"พระเครื่อง" (พระสติ) จากพลาสติกรีไซเคิล ทางเลือกใหม่"สายบุญ"

"พระเครื่อง" (พระสติ) จากพลาสติกรีไซเคิล ทางเลือกใหม่"สายบุญ"

ไม่ใช่ไอเดียที่ทำเล่นๆ "พระเครื่อง"(พระสติ)จาก"พลาสติกรีไซเคิล" เปิดตัวคร้้งแรกในงาน "Bangkok Design Week 2022" หลังจากนั้น จะทำหน้าที่ต่อไปในสายบุญ และสายรักษ์โลก...ลองอ่านไอเดียของคนต้นคิด

ลองนึกเล่นๆ เมื่อพลาสติกใช้แล้วทิ้ง สร้างภาระให้โลกไม่รู้เท่าไร ถ้านำมารีไซเคิลใช้ใหม่ จะทำอะไรได้บ้าง

เพื่อไม่ให้พลาสติกถูกทิ้งเป็นขยะอีกครั้ง ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ดีไซน์ไดเรกเตอร์ บริษัทนิวอาไรวา จำกัด ผู้ผลิตสินค้ารักษ์โลกแบรนด์ Qualy

คนต้นคิดกับการออกแบบและสร้างแพลตฟอร์มสายบุญรูปแบบใหม่ ผ้าป่าดีไซน์วีค ในงาน Bangkok Design Week 2022 ลองนำพลาสติกรีไซเคิลหลากหลายรูปแบบ มาทำเป็นพระเครื่อง ด้านหลังเขียนว่า พระสติ (ลองอ่านออกเสียง ก็คือพลาสติก)

และแน่นอนเมื่อพลาสติกรีไซเคิลถูกแปลงเป็น พระสติ(พระเครื่อง)ก็ไม่มีใครกล้าโยนทิ้งเป็นขยะ

“ในเชิงวัฒนธรรม ถ้าพูดถึงการทอดผ้าป่า เมื่อมีการแจกซองทำบุญ หากไม่รู้จักกัน คนรุ่นใหม่ก็ไม่คิดจะทำบุญ และถ้าเชิญมาเป็นประธานกรรมการผ้าป่า ก็ไม่มีใครเอา ไม่เข้าใจ” ธีรชัย เล่าถึงทัศนะคนรุ่นใหม่ที่มีต่อพุทธศาสนา และนั่นทำให้เขาคิดแพลตฟอร์มรูปแบบใหม่ผ่านเว็บไซต์ www.attanona.com

สร้างแพลตฟอร์มการบริจาคที่โปร่งใส

แพลตฟอร์มการทำบุญที่กลุ่มของเขาคิดขึ้น ผ่านออนไลน์สามารถเลือกสถานที่บริจาค ไม่ต้องผ่านคนกลาง ส่วนพระเครื่องจากพลาสติกรีไซเคิล เป็นของที่ระลึกให้ผู้บริจาคในงานBangkok Design Week 2022 ชั้น 5 (ผ้าป่าดีไซน์วีค) ซึ่งแนวคิดพระสติ ไม่ได้จบแค่นั้น

การทำบุญช่วยเหลือกัน ธีรชัย มองว่า เป็นเรื่องที่ดี แต่แพลตฟอร์มการให้ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย มีความโปร่งใส รู้ได้ว่าเงินที่เราทำบุญไปถึงแหล่งที่บริจาค และการบริจาคไม่จำเป็นต้องเป็นวัดอย่างเดียว อาจเป็นมูลนิธิหรือคนที่ต้องการความช่วยเหลือ

\"พระเครื่อง\" (พระสติ) จากพลาสติกรีไซเคิล ทางเลือกใหม่\"สายบุญ\"

พระเครื่องจากพลาสติกรีไซเคิล

 

\"พระเครื่อง\" (พระสติ) จากพลาสติกรีไซเคิล ทางเลือกใหม่\"สายบุญ\"

“ผมอยากทำให้แพลตฟอร์มแบบนี้ มีทางเลือกเยอะๆ ผมใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้เกิดความโปร่งใสในการบริจาค ไม่จำเป็นต้องบริจาคเป็นเงินสด บริจาคออนไลน์ไปที่วัดหรือมูลนิธิได้เลย

บริจาคตอนไหนก็ได้ เหมือนการชอปปิ้งออนไลน์ เพื่อจะได้ถึงมือคนที่ต้องการความช่วยเหลือ คนบริจาคทำได้ตลอดเวลา ไม่ว่าในวาระวันเกิด วันที่รู้สึกไม่สบายใจอยากทำบุญ ไม่ต้องรอเทศกาล”

\"พระเครื่อง\" (พระสติ) จากพลาสติกรีไซเคิล ทางเลือกใหม่\"สายบุญ\"

ผ้าป่าดีไซน์วีค

ในงาน BKKDW 2022 ผ้าป่าดีไซน์วีค ชั้น 5 ธีรชัย ผู้ออกแบบจากแบรนด์ Qualy ร่วมกับ เพื่อนๆ dots design studio เลือกแหล่งรับบริจาคไว้ 3 แห่งคือ วัดโบสถ์วรดิตถ์ วัดที่ดูแลเด็กกำพร้ากว่าร้อยคน ,มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ,มูลนิธิแพทย์ชนบท ช่วยโรงพยาบาลที่ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์

“เพื่อให้คนรุ่นใหม่สนุกกับการทำบุญ ต่อไปรูปแบบแอพฯ เมื่อทำบุญแล้วจะมีรูปคนทำบุญระบุจำนวนเงินที่ทำบุญ ลอยขึ้นหน้าจอเหมือนขึ้นสวรรค์ สามารถถ่ายรูปโชว์เพื่อนได้ว่าทำบุญแล้ว ในงานดังกล่าวยังรับบริจาคขยะพลาสติก ที่ชั้น 5 หน้าร้านกาแฟ และในเว็บ attanona.com มียอดบริจาคชัดเจน

\"พระเครื่อง\" (พระสติ) จากพลาสติกรีไซเคิล ทางเลือกใหม่\"สายบุญ\"

ในส่วนของพระเครื่องจากพลาสติกรีไซเคิล  ธีรชัย เชื่อมโยงถึงแนวคิดทางพุทธศาสนาเรื่อง การเวียน ว่าย ตาย เกิด โดยยกตัวอย่างว่า สมัยก่อนจีวรพระต้องเอามาจากผ้าห่อศพที่ไม่ใช้แล้ว พระสงฆ์นำมาซัก ย้อม ตัดเย็บ ใช้จนถึงที่สุด 

นั่นเป็นการอัพไซเคิล (Upcycle) คือการนำขยะ หรือวัสดุที่ไม่ได้ใช้แล้วมาผลิตให้เป็นของใช้ที่มีมูลค่าและใช้ประโยชน์ได้

"คนสมัยโบราณนำผ้าห่อศพมาเป็นปัจจัยห่อตัว หรือญาติโยมเห็นว่าพระลำบาก ก็แขวนผ้าไว้ตามป่า เพื่อให้พระนำไปใช้ ในยุคนั้นมีการรีไซเคิลแล้ว

แนวคิดการเวียน ว่าย ตาย เกิด ในพุทธศาสนาก็เหมือนพลาสติกที่ก่อนหน้านี้เป็นฟอลซิล หรือน้ำมัน แล้วหมุนเวียนมาเป็นพลาสติก และเป็นผลิตภัณฑ์

ถ้าทิ้งไม่ดีก็ไปอยู่ในบ่อขยะ เหมือนมีกรรมทำบาปสร้างมลภาวะ ถ้ามีการคัดแยกขยะ ก็เหมือนการเกิดใหม่ อัพไซเคิลเป็นอะไรบางอย่างที่ดีขึ้น"

\"พระเครื่อง\" (พระสติ) จากพลาสติกรีไซเคิล ทางเลือกใหม่\"สายบุญ\"

พระเครื่องเหล่านี้ ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล หลายประเภท ทั้งฝาขวด ถุงพลาสติก ถุงฟอยด์ ถุงยืด กล่องนม ฯลฯ เมื่อเป็นพระเครื่องแล้ว คนก็ไม่กล้าเอาไปทิ้งเป็นขยะ เก็บไว้อย่างดี ธีรชัยนำมาเชื่อมโยงให้เห็นว่า 

“หลายคนอาจมองว่า เราใช้วัสดุไม่มีค่ามาทำพระ ก็จะมาสู่คอนเซ็ปต์ความเท่าเทียม ในอินเดียมีระบบชั้นวรรณะ แต่เมื่อใดบวชเข้ามาในพุทธศาสนา พระสงฆ์ไม่ว่าจนหรือรวย ดีหรือไม่ดี ก็จะมีความเท่าเทียมกัน 

ผมเองก็ศึกษาเรื่องพุทธศาสนาบ้าง ไม่ลึกซึ้ง ผมมองในมุมปรัชญาแนวคิดมากกว่าอภินิหารหรือของขลัง"

นั่นจึงเป็นที่มาของงานทดลองครั้งแรกที่เอาพลาสติกรีไซเคิลมาทำพระเครื่อง ในงาน BKKDW2022 ธีรชัยรู้สึกแปลกใจที่วัยรุ่นให้ความสนใจเรื่องการให้และการบริจาค

"หลังจากงานนี้ คงทำเรื่องนี้ต่อไป เพื่อทำให้เกิดสังคมแห่งการช่วยเหลือ ตอนนี้โมเดลยังไม่ชัด เพราะเราไม่ใช่แพลตฟอร์มเชิงพาณิชย์ ในส่วนพระเครื่อง อาจขยายไปสู่ความร่วมมือกับวัดต่างๆ มีผู้ว่าฯ บางคนสนใจอยากทำพระเครื่องจากพลาสติกรีไซเคิลในจังหวัดของพวกเขา

ต่อไปผมคิดว่าจะเอาขยะพลาสติกในวัดมาทำพระเครื่อง แล้วให้พระปลุกเสก ทำกิจการสายบุญต่อ 

ผ้าป่าดีไซน์วีค เป็นแค่ไอเดียเริ่มต้น แต่พระสติ หรือพลาสติก ทำเพื่อเตือนเรื่องการบริโภค โฆษณาทำให้คนอยากได้ อยากมี กู้เงินจ่ายบัตรเครดิต เกิดบริโภคอย่างไม่มีสติ รวมถึงทิ้งขยะมากมาย จนเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม"