เมื่อ ‘สโนไวท์’ เป็นคนละติน ‘แอเรียล’ เป็นคนผิวดำ สะท้อน ‘ความเท่าเทียม’ ในการคัดนักแสดง

เมื่อ ‘สโนไวท์’ เป็นคนละติน ‘แอเรียล’ เป็นคนผิวดำ สะท้อน ‘ความเท่าเทียม’ ในการคัดนักแสดง

ย้อนรอยการคัดเลือกนักแสดงของวงการฮอลลีวูด ตั้งแต่ยุค “Whitewashing” เอาคนขาวเล่นเป็นคนชาติอื่น สู่ “Colorblind-Casting” เลือกนักแสดงที่ความสามารถโดยไม่สนเชื้อชาติ

การคัดเลือกนักแสดงและประเด็นความเท่าเทียมในภาพยนตร์ กลายเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เมื่อ “ปีเตอร์ ดิงเคลจ” นักแสดงชื่อดังผู้มีภาวะแคระจากซีรีส์เรื่อง “มหาศึกชิงบัลลังก์” (Game of Thrones) ได้ออกมาวิจารณ์การสร้างภาพยนตร์ “สโนว์ไวท์ กับ คนแคระทั้งเจ็ด” เวอร์ชันคนแสดง ผ่านพอดคาสต์ รายการ “WTF” ของ มาร์ก มารอน (Marc Maron) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

“ผมแปลกใจอยู่นะ พวกเขา (ดิสนีย์) ดูภูมิใจมากที่แคสต์คนละตินมาเล่นเป็นสโนไวท์ แต่กลับยังเลือกที่จะเล่าเรื่อง สโนวไท์กับคนแคระทั้งเจ็ดอยู่ คุณสร้างความก้าวหน้าด้วยการเปลี่ยนภาพลักษณ์สโนไวท์ แต่ดันล้าหลังด้วยการเล่าเรื่องคนแคระ 7 คนที่อาศัยอยู่ในถ้ำเนี่ยนะ พวกคุณทำอะไรกันอยู่เนี่ย ผมคงทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้ เสียงผมคงดังไม่พอหรอก”

ขณะที่ "ดิสนีย์" ได้ออกแถลงการณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างภาพเหมารวมที่มีจากการ์ตูนเวอร์ชันเดิม ทางสตูดิโอได้หาพยายามหาแนวทางต่าง ๆ ร่วมกับชุมชนผู้มีภาวะแคระ และตั้งตารอที่จะเปิดเผยข้อมูลของภาพยนตร์ให้แก่ทุกคนได้รับทราบ หลังจากที่มีการพัฒนากันมาอย่างยาวนาน

อย่างไรก็ตาม ตอนที่ “สโนว์ไวท์ & พรานป่า ในศึกมหัศจรรย์” (Snow White and the Huntsman) ที่ “คริสเตน สจวร์ต” (Kristen Stewart) รับบทสโนไวท์ ออกฉายในปี 2555 โดยมีคนที่มีความสูงมาตรฐานรับบท คนแคระ แล้วทำให้กลายเป็นคนแคระด้วยเทคนิคซีจี ทำให้นักแสดงที่มีภาวะแคระจากโรงละคร Beacher’s Madhouse ในลอสแอนเจลิสกว่า 100 คนรวมตัวกันประท้วง และเดินขบวนไปยังยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะเห็นว่าบทคนแคระก็ควรให้ผู้มีภาวะแคระเล่น ขณะที่ แดนนี วูดเบิร์น (Danny Woodburn) อีกหนึ่งนักแสดงที่มีภาวะแคระ กล่าวว่าการกระทำดังกล่าว ไม่ต่างจากการแต่งหน้าดำเพื่อล้อเลียนคนผิวดำ หรือที่เรียกว่า “Blackface

เมื่อ ‘สโนไวท์’ เป็นคนละติน ‘แอเรียล’ เป็นคนผิวดำ สะท้อน ‘ความเท่าเทียม’ ในการคัดนักแสดง
คนแคระทั้ง 7 จาก Snow White and the Huntsman

สำหรับสโนไวท์เวอร์ชันใหม่นี้ ได้ “เรเชล เซกเลอร์” (Rachel Zegler) นักแสดงชาวละตินที่มีผลงานเรื่องแรก คือ “เวสต์ ไซด์ สตอรี” (West Side Story) ที่พึ่งเข้าฉายเมื่อปีที่แล้ว มารับบทสโนไวท์ และมี “กัล กาด็อต” (Gal Gadot) ที่โด่งดังมาจากบทซูเปอร์ฮีโรสาว “วันเดอร์ วูแมน” รับบท “ราชินีใจร้าย” (Evil Queen) กำกับโดย “มาร์ก เว็บบ์” (Marc Webb) ส่วนบทอื่น ๆ ยังไม่มีการเปิดเผยว่าใครจะมารับบท รวมถึงบทคนแคระทั้ง 7 ด้วย

เมื่อ ‘สโนไวท์’ เป็นคนละติน ‘แอเรียล’ เป็นคนผิวดำ สะท้อน ‘ความเท่าเทียม’ ในการคัดนักแสดง

เรเชล เซกเลอร์ ผู้รับบทสโนไวท์คนใหม่

--เครดิตภาพ: Vogue.com--

  • Whitewashing เมื่อคนขาวรับบทเป็นคนอื่น

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของวงการฮอลลีวูดที่มีการคัดเลือกนักแสดงมารับบทในภาพยนตร์ที่สร้างหรือดัดแปลงมาจากการ์ตูนหรือวรรณกรรมที่ขัดกับ “ภาพจำ” ของคนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะภายนอก สีผิว เชื้อชาติ รูปร่าง หรือ เพศ

ก่อนหน้านี้ วงการฮอลลีวูดมักจะเลือกใช้นักแสดงผิวขาวมารับบทที่ไม่ใช่คนผิวขาว ซึ่งนอกจากจะไม่ตรงกับบทและภาพลักษณ์ที่คนทั่วไปเคยเข้าใจแล้ว ยังเป็นการกีดกันนักแสดงเชื้อชาติอื่น ๆ ที่มีความสามารถและตรงกับบทได้แสดงความสามารถทางการแสดง ขณะเดียวกันยังตีความได้ว่าวงการฮอลลีวูดส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว ก็ย่อมต้องเลือกนักแสดงเชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์เดียวกันมาแสดง จนเกิดคำว่า “Whitewashing” ขึ้น ที่มีมานานและหยั่งรากลึกมาจนถึงปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น

"แอนเจลีนา โจลี" รับบท นำในภาพยนตร์ปี 2553 เรื่อง “ฮีโร่เพชฌฆาตสั่งตาย” (Wanted) ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือการ์ตูน โดยคาแร็คเตอร์ที่แอนเจลีนารับบทนั้น ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจมาจากนักแสดงผิวดำแฮลลี แบร์รี” (Halle Berry)

ส่วน “เจ้าชายแห่งเปอร์เซีย” (Prince of Persia: The Sands of Time) อีกหนึ่งภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ในปี 2553 ที่ดัดแปลงมาจากเกมสุดฮิต ที่มีตัวละครเป็นชาวอิหร่าน แต่กลับได้ “เจค จิลเลนฮาล” (Jake Gyllenhaal) มารับบทนำ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปไม่น้อย 

ขณะที่ ปี 2556 “เดอะ โลนเรนเจอร์ หน้ากากพิฆาตอธรรม” (The Lone Ranger) สร้างจากตัวละครที่เป็นตำนานของชาวอเมริกา เป็นเรื่องของคาวบอยและคู่หูชาวอเมริกันพื้นเมืองที่ต่อสู้กับเหล่าอธรรม โดย “จอห์นนี เด็ปป์” มารับบทชาวอเมริกันพื้นเมือง ซึ่งแน่นอนว่าโดนวิจารณ์อย่างหนัก แม้โปรดิวเซอร์จะบอกว่า ได้รับคำปรึกษาจาก “Comanche Nation” สมาชิกชนพื้นเมืองของอเมริกัน

อีกเรื่องที่น่าจะสร้างตราบาปในชีวิตทางการแสดงของ “เอ็มมา สโตน” คงจะหนีไม่พ้นการพลาดไปรับบทนำในภาพยนตร์เรื่อง “อะโลฮ่า สวัสดีความรัก” (Aloha) ออกฉายในปี 2558 ที่สะท้อนจิตวิญญาณและวัฒนธรรมของชาวฮาวาย อีกทั้งบทของเอ็มมายังเป็นลูกครึ่งจีน-ฮาวายอีกด้วย ซึ่งภายหลังเอ็มมาได้แสดงความเสียใจและขอโทษที่รับบทนี้ไป พร้อมยังกล่าวอีกว่าลักษณะของตัวละครนี้ไม่มีอะไรที่เหมือนเธอ

เช่นเดียวกับกรณีของ “สการ์เลตต์ โจแฮนส์สัน” (Scarlett Johansson) ที่รับบทนำในภาพยนตร์เรื่อง “โกสต์ อิน เดอะ เชลล์” (Ghost in the Shell) ในปี 2561 ดัดแปลงมาจากหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นชื่อเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าบทของสการ์เลตต์นั้นเป็นคนญี่ปุ่น ยิ่งตกย้ำปัญหาการเหยียดเชื้อชาติและ Whitewashing ในวงการฮอลลีวูดให้เด่นชัดยิ่งขึ้น

  • Color-blind Casting การคัดเลือกนักแสดงที่ไม่ได้สนใจในเชื้อชาติและสีผิว

แต่เมื่อในเข้าสู่ในยุคผู้คนตระหนักถึงความเท่าเทียม และไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ แนวคิดการคัดเลือกนักแสดงโดยไม่สนถึงรูปลักษณ์ หรือภาพจำของตัวละคร มองกันด้วยความสามารถของนักแสดงเป็นหลัก หรือ “Color-blind Castingถูกนำมาใช้มากขึ้น แม้ว่าจะมีการใช้แนวคิดนี้มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 ที่ "เอิร์ธา คิตต์" (Eartha Kitt) นักร้อง นักแสดง แอฟริกัน-อเมริกัน ได้รับบท “แคทวูแมน” ในซีรีส์ “แบทแมน” แทน “จูลี นิวมาร์” (Julie Newmar) นักแสดงผิวขาว แล้วก็ตาม

โดยเฉพาะในวงการละครเวที เช่น ละครบรอดเวย์เรื่อง “แฮมมิลตัน” (Hamilton) ที่เกี่ยวกับชีวิตของอเล็กซานเดอร์ ฮามิลตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนแรกของสหรัฐอเมริกา แม้ว่าในชีวิตจริงทุกคนในเรื่องจะเป็นคนผิวขาว แต่ในเวอร์ชันละครเวทีนี้ได้ใช้นักแสดงหลากหลายเชื้อชาติ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับอย่างดี รีสเตจนับครั้งไม่ถ้วน และออกทำการแสดงไปทั่วโลก พร้อมทั้งยังกวาด 11 รางวัล จากเวทีโทนี อวอร์ด รางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการละครเวที

เมื่อ ‘สโนไวท์’ เป็นคนละติน ‘แอเรียล’ เป็นคนผิวดำ สะท้อน ‘ความเท่าเทียม’ ในการคัดนักแสดง

นักแสดงที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติในละครเวที แฮมมิลตัน

--เครดิตรูป: เพจ Hamilton the Musical--

นอกจากนี้ยังมี ละครเวที “แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเด็กต้องคำสาป” (Harry Potter and the Cursed Child) ที่เล่าเรื่องรุ่นลูกของแฮร์รี่ พอตเตอร์ พ่อมดที่คนทั่วโลกรู้จักเป็นอย่างดี ได้สร้างความฮือฮาด้วยการคัดเลือก “นอมา ดูเมซเวนี” (Noma Dumezweni) มารับบทเฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์ บทแจ้งเกิดของ “เอ็มมา วัตสันด้วยการเปลี่ยนแปลงที่สุดขั้ว ที่ขัดกับภาพจำของคนส่วนใหญ่ ทำให้แฟนคลับบางส่วนไม่พอใจ และไม่ยอมรับเวอร์ชันนี้ แต่ "เจ.เค.โรว์ลิง" ผู้แต่งจักรวาลแฮร์รี่ พอตเตอร์ กล่าวผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า เธอโอเคกับเฮอร์ไมโอนีในเวอร์ชันละครเวที เพราะเธอไม่เคยระบุเชื้อชาติของตัวละครลงในไปในหนังสือ เพียงแต่บอกว่าเฮอร์ไมโอนีมีผมและดวงตาสีน้ำตาล

เมื่อ ‘สโนไวท์’ เป็นคนละติน ‘แอเรียล’ เป็นคนผิวดำ สะท้อน ‘ความเท่าเทียม’ ในการคัดนักแสดง

นอมา ดูเมซเวนี ในบทเฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์

--เครดิตรูป: เพจ Harry Potter and the Cursed Child--

ในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์รวมเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ของ DC Comics เรื่อง “จัสติซ ลีก” (Justice League) ที่ออกฉายในปี 2560 ได้มีการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของ “อควาแมน” (Aquaman) จากชายหนุ่มผิวขาวผมบลอนด์ เป็น ชายผมยาาวไว้หนวดไว้เครา แสดงโดย “เจสัน โมโมอา” (Jason Momoa) นักแสดงชาวฮาวาย

ขณะที่ ในปี 2561 ภาพยนตร์เรื่อง “โปเกมอน ยอดนักสืบพิคาชู” (Pokémon Detective Pikachu) มี “จัสติซ สมิธ” (Justice Smith) นักแสดงผิวดำ รับบทนำ โดยที่บทดังกล่าวเป็นชายผิวขาวผมสีน้ำตาล

หลังจากที่มีกระแส “Black Lives Matter” ในปี 2563 เป็นที่พูดถึงไปทั่วโลก และมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงในสหรัฐมีการปรับตัว มีการเพิ่มบทให้คนผิวดำทั้งในซีรีส์และภาพยนตร์ฮอลลีวูด (ทั้งแบบที่ตรงกับบทและ Colorblind-Casting) 

ผลสำรวจของบริษัท นีลเส็น พบว่าในปี 2563 มีนักแสดงผิวดำได้รับบทในซีรีส์ทางโทรทัศน์ของสหรัฐ 18.1% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ขณะที่คนผิวขาวยังคงครองจอโทรทัศน์สหรัฐด้วยสัดส่วน 81.2% แต่สัดส่วนของนักแสดงเชื้อชาติอื่นกลับลดลง ไม่ว่าจะเป็น ชาวละติน, ชาวเอเชีย และชาวพื้นเมืองอเมริกา ที่มีสัดส่วนเพียง 5.5%, 4.9%, 2.2% และ 0.4% ตามลำดับ 

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ “บริดเจอร์ตัน: วังวนรัก เกมไฮโซ” (Bridgerton) ของเน็ตฟลิกซ์ ซีรีส์โรแมนติกที่มีฉากหลังเป็นสังคมชั้นสูงของอังกฤษในปี 2356 มีคนผิวดำหลายคนได้รับบทนำในซีรีส์เรื่องนี้ รวมถึง “โกลดา โรโชเวล” (Golda Rosheuvel) กับ บท ราชินีชาร์ล็อตต์ ซึ่งเป็นครั้งแรก ๆ ของวงการที่มีคนผิวดำรับบทเชื้อพระวงศ์ของอังกฤษ แม้ว่าในชีวิตจริงราชินีชาร์ล็อตต์จะเป็นลูกเสี้ยวแอฟริกันก็ตาม

เมื่อ ‘สโนไวท์’ เป็นคนละติน ‘แอเรียล’ เป็นคนผิวดำ สะท้อน ‘ความเท่าเทียม’ ในการคัดนักแสดง

โกลดา โรโชเวล ในบท ราชินีชาร์ล็อตต์

นอกจากนี้ สัดส่วนของนักแสดงผิวดำและเชื้อชาติอื่น ๆ ที่ได้รับบทนำในภาพยนตร์ฮอลลีวูดก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยจากรายงานของ Statista พบว่า มีนักแสดงผิวดำและเชื้อชาติอื่น ๆ ที่ได้รับบทนำในภาพยนตร์ฮอลลีวูด ปี 2563 ถึง 39.7% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีเพียง 27.6% 

หลังจากนั้น มีการใช้ Colorblind-Casting ในภาพยนตร์ฮอลลีวูดมากขึ้น ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ไม่ได้มีเพียงแต่คนขาวอีกต่อไป ดังเช่น ภาพยนต์ฟอร์มยักษ์แห่งปี 2564 อย่าง “ดูน” (Dune) มี “เซ็นดายา โคลแมน” (Zendaya Coleman) รับบทชานี ที่ในเวอร์ชันก่อนเป็นบทของคนขาวเล่น หรือ ใน แบทแมน เวอร์ชันใหม่ที่จะเข้าฉายในปีนี้ ก็มีนักแสดงผิวดำรับบทเด่น ที่มีภาพจำเป็นคนผิวขาว ไม่ว่าจะเป็น “เจฟฟรีย์ ไรท์” (Jeffrey Wright) รับบท “เจมส์ กอร์ดอน” ตำรวจในเมืองก็อธเธม และ "โซอี้ คราวิทซ์" (Zoë Kravitz) รับบท “แคทวูแมน

แต่ที่สร้างความฮือฮา และสร้างความไม่พอใจแก่ผู้ชมเป็นอย่างมาก คงจะหนีไม่พ้นการที่ดิสนีย์ประกาศว่า “ฮัลเล เบลลีย์” (Halle Bailey) นักร้องผิวดำ จะมารับบท “แอเรียล”ในภาพยนตร์เรื่อง “Little Mermaid" ฉบับคนแสดง เพราะ เงือกสาวดังกล่าวมีภาพจำเป็นคนผิวขาว ผมแดง ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นการทำลายภาพจำ และยัดเยียดความหลากหลายทางเชื้อชาติมากจนเกินไป ควรให้ฮ้ลเลไปแสดงเรื่องอื่น เช่น “มหัศจรรย์มนต์รักเจ้าชายกบ” (The Princess and the Frog) หรือแต่งเรื่องใหม่ขึ้นมาเลย เหมือนกับฝั่งแอนิเมชั่นที่ในระยะหลังเล่าเรื่องของคนในหลากหลายสัญชาติ หลากหลายภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น “วันอลวน วิญญาณอลเวง” (COCO) (2560) เล่าเรื่องเทศกาลแห่งความตาย หรือ Día de los Muertos ของเม็กซิโก, “อัศจรรย์วิญญาณอลเวง” (Soul) (2563) มีตัวละครหลักเป็นคนผิวดำ, “รายากับมังกรตัวสุดท้าย” (Raya and the Last Dragon) (2564) เจ้าหญิงดิสนีย์คนล่าสุดที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้,  “ลูก้า” (Luca) (2564) มีฉากหลังเป็นประเทศอิตาลี และล่าสุดกับ “เมืองเวทมนตร์ คนมหัศจรรย์” (Encanto) (2564) เรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศโคลอมเบีย

เมื่อ ‘สโนไวท์’ เป็นคนละติน ‘แอเรียล’ เป็นคนผิวดำ สะท้อน ‘ความเท่าเทียม’ ในการคัดนักแสดง

ฮัลเล เบลลีย์ ในกองถ่าย Little Mermaid เวอร์ชันใหม่

--เครดิตรูป: อินสตาแกรม Halle Bailey--

ขณะที่ “ร็อบ มาร์แชล” (Rob Marshall) ผู้กำกับภาพยนตร์ Little Mermaid ฉบับคนแสดง ได้กล่าวว่า ฮัลลี มีความสามารถและคุณสมบัติสำคัญที่ครบถ้วนในการรับบทแอเรียล ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของ สปิริต, จิตใจ, ความอ่อนเยาว์, ความไร้เดียงสา และเสียงร้องที่ไพเราะ

 

Colorblind-Casting จึงเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความสามารถอย่างแท้จริง โดยไม่มีกำแพงทางด้านเชื้อชาติ รูปร่าง สีผิว หรือเพศมาขวางกั้น แต่วิธีนี้อาจจะไม่ได้เหมาะกับภาพยนตร์หรือซีรีส์ในทุกเรื่อง เช่น ภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่อิงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์หรือบุคคลเหล่านั้นมีตัวตนอยู่จริง หรือเล่าเรื่องที่เชิดชู ยกย่องเกียรติและความภาคภูมิใจของเชื้อชาตินั้น ๆ ผู้สร้างก็ควรเลือกนักแสดงที่มีเชื้อชาติตรงกับบุคคลเหล่านั้น

นอกจากจะมีวาระซ่อนเร้นอยู่ในเรื่องดังกล่าว เช่น ละครเวทีเรื่อง แฮมมิลตัน ที่ใช้นักแสดงที่มีหลากหลายเชื้อชาติ เพราะ แฮมมิลตันมาในช่วงที่ปัญหาการเหยียดสีผิวในสหรัฐเริ่มคุกรุ่น ขณะเดียวกันโดนัลด์ ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ดังนั้นการใช้นักแสดงหลากหลายเชื้อชาติจึงเป็นการสะท้อนว่าสหรัฐนั้นดำรงอยู่ได้เพราะมีคนหลากหลายเชื้อชาติ 

ขณะเดียวกัน Colorblind-Casting อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือและกลายเป็นกระแส ที่สตูดิโอสร้างภาพยนตร์และซีรีส์ใช้ในการบอกคนทั้งโลกว่า เรายอมรับในความแตกต่าง จึงมีนักแสดงที่หลากหลายเชื้อชาติ แต่กลับไม่ได้รู้ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ท้ายที่สุดแล้วกระแสของผู้ชมจะเป็นตัวบ่งบอกเองว่า คิดกับเรื่องนี้อย่างไร
 

ที่มา: Hollywood Reporter, Indie Wire, Premium Beat, The Guardian, The New York Times