เปิดตำนาน “เจ้าพ่อเสือ” และ “ตั่วเหล่าเอี้ย” ปีเสือ 2565 ต้องไปไหว้

เปิดตำนาน “เจ้าพ่อเสือ” และ “ตั่วเหล่าเอี้ย” ปีเสือ 2565 ต้องไปไหว้

"ตรุษจีน" คนไทยนิยมไปกราบไหว้ "เจ้าพ่อเสือ" และ "ตั่วเหล่าเอี้ย" 大老爷 ที่ "ศาลเจ้าพ่อเสือ" ไม่เฉพาะคนเกิดปีเสือ เพราะไม่ว่าคนเกิดปีไหนก็มาขอพร ขอโชคลาภ

องค์เทพ ตั่วเหล่าเอี้ย (ตั่วเหล่าเอี๊ย) 大老爷 (จีนกลาง - ต้าเหล่าตี้) เทพเจ้าองค์ประธานใน ศาลเจ้าพ่อเสือ (องค์ตรงกลาง) บางคนเรียกรวมว่า เจ้าพ่อเสือ หรือ 玄天上帝 (สำเนียงแต้จิ๋ว “เหี่ยงเทียงเสี่ยงตี่” จีนกลาง “เสวียนเทียนซ่างตี้”) เป็นองค์เทพศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจีนเคารพบูชามานานนับพันปี ส่วนรูปปั้นเสือ (อยู่ด้านซ้ายสุด) คนแต้จิ๋วเรียกย่อ ๆ ว่า “หลี่เอี๊ย” ตรุษจีน ปีเสือ 2565 ต้องไปไหว้...

เปิดตำนาน “เจ้าพ่อเสือ” และ “ตั่วเหล่าเอี้ย” ปีเสือ 2565 ต้องไปไหว้   ตั่วเหล่าเอี้ย (ภาพ FB: ศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า)

ศาลเจ้าพ่อเสือ เกิดจากคนไทยเห็นชาวแต้จิ๋วไหว้ ตั่วเหล่าเอี้ย เชื่อว่าช่วยเสริมดวงชะตา ทำมาค้าขึ้น ช่วยปัดเป่าอุปสรรค จึงนิยมกราบไหว้และสร้าง ศาลเจ้าพ่อเสือ ขึ้นบริเวณเสาชิงช้า อัญเชิญ ตั่วเหล้าเอี้ย, รูปปั้นเจ้าพ่อเสือ, เจ้าพ่อกวนอู และ เจ้าแม่ทับทิม ประดิษฐานไว้ให้ผู้คนมาสักการะ

บางคนเรียกองค์เทพ ตั่วเหล่าเอี้ย ว่า “องค์เจ้าพ่อใหญ่” บ้างเรียกรวมกับองค์รูปปั้นเสือว่า เจ้าพ่อเสือ ด้วยอยู่ใน ศาลเจ้าพ่อเสือ ซึ่งเดิมพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นอุดมรัตนราษี (พระราชโอรสในสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ) ให้ก่อสร้างศาลเจ้าพ่อเสือ บนถนนบำรุงเมือง ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯ ให้ขยายถนนบำรุงเมือง จึงย้ายศาลมาไว้ที่บริเวณสามแพร่ง ถ.ตะนาว ที่ตั้งของ ศาลเจ้าพ่อเสือ ในปัจจุบัน โดยอาคารก่อสร้างตามรูปแบบศาลเจ้าที่นิยมในภาคใต้ของจีน

เปิดตำนาน “เจ้าพ่อเสือ” และ “ตั่วเหล่าเอี้ย” ปีเสือ 2565 ต้องไปไหว้    พิธีแห่เจ้าพ่อเสือ (ภาพ FB: ศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า)

ตั่วเหล่าเอี้ย เลื่องชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ อธิษฐานขอพรสิ่งใดได้สมประสงค์ บ้างมาขอพรเรื่องค้าขาย เรื่องขจัดอุปสรรค เสริมอำนาจบารมี ขอโชคลาภ ขอพรให้มีลูก ฯลฯ คนมาไหว้ ตั่วเหล่าเอี้ย และ เจ้าพ่อเสือ (ด้านซ้าย) ทุกปี ตามความเชื่อของคนไทยเชื้อสายจีนคือ คนปีเสือต้องไปไหว้เจ้าพ่อเสือ เพื่อเสริมดวง เสริมมงคล คนปีวอกไปไหว้แก้ชง แต่เอาเข้าจริงคนเกิดทุกปีนักษัตร นิยมไปไหว้เจ้าพ่อเสือทุกปี และไปช่วงหลังวัน ตรุษจีน ไปแล้ว 15 วัน

เปิดตำนาน “เจ้าพ่อเสือ” และ “ตั่วเหล่าเอี้ย” ปีเสือ 2565 ต้องไปไหว้

ตำนานเทพเจ้า ตั่วเหล่าเอี้ย : ชาวจีนนิยมกราบไหว้เชื่อว่ามีพลังในการปกปักอภิบาลและปราบศัตรู ขจัดสิ่งเลวร้าย ตำนานที่มาของท่านมีหลายข้อมูล เช่น เดิมมีชื่อว่า เสวียนอู่ เป็นเจ้าชายเมืองจิงหลี่ ทางตอนเหนือของเหอเป่ย สมัยจักรพรรดิเหลือง เมื่อเติบโตขึ้นพบเห็นความทุกข์ยากของราษฎรจึงคิดอยากไปบำเพ็ญเพียร ปฏิบัติธรรม

 

เปิดตำนาน “เจ้าพ่อเสือ” และ “ตั่วเหล่าเอี้ย” ปีเสือ 2565 ต้องไปไหว้   ตั่วเหล่าเอี้ย (ภาพFB: ศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า)

บางตำนานบอกว่าท่านเป็นนักพรตบำเบ็ญเพียร บนเขาบู๊ตงซาน (บู้ตึ้ง) จนสำเร็จเป็นเซียน บางตำราบอกว่าท่านเป็นภาคหนึ่งของไท่ซ่งเหลากุ้น เป็นตัวแทนดาวเหนือ เต่าและงูที่ท่านเหยียบนั้นเดิมเป็นปีศาจทำร้ายมนุษย์และท่านได้ปราบสัตว์ทั้งสองจนนำมาเป็นบริวาณของท่านเอง 
อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า ชายหนุ่มจากเมืองลกฮง ประเทศจีน มีอาชีพฆ่าหมูและวัวขาย วันหนึ่งกลับใจหันมาปฏิบัติธรรมตามลัทธิเต๋า โดยยินดีสละชีวิตตนเอง คว้านท้องเอากระเพาะและลำไส้ออกมาเพราะต้องการเอาชีวิตตนแลกธรรมเพื่อทดแทนบาปเคราะห์

ผลบุญนั้นส่งให้ เง็กเซียนฮ่องเต้ ประมุขแห่งสวรรค์ ประทานยศให้เป็น “ผู้ตรวจภพทิศเหนือ” บ้างเขียนฉายาท่านว่า “เทพแห่งนักรบ” หรือ 真武 (เจินอู่) หรือชื่อในภาษาแต้จิ๋วว่า “เหี่ยงเทียงเสี่ยงตี่” มีธงดำเป็นอาญาสิทธิ์ ปราบปีศาจร้าย เท้าข้างหนึ่งเหยียบงู อีกข้างเหยียบเต่า มีเสือเป็นพาหนะ บางคนจึงเรียกท่านว่า “เจ้าพ่อเสือ”

เปิดตำนาน “เจ้าพ่อเสือ” และ “ตั่วเหล่าเอี้ย” ปีเสือ 2565 ต้องไปไหว้  ตั่วเหล่าเอี้ย (ภาพ: enwikipedia.org By 舟集 Toadboat - Own work)

เรื่องของท่านทำให้ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา จึงสร้างศาลเจ้าและรูปปั้นท่านไว้เพื่อบูชา โดยใช้สัญลักษณ์เท้าเหยียบเต่า เหยียบงู และมีธงสีดำ เป็นเทพศักดิ์สิทธิ์ประจำกลุ่มดาวด้านทิศเหนือ หรือผู้พิชิตมาร ในรูปลักษณ์ขุนพลเคราดำยาว เท้าเหยียบบนหลังงูและเต่า ซึ่งถือเป็นสัตว์ประจำกาย มือขวาถือดาบชิดแชเกี่ยม มือซ้ายยกชี้ระดับหน้าอกไปยังท้องฟ้า หมายถึงการบรรลุธรรมสำเร็จเต๋า ที่ผู้คนกราบไหว้มาถึงทุกวันนี้

เปิดตำนาน “เจ้าพ่อเสือ” และ “ตั่วเหล่าเอี้ย” ปีเสือ 2565 ต้องไปไหว้  เทพเจ้าเสือในวัดที่ไต้หวัน (ภาพ: taiwan-scene.com)

 ตำนาน เทพเจ้าเสือ (虎爺) หรือ Lord Tiger ชาวจีนเชื่อว่า เป็นเทพแห่งการปกป้อง มักพบเห็นในวัดของลัทธิเต๋า บางคนบอกว่ามีฐานะเป็นเทพเจ้าชั้นรอง แต่คนนิยมกราบไหว้เพื่อสร้างความสามัคคี บ้างเชื่อว่าบูชาไว้เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย ศัตรู หรือเมื่อมีเหตุต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ก็จะมาขอพรให้ได้ชัยชนะ

เปิดตำนาน “เจ้าพ่อเสือ” และ “ตั่วเหล่าเอี้ย” ปีเสือ 2565 ต้องไปไหว้ รูปปั้นเสือในวัดที่ไต้หวัน (ภาพ: taiwan-scene.com)

ชาวจีนตอนใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ความเคารพรูปปั้นเสือ เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ เสือเป็น 1 ใน 4 สัตว์ที่ฉลาดที่สุด (มังกร นกฟีนิกซ์ เสือ เต่า) มีตำนานเล่าถึง เสือขาว ว่าเป็นผู้ปกครองแดนตะวันตก สัมพันธ์กับฤดูใบไม้ร่วง เสือยังสื่อถึงพลังของเพศผู้ และเป็น “ราชาแห่งสัตว์ทั้งปวง” โดยนิยมวาดสัญลักษณ์เสือมี 4 ขีดบนหน้าผาก มาจากคำว่า “หวัง” (王) หมายถึง King ตามวัดและศาลเจ้านิยมวาดรูปเสือ หรือวางรูปปั้นเสือ เชื่อว่าช่วยป้องกันภัย บางท้องถิ่นในจีนเชื่อว่าเสือเป็น God of Wealth

เปิดตำนาน “เจ้าพ่อเสือ” และ “ตั่วเหล่าเอี้ย” ปีเสือ 2565 ต้องไปไหว้  

  เทพเจ้าเสือในไต้หวัน (ภาพ: taiwan-scene.com)

นิทานพื้นบ้านจีน 

เชื่อว่าเสือฆ่าปีศาจ ปกป้องคนดี และปกป้องคนจากโรคภัย คนจีนจะตกแต่งเสื้อผ้าด้วยรูปเสือ เพ้นท์หรือปัก และตกแต่งเสื้อผ้าให้เด็ก ๆ เชื่อว่ากรงเล็บเสือเป็นเครื่องรางขจัดภัยอันตราย และทำให้ผู้สวมใส่มีความกล้าหาญ

รูปเสือแกะสลักปรากฏอยู่ตามอนุสาวรีย์และบนหลุมฝังศพ เขื่อว่าเป็นฮวงจุ้ยอย่างหนึ่ง คนเกิดปีเสือจึงมีความกล้าหาญ แข็งแกร่ง ดื้อดึง แต่มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น เป็นตัวแทนของความยิ่งใหญ่ เป็นพลังดินและปกป้องมนุษย์ คนจีนโบราณบอกว่า เสือจะเปลี่ยนตัวเองเป็นสีขาว หลังจากมีชีวิตยืนยาว 500 ปี และจะดำรงอยู่ต่อไปนับล้านปี

เปิดตำนาน “เจ้าพ่อเสือ” และ “ตั่วเหล่าเอี้ย” ปีเสือ 2565 ต้องไปไหว้   เจินอู่หรือเสวียนอู่ (ภาพ: min.news)

ในตำนานเสือเล่าอีกว่า เมื่อเสือขาวตายวิญญาณจะกลายเป็นดิน และเกิดเป็น “อำพัน” ความเชื่อนี้ทำให้คนจีนคิดว่าในอำพัน (Amber) มีวิญญาณของเสือสิงสถิตอยู่ ยังมีบทกลอนกล่าวว่า เมื่อเสือคำรามและมังกรร้องเพลง โลกจะมีแต่สันติสุข ประชาชนมั่งคั่ง และประเทศแข็งแกร่ง

เปิดตำนาน “เจ้าพ่อเสือ” และ “ตั่วเหล่าเอี้ย” ปีเสือ 2565 ต้องไปไหว้    เครื่องเซ่นไหว้เทพเจ้าเสือในไต้หวัน

ตำนานเรื่อง เทพเจ้าเสือ ของจีน ผสมผสานเข้ากับตำนานของไทย เรื่องเล่าว่า นายสอนเข้าป่าไปพบซากกวางแล้วเฉือนเนื้อกวางมาให้แม่คือยายผ่องกิน ซึ่งซากกวางนั้นเกิดจากเสือกัดตาย เมื่อเสือเห็นนายสอนจึงเข้าไปขย้ำกัดแขนนายสอนขาด แต่นายสอนหนีกลับบ้านได้แล้วเล่าให้ยายผ่องฟัง ไม่นานก็ขาดใจตาย ยายผ่องจึงร่วมกับชาวบ้านช่วยกันจับเสือ เมื่อจับได้กะฆ่าเสือให้ตายแต่ยายผ่องเกิดสงสารจึงนำเสือตัวนั้นมาเลี้ยงไว้ จนยายผ่องตายไปเสือก็เดินวนเวียนอยู่รอบกองไฟที่กำลังเผายายผ่อง จากนั้นมันก็กระโดดเข้ากองไฟตายตาม ชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างศาลขึ้นมาอยู่ข้างวัดมหรรณพ โดยปั้นรูปเสือไว้พร้อมนำเถ้ากระดูกมาวางไว้ใต้แท่น และทำพิธีเชิญดวงวิญญาณเสือมาสิงสถิตไว้ เพื่อปกป้องคุ้มครอง

เปิดตำนาน “เจ้าพ่อเสือ” และ “ตั่วเหล่าเอี้ย” ปีเสือ 2565 ต้องไปไหว้    ตั่วเหล่าเอี้ยหรือเทพเจินอู่ในหยางโจว (ภาพ: wikipedia.com)

ตำนานของคนไทยเรื่องเสือและวัด ผนวกเข้ากับความเชื่อของชาวจีน เป็นที่มาของ ศาลเจ้าพ่อเสือ และองค์เทพ ตั่วเหล่าเอี้ย ที่ทั้งคนไทยและคนจีนเคารพสักการะมาเนิ่นนาน นอกจากกราบไหว้ เจ้าพ่อเสือ ในเมืองไทยแล้ว ยังนิยมไปกราบไหว้ ตั่วเหล่าเอี้ย ที่ซัวเถา และในบางจังหวัดในประเทศจีน

เปิดตำนาน “เจ้าพ่อเสือ” และ “ตั่วเหล่าเอี้ย” ปีเสือ 2565 ต้องไปไหว้    เทพเจ้าเสวียนอู่ (ภาพ: collection.artsmia.org)

ไต้หวัน ก็มีองค์ ตั่วเหล่าเอี้ย องค์ใหญ่ที่สุด ประดิษฐาน ณ ศาลเจ้าพ่อเสือเกาสง (Beiji Xuantian Shangdi) หรือวัดใหญ่สั่วหยิง เกาะไต้หวัน และมี เจ้าพ่อเสือ (รูปปั้นเสือ) ในไทเปมีหลายแห่ง เช่น Canton Palace, Chenghuang Temple, Tianhou Temple วิธีไหว้คล้ายคนไทยคือ ถวายหมู แกะ เนื้อ ไข่ ปลาหมึก ไวน์ ผลไม้เช่น แอปเปิ้ลและลูกแพร์

เปิดตำนาน “เจ้าพ่อเสือ” และ “ตั่วเหล่าเอี้ย” ปีเสือ 2565 ต้องไปไหว้   ตั่วเหล่าเอี้ย หรือเทพเจินอู่ ศาลเจ้าพ่อเกาสง ไต้หวัน (ภาพ: evilyoshida.com)

ตั่วเหล่าเอี้ย ในประเทศจีนเรียกว่า เจินอู่ (เสวียนอู่) อยู่ในวัดลัทธิเต๋า เช่น ที่หยางโจวและหูเป่ย ซึ่งทุกวันนี้ชาวจีนก็ยังมากราบไหว้ขอพร "เทพแห่งการปกปักรักษา" เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ คุ้มภัยอันตราย เสริมความมั่งคั่ง และขอพรสิ่งใดก็สมปรารถนา... 

(ข้อมูลจาก FB: ศาลเจ้าพ่อเสือเสาชิงช้า, FB: เทพเจ้าจีน by ฟ้าประทาน, www.taiwan-scene.com, www.enwikipedia.org)