รู้ไหม...โลกร้อนขึ้น 1 องศา ส่งผลต่อรสชาติ“กาแฟ”

รู้ไหม...โลกร้อนขึ้น 1 องศา ส่งผลต่อรสชาติ“กาแฟ”

"กาแฟแบรนด์ไทย" อร่อยไม่แพ้ชาติอื่น เป็นธุรกิจที่มีอนาคต หลายคนอาจไม่รู้ว่า กว่าจะได้กาแฟแต่ละแก้ว ต้องผ่านกระบวนการมากมาย แม้กระทั่งโลกร้อน ก็ส่งผลต่อเมล็ดกาแฟ

“ผมทำแบรนด์ อาข่าอามา (Akha Ama) มา 11 ปี พ่อแม่ผมปลูกกาแฟ ผมมองเห็นว่า กาแฟเป็นตัวขับเคลื่อนแก้ปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การศึกษา

เป็นจุดเริ่มต้นให้เราสร้าง Social Enterprise กิจการเพื่อสังคม ขึ้นมา แล้วได้รับทุนสนับสนุน เราก็เอากาแฟของคนไทยเรานี่ล่ะมาทำ ผ่านไปสิบปี ก็ไปเปิดร้านที่ญี่ปุ่น เตรียมเปิดโรงคั่วกาแฟเพิ่ม”

ลี-อายุ จือปา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ อาข่าอามา เล่าความเป็นมา ความสำคัญของกาแฟที่มีต่อชีวิตของเขา และชุมชน ในงานเสวนา “กาแฟดี โลกดี” ในงาน Thailand Coffee Fest 2021 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2564 ณ เมืองทองธานี

  • กาแฟ ขับเคลื่อนชุมชน

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ นักพัฒนากาแฟ ผู้สนับสนุนให้เกษตรกร หันมาทำเกษตรอินทรีย์เพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า กาแฟนอกจากทำให้ชีวิตของเกษตรกรบนดอยเปลี่ยนไป  การทำเกษตรอินทรีย์ ทำให้ผลผลิตมีมูลค่ามากขึ้น

รู้ไหม...โลกร้อนขึ้น 1 องศา ส่งผลต่อรสชาติ“กาแฟ” Cr. Akha Ama Coffee

“จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมมีข้อจำกัดในการส่งเสริมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ เวลานายทุนหรือผู้ซื้อขึ้นไปบนดอยแล้วบอกชาวบ้านให้ทำเกษตรอินทรีย์ เลิกใส่ปุ๋ย

ถ้าผลผลิตเขาลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ แล้วต้องรอ 3 ปีถึงจะได้รับการประกาศว่าเป็นออร์แกนิค เป็นเรื่องที่เกษตรกรคนนั้นต้องตัดสินใจเอง เพราะมีไม่เยอะที่ทำเกษตรอินทรีย์ได้ดีและได้ผลกำไร”

กาแฟที่เป็นเกษตรอินทรีย์ จึงไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ นอกจากนี้ สภาพอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วก็มีผลกระทบกับกาแฟอย่างมาก

รู้ไหม...โลกร้อนขึ้น 1 องศา ส่งผลต่อรสชาติ“กาแฟ” Cr. Akha Ama Coffee

  • โลกร้อน ส่งผลต่อกาแฟ

ลี เล่าว่ากว่าจะได้กาแฟมาแต่ละเมล็ดไม่ง่ายเลย ยิ่งภาวะโลกร้อน กระทบโดยตรงกับกาแฟ

“ข้อแรก.จากผลการสำรวจมีเกษตรกรที่ล้มเลิกการปลูกกาแฟ ตั้งแต่ปี 2013 มาถึงทุกวันนี้ ไม่น้อยกว่า 400,000 ครัวเรือน โลกร้อนขึ้น ทำให้มีแมลง มีโรคพืชต่างๆ เกิดขึ้น

ต้นทุนก็เพิ่มขึ้น เพราะกาแฟเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเยอะ กว่าจะปลูก-ดูแล-เก็บเกี่ยว จนมาถึงแก้วกาแฟ ต้องผ่านนิ้วมือมากกว่า 300 ครั้งต่อหนึ่งเมล็ด 

ข้อสอง.ในปีนี้ เอลนีโญ ลานีญา ที่เกิดขึ้นในบราซิลและหลายๆ ประเทศ ทำให้สูญเสียกาแฟถึง 10,000,000 กระสอบ คูณ 60 กิโล เข้าไปจะเป็นเท่าไร

เอาแค่พื้นที่ใกล้ๆ บ้านเรา เจอโรคเชื้อรา ทำให้ต้นกาแฟทิ้งใบแห้งคาต้นไปเลย ก็เกิดจากภาวะโลกร้อน นี่คือตัวอย่าง ยังมีอีกมาก ผมสามารถพูดเป็นวันได้เลย ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องราคาเลยนะ

อากาศร้อนขึ้น 1 องศา จะทำให้ผลผลิตกว่า 30 เปอร์เซนต์ถูกทำลาย เพราะมอดวางไข่ได้เพิ่มขึ้นเติบโตได้ไวขึ้น จากเดิมมอดคู่หนึ่งใช้เวลา3-4เดือนกว่าจะมีลูกหลาน ปัจจุบัน 15 วันเอง

สอง. โรคเชื้อรา เมื่อต้นกาแฟอ่อนแอลง มันก็เข้ามาทำลาย ทำให้ไม่มีผลผลิต คุณภาพกาแฟที่จะสร้างความหลากลายทางรสชาติก็แย่ลง แมลงในสวนที่พร้อมจะผสมเกสรก็น้อยลง

การวิจัยบอกว่า มีผึ้งมีแมลงที่ดี ผลผลิตจะเพิ่มขึ้น 25 เปอร์เซนต์ ระบบนิเวศจะแย่ลง ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้น”

รู้ไหม...โลกร้อนขึ้น 1 องศา ส่งผลต่อรสชาติ“กาแฟ” Cr. Akha Ama Coffee

  • ประเทศไทย พื้นที่ปลูกกาแฟมีน้อย

ฟูอาดี้ มองว่าสภาพอากาศและพื้นที่ปลูกกาแฟในประเทศไทยมีน้อย เพราะอากาศไม่เย็น

“สิ่งจำเป็นที่สุดในการปลูกกาแฟคือ อุณหภูมิ พอโลกร้อนขึ้น ก็ต้องขยับไปปลูกในพื้นที่สูงขึ้น นั่นคือ ป่าต้นน้ำ ป่าสงวน มีพื้นที่ไม่มากในโลกที่จะปลูกกาแฟได้ ในบ้านเราต้นไหนที่อยู่ใต้ร่มเงา มันจะดก ใบจะสวย ต้นไหนอยู่ข้างนอกจะแห้งๆ

สอง. ภาวะโลกร้อน อากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ได้ เกิดฝนตกเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้ต้องเก็บผลผลิตเร็วขึ้น ส่งผลกระทบกับการวางแผน การจ่ายเงิน

อย่างที่โคลัมเบีย จะเก็บสองครั้ง แต่บ้านเรามี Season เดียว มันวางแผนได้ยากมาก เพราะอากาศไม่เหมือนกันทุกปี นี่คือปัญหาของโลกร้อน มันคาดการณ์ไม่ได้เลย”

รู้ไหม...โลกร้อนขึ้น 1 องศา ส่งผลต่อรสชาติ“กาแฟ” Cr. Akha Ama Coffee

  • กาแฟไทยออร์แกนิค มีไหม

"กาแฟดีๆ ที่เป็นออร์แกนิคส่วนใหญ่มาจากประเทศที่ยากจนมากๆ นั่นเพราะเขาไม่มีเงินซื้อปุ๋ยมาใส่" ฟูอาดี้ บอกอย่างนั้น 

“ที่เปรู ลาว เม็กซิโก ชาวสวนไม่มีปุ๋ยที่จะใส่ เกษตรอินทรีย์เป็นคำตอบสำหรับบางคน แต่ต้องใช้วิธีปรับหน้าดิน ไม่ใช้มากเกินไป ใช้อย่างจำกัด ใช้อย่างเข้าใจ

วงการกาแฟไทย เรามาถึงระดับที่ไม่ขี้เหร่ ไปอยู่ในเวทีโลก อยู่ในโรงคั่วดังๆ ของโลกได้ 4-5 ปีหลังเราพัฒนาเร็วมาก การแปรรูปต้องเริ่มตั้งแต่แร่ธาตุในดิน และสายพันธุ์ ต้องใช้เวลา 5-10 ปี

กาแฟระดับ 90 คะแนนบวก ของปานามา, คอสตาริกา มีการแปรรูปเหมือนโรงเรียนกวดวิชา แต่เด็กคนหนึ่งถ้าเก่งอยู่แล้วก็ไม่ต้องกวดวิชาเยอะ สายพันธุ์ที่ดี รสชาติดี มักไม่ทนกับอากาศไม่ดี ภาวะโลกร้อนมีผล”

สิ่งที่ ลี อยากบอกกับคนส่วนใหญ่คือ คนชอบเกษตรอินทรีย์ แต่ไม่รู้ว่าคนทำลำบาก

“เกษตรอินทรีย์ คนกินชอบ แต่คนทำไม่สามารถดูแลครอบครัวได้ พวกเราควรสนับสนุนคนที่ออกตัวว่าจะทำกาแฟออร์แกนิค เราต้องช่วยเขาให้ไปสู่จุดนั้นให้ได้

ถ้าเราอยากจะพัฒนากาแฟไทย เราต้องให้กำลังใจคนที่กลับไปดูแลถิ่นฐานของกาแฟ ไม่ใช่แค่การซื้อกาแฟ แต่ต้องหานวัตกรรมใหม่ๆ มาสนับสนุน 

พัฒนาเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องความรู้เกษตรกรในแหล่งที่ปลูก ผู้ประกอบการกาแฟทุกคนต้องช่วยกันทำ นี่คือสิ่งที่คนที่อยู่ต้นน้ำต้องการที่สุด"

รู้ไหม...โลกร้อนขึ้น 1 องศา ส่งผลต่อรสชาติ“กาแฟ” Cr. Akha Ama Coffee

  • กาแฟไทย มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

ลี มองว่า วงการกาแฟประเทศไทย แตกต่างจากประเทศอื่นมาก เพราะคนปลูกกับคนซื้อใกล้ชิดกันมาก

“ไม่มีประเทศไหน ที่คนต้นน้ำและปลายน้ำใกล้ชิดกันได้ขนาดนี้ หนึ่ง.เรื่ององค์ความรู้ ทุกคนพร้อมช่วยเหลือกัน ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมาก สอง.ทุกคนที่กินกาแฟ พร้อมสนับสนุนกาแฟไทย

เรากำลังพัฒนาในเรื่ององค์ความรู้ข้อมูลสายพันธุ์กาแฟที่สามารถปลูกและขยายได้ รสชาติอาจเป็นสายพันธุ์เดียวกับต่างประเทศ แต่มีความเป็นไทยอยู่ ของเรามีความแตกต่าง ในเวทีการประกวดกาแฟสิบสุดยอดของปีนี้ เราได้เห็นกาแฟสายพันธุ์ดีๆ ของชาวบ้าน ชุมชน เกษตรกร มากมาย”

ส่วน ฟูอาดี้ มองว่า ปรากฎการณ์กาแฟในประเทศไทยพิเศษและแปลกมาก

“เรามีตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ที่อยู่ด้วยกัน ประเทศดังๆ ที่ปลูกกาแฟ เอธิโอเปีย, โคลัมเบีย เขาส่งออกหมด ประเทศไทยเราไม่ได้แข่งกันเรื่องราคากับคุณภาพ แต่เรามีเรื่องอื่นๆ ที่จะสื่อสาร และชาวสวนที่ขึ้นมาอยู่ในระดับประกวดได้ส่วนใหญ่อายุไม่เยอะ

ขณะที่ประเทศอื่นลูกหลานหนีเข้าเมืองหมด ไม่กลับไปปลูกกาแฟ แต่บ้านเรา กาแฟเป็นคำตอบที่ให้ค่าครองชีพได้ มีช่องว่างที่สามารถพัฒนาได้มากขึ้นกว่านี้”