"ธีรวิน ภูดารัตน์" แห่งเพจ "ควายดำฯ" บอกได้..ทำไม "หมูแพง" ข้าวราคาตก ฯลฯ

"ธีรวิน ภูดารัตน์" แห่งเพจ "ควายดำฯ" บอกได้..ทำไม "หมูแพง" ข้าวราคาตก ฯลฯ

ทำไม "หมูแพง" ข้าวราคาตก น้ำมันก็แพง ฯลฯ คนกรุงอยู่ปลายน้ำไม่อาจเข้าใจถึงปัญหา หาก "ธีรวิน ภูดารัตน์" แห่งเพจ "ควายดำทำเกษตร" อธิบายได้

ผู้ก่อตั้งเพจเกี่ยวกับการเกษตรแต่ไม่ได้เป็นเกษตรกร ที่มาพร้อมสโลแกนเหมือนยียวนแต่จริงใจ อาทิ องค์กรแสวงหาผลกำไรจากลูกเพจ, อย่าเพิ่งทำเกษตรถ้ายังไม่ได้ดูงานนี้ ฯลฯ และวลีเด็ดที่ใครเห็นแล้วที่ทั้งขำปนหมั่นไส้คือ

ควายดำทำเกษตร เพจเกษตรอันดับหนึ่งของจักรวาล”

 

\"ธีรวิน ภูดารัตน์\" แห่งเพจ \"ควายดำฯ\" บอกได้..ทำไม \"หมูแพง\" ข้าวราคาตก ฯลฯ      จัดเสวนาให้ความรู้ด้านการเกษตร

ชวนคุยกับ...ธีรวิน ภูดารัตน์ เพจให้ความรู้เกี่ยวกับการเกษตร อธิบายเรื่องปัญหาการเกษตรทั่วจักรวาลเมืองไทย อัพเดทข่าวการเกษตร จัดเสวนาให้ความรู้การเกษตร จนถึงไลฟ์สด ฯลฯ ปัจจุบันมียอดผู้ติดตามร่วม 70,000 คน แต่ก็โดน “ทัวร์ลง” เป็นประจำ ผู้ก่อตั้งเพจ "ควายดำทำเกษตร" เล่าถึงตัวเองว่า

ทำไมถึงก่อตั้งเพจ “ควายดำทำเกษตร”

“เริ่มทำเพจควายดำทำเกษตร ตอนช่วงปลายปี 2559 ตอนนี้ก็ 5 ปีแล้วครับ ตอนเริ่มทำนั้นเกิดจากช่วงนั้นมีดราม่าเรื่อง “ราคาข้าวตกต่ำ” แล้วเอาเฟสส่วนตัวไปตอบ แต่เพราะภาษาที่เราพิมพ์และเราทำงานอยู่ในวงการเกษตร คือเป็นเซลล์ขายเคมีเกษตร ขายปุ๋ย เลยมีข้อมูลจากการลงพื้นที่จริง ๆ เพราะต้องลงไปทำงานกับเกษตรกรแทบทุกวัน ทีนี้เวลาไปตอบตามเพจ บางทีเจอลูกค้าแล้วมันดูไม่ดี เลยคิดว่ามาทำเพจดีกว่าเพราะไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นคนทำ ไม่มีผลกระทบกับงานประจำที่ทำอยู่ด้วย

จุดประสงค์ที่ทำเพจ สมัยที่ทำใหม่ ๆ คือ เอามาไว้เป็นตัวบังเฟซจริงเวลาไปตอบตามข่าวในเพจต่าง ๆ และอีกเหตุผลคือถ้ามองกลับไปยุค 5 ปีที่แล้ว สื่อโซเชียลที่จะมาเขียนเรื่องจริงของอาชีพเกษตรจริง ๆ ไม่ค่อยมีครับ มีแต่พวกเพจเกษตรขายฝัน ทำแล้วรวย เพจเกษตรโลกสวย ซึ่งเวลาที่ผมอ่านเพจพวกนี้แล้วรู้สึกว่า ทำไมมันมีแต่เรื่องไม่จริง ไม่เหมือนแบบที่เราเจอเกษตรกรทุกวัน เลยเริ่มเขียนอีกมุมหนึ่งของอาชีพเกษตร ทั้งปัญหา และความลำบากของอาชีพเกษตรกร ให้คนในโซเชียลได้อ่านกันว่า จริง ๆ แล้วอาชีพเกษตรกรมันไม่ได้สวยงามแบบที่พวกสื่อโซเชียลเขียนกัน”

\"ธีรวิน ภูดารัตน์\" แห่งเพจ \"ควายดำฯ\" บอกได้..ทำไม \"หมูแพง\" ข้าวราคาตก ฯลฯ    ไลฟ์สดก็มี

ไม่ได้ทำเกษตรแต่มีข้อมูลอยู่

“ครับ ส่วนตัวผมไม่ได้ทำอาชีพเกษตรกร ทำงานเป็นเซลล์ขายปุ๋ย ขายยา เลยได้ไปคลุกคลีกับเกษตรกรทุกวัน เจอเกษตรกรมากกว่าหน้าลูกเมียอีก ตอนนี้ก็ทำธุรกิจขายเคมีเกษตรครับ”

\"ธีรวิน ภูดารัตน์\" แห่งเพจ \"ควายดำฯ\" บอกได้..ทำไม \"หมูแพง\" ข้าวราคาตก ฯลฯ

    โลโก้ประจำเพจ

มีสมาชิกเข้าร่วมมากน้อยแค่ไหน และได้ประโยชน์อะไรบ้าง

“ตอนนี้มียอดผู้ติดตาม 70,000 กว่าคน หน้าที่ของเพจ “ควายดำทำเกษตร” หลัก ๆ คือเขียนเรื่องวิชาการเกษตรที่เข้าใจยาก ให้เกษตรกรอ่านง่าย ๆ และเป็นกระบอกเสียงให้เกษตรกรที่เดือดร้อน เขียนแก้ข่าวในมุมของเกษตรกร เวลามีข่าวตามโซเชียลต่าง ๆ สิ่งที่เกษตรกรจะได้จากการอ่านเพจควายดำทำเกษตร คือ ได้อ่านสื่อที่เป็นเหมือนตัวแทนพวกเค้าในการบอกเรื่องราวต่าง ๆ และได้ความรู้เรื่องการทำเกษตร เช่น เรื่องสารเคมี เรื่องปุ๋ย เรื่องวิชาการต่าง ๆ”

ทุกวันนี้ เกษตรกร (ตัวจริง) หาข้อมูลจากสื่อโซเชียลแค่ไหน

“หาข้อมูลเยอะครับ และมีเกษตรกรจริง ๆ มาเล่นโซเชียลเยอะขึ้นด้วย จากที่สังเกตในระยะ 2-3 ปีหลัง เริ่มมีตัวจริงมาเล่นมากขึ้น เวลามีประเด็นที่ไม่จริงหรือเรื่องที่ได้รับผลกระทบกับเขาจะเห็นมาคอมเมนต์ตามเพจต่าง ๆ เยอะขึ้นครับ

เช่น เรื่อง 3 สาร (พาราควอต, คลอร์ไพริฟอส, ไกลโพเซต) ที่เกษตรกรได้รับผลกระทบ เพจที่เขียนเรื่องนี้แล้วมีข้อมูลไม่จริง จะได้รับทัวร์ลงบ่อย ๆ”

\"ธีรวิน ภูดารัตน์\" แห่งเพจ \"ควายดำฯ\" บอกได้..ทำไม \"หมูแพง\" ข้าวราคาตก ฯลฯ สื่อโซเชียลให้ความรู้จริงหรือไม่ และจะพัฒนาต่อยอดได้อย่างไร

“จริงก็มี มั่วก็เยอะครับ แต่เพจ ควายดำทำเกษตร ต้องบอกว่าโชคดีที่มีพี่ ๆ นักวิชาการ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องมาช่วยดูเนื้อหา ถ้าตรงไหนผิดพลาดจะมีพวกพี่ ๆ มาบอก เราก็แก้ไข และการจะเขียนเรื่องอะไรแต่ละอย่างของเพจควายดำทำเกษตร ต้องเป็นเรื่องจริง และไม่มั่ว เพื่อให้เกษตรกรและผู้ที่อ่านเพจควายดำทำเกษตร ได้รับข้อมูลจริง ๆ และเอาใช้งานได้จริงเพื่อเอาไปพัฒนาทำเกษตรของตัวเอง เพราะฉะนั้นบอกได้เลยว่า เวลาที่อ่านเพจควายดำทำเกษตร เกษตรกรสามารถเอาไปต่อยอดใช้งานได้จริงครับ”

ทำไมปัญหาอาชีพเกษตร แก้ไม่ตรงจุดเสียที (ปุ๋ย, ราคาข้าว, ราคาหมู) อยากแนะแนวทางอย่างไร

“ความเห็นส่วนตัวนะครับ ผมว่ารัฐบาลไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย ไม่จริงจังกับการแก้ปัญหาให้เกษตรกร คือเหมือนเอาเกษตรกรมาเป็นฐานเสียงแล้วเลี้ยงไข้ไปเรื่อย ๆ ผมไม่เคยเห็นว่ามีพรรคการเมือง หรือรัฐบาลไหนที่จะวางรากฐานการแก้ปัญหาให้อาชีพเกษตรกรจริง ๆ ลองดูได้จากนโยบายที่ออกมาแต่ละพรรคการเมืองได้เลย มีแต่ เอาเงินมาล่อ เอาราคามาล่อ ทำนโยบายแบบนี้มาโดยตลอด ผมไม่เห็นว่าจะวางนโยบายให้เกษตรกรยืนได้ด้วยตัวเอง ทำเกษตรแล้วเลี้ยงชีพได้เองโดยไม่ต้องพึ่งภาครัฐ เกษตรกรมีปัญหาไม่ว่าจะเป็นราคาผลผลิตตกต่ำ รัฐก็เอาเงินอุด เอาเงินอุ้มทุกรอบ คือมันง่าย เพราะเอาเงินไปปิดปากก็จบ ปีหน้าว่ากันใหม่ วนไปวนมาแบบนี้ทุกปีไม่ว่าจะกี่รัฐบาล 

ถ้าแนะนำก็แบบที่เขียนลงเพจบ่อย ๆ คือ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงก่อน ปัญหาอื่น ๆ จะเบาลง เพราะตราบใดที่เกษตรกรยังต้องลุ้นทุกปีว่าปีนี้ขายข้าวจะได้เงินเท่าไหร่ จะพอใช้หนี้ไหม จะเหลือพอต่อทุนไม่ต้องไปกู้ ธกส. มั้ย ถ้ายังแก้เรื่องนี้ไม่ได้ จะไปพัฒนาเรื่องอื่นต่อก็ลำบาก”

ทำไมเกษตรกรยังยากจน มีวิธีไหนที่จะยกระดับเกษตรกร เหมือนชาวนาในญี่ปุ่น ฟังมาว่าเกษตรกรญี่ปุ่นไม่จน จริงหรือไม่

“ที่ยากจนเพราะเขาขายผลผลิตไม่พอกับรายจ่าย และผู้บริโภคเองก็ให้ค่ากับสินค้าเกษตรเราน้อยมาก ๆ ครับ ลองดู ญี่ปุ่น เกษตรกรทำอะไรแต่ละอย่างขายได้ราคาแพง ๆ ทั้งนั้น ผู้บริโภคเขาพร้อมจ่าย พร้อมซื้อ และให้คุณค่ากับอาชีพเกษตรกรมาก ๆ บวกกับภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับเกษตรกรและมีระบบการจัดการที่ดี ทำไมเกษตรกรญี่ปุ่นจะไม่รวยล่ะครับ

แต่บ้านเรา ลองดูได้เลย ถ้าช่วงไหนผักราคาแพง คนด่าทั้งประเทศ ทุเรียนราคาแพงหน่อย คนแช่งให้ทุเรียนราคา 3 โล 100 เอาแค่ทัศนคติผู้บริโภคก็ต่างกันมากแล้วครับ ไม่รวมกับปริมาณผลผลิตของบ้านเราที่ทำออกมาเยอะจนล้น จนเกินความต้องการบริโภคในประเทศ ยังดีที่บ้านเรายังมีการส่งออกผลไม้ และสินค้าเกษตรไปต่างประเทศได้ ไม่งั้นเกษตรกรบ้านเราคงจนกว่านี้แน่นอนครับ”

\"ธีรวิน ภูดารัตน์\" แห่งเพจ \"ควายดำฯ\" บอกได้..ทำไม \"หมูแพง\" ข้าวราคาตก ฯลฯ ปัญหาที่หมุนวนไม่มีวันจบแบบนี้มีแนวทางแก้ไขมั้ย

“ถ้าอยากยกระดับอาชีพเกษตรกร ผมมองว่าภาครัฐต้องให้ความสำคัญเรื่องของการตลาดและคุยกับเกษตรกรอย่างตรงไปตรงมา มากกว่าเอาเงินมาอุดหนุน เคยให้สัมภาษณ์หลายที่ว่า พาณิชย์กับเกษตร ต้องมาคุยกันทุกปีว่าปีนี้ตลาดส่งออกของเรามีที่ไหนบ้าง ต้องการอะไร แล้วมาคุยกับเกษตรกรว่า เออ..ปีนี้นะเทรนด์ผู้บริโภค ตลาด ต้องการแบบนี้ แล้วมาจัดโซนนิ่งทำ เพื่อไม่ให้ปริมาณผลผลิตล้นตลาด ภาครัฐไปเจรจาขายมาได้ เกษตรกรผลิตตามความต้องการจริง ๆ ของตลาด ได้ราคาผลผลิตดี ๆ เกษตรกรอยู่ได้ ภาครัฐก็สบายไม่ต้องมาอุดหนุน มาอุ้มทุกปีแบบนี้ แต่ที่ผ่านมาเอาพวกเขาเคยคุยกันบ้างไหม ผมยังไม่รู้เลย มีปัญหาทีก็โทษกันไปมา เป็นแบบนี้ตลอด”

เกษตรอินทรีย์ในเมืองไทยทำได้หรือไม่ หรืออย่างน้อยสัก 50%

“ตอบตรง ๆ ว่า ไม่ได้ครับ และไม่มีประเทศไหนทำได้ด้วย ประเทศศรีลังกาประกาศตัวเองเป็นประเทศเกษตรปลอดสารเคมี รัฐอัสสัมของประเทศอินเดียก็เคยประกาศเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ ตอนนี้เจ๊งยับ ผลผลิตไม่พอเลี้ยงคนในประเทศ จนรัฐบาลต้องให้ยกเลิกการห้ามใช้สารเคมี แล้วให้กลับมาใช้ เพราะการทำเกษตรอินทรีย์ถ้าทำปริมาณมาก ๆ มันไม่รอดแน่นอน จะไปสู้กับโรค แมลงศัตรูพืช ยังไงไหว เพราะพวกน้ำหมัก สารชีวภัณฑ์ มันทำได้แค่พื้นที่เล็ก ๆ ให้ทำเอาปริมาณเยอะ ๆ มันทำไม่รอดครับ เจ๊งมาไม่รู้กี่คนแล้ว

สิ่งที่ภาครัฐควรส่งเสริมคือ ทำความเข้าใจกับผู้บริโภคว่า เกษตรปลอดภัย คือตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะสามารถทำเกษตรได้พอเลี้ยงคนในประเทศจนถึงส่งออกสร้างรายได้ให้ประเทศ และควร เลิกสร้างความกลัวในการใช้สารเคมีในการเกษตรให้ประชาชนกลัวได้แล้ว เกษตรปลอดภัย ได้รับการยอมรับทั่วโลก การใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ได้มีอันตรายขนาดทำให้คนกินผักแล้วชักตายไปเลยเมื่อไหร่ ถ้าเราควบคุมการใช้ และให้ความรู้กับเกษตรกรอย่างถูกต้องในการใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ย จะดีกว่าครับ

และถ้าอยากส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ก็ทำไป แต่ไม่ควรไปสร้างความกลัวให้ผู้บริโภคครับ อันนี้คือสิ่งที่อยากจะบอกกับผู้บริโภคด้วยเช่นกันครับ”

หรือภาครัฐทำปุ๋ยอินทรีย์ขาย อย่างสมัยก่อนคิดโครงการ “ปุ๋ยแห่งชาติ” เพื่อลดต้นทุนให้เกษตรกร 

“ได้ครับ แต่มันทำ 100% ไม่ได้ เพราะการทำเกษตรอินทรีย์แปลงใหญ่ ๆ การควบคุมโรคและแมลง รวมถึงการให้ธาตุอาหารพืช มันทำไม่ได้ ผลผลิตที่ได้ยังไงสู้เกษตรเคมีไม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเรามองอย่างเป็นกลางว่าภาครัฐ ถ้าจะส่งเสริมไม่ควรอนุมัติรวมกันแล้วให้ทุกคนทำเกษตรอินทรีย์หมด อย่างรัฐอัสสัมของอินเดียและศรีลังกา เพราะทำแล้วผลผลิตไม่พอเลี้ยงประชากรในประเทศ ศรีลังกาเป็นประเทศขายชาอันดับต้น ๆ ของโลก ผลผลิตน้อยลงเพราะไม่มีสารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช พวกเชื้อโรคเชื้อราต่าง ๆ

โครงการ “ปุ๋ยแห่งชาติ” ถ้าจำไม่ผิดน่าจะสมัยป๋าเปรม ก็ 30 ปีแล้ว ไม่เกิดเพราะธนาคารไม่ปล่อยกู้ แต่ถ้าตอนนั้นเรามีปุ๋ยแห่งชาติจะแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนได้จริงหรือเปล่า มองได้สองมุมครับ คือผลิตได้เองจริง แต่ต้นทุนเราสู้ข้างนอกได้หรือเปล่า เพราะข้างนอกอุตสาหกรรมการเกษตรเขาใหญ่กว่าเรามหาศาล เราจะสู้ตะวันออกกลางที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันได้หรือเปล่า เพราะปุ๋ยที่เราใช้มาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อย่างยูเรียก็ใช้แก๊สในการผลิต เพราะฉะนั้นถึงเราทำได้จริงแต่จะสู้เขาได้หรือเปล่า นี่ก็อีกเรื่องหนึ่ง”

ได้ยินว่าญี่ปุ่นทำการเกษตรปลอดสารได้สำเร็จ จริงหรือไม่

“ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่ใช้สารเคมีต่อตารางเมตรเยอะกว่าประเทศไทยนะครับ มีข้อมูลชัดเจน และเป็นประเทศที่ผลิตสารเคมีกำจัดแมลง กำจัดเชื้อรา เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ข้อมูลพวกนี้ไม่ค่อยออกสื่อ แต่ในวงการเคมีเกษตรญี่ปุ่นใช้เยอะมาก ญี่ปุ่นเขาสามารถผลิต “สเปเชียล โปรดัก” เขาก็ไม่ได้ปิดบัง แต่ระบบการใช้ของเขาต่างจากเรา ญี่ปุ่นมีสหกรณ์การเกษตรเรียกว่า “เซนโน” คล้าย ๆ สหกรณ์จังหวัด เกษตรกรจะมาขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิก และมีการควบคุมปริมาณการใช้สารเคมีอย่างเข้มงวด ไม่ได้ปล่อยฟรีเหมือนประเทศเรา เกษตรกรญี่ปุ่นจะมีตารางการใช้งานซึ่งเขาไม่ได้ใช้น้อยนะ แต่เขาใช้ถูกต้อง มีการเว้นระยะการเก็บเกี่ยว ประเทศไทยก็มีนะไม่ใช่ไม่มี

บางคนเข้าใจว่าญี่ปุ่นทำเกษตรอินทรีย์ ก็ไม่อินทรีย์ครับ ใช้สารเคมีกันทุกประเทศแหละ ไต้หวันก็ใช้หนักมาก จีนด้วย ทุกประเทศมีโรงงานผลิตสารเคมีของตัวเอง ยกเว้นประเทศไทย เราจึงต้องนำเข้า เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนเกษตรกรเราแพงกว่าประเทศอื่น เพราะเราไม่มีปัจจัยการผลิตของเราเอง ปุ๋ยเราไม่ผลิตเอง สารเคมีการเกษตรก็ไม่ผลิตเอง

ผมยกตัวอย่างการทำเหมืองโปแตซที่อีสาน แล้วมีคนประท้วง รัฐบาลก็ไม่กล้าสู้กับ NGO ด้วย โปแตซเป็นแม่ปุ๋ยตัวหนึ่งในการผลิตปุ๋ยคือธาตุโปตัสเซียม แต่การทำเหมืองมันทำลายสิ่งแวดล้อม เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านด้วย แต่ต่างประเทศเขาทำได้เพราะโรงงานปุ๋ยเขาแยกโซนออกไปไกล ๆ เลย อย่างที่รัสเซีย จีน เขาจัดโซนทำเหมืองอยู่ห่างออกไป หรือเป็นบริเวณที่ประชาชนอยู่ไม่เยอะ นอกจากคนที่เข้าไปทำงานในนั้น แต่บ้านเราประเทศเล็ก พอจะทำก็กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านก็ไม่เอา พอมี NGO มาคัดค้านก็ทำไม่ได้”

\"ธีรวิน ภูดารัตน์\" แห่งเพจ \"ควายดำฯ\" บอกได้..ทำไม \"หมูแพง\" ข้าวราคาตก ฯลฯ

ทำไมหมูแพง จะแก้ปัญหาอย่างไร

“เล่าสั้น ๆ คือเกิดจากโรค ASF ที่เป็นโรคระบาดในหมู ทำให้หมูตายไปเยอะมาก และเป็นโรคที่ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกัน ทำให้หมูตายหายไปจากตลาด จนทำให้ราคาหมูแพงขึ้น

การแก้ปัญหาตอนนี้คือ ภาครัฐต้องเข้ามาควบคุมโรค ห้ามเคลื่อนย้าย ให้ความรู้เกษตรกรเรื่องสุขอนามัยในฟาร์ม เพราะโรค ASF เป็นเชื้อที่ติดตามหมู ตามคน ตามรถขนย้ายไปได้ จึงจำเป็นต้องมาควบคุมตรงนี้ แล้วอุดหนุนเงินทุนให้เกษตรกรเลี้ยงหมู แต่การแก้ปัญหากว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลาหลายเดือน เพราะกว่าหมูจะโตจนขายได้ต้องใช้เวลาเลี้ยงหลายเดือน ซึ่งก็มีหลายฝ่ายเสนอให้นำเข้าหมูชั่วคราว แต่ส่วนตัวผมคิดว่ามันดีต่อผู้บริโภค แต่ไม่ดีต่อคนเลี้ยงหมู เพราะจะทำลายระบบการเลี้ยงของหมูไทยไปอีกนานเลย ซึ่งตรงนี้ก็แล้วแต่ว่าทางภาครัฐจะคิดถึงใครมากกว่ากันระหว่างคนเลี้ยงหมู กับผู้บริโภค”

สารเคมีในส้ม นักวิชาการบอกว่ามีราว 58 ชนิด ล้างออกก็ไม่หมดยังคงเหลืออีก 27 ชนิด (ชาตินี้จะได้กินส้มมั้ย)

“ไม่จริงหรอกครับ สารเคมีที่ใช้ในสวนส้มมีไม่เยอะขนาดนั้นครับ และสารเคมีก็มีการสลายตัวอยู่แล้ว เมื่อเจอแดด เจออากาศ ก่อนกินก็ทำความสะอาดล้างให้สะอาดก่อนก็พอครับ”

คนรุ่นใหม่ ดารา ไปทำเกษตรไปรอดมั้ย

“ความจริงเขายกเรื่องเกษตรเป็นหนึ่งในบิสสิเนสของเขา ยกตัวอย่างคนที่มีฟาร์มปลูกผัก มีคาเฟ่ จริง ๆ รายได้มาจากขายกาแฟ ขายอาหาร ปลูกผักเป็นแค่ส่วนประกอบ หรือเกษตรเชิงท่องเที่ยว เอาจริงขายผลผลิตไม่ถึง 10% ของรายได้เขาหรอก รายได้มาจากขายอาหาร ขายเซอร์วิส แต่พอเกี่ยวกับการเกษตรก็ดึงคนเข้ามาได้ เหมือนชาวสวนทุเรียน เปิดรีสอร์ท ชวนมากินทุเรียนในสวน บางทีของตัวเองไม่มีต้องไปหาซื้อข้างนอก แต่ได้คนเข้ามาซื้อทำกำไร ขายแพ็คเกจ เป็นบิสสิเนสโมเดลของเขา มันไม่ใช่อาชีพเกษตรจริง ๆ

แต่คนที่ทำเกษตรจริง ๆ  ปีหนึ่งหวังเงินรายได้จากผลผลิตเกษตร ส่วนดาราไปปลูกข้าวปลูกผักก็เยอะ ผมจะบอกว่าให้ดาราเหล่านั้นลาออกจากวงการบันเทิงแล้วมาทำเกษตรอย่างเดียว ดูว่าจะอยู่ได้มั้ย ไม่ได้หรอกครับ เพราะรายได้มันแตกต่างกันมาก ต้องปลูกขายผักกี่กิโลถึงได้หลักหมื่น”

เพจควายดำฯ ให้ข้อมูลเรื่องเกษตรแต่ก็โดนทัวร์ลง..หนักมาก

“ตอนนี้เฉย ๆ แล้วครับ ไม่รู้สึกอะไร ผมคิดว่าเขียนบทความเป็นสาธารณะ แน่นอนความเห็นต่างมีอยู่แล้ว แต่ผมมีข้อมูลที่ถูกต้อง ผมมั่นใจ ถ้าถูกต้องแล้วผมไม่ได้มั่วในการเขียน คิดว่าถ้าใครไม่เห็นด้วยก็เอาข้อมูลมายืนยัน เช่นผมเขียนเรื่อง 3 สาร เขียนโดยมีแหล่งข้อมูล แหล่งอ้างอิง ผมมีเปเปอร์ภาษาอังกฤษ มีเพื่อน ๆ มาช่วยกันแปล สื่อสารให้เข้าใจง่าย ถ้ามีใครไม่เห็นด้วยก็เอาข้อมูลมาอิง แต่ถ้ามาทัวร์แบบด่า ถ้าอารมณ์ปกติก็ปล่อยผ่านแต่ถ้ามาด่าแรง ๆ ก็จะคอมเมนต์ว่าเตรียมตัวรับหมายศาล เขาก็จะเลิกตอแยไปเอง มีเคสแล้วด้วย เขาขอโทษแล้วไกล่เกลี่ยกัน

\"ธีรวิน ภูดารัตน์\" แห่งเพจ \"ควายดำฯ\" บอกได้..ทำไม \"หมูแพง\" ข้าวราคาตก ฯลฯ ตอนนั้นทัวร์ลงรอบบ้านเลย เพจเรทติ้งดีมาก พอเราเขียนอะไรที่ไปแย้งกับคนอีกกลุ่มหนึ่งเขาก็ไม่ยอม ผมก็บอกว่าเอาข้อมูลวิชาการมายืนยันสิ การถกเถียงกันเป็นเรื่องดี เพราะคนที่ไม่รู้จะได้รู้ แล้วอย่าเอาเรื่องการเมืองมาปน ตรงไหนไม่จริงมาคุยกัน”