ส่องปรากฏการณ์ "RuPaul’s Drag Race" ที่ไม่ได้มีแค่ เกย์ อีกต่อไป

ส่องปรากฏการณ์ "RuPaul’s Drag Race"  ที่ไม่ได้มีแค่ เกย์ อีกต่อไป

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มี ชายแท้ แข่งรายการ “รูพอลส์ แดร็ก เรซ” จนคนดูตั้งคำถาม เหมาะสมหรือไม่ ขณะที่  “RuPaul’s Drag Race UK vs The World” มี “ปันปัน นาคประเสริฐ” เป็นตัวแทนคนไทย เข้าร่วมแข่งขันด้วย

กลายเป็นที่พูดถึงในโลกโซเชียลทันทีหลังจากที่ “รูพอลส์ แดร็ก เรซ” รายการประกวดแข่งขันเพื่อหาสุดยอดแดร็กควีน ออกอากาศตอนแรกจบ แม้ว่าปัจจุบันจะเดินทางมาถึงซีซันที่ 14 แล้วก็ตาม กระแสส่วนหนึ่งมาจากที่รายการยังคงสนุกและมีลูกเล่นใหม่ ๆ มานำเสนออยู่เสมอ แต่อีกที่สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมากก็คือ เป็นครั้งแรกที่มี “ชายแท้” เข้าแข่งขันในรายการ

 

  • แดร็กคืออะไร

แดร็ก” (Drag) แดร็กมาจากคำว่า “Dressed Resembling As a Girl” ที่แปลว่า แต่งตัวเป็นผู้หญิง ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง ที่แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าของบุคคลเพศตรงข้ามเพื่อใช้ในการแสดง โดยลักษณะที่สำคัญของแดร็ก คือ จะต้องมีความเหนือจริง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย การแต่งหน้า หรือการแสดง ถ้าแต่งตัวเป็นผู้หญิงจะเรียกว่า “แดร็ก ควีน” (Drag Queen) ขณะที่แต่งตัวเป็นชายจะเรียกว่า “แดร็ก คิง" (Drag Kingการจะเป็นแดร็กนั้น ไม่ว่าจะนิยามว่าเป็นเพศอะไร หรือ มีรสนิยมทางเพศแบบใดก็สามารถเป็นแดร็กได้ทั้งนั้น 

โดยการแสดงของแดร็กนั้นมีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสายเอ็นเตอร์เทน ที่ทำการแสดงตั้งแต่ การลิปซิงค์ การร้องเพลง การเต้น การเดี่ยวไมโครโฟน ขณะที่สายนางงาม จะลงประกวดในเวทีต่าง ๆ เช่นเดียวกับการประกวดนางงาม โดยจะต้องดูแลทั้งการแต่งหน้าทำผม แต่งตัวด้วยชุดสวยงาม นอกจากนี้ยังมี แดร็กสายแฟชั่น จะมีความถนัดในการออกแบบ ตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งจะมีทั้งแนวสวยงาม หรูหรา อลังการ การแต่งตัวแบบไม่ระบุเพศ แนวแคมป์ เล่นใหญ่เกินจริง ตลอดจนการแต่งกายสุดล้ำเหนือจินตนาการ ซึ่งต้องใช้การสร้างสรรค์ขั้นสูงสุดในการรวมทุกองค์ประกอบให้ออกมากลมกลืนและโดดเด่นในเวลาเดียวกัน รวมไปถึงต้องมีความเป็นศิลปินอยู่ในตัว ต้องสามารถเปลี่ยนตัวเองและทำให้คนเชื่อว่าได้กลายเป็นอีกคนหนึ่งไปจริง ๆ

  • รูพอลส์ แดร็ก เรซ คืออะไร

รูพอลส์ แดร็ก เรซ เป็นรายการเรียลลิตี้ค้นหาสุดยอดแดร็กควีนผู้มีเสน่ห์ เอกลักษณ์เฉพาะตัว ความกล้าและความสามารถอันล้นเหลือ (Charisma, Uniqueness, Nerve and Talent) ของ “รูพอล อังเดร ชาลส์” (RuPaul Andre Charles) แดร็กควีนชื่อดังของอเมริกาโดยรูปแบบการแข่งขันในแต่ละสัปดาห์จะมีภารกิจต่าง ๆ ที่ใช้ทักษะของแดร็กควีนมาใช้ในการแข่งขัน (Maxi Challenge) ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบและตัดเย็บชุด (Design Challenge) ทักษะการแสดง (Acting Challenge) การแสดงละครเวที (Musical Challenge) การร้อง การเต้น และการแต่งเพลง (Girl Group Challenge) การแต่งหน้า (Makeover Challenge) การด้นสด (Improve Challenge) เป็นต้น

นอกจากนี้ ในแต่ละสัปดาห์ยังมีการเดินแบบ (Runway) เพื่อแสดงชุดในธีมต่าง ๆ อีกด้วย ในตอนท้ายของแต่ละตอน ผู้เข้าแข่งขัน 2 คนที่ทำผลงานได้แย่ที่สุดจะต้องมาลิปซิงก์เพื่อเอาตัวรอดจากการถูกคัดออก (Lip Sync for Your Life) ซึ่งคนที่แพ้จะต้องถูกคัดออก

ส่องปรากฏการณ์ \"RuPaul’s Drag Race\"  ที่ไม่ได้มีแค่ เกย์ อีกต่อไป

รูพอล เจ้าของรายการ รูพอลส์ แดร็ก เรซ

- เครดิตรูป: เพจเฟซบุ๊ค Rupaul's Drag Race -

ในระยะแรกผู้เข้าแข่งขันของรายการรูพอลส์ แดร็ก เรซ ทั้งหมดเป็นเกย์จากทั่วสหรัฐ แต่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทั้งชาวผิวขาว ผิวดำ ชาวเอเชีย ชาวฮิสแปนิก และละตินอเมริกา รวมถึงรูปร่างของผู้เข้าแข่งขันที่มีขนาดแตกต่างกันออกไป 

อย่างไรก็ตาม มีผู้เข้าแข่งขันจำนวนไม่น้อยที่เปิดตัวว่าตนเองเป็นทรานส์เจนเดอร์ระหว่างการแข่งขัน เช่น โซนีค (Sonique) หรือที่ในปัจจุบันรู้จักในนาม “ไคลี โซนีค เลิฟ” (Kylie Sonique Love) ได้เปิดตัวว่าตนเองเป็นทรานส์เจนเดอร์ใน ตอน รียูเนียนของซีซัน 2 และ “โมนิกา เบเวอร์ลีฮิลส์” (Monica Beverly Hillz) เปิดตัวว่าเป็นทรานส์เจนเดอร์บนเวทีการแข่งขันในซีซัน 5 เพราะในช่วงนั้นการเป็นทรานส์เจนเดอร์ยังไม่ได้รับการยอมรับในสังคมมากเท่าในปัจจุบัน

  • การกีดกันทรานส์เจนเดอร์ของรูพอล

รูพอลไม่อนุญาตให้หญิงข้ามเพศที่แปลงเพศ หรือทำหน้าอกแล้ว รวมถึงผู้หญิงแท้ ที่ในวงการแดร็กเรียกว่า “ไบโอควีน” (Bio Queen) เข้าร่วมแข่งขันในรูพอลส์ แดร็ก เรซ แม้ว่าในซีซัน 9 จะมี “เปปเปอร์มินต์” (Peppermint) เป็นผู้เข้าแข่งขันคนแรกที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศ (ตั้งแต่แรก) ก็ตาม โดยรูพอลให้สัมภาษณ์กับเดอะ การ์เดียน ถึงประเด็นดังกล่าวไว้ว่า

“แดร็กคงจะดูอิหลักอิเหลื่อ และสูญเสียความเป็นตัวตนไป ถ้าแดร็กไม่ได้แต่งโดยผู้ชาย แก่นแท้ของแดร็กคือการต่อต้านการครอบงำทางวัฒนธรรมของพวกผู้ชาย เพราะฉะนั้นเมื่อผู้ชายแต่งแดร็กมันจึงเป็นการตอกย้ำการปฏิเสธความเป็นชายได้ดีกว่า”

“เปปเปอร์มินต์เริ่มกระบวนการแปลงเพศหลังจากที่รายการจบ แม้ว่าเธอบอกว่าเธอเป็นผู้หญิงแต่เธอยังไม่ได้เป็นจริง ๆ ถึงคุณจะบอกว่าคุณเป็นผู้หญิงแต่ความเป็นจริงคุณจะเปลี่ยนผู้หญิงก็ต่อเมื่อร่างกายของคุณเปลี่ยนไปแล้ว”

หลังจากที่บทสัมภาษณ์นี้ออกไป รูพอลโดนผู้คนในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศโจมตีอย่างหนัก เพราะกลุ่มทรานส์เจนเดอร์ โดยเฉพาะผู้หญิงข้ามเพศล้วนมีบทบาทสำคัญในวงการแดร็กมาตั้งแต่แรกเริ่ม และเมื่อบุคคลนั้นได้นิยามตนเองว่าเป็นผู้หญิงแล้ว เขาย่อมเป็นผู้หญิง ไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าแปลงเพศแล้วหรือไม่ และรูพอลยังถูกตั้งคำถามว่าเขามีอาการเกลียดชังหรือกลัวบุคคลข้ามเพศ หรือที่เรียกว่า “ทรานส์โฟเบีย” (Transphobia) หรือไม่

 

  • ความหลากหลายทางเพศในรูพอลส์ แดร็ก เรซ

รูพอลจึงแก้เกมนี้ด้วยการให้ “เจีย กันน์” (Gia Gunn) ผู้หญิงข้ามเพศ เข้าแข่งขันใน “รูพอลส์ แดร็ก เรซ ออลสตาร์” ซีซัน 4 (RuPaul’s Drag Race All Star) เป็นรายการให้อดีตผู้เข้าแข่งขันในรูพอลส์ แดร็ก เรซซีซันก่อน ๆ มาแข่งขันกันใหม่ ซึ่งสามารถเรียกความเชื่อมั่นของคนในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศขึ้นมาได้บ้าง

ต่อมาในปี 2564 เป็นปีแห่งความหลากหลายทางเพศของรูพอลส์ แดร็ก เรซอย่างแท้จริง เมื่อ “ก็อทมิก” (Gottmik) ได้เข้าร่วมแข่งขันรูพอลส์ แดร็ก เรซ ซีซัน 13 ในฐานะ ผู้ชายข้ามเพศคนแรกของรายการ นอกจากนี้ ในรายการยังมีการเปลี่ยนคำพูดต่าง ๆ ที่บ่งบอกเพศหญิง เป็น คำกลางไม่มีเพศแทน เช่น “สุภาพบุรุษทั้งหลาย ติดเครื่องให้พร้อม และเป็นผู้หญิงสุดเลิศคว้าชัย (Gentlemen, start your engines, and may the best woman win) “ผู้เข้าแข่งขันทั้งหลาย ติดเครื่องให้พร้อม และเป็นแดร็กควีนสุดเลิศคว้าชัย” (Racers, start your engines, and may the best drag queen win)

นอกจากนี้ ในซีซัน 3 ของ “รูพอลส์ แดร็ก เรซ ยูเค” (Rupaul’s Drag Race UK) มี “วิคตอเรีย สโคน” (Victoria Scone) ผู้หญิงแท้เข้าร่วมแข่งขันในแฟรนไชส์รายการแดร็กเรซเป็นครั้งแรก ส่วน ไคลี โซนีค เลิฟ และ “จิกลี คาลิเอนเท” ได้กลับเข้าแข่งขันอีกครั้งใน รูพอลส์ แดร็ก เรซ ออลสตาร์ ซีซัน 6 และไคลีเป็นทรานส์เจนเดอร์คนแรกที่ชนะในแฟรนไชส์แดร็กเรซเวอร์ชันสหรัฐ (ก่อนหน้านี้มีทรานส์เจนเดอร์ชนะรายการนี้มาแล้วนั่นคือ “แองเจเล อานัง” จาก “แดร็กเรซ ไทยแลนด์ ซีซัน 2

ส่องปรากฏการณ์ \"RuPaul’s Drag Race\"  ที่ไม่ได้มีแค่ เกย์ อีกต่อไป

ไคลี่ โซนีค เลิฟ ทรานส์เจนเดอร์คนแรกที่ชนะรายการรูพอลส์ แดร็ก เรซ

- เครดิตรูป: เพจเฟซบุ๊ค Rupaul's Drag Race -

 

  • ชายแท้ในรูพอลส์ แดร็ก เรซ

ในปีนี้ รูพอลส์ แดร็ก เรซ ซีซัน 14 ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการให้ชายแท้อย่าง “แมดดี้ มอร์โฟซิส” (Maddy Morphosis) เป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขัน ซึ่งทำให้เกิดการถกเถียงขึ้นเป็นวงกว้างในโลกออนไลน์ ว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่ที่ให้ชายแท้เข้ามาแข่งขันในรายการอย่างรูพอลส์ แดร็ก เรซที่เป็น “พื้นที่ปลอดภัย” เป็นภาพตัวแทน และเป็นพื้นที่แสดงวัฒนธรรมชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ส่องปรากฏการณ์ \"RuPaul’s Drag Race\"  ที่ไม่ได้มีแค่ เกย์ อีกต่อไป

ภาพโปรโมทรายการรูพอลส์ แดร็ก เรซ ซีซัน 14

- เครดิตรูป: เพจเฟซบุ๊ค Rupaul's Drag Race -

 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว วงการแดร็ก มีแดร็กควีนที่เป็นชายจริงหญิงแท้จำนวนไม่น้อย และมีความหลากหลายทางเพศอย่างมาก เนื่องจากแดร็กเป็นศิลปะที่ใครก็สามารถทำก็ได้ และแดร็กไม่ได้ยึดโยงอยู่กับเพศหรือรสนิยมทางเพศ อีกทั้งในรายการ “รูพอลส์ ซีเคร็ท เซเลบริตี แดรก เรซ” (RuPaul's Secret Celebrity Drag Race) ซึ่งเป็นหนึ่งแฟรนไชส์ของแดร็กเรซ ก็มีผู้มีชื่อเสียงที่เป็นชายแท้มาร่วมแข่งขันด้วยเช่นกัน 

อีกทั้งเมื่อตอนวิคตอเรีย สโคน ที่เป็นหญิงแท้ได้เข้าร่วมแข่งขันเมื่อปีที่แล้ว ทุกคนต่างยินชมและยินดีที่มีผู้หญิงแท้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน แมดดี้ก็ควรได้รับการสนับสนุนเช่นกัน เพราะแมดดี้ก็สนับสนุนชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศมาโดยตลอด

ส่วนแมดดี้ได้ออกมากล่าวผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า เขาอยู่ในวงการแดร็กมา 5 ปีแล้ว และไม่ได้รู้สึกว่าการเป็นชายแท้จะทำให้เขาถูกกีดกันออกจากชุมชนแดร็ก เขาได้รับการต้อนรับอย่างดีจากชุมชนแดร็กเสมอมา และหวังว่าการที่เขาได้เข้ามาแข่งขันในแดรก เรซจะทำให้กลุ่มชายขอบในชุมชนแดร็กได้มีโอกาสฉายแสงและได้รับพื้นที่ในการแสดงออกมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เขายังให้ความเห็นว่า “ความเป็นชายและความเป็นหญิงต่างเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา การแบ่งแยกความเป็นชายและหญิงออกจากกันล้วนสร้างตราบาปให้แก่ผู้ชายที่โอบรับความเป็นหญิงไว้ และทำให้ภาวะความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic Masculinity) ยังคงดำเนินต่อไปไม่สิ้นสุด”

ส่องปรากฏการณ์ \"RuPaul’s Drag Race\"  ที่ไม่ได้มีแค่ เกย์ อีกต่อไป

แมดดี้ มอร์โฟซิส ผู้เข้าแข่งขันชายแท้คนแรกในรายการรูพอลส์ แดร็ก เรซ

- เครดิตรูป: เพจเฟซบุ๊ค Rupaul's Drag Race -

 

ขณะที่ผู้เข้าแข่งขันคนอื่น และอดีตผู้เข้าร่วมแข่งขันล้วนยินดีและสนับสนุนที่มีแมดดี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวแดร็กเรซด้วยเช่นกัน

หากมองในแง่การผลิตรายการแล้ว การนำชายแท้เข้ามาในรายการย่อมส่งผลดีกับรายการมากกว่าผลเสีย อย่างน้อยที่สุดก็เกิดการพูดถึงอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้แก่ผู้ชมและสังคม ว่าเป็นผู้ชายก็สามารถแต่งแดร็กได้เช่นกัน เหมือนกับที่ “แฮร์รี่ สไตลส์” ใส่เสื้อผ้าผู้หญิงขึ้นปกแม็กกาซีนหลายเล่ม

 

  • ความสำเร็จของ รูพอลส์ แดร็ก เรซ

รูพอลส์ แดร็ก เรซ เป็นหนึ่งในรายการที่ประสบความสำเร็จมากในปัจจุบัน โดยได้รับรางต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น MTV Movie & TV Awards, People's Choice Awards รวมถึงรางวัลที่ใหญ่ที่สุดของรายการโทรทัศน์สหรัฐ อย่าง Primetime Emmy Award นอกจากนี้ยังมีประเทศอื่น ๆ ซื้อลิขสิทธิ์รายการไปทำเวอร์ชั่นของตนเองแล้วกว่า 10 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่เป็นประเทศแรกในโลกที่ซื้อลิขสิทธิ์รายการมาทำในเวอร์ชั่นของตัวเอง โดยใช้ชื่อว่า “แดร็กเรซ ไทยแลนด์” และกำลังจะมีซีซัน 3 ภายในปีนี้อีกด้วย ทำให้ในปีจะมีรายการจากแฟรนไชส์ เดรก เรซ เตรียมออกอากาศกว่า 15 รายการ (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ม.ค. 2565)

ส่องปรากฏการณ์ \"RuPaul’s Drag Race\"  ที่ไม่ได้มีแค่ เกย์ อีกต่อไป

แดร็ก เรซ ไทยแลนด์ ซีซัน 2

- เครดิตรูป: เพจเฟซบุ๊ค Drag Race Thailand -

ล่าสุดช่วงบ่ายของวันที่ 17 ม.ค. ช่อง ‘BBC 3’ ได้ปล่อยวิดีโอและภาพโปรโมทของรายการ “RuPaul’s Drag Race UK vs The World” เป็นรายการที่รวมเอาผู้เข้าแข่งขันในแฟรนไชส์แดร็กเรซจากทั่วโลกมาแข่งขันกัน ทั้งสหรัฐ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ แคนาดา โดยหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันนั้นมี “ปันปัน นาคประเสริฐ” หรือที่รู้จักในนาม “แพนไจน่า ฮีลส์” พิธีกรร่วมในรายการแดร็กเรซ ไทยแลนด์ เข้าร่วมแข่งขันในซีซันนี้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ร่วมแข่งขันในรายการแดร็กเรซเวอร์ชั่นต้นฉบับ 

นอกจากหัวใจหลักของรายการนี้ ที่เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ใครหลาย ๆ คน ให้กล้าที่จะยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น ดังคำกล่าวของรูพอลที่กล่าวในตอนจบของทุกตอนว่า “หากคุณยังไม่รักตัวเอง แล้วคุณจะไปรักคนอื่นได้อย่างไร”

อีกหนึ่งข้อความที่รูพอลต้องการบอกกับผู้ชมในซีซันนี้อาจจะเป็นการยอมรับความต่างของคนอื่นด้วยก็เป็นได้ เพราะการไม่ยอมรับชายแท้ที่สนับสนุนผู้มีความหลากหลายทางเพศมาโดยตลอด เข้าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนั้น คงไม่ต่างอะไรกับชายจริงหญิงแท้บางส่วนในสังคมที่กีดกันกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเช่นกัน
 

ที่มา: Digital Spy, Gay Times, Salon, The Guardian