ช่วงชีวิตที่เหลือ"หลวงปู่ติช นัท ฮันห์"ก่อนมรณภาพ

ช่วงชีวิตที่เหลือ"หลวงปู่ติช นัท ฮันห์"ก่อนมรณภาพ

ช่วงที่"หลวงปู่ติช นัท ฮันห์"วัย 93 ปีไม่สามารถบรรยายธรรมและพูดคุยได้แล้ว เนื่องจากอาพาท เส้นเลือดในสมองแตก ท่านก็ยังมีจริยวัตรที่งดงามเหมือนเดิม ตระหนักรู้ทุกอิริยาบท และนี่คือเรื่องเล่าก่อนมรณภาพ

ในงานภาวนากับลายพู่กันในช่วงนิทรรศศิลปะแห่งสติของพระอาจารย์ ติช นัท ฮันห์ จากหมู่บ้านพลัม พระมหาเถระนิกายเซนระดับโลก และนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ ชาวเวียดนามซึ่งจัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2562 

หลวงพี่นิรามิสา เคยเล่าถึงหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ในวัย 93 ปีว่า ท่านไม่สามารถบรรยายธรรมและพูดคุยได้แล้ว เนื่องจากอาพาท เส้นเลือดในสมองแตก

แต่ท่านก็ยังเฉลิมฉลองชีวิตทุกวัน ยังมีจริยวัตรที่งดงามเหมือนเดิม ตระหนักรู้ทุกอิริยาบท ไม่ว่าเดิน ยืน นอน และนั่ง ฯลฯ

บั้นปลายชีวิตหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ 

ในช่วงที่หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ อาพาท ท่านพักอยู่ในเมืองไทยสองปี ก่อนท่านจะมรณภาพท่านพักอยู่ที่วัดที่เคยบวช  วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม ตั้งใจว่าจะอยู่ที่นั่นจนวาระสุดท้ายของชีวิต และล่าสุดในวัย 95 ปี ท่านจากไปเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2565 เวลาเที่ยงคืน 

 

“หลังจากท่านเดินทางมาทั่วโลก บั้นปลายชีวิตของท่าน อยากกลับมาหารากของท่านที่วัดต้นกำเนิด และใช้เวลาที่เหลืออยู่ตรงนั้น

ถึงแม้ว่าท่านจะพูดไม่ได้ เขียนไม่ได้ ท่านก็ยังสื่อสารชัดเจน เหมือนเวลาท่านวาดลายพู่กัน ครึ่งวงกลมแรกหายใจเข้า ครึ่งวงกลมหลังหายใจออก” หลวงพี่นิรามิสา เคยเล่าไว้ และบอกว่า ถ้าใครตามอ่านบนเว็บไซด์ก็จะเห็นจดหมายของหลวงปู่ และชื่อของท่านตบท้าย

 "แรกๆ ก็มีคนบอกว่า นั่นไม่ใช่จดหมายของหลวงปู่ เพราะท่านพูดไม่ได้ เนื่องจากท่านเป็นมีปัญหาเรื่องหลอดเลือดในสมอง ทำให้ท่านเป็นอัมพาตข้างขวา” หลวงพี่นิรามิสา เล่า 

หากใครศึกษาเรื่องราวของปรมาจารย์เซน หรือที่ลูกศิษย์ของท่านเรียกว่า ไถ่ ก็จะรู้ว่าท่านฝึกสติ ทุกขณะจิต เพราะท่านสอนใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่ติดกับอดีตและอนาคต การปฏิบัติจึงอยู่ในวิถีของท่าน มีความตระหนักรู้อย่างสูง และท่านอยู่ท่ามกลางชุมชนสังฆะ คณะนักบวชและพุทธบริษัทสี่

ช่วงชีวิตที่เหลือ\"หลวงปู่ติช นัท ฮันห์\"ก่อนมรณภาพ

 

“ความตระหนักรู้และวิธีการดำเนินชีวิตของท่านเป็นคำสอนอยู่เสมอ การตัดสินใจแต่ละก้าวในจังหวะชีวิตของท่านเป็นคำสอน เป็นระฆังแห่งสติ เพราะท่านมีการตระหนักรู้ชัดเจนในตัวท่าน ท่านจึงสามารถสื่อสารกับลูกศิษย์ของท่านได้

เวลาพระผู้ใหญ่นั่งล้อมวงกัน ท่านก็จะสื่อสารโดยการทำมือเป็นรูปวงกลม หากลูกศิษย์ถามไปว่า ใช่แบบนี้ไหม ท่านก็จะพยักหน้า และพระผู้ใหญ่ก็ฝึกปฎิบัติ เราจึงมีความตระหนักรู้ต่อกันและกัน และรู้ว่าในใจกำลังคิดอะไรอยู่ ไม่ใช่ใบ้”

การดำเนินชีวิตร่วมกัน มีความตระหนักรู้ ไม่ได้ทำให้การสื่อสารถูกปิดกั้น แม้จะไม่มีบทสนทนา ก็สามารถเข้าใจได้ว่า ท่านต้องการอะไร

“บั้นปลายของท่าน พระผู้ใหญ่ก็เคยร่างจดหมายแล้วส่งให้ท่านอ่าน และเราก็บอกว่าให้ท่านพิมพ์ลายนิ้วมือ ท่านบอกว่าให้ประทับตราชื่อท่านลงไปเลย”

สุขสันต์วันแห่งชีวิตที่เหลือ

ในฐานะศิษย์ที่มีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดหลวงปู่ที่เวียดนาม หลวงพี่นิรามิสา เคยเล่าว่า แม้จะเป็นช่วงบั้นปลายชีวิตของท่าน ท่านก็ยังเฉลิมฉลองชีวิตทุกวัน

“ถ้าเรามองแบบโลกๆ ชีวิตตอนนั้นก็เหมือนท่านไม่มีผลงานอะไรแล้ว ก็แค่เอาผลงานของท่านมาแสดงในนิทรรศการศิลปะแห่งสติ แล้วเฉลิมฉลองชีวิตของท่าน

จริงๆ แล้วไม่ใช่แบบนั้น ตัวท่านเองยังเฉลิมฉลองชีวิตทุกวัน ท่านตระหนักรู้กับการนอน การนั่ง การเคลื่อนไหว การฉันอาหาร การดื่มน้ำชาในทุกอิริยาบท เหมือนท่านจะบอกว่าสุขสันต์วันแห่งชีวิตที่เหลืออยู่"

หากจะเปรียบเปรยกับคนทั่วไป หลวงพี่นิรามิสา เคยเล่าว่า เราอาจฝึกปฎิบัติสุขสันต์วันแห่งชีวิตของเราทุกวันตั้งแต่วันนี้ แต่เรารอให้ถึงวันสำคัญแล้วค่อยสุขสันต์กับชีวิต

ดังนั้นเวลาที่เราได้ตามลมหายใจเข้า -หายใจออก เราก็รู้ แค่เราเปลี่ยนความสนใจมาอยู่กับลมหายใจในเสี้ยววินาทีนั้น ความคิดก็จะหายไปเอง

“สาเหตุที่เราสุขสันต์ชีวิตของเราไม่ได้ เพราะเราถูกความคิดบ่งการตลอด อย่างพวกเราเดินวิถีแห่งสติในเมืองท่ามกลางเสียงรบกวนมากมาย เราสามารถสัมผัสกับเสียงข้างในเราได้ไหม

บางทีเสียงข้างในเราก็มีเสียงรบกวนมากมายที่มันดังตลอดเวลา หรือดังพอๆ กับเสียงข้างนอก คนก็เลยเคยชินกับเสียง เวลาไปอยู่ที่เงียบๆ ไม่มีเสียงรบกวน ก็เหงา อยู่ไม่ได้ เพราะเราเคยชินกับเสียงเหล่านั้น”

อย่างไรก็ตาม หลวงพี่บอกว่า ถ้าเราตระหนักรู้อยู่กับลมหายใจและอยู่ตรงนั้น เราก็สัมผัสกับความเงียบที่อยู่ข้างใน ความเงียบที่อยู่ท่ามกลางเสียงรบกวนทั้งหลาย เป็นสิ่งที่งดงามมากที่เราฝึกปฎิบัติได้

“นี่คือสิ่งที่หลวงปู่ปฎิบัติในชีวิตของท่าน ไม่ว่าท่านจะสุขภาพแข็งแรงหรือไม่แข็งแรง การปฎิบัติที่พระพุทธองค์สอนไว้เป็นสิ่งที่เรียบง่าย

ทำยังไงที่เราจะกลับมาสู่ลมหายใจของเราได้ ทำยังไงจะน้อมใจมาสู่กายของเราเป็นหนึ่งเดียวกัน แล้วอยู่ตรงนั้นได้เต็มร้อย เป็นภาวะที่เราเรียกว่าภาวะแห่งสติ ภาวะแห่งการตระหนักรู้ ซึ่งเราสามารถทำได้ด้วยวิถีการเดินแบบมีสติ ฝึกการกินอาหารและการนอนอย่างมีสติด้วย”

ช่วงชีวิตที่เหลือ\"หลวงปู่ติช นัท ฮันห์\"ก่อนมรณภาพ

มรดกธรรมหลวงปู่ติช นัท ฮันห์

วิถีแห่งสติ สามารถฝึกปฎิบัติได้ทุกที่ ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองใหญ่ เมืองเล็ก เมืองเงียบ เมืองไม่เงียบ

“หลายครั้งเราไม่มีความตระหนักรู้ เราก็เลยถูกดึงไปสู่สภาพการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าความกังวล ความพอใจ ความไม่พอใจ ความโกรธ ความเครียด เราก็จะสูญเสียโอกาสที่จะเฉลิมฉลองชีวิตของเราอย่างแท้จริง” หลวงพี่นิรามิสา กล่าวไว้และว่า

“เราถูกฝึกตั้งแต่เรียนหนังสือและทำงานว่า เวลาเป็นเงินเป็นทอง ทำอะไรต้องรีบๆ ทำ เราต้องกลับมาดูว่า เวลาเป็นเงินเป็นทองจริงๆ ไหม

เราใช้เวลาตรงนั้นนำความสุขที่แท้จริงมาให้ชีวิตเราไหม แต่ถ้าฝึกฝนเจริญสติมีความตระหนักรู้ เราก็จะรู้ว่าเวลามีเพื่อให้เราได้ใช้ชีวิต”

เหมือนเช่นหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ภาวนาทุกวัน ใช้ชีวิตเพื่อให้เราได้ตระหนักรู้ เข้าถึงความเบิกบาน ความสงบสุข และใช้ชีวิตให้เราเข้าถึงเสียงรบกวนในตัวเรา เข้าถึงความทุกข์ของเรา ทำให้เราสื่อสารกับตัวเราเองได้

หลวงปู่ตระหนักรู้อย่างสูงส่งในตัวท่าน ถ้าใครได้เรียนประวัติหลวงปู่ ก็จะรู้ว่า ท่านได้ผ่านความทุกข์มามากมาย เคยผ่านชีวิตยากลำบาก ท่ามกลางภาวะสงคราม”

หากใครเดินทางไปเมืองเว้ ประเทศเวียดนาม ก็จะเห็นว่ามีหลุมฝังศพมากมาย ตามประเพณีจะไม่มีการเผา  

เรื่องนี้หลวงพี่นิรามิสา เล่าไว้ว่า ในเวียดนาม เราได้เห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต หลวงปู่สามารถเข้าใจความทุกข์มากมายในตัวท่าน ท่านไม่เก็บเอาไว้ ท่านจึงสัมผัสความสงบสันติภาพที่แท้จริงได้ 

“เพราะฉะนั้นเวลาหลวงปู่เรียกร้องสันติภาพ ท่านมีสันติในเรือนใจของท่านอยู่แล้ว เพื่อสร้างสรรค์สันติภายนอก แต่ถ้าเราเป็นนักเรียกร้องสันติภาพ แล้วไม่ได้สื่อสารภายในตัวเราเองให้ชัดเจนถึงความทุกข์ ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เราก็จะไม่สามารถสื่อสารเรียกร้องสันติภาพที่แท้จริงได้”

ช่วงที่หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ บรรยายธรรมไม่ได้

เหมือนเช่นที่กล่าว แม้หลวงปู่จะไม่สามารถบรรยายธรรม แต่ท่านก็ยังบรรยายธรรมผ่านภาพลายพู่กัน

“พื้นฐานการวาดภาพลายพู่กันหลวงปู่ออกมาจากใจ ไม่ได้เป็นเรื่องเทคนิค ท่านมีพื้นฐานที่จะตระหนักรู้ตามลมหายใจและอยู่ตรงนั้นเต็มร้อย

จังหวะลายเส้นก็จะมีพลังความตระหนักรู้และความมั่นคงอยู่ในนั้น ถ้าเราดูอย่างมีสติ เราก็สามารถสัมผัสพลังของภาพที่หลวงปู่วาดผ่านคำเหล่านั้น

 หลวงพี่ที่เป็นพระอุปัฏฐากหลวงปู่ ที่เห็นหลวงปู่วาดภาพปีแล้วปีเล่า ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงพลังแห่งสติและปัญญาญาณของท่านเติบโตสมบูรณ์มากขึ้นเรื่อยๆ”

หลวงพี่นิรามิสา บอกว่า ถ้าเรารู้จักรดน้ำพลังแห่งสติและความตระหนักรู้ พลังที่งดงามในตัวเราก็จะมีโอกาสเติบโตมากขึ้น

“ถ้าเราสามารถสื่อสารกับตัวเองชัดเจน เข้าใจความทุกข์ของตัวเรา เหมือนอย่างที่หลวงปู่ปฎิบัติ ปัญญาที่รู้แจ้งก็จะผุดออกมาเอง

และเราก็สามารถน้อมนำมาฝึกปฎิบัติและนำไปสื่อสารกับคนอื่นได้ เหมือนภาพลายพู่กันที่เขียนด้วยพลังแห่งสติ และผลพวงของการฝึกปฏิบัติ ท่านเขียนเป็นวลีว่า

“ไม่มีหนทางไปสู่นิพพาน นิพพานคือหนทาง”หรือวลีที่ว่า“ไม่มีหนทางไปสู่ความสุข ความสุขคือหนทาง”

หลวงพี่หลายท่านที่อยู่หมู่บ้านพลัม โดยเฉพาะจากเมืองไทย เมื่อมาบวชและฝึกปฎิบัติ มักจะถามว่า เป้าหมายการปฏิบัติคืออะไร...ไปสู่นิพพานหรือเปล่า

หลวงพี่นิรามิสา เล่าไว้ว่า หลายท่านมักจะงงๆ เวลาหลวงปู่บอกว่า ไม่ต้องไปไหน ให้อยู่กับปัจจุบันขณะให้ได้เต็มร้อย เมื่อพลังสติเต็มเปี่ยม ปัญญาจะรู้แจ้ง นิพพานอยู่ตรงนั้น

“หนทางที่เรากำลังเดินหรือกำลังยืนอยู่ตรงนี้ นิพพานอยู่ตรงนั้น สามารถเข้าถึงเต็มร้อยในขณะนั้น ไม่ต้องวิ่งไปที่ไหน พอเราเข้าใจแบบนี้ เราก็จะใช้เวลาที่มีอยู่ในการใช้ชีวิตอย่างแท้จริง”