังไทยเล็ก ๆ ที่เขาเป็นตากล้องเรื่อง “Me…Myself ขอให้รักจงเจริญ” (๒๕๕๐) กำกับโดยพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง

โดยในการถ่ายทำเรื่องนี้ สยมภู มีโอกาสได้จ้องมองสิ่งที่เขาจะต้องถ่าย และมีเวลาในการคิดใคร่ครวญหาความหมายสำหรับทุก ๆ ภาพที่เขาจะต้องบันทึกอย่างที่เขาไม่เคยมีโอกาสทำมาก่อน ส่งผลให้การทำงานถ่ายทำในเรื่องต่อ ๆ มา คุณสยมภู จึงได้ชื่อว่าละเอียดละเมียดและใช้เวลากับแต่และฉากตอนมากขึ้น จนทำให้เขาได้ก้าวมาเป็นตากล้องมือหนึ่งอีกคนของวงการภาพยนตร์โลก

 

ทั้งนี้คุณสยมภู ก็ได้ขอบคุณทุก ๆ คนที่เขาได้ร่วมงานด้วย และเขาก็ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทุก ๆ ครั้งจากการถ่ายทำหนังเรื่องใหม่ น่าเสียดายเป็นอย่างมากที่เทศกาล Rotterdam Film Festival ปีนี้ ไม่สามารถจัดฉายภาพยนตร์ในโรงได้ โปรแกรมภาพยนตร์เรื่อง Memoria ของคุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งเป็นผลงานล่าสุดอีกเรื่องของคุณสยมภู จึงจำเป็นต้องยกเลิกไป

 

อย่างไรก็ดี ยังมีหนังสั้นฝีมือของผู้กำกับชาวไทยไปร่วมฉายในส่วนออนไลน์ของเทศกาลนี้ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 มกราคม – 6 กุมภาพันธ์ ถึงสามเรื่องด้วยกัน สองเรื่องแรก เป็นหนังสั้นทวิภาคเรื่อง Songs for Dying (2022) และ Songs for Living (2022) ของผู้กำกับ กรกฤต อรุณานนท์ชัย โดยในเรื่องหลังได้กำกับร่วมกับ Alex Gvojic

 

ตากล้องไทยคว้ารางวัลเทศกาล ROTTERDAM FILM FESTIVAL  2022 พร้อมไฮไลท์หนังเด่น

Songs for Dying

 

สำหรับเรื่องแรกก็เป็นหนังทดลองเชิงความเรียงที่ กรกฤต เล่าถึงความตายของบรรพบุรุษของเขาเอง โดยแสดงภาพ footage วีดิโอขณะที่บรรพบุรุษท่านนั้นยังมีชีวิต กระทั่งการจัดงานฌาปนกิจศพ เคียงขนานไปกับการแสดงภาพการสังหารหมู่ที่เชจูเกาหลีใต้เมื่อปี ค.ศ. 1948 กับภาพการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย กรณีคอร์รัปชันต้องสงสัยอื้อฉาวอันหลากหลาย และความตายของผู้คนต่างชนชั้นในประเทศไทย

 

ตากล้องไทยคว้ารางวัลเทศกาล ROTTERDAM FILM FESTIVAL  2022 พร้อมไฮไลท์หนังเด่น

Song for Living

 

ส่วนเรื่องหลัง กรกฤต กับ Alex Gvojic ก็หันมาถ่ายทอดบรรยากาศแบบนามธรรมของพิธีกรรมและตำนานเมืองตำนานท้องถิ่นที่ต่าง ๆ ผ่านภาพวิหคอัคคีและเสียงบรรยายอันโหยหวนอ่อนแรงแถลงปรัชญาชีวิตตามด้วยเสียงเพลงอวลอารมณ์ หนังมีภาพตัวละครประหลาดยากระบุที่มาอยู่มากมาย สร้างความหลุดโลกด้วยการแต่งหน้าและเครื่องแต่งกายจนกลายเป็นงานทดลองแสนหลอนที่ให้รสชาติคล้ายหนังสยองขวัญไร้คำอธิบาย

 

ส่วนหนังสั้นไทยอีกเรื่องเป็นผลงานของนักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่อง ‘อนันตวัฏ’ หรือ Crystallised Memory ของ ชนม์ชนก ธนัสทีปต์วงษ์ ที่เพิ่งจะเข้ารอบการประกวดสายช้างเผือกสำหรับหนังนักศึกษาจากเทศกาลภาพยนตร์สั้นประเทศไทย ครั้งที่ 25 ไปเมื่อปีกลาย ซึ่งโดดเด่นด้วยบรรยากาศชนบทพื้นบ้านและการแต่งกายของตัวละครในแบบไทย ๆ

 

ตากล้องไทยคว้ารางวัลเทศกาล ROTTERDAM FILM FESTIVAL  2022 พร้อมไฮไลท์หนังเด่น

เล่าเรื่องราวการเวียนว่ายกลายรูปอันแปลกประหลาดมหัศจรรย์ที่อิงโยงกับปรัชญาพุทธศาสนา เมื่อภิกษุรูปหนึ่งหายตัวไปจากวัด บุตรชายของเขาจึงต้องตระเวนออกตามหาบริเวณโดยรอบ พร้อม ๆ กับการก่อตัวของผลึกแก้วสีที่รังนกใหญ่ซึ่งห้อยอยู่ใต้ถุนเรือน และการปรากฏตัวของหญิงสาวผู้หอบกับข้าวปิ่นโตมารับประทาน และการตายของฝูงมด นำไปสู่บทอัศจรรย์กลางดงระหว่างชายหนุ่มและหญิงสาวในสภาพเปลือยเปล่า ราวกำลังถ่ายทอดแฝงนัยถึงวัฏสังสารแห่งการเวียนว่ายตายเกิด

 

หนังมีบรรยากาศและเนื้อหาเรื่องราวเฉพาะถิ่นที่โดดเด่น แต่ส่วนที่ยังเป็นปัญหาคือการแสดงของนักแสดงหลักที่ติดจะแห้งแล้งไร้สีสันบุคลิกแม้ว่าทั้งคู่จะแสดงสปิริตทุ่มเล่นฉากเลิฟซีนในหนังกันอย่างกล้าหาญ

 

ตากล้องไทยคว้ารางวัลเทศกาล ROTTERDAM FILM FESTIVAL  2022 พร้อมไฮไลท์หนังเด่น ตากล้องไทยคว้ารางวัลเทศกาล ROTTERDAM FILM FESTIVAL  2022 พร้อมไฮไลท์หนังเด่น Crystallised Memory

 

นอกจากนี้ยังมีหนังนานาชาติเรื่องเด่น ๆ ที่เคยฉายรอบปฐมทัศน์จากเทศกาลที่อื่น ๆ มาแล้วเมื่อปีกลาย มาฉายกันให้ดูในเทศกาลครั้งนี้อีกด้วย โดยเรื่องที่ได้รับความสนใจมากก็ได้แก่ France ของผู้กำกับฝรั่งเศส Bruno Dumont ซึ่งเคยประกวดชิงรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์รอบเดียวกับ Memoria ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

 

และต้องถือเป็นงานแสนเซอร์ไพรส์ เพราะผู้กำกับ Bruno Dumont ขึ้นชื่อว่าเป็นคนทำหนังศิลปะที่เนิบช้าทว่าหนักแน่นและจริงจังในการปอกเปลือกประจานสันดานดำมืดทั้งหลายของมนุษย์ แต่คราวนี้เขาหันมาทำหนังหนังตลกรั่วเสียดสีวงการสื่อผ่านตัวละครหลักเป็นนักข่าวหญิงระดับเซเล็บนาม France de Meurs (นำแสดงโดย Léa Seydoux) ซึ่งเธอใช้บทบาทการเป็นผู้สื่อข่าวทำทุกวิถีทางในการสร้างกระแส แม้ว่าจะต้องจัดฉากความรุนแรงของสงครามในตะวันออกกลางกับทีมถ่ายหนัง หรือกระทั่งการอพยพลี้ภัยข้ามมหาสมุทรกันทางเรือ เพื่อกระตุ้นเรตติ้งข่าว

 

แต่วันหนึ่งเธอกลับโป๊ะแตกเมื่อเพื่อนร่วมงานดันเผลอเปิดเสียงไมโครโฟนตอนที่เธอกำลังเม้าท์มอยซุบซิบ ‘ความปลอม’ เบื้องหลัง ทำให้ชีวิตของ France de Meurs ดำดิ่งสู่หายนะ พร้อม ๆ กับความสูญเสียครอบครัวที่เข้ามาถาโถมเธอในเวลาเดียวกัน

 

ตากล้องไทยคว้ารางวัลเทศกาล ROTTERDAM FILM FESTIVAL  2022 พร้อมไฮไลท์หนังเด่น

France

หนังดูจะฉูดฉาดและมีสีสันผิดหูและผิดตาจากสไตล์หนังแบบเดิม ๆ ของ Bruno Dumont เป็นอย่างมาก แต่ก็ยังกำกับออกมาได้โฉบเฉี่ยวเรียบหรูน่าดูชม จนเป็นเรื่องน่ายินดีที่จะได้เห็นผู้กำกับฉีกแนวทางตัวเองหันมาทำอะไรใหม่ ๆ แบบนี้บ้าง

 

อีกเรื่องที่เซอร์ไพรส์พอ ๆ กันคือหนังอิตาเลียน-เยอรมันเรื่อง Freaks Out ของผู้กำกับ Gabriele Mainetti ที่หลาย ๆ คนเมื่อเห็นหน้าหนังภาพประกอบหนังตอนได้เข้าประกวดที่เทศกาลเวนิสเมื่อปีกลายแล้วก็อาจจะสงสัยว่าหนังเกี่ยวกับคณะละครสัตว์ที่แลดูเด๋อ ๆ เชย ๆ เรื่องนี้มีดีอะไรจึงได้เข้าชิงรางวัลสิงโตทองคำเหมือนเรื่องอื่น ๆ

 

แต่พอได้ดูแล้วจะรู้ทันทีว่าหนังไม่ได้เล่าแค่เรื่องราวของนักแสดงในคณะละครสัตว์ที่กำลังตกยากในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองแบบธรรมดา ๆ ทว่าได้ผสมผสานทั้งลีลาตลก farce เสียดสีสงครามและการเมือง และเรื่องราวอภินิหารวีรบุรุษแบบจักรวาล Marvel เข้าด้วยกัน

 

ตากล้องไทยคว้ารางวัลเทศกาล ROTTERDAM FILM FESTIVAL  2022 พร้อมไฮไลท์หนังเด่น

Freaks Out

เมื่อผู้พันแห่งทัพนาซีเยอรมันนาม Franz กำลังตามล่าคณะละครสัตว์ผู้มีอภินิหารเพื่อนำอำนาจวิเศษเหล่านั้นมาใช้ในการสงคราม คณะละครสัตว์ยิวจากอิสราเอลซึ่งประกอบไปด้วยโฉมงามหิ่งห้อยสร้างกระแสไฟฟ้าปล่อยแสงหลอดไฟได้ด้วยตัวเอง มนุษย์หมาป่าจอมพลัง ยอดมนุษย์ทั่งแม่เหล็กดูด และชายที่พูดคุยสื่อสารกับเหล่าแมลงได้ จึงถูกไล่ล่าจับกุม เกิดเป็นการต่อสู้โดยใช้พลังอภินิหารเหล่านี้ในการประมือกัน!

 

หนังสนุกอย่างเอะอะมะเทิ่งได้แบบเหลือเชื่อ และที่สำคัญคือถากถางความบ้าอำนาจของกองกำลังนาซีจนไม่มีความดีหลงเหลือ กลายเป็นหนังที่สนุกผิดคาดไปจากหน้าหนังอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

 

ตากล้องไทยคว้ารางวัลเทศกาล ROTTERDAM FILM FESTIVAL  2022 พร้อมไฮไลท์หนังเด่น

 

ปิดท้ายกันด้วยหนังนานาชาติที่คว้ารางวัลใหญ่ Tiger Award ประจำปีนี้ไป ได้แก่หนังอิสระเล็ก ๆ จากประเทศปารากวัยเรื่อง EAMI ของผู้กำกับหญิง Paz Encina ผู้เคยมีผลงานเรื่อง Paraguayan Hammock (2006) ร่วมโครงการภาพยนตร์ชุด New Crown Hope Project กับ ‘แสงศตวรรษ’ ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล มาก่อนหน้านี้

 

มาคราวนี้เธอหันไปเล่าภาพชีวิตชนเผ่าท้องถิ่น Ayoreo ในชาโคของปารากวัย ซึ่งยังใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติแบบดั้งเดิมไร้เค้ารอยของเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ปัญหาใหญ่คือพวกเขากำลังจะไม่มีที่อยู่จากการรุกคืบยึดผืนป่าของเหล่าชนศิวิไลซ์

 

ตากล้องไทยคว้ารางวัลเทศกาล ROTTERDAM FILM FESTIVAL  2022 พร้อมไฮไลท์หนังเด่น

EAMI

ผู้กำกับ Paz Encina จึงสร้างเรื่องให้สาวน้อยในหมู่บ้านคนหนึ่งเป็นเทพีแห่งหมู่วิหคท่องเที่ยวไปในป่าดิบรกชัฏที่ไม่น่าจะมีมนุษย์รายไหนหาญกล้ากล้ำกราย หนังเล่าเรื่องราวอย่างเรียบง่ายเน้นการถ่ายทอดบรรยากาศผืนป่าและอาณาบริเวณอยู่อาศัยของชาว Ayoreo อย่างไม่ปรุงแต่ง

 

แสดงภาพชีวิตที่อาจจะไม่ได้เห็นอีกต่อไปหากมนุษย์จะใจร้ายใจดำกับธรรมชาติอย่างไม่มีที่สิ้นสุดกันเช่นนี้!