“ไหว้ตรุษจีน 2565” สักการะ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ของไหว้ใดต้องห้าม

“ไหว้ตรุษจีน 2565” สักการะ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ของไหว้ใดต้องห้าม

1 ก.พ. “ไหว้ตรุษจีน 2565” เปิดวิธีกราบขอพร “เจ้าแม่ทับทิม” แห่ง “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ของไหว้ที่ควรเตรียม ของไหว้ต้องห้าม การไหว้เรียงลำดับองค์เทพในศาลเจ้า ตรุษจีนนี้ไหว้ไม่ทัน ยังมี "วันห่วงเซียว" ให้ไหว้แก้ตัว

ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง เป็นศาลเจ้าเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ ไม่เฉพาะช่วงเทศกาล ตรุษจีน ผู้มีจิตศรัทธาจากหลายจังหวัดเดินทางมากราบสักการะมิได้ขาด

องค์เจ้าแม่ทับทิม ใน "ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง" มีอายุเก่าแก่ย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงเวลาที่ชาวจีนโพ้นทะเลอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

นาย พุฒิพงศ์ เจืออุปถัมย์ กรรมการ "ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง" เล่าว่า จากบันทึกเท่าที่มีการสืบค้นได้ พบว่า ครอบครัวของนาย “จู๋ แซ่ตั้ง” ได้อพยพจากอำเภอเก๊กเอี๊ย เมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง เข้ามายังประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย โดยพี่ชายของนายจู๋ได้อพยพเข้ามาก่อน ทำงานรับจ้างทั่วไป และอาศัยอยู่แถวริมคลองบางรัก 

อยู่มาวันหนึ่ง พี่ชายของนายจู๋เดินเลียบคลองบางรักออกไปทำงานตามปกติ ได้สังเกตเห็นว่าในคลองมีวัตถุบางอย่างลอยทวนน้ำมาหยุดอยู่ในจุดที่เป็นน้ำวน แต่ก็มิได้สนใจ เนื่องจากเห็นเป็นวัตถุลอยน้ำทั่วไป 

“ไหว้ตรุษจีน 2565” สักการะ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ของไหว้ใดต้องห้าม บรรยากาศภายใน  "ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง"

ผ่านไปหลายวัน วัตถุนั้นก็ยังคงลอยวนอยู่บริเวณเดิมไม่ไปไหน พี่ชายนายจู๋จึงลงไปเก็บวัตถุนั้นขึ้นมา พบว่าเป็น องค์เจ้าแม่ทับทิม แกะสลักด้วยไม้ จึงอัญเชิญขึ้นมาเก็บรักษาไว้ที่บ้าน แต่มิได้คิดทำการใดต่อไป เนื่องจากมีภาระหน้าที่ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ

เมื่อนายจู๋ แซ่ตั้ง อพยพตามพี่ชายมาขึ้นฝั่งที่ท่าน้ำราชวงศ์ เยาวราช เวลานั้นมีชาวจีนอยู่หนาแน่นแล้ว พื้นที่ก็ไม่เหมาะกับการเลี้ยงเป็ดที่เป็นอาชีพดั้งเดิมสมัยอยู่เมืองจีน

จึงมองหาสถานที่แห่งใหม่ละแวกนั้น และพบว่า ย่านสะพานเหลือง อำเภอปทุมวัน ซึ่งขณะนั้นยังเป็นทุ่งเป็นป่า เหมาะสำหรับเลี้ยงเป็ด จึงลงหลักปักฐานที่สะพานเหลือง 

นายจู๋เลี้ยงเป็ดส่งขายตลาดเยาวราชและตลาดทั่วไป กิจการดีขึ้นเป็นลำดับ เป็นที่รู้จักของพ่อค้าชาวจีนในเยาวราชและย่านใกล้เคียงอย่างกว้างขวาง 

พี่ชายของนายจู๋เห็นว่ากิจการเลี้ยงเป็ดของน้องชายเจริญเติบโตได้ดีพอสมควร และเห็นว่าน้องชายพอมีที่มีทาง จึงนำ องค์เจ้าแม่ทับทิม มามอบให้ 

“ไหว้ตรุษจีน 2565” สักการะ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ของไหว้ใดต้องห้าม "ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง" หลังดั้งเดิมสมัยนายจู๋ยังเลี้ยงเป็ด (ภาพ:พุฒิพงศ์ เจืออุปถัมย์)

เมื่อนายจู๋ได้รับมา ก็เห็นว่าควรจัดสถานที่บูชาให้เหมาะสม จึงสร้างศาลเจ้าเป็นเพิงเล็ก ๆ ให้องค์เจ้าแม่ทับทิมประทับและบูชามานับแต่บัดนั้น 

หลังจากชาวบ้านในละแวกนั้นทราบเรื่อง จึงมากราบไหว้สักการะบูชา เมื่อประสบความสำเร็จตามที่บนบานไว้ ก็เกิดความนับถือและเป็นที่เลื่องลือกันต่อ ชาวบ้านในย่านปทุมวันจึงร่วมมือร่วมใจกันกับนายจู๋สร้างศาลเจ้าใหญ่ถาวรขึ้นเป็นศาลแรกนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ต่อมาบริเวณนั้นเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ ร่ำลือว่าเป็นการเผาไล่ที่ บ้านเรือนชาวบ้านที่ขนาบ ศาลเจ้าแม่ทับทิม วอดวายในกองเพลิงเป็นแถบ แต่ศาลเจ้าแม่ทับทิมอยู่รอดไม่ไหม้ไฟ

จากนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คิดพัฒนาที่ดินบริเวณศาลเจ้าแม่ทับทิมเป็นอาคารพาณิชย์ จึงมีกลุ่มชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในองค์เจ้าแม่ทับทิม นำโดย บริษัทสวนหลวงก่อสร้าง (ลิ้มคุงโหมว) ได้เจรจากับทางจุฬาฯ เพื่อขอพื้นที่สร้างศาลเจ้าแห่งใหม่ และเป็นผู้นำสร้างถวายเอง จึงได้สร้างศาลเจ้าใหม่ให้แก่ "องค์เจ้าแม่ทับทิม" จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2513 ใช้ชื่อตามเดิมว่า "ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง" เป็นศาลเจ้าหลังที่เห็นในปัจจุบัน แต่ไม่ใช่ศาลเจ้าสร้างใหม่ที่อยู่ใน ‘อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ 

“ไหว้ตรุษจีน 2565” สักการะ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ของไหว้ใดต้องห้าม พุฒิพงศ์ เจืออุปถัมย์ และ เพ็ญประภา พลอยสีสวย

"ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง" ที่สร้างในปี พ.ศ. 2513 ขณะนี้อยู่ในการดูแลของทายาทผู้ดูแลศาลเจ้ารุ่นที่ 4 คือ เพ็ญประภา พลอยสีสวย ซึ่งกำลังถูกจุฬาฯ ฟ้องขอคืนพื้นที่อีกครั้ง เป็นคดีความอยู่ในขณะนี้

เพ็ญประภากล่าวว่า ในปี 2513 เมื่อ "ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง" สร้างเสร็จ ก็ได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่ทับทิมองค์ดั้งเดิมที่พบตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 และเทพองค์อื่นๆ ครบทุกองค์มาประดิษฐานยังศาลเจ้าแห่งนี้ รวมทั้งมีการสร้างองค์เจ้าแม่ทับทิมองค์ใหม่ในปีนั้นขึ้นอีกด้วย

“ไหว้ตรุษจีน 2565” สักการะ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ของไหว้ใดต้องห้าม องค์เจ้าแม่ทับทิม ใน "ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง"

วันตรุษจีน คนไทยและคนไทยเชื้อสายจีนในกรุงเทพฯ มีธรรมเนียมนิยมตระเวนไหว้ศาลเจ้าต่างๆ  เหมือนคนไทยไหว้พระ 9 วัด "ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง" ก็เป็นศาลเจ้าในหมุดหมายแต่งการตามการสักการะด้วยแห่งหนึ่ง

สำหรับ “องค์เจ้าแม่ทับทิม” แห่งศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง คุณเพ็ญประภากล่าวว่า ผู้คนนิยมมาขอพรใน 3 เรื่องด้วยกันคือ

  • อันดับแรก  ขอพรให้มีลูก โดยเฉพาะครอบครัวที่อยากได้ “ลูกสาว” มักสมหวังกลับไปทุกราย
  • เรื่องที่สองคือ หน้าที่การงาน
  • เรื่องที่สามคือ สุขภาพ

ของไหว้ ที่คนส่วนใหญ่นิยมนำมาไหว้ "เจ้าแม่ทับทิม" คือ ผลไม้ 5 อย่าง หลักๆ เน้น ‘ส้ม’ ภาษาจีนเรียกว่า ‘ไตกิก’ พ้องเสียงกับคำที่มีความหมายว่า ‘สิริมงคล’ หรือของไหว้อื่นๆ ชื่อมงคล กินแล้วอร่อย ก็นิยมนำมาไหว้กัน

"ที่นี่ไม่ได้กำหนดเรื่อง เจ-ชอ, ชอ คือ หมู เป็ด ไก่ มีคนนำมาไหว้เจ้าแม่ทับทิมก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่ที่ห้ามคือ 'เนื้อวัว' อาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ประเภทอื่นได้หมด ยกเว้นเนื้อวัว บางคนเชื่อว่าต้องไหว้เจอย่างเดียวก็มี กลุ่มที่ไหว้ชอก็มี ประเพณีเดิมของศาลเจ้าเราไม่ได้กำหนดเจหรือชอ” พุฒิพงศ์ กล่าว

“บางคนก็นำเครื่องสำอางแบรนด์เนม น้ำหอม มาไหว้ก็มี เพราะเห็นว่าเจ้าแม่เป็นผู้หญิง” เพ็ญประภา กล่าว

“ไหว้ตรุษจีน 2565” สักการะ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ของไหว้ใดต้องห้าม องค์กวนอู (ทางซ้ายขององค์เจ้าแม่ทับทิม) และ จูแซเนี้ย (ด้านขวาองค์เจ้าแม่)

นอกจากองค์เจ้าแม่ทับทิบ ภายใน “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ยังมีเทพให้กราบสักการะขอพรอีกหลายองค์ ดังนี้

  • กวนอู (ปางบุ๊น) ด้วยความที่ชุมชนละแวกนี้ทำการค้าขาย จึงมีการสร้างองค์กวนอูเป็นเครื่องเตือนใจให้ทำการค้าด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีลักษณะเป็นปางบุ๊นถือคัมภีร์ นิยมขอพรเรื่องการศึกษาได้ด้วย
  • จูแซเนี้ย ถือเป็นเทพลิขิตแห่งการเกิด จึงนิยมกราบขอพรเรื่อง การเกิด และ ขอให้มีลูก 
  • แชเหล่งเอี้ย (เทพเจ้ามังกรเขียว) ในความเชื่อดั้งเดิมของชาวจีนแต้จิ๋ว เชื่อว่าเป็นเทพประจำสายน้ำ ให้ไหว้ด้วย “ของสด” เช่น หมูดิบ ไข่ดิบ ไก่ดิบ เหล้าเซ่งชุน ผู้ศรัทธานิยมไหว้ขอพรด้านโชคลาภ โดยเฉพาะการเสี่ยงโชค
  • แป๊ะกง เน้นกราบขอพรเรื่องการศึกษา เป็นที่ศรัทธาของนิสิตจุฬาฯ และนักเรียนที่ตั้งใจสอบเข้าจุฬาฯ ก็นิยมมาไหว้ขอพร ไหว้ดวยธูปเทียนปกติ ใครสะดวกอะไรก็นำมา ไม่สะดวกก็ยกมือไหว้ได้เหมือนกัน

“ไหว้ตรุษจีน 2565” สักการะ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ของไหว้ใดต้องห้าม แชเหล่งเอี้ย (เทพเจ้ามังกรเขียว)

“ไหว้ตรุษจีน 2565” สักการะ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ของไหว้ใดต้องห้าม แป๊ะกง

ขั้นตอนการไหว้องค์เทพที่ "ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง" ปฏิบัติตามธรรมเนียมการไหว้เจ้า คือให้เริ่มไหว้ ทีกง เทพเจ้าฟ้าดินภายนอกศาลเจ้าก่อนเป็นอันดับแรก ไหว้ด้วยธูป 5 ดอก 

เมื่อเข้ามาในศาลเจ้า จึงเริ่มไหว้ องค์เจ้าแม่ทับทิม (และ ‘หูทิพย์’ กับ ‘ตาทิพย์’ ซึ่งเป็นบริวารเจ้าแม่) เป็นอันดับแรก ตามด้วย องค์กวนอู จูแซเนี้ย เทพเจ้ามังกรเขียว แป๊ะกง ไหว้ด้วยธูปองค์ละ 3 ดอก จากนั้นไหว้ ตี่จูเอี้ย(เจ้าที่) ใช้ธูป 5 ดอก เจ้าประตู(ทวารบาล) ไหว้ด้วยธูปฝั่งละ 1 ดอก รวมทั้งหมด 33 ดอก/1 คน ทางศาลเจ้าจัดเตรียมห่อไว้ให้ครบเรียบร้อย

“ไหว้ตรุษจีน 2565” สักการะ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ของไหว้ใดต้องห้าม กระถางธูปพระราชทาน สลักอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จปร

“ไหว้ตรุษจีน 2565” สักการะ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ของไหว้ใดต้องห้าม

ภายใน “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ยังมี โบราณวัตถุ อีก 1 ชิ้นสำคัญ นั่นก็คือ กระถางธูปพระราชทาน สลักอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จปร ย่อจากคำว่า “มหาจุฬาลงกรณ์ปรมราชาธิราช” พระนามในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)

พ.ศ.2454 (ร.ศ. 129) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) โปรดให้สร้าง กระถางธูปมีตราพระปรมาภิไธย จปร ประดิษฐ์แบบอักษรจีน เป็นเครื่องสังเค็ดพระราชทานแก่ “ศาลเจ้าจีน” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ 

โดย “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ก็ได้รับพระราชทานกระถางธูปดังกล่าวด้วย และยังคงใช้เป็น “กระถางธูปประธาน” สำหรับสักการะองค์เจ้าแม่ทับทิมมาจนถึงปัจจุบัน

มีเรื่องเล่าต่อกันมาภายในครอบครัวของผู้ดูแลศาลเจ้าว่า สาเหตุที่ศาลเจ้าได้รับพระราชทานกระถางธูป เนื่องจาก รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์มาถวายพระราชสักการะ ณ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” โดยมิมีผู้ใดทราบ เนื่องจากเสด็จพระราชดำเนินอย่างสามัญชน

“เมื่อก่อนเราไม่เคยเปิดเผย แม่แฟนจะสั่งไว้ เฝ้าดีๆ อย่าให้ใครมายกกระถางและองค์อาม่าไป  พอแม่เสียไปแล้ว แฟนเรานี่แหละสงสัย เขาก็เลยขัดกระถางธูปทุกใบ เลยพบอักษร จปร ถึงได้รู้ เพิ่งจะเมื่อสิบปีที่ผ่านมา” เพ็ญประภา กล่าว

“ไหว้ตรุษจีน 2565” สักการะ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ของไหว้ใดต้องห้าม ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง

วันตรุษจีน 1 ก.พ.  “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” เปิดให้กราบสักการะองค์เจ้าแม่และองค์เทพได้ถึง เวลาสองนาฬิกา (02.00 น.) เนื่องจากหลังเที่ยงคืนไปแล้ว บางคนเชื่อว่าเป็น “วันดี” คือเริ่มวันแรกของปีใหม่ จึงทยอยไหว้องค์เทพไปตามศาลเจ้าต่างๆ

นอกจากนี้ ตามธรรมเนียมชาวจีน หลังตรุษจีน 15 วัน ยังมีประเพณีที่เรียกกันว่า ห่วงเซียว  ปีนี้ตรงกับวันที่ 15 ก.พ. พอดี เนื่องจากวันตรุษจีนตรงกับวันที่ 1 ก.พ. 

ในประเทศจีนสมัยก่อน ลูกหลานที่อยู่ห่างไกลบ้านเกิด กลับมาไม่ทันตรุษจีน ชาวจีนก็จะใช้ “วันพระแรก” เดือน 1 ตามปีปฏิทินจีน ให้ลูกหลานได้มีโอกาสไหว้ปีใหม่อีกหนึ่งวัน ถือเป็นตรุษจีนเล็ก เรียกว่า “วันห่วงเซียว” พ้น 15 วันหลังตรุษจีนไปแล้ว ถือว่าหยุดการฉลอง เพราะเริ่มทำงานกันแล้ว 

ตามธรรมเนียมของไหว้ที่ชาวจีนนิยมนำมาไหว้ใน “วันห่วงเซียว” คือ เจดีย์น้ำตาล น้ำตาลที่ปั้นเป็นรูปเจดีย์ และ สิงโตถั่ว ขนมถั่วทำเป็นรูปสิงโต ไหว้เพื่อความเจริญก้าวหน้า ตลาดเยาวราชจะมีขายเต็มไปหมดหลังตรุษจีน 15 วัน

“ไหว้ตรุษจีน 2565” สักการะ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ของไหว้ใดต้องห้าม “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง”

“ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ไม่มีการทำพิธีแก้ปีชงมาตั้งแต่เริ่มตั้งศาลเจ้า เนื่องจากเป็น “ศาลเจ้า” ไม่ใช่วัดจีนที่มีพระจำวัดทำพิธี เมื่อไม่เคยมีพิธีแก้ชง คณะกรรมการศาลเจ้าเห็นว่าอะไรที่ศาลเจ้าไม่เคยทำก็จะไม่ทำ แต่การไหว้เทพเจ้าขอพรขอให้ทุกข์คลายหายไป ก็ช่วยเรื่องจิตใจได้ส่วนหนึ่ง

ตรุษจีน 2565 จะเป็นปีสุดท้ายหรือไม่ที่ผู้มีจิตศรัทธาจะมีโอกาสกราบสักการะ "องค์เจ้าแม่ทับทิม" อายุนับ 100 ปี ณ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” ที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมดั้งเดิมแห่งนี้ ต้องรอฟังคำพิพากษาต่อไป

*  *  *  *  *  *  *

ภาพโดย : ศุภกฤต คุ้มกัน