คนต้นคิด"คลองเตยดีจัง": ครูแอ๋ม-ศิริพร สร้างทางเลือกใหม่ให้เด็กคลองเตย

คนต้นคิด"คลองเตยดีจัง": ครูแอ๋ม-ศิริพร สร้างทางเลือกใหม่ให้เด็กคลองเตย

เป็นครูข้างถนนที่คิดว่า ต้องจัดการชีวิตตัวเองให้ได้ก่อน ลงทุนในหุ้น ทำงานมีรายได้อื่นๆ ล่าสุดอยากแก้ปัญหาการศึกษาที่ต้นเหตุ จึงรวมเงินกันซื้อที่ดินทำศูนย์การเรียนให้"เด็กคลองเตย"

เรื่องราวที่จะทอล์คต่อไปนี้ เป็นเรื่องผู้หญิงคนหนึ่งจบพยาบาล เลือกไปเป็นครูอาสาสมัครที่คลองเตย ทำไปทำมาจนตัั้งกลุ่มคลองเตยดีจัง 

แค่ชื่อกลุ่ม ก็สื่อแล้วว่า คิดบวก 

คิดบวกอย่างเดียวไม่พอ ต้องลงมือทำ เธอเข้าไปในคลองเตย เปลี่ยนโรงฆ่าสัตว์เป็นโรงเล่น นำศิลปะและดนตรี เชื่อมร้อยเด็กๆ ที่มีปัญหาให้มีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น 

ย้อนไปถึงช่วงโควิดระบาดหนักในคลองเตย (ปี2564) ผู้หญิงตัวเล็กๆ ครูแอ๋ม-ศิริพร พรมวงศ์ หัวหน้าโครงการคลองเตยดีจัง เป็นตัวเชื่อมร้อยเครือข่ายมากมายเข้ามาช่วยคนคลองเตย ใช้วิธีบริหารจัดการแเบบแนวราบ ไม่มีหัวหน้า ไม่มีลูกน้อง มีแต่ทีมงาน และทีมเพื่อนมนุษย์ จนผ่านวิกฤติมาได้

เรื่องราวที่เราคุยกันครั้งนี้ ตั้งแต่การทำงานเพื่อสังคมจนถึงชีวิตส่วนตัว ทั้งเรื่อง การทำศูนย์การเรียนรูปแบบใหม่ ที่จ.สุพรรณบุรี เพื่อผลักดันเด็กคลองเตยมีที่เรียนหนังสือ มีวุฒิการศึกษา หางานทำเลี้ยงตัวเองได้ 

ถ้าจะบอกว่า ครูแอ๋ม เป็นคนทำงานเพื่อสังคมยุคใหม่ คงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลย

เธอรู้ว่าโลกที่ผันแปร จะมีอาชีพเดียวไม่ได้แล้ว เธอมีรายได้จากการเล่นหุ้น โดยลงทุนระยะยาว มีเงินเดือนจากการทำงานเพื่อสังคม ทำรายการสารคดี,รับทำค่ายเด็ก,รับจัดออแกไนซ์ ฯลฯ  ชีวิตก็ไม่ได้ตั้งเป้าหมายอะไรที่ยิ่งใหญ่เกินตัว ทำเท่าที่ทำได้ แล้วผลจะตามมา

“ถ้าจะทำงานแบบนี้ ต้องจัดการชีวิตตัวเองให้ได้ก่อน ” ครูแอ๋ม เล่ากับจุดประกาย -กรุงเทพธุรกิจ ซึ่งเรื่องนี้ก็ตอบโจทย์บางอย่างได้ว่า ถ้าจะช่วยคนอื่น ต้องเลี้ยงตัวเองให้ได้ก่อน...

คนต้นคิด\"คลองเตยดีจัง\": ครูแอ๋ม-ศิริพร สร้างทางเลือกใหม่ให้เด็กคลองเตย

ครูแอ๋มเลือกที่จะทำงานกับเด็กตั้งแต่เรียน ?

ทำค่ายอาสาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย เคยทำกลุ่มสลึง ทำเรื่องดนตรีมาก่อน พอเรียนจบด้านพยาบาล ทำงานที่โรงพยาบาลพักหนึ่ง ก็ยังทำกิจกรรมพวกนี้

คิดอย่างไรเข้าไปทำงานในคลองเตย

ตอนนั้นเข้าไปบริจาคของ ระดมเครื่องดนตรีไปให้เด็กๆ แล้วไม่มีครูสอนดนตรี เราก็เข้าไปเป็นอาสาสมัครสอนทุกวันเสาร์ สอนมาเรื่อยๆ จากนั้นก็ทำเทศกาลดนตรีและศิลปะ เช่าอาคารเพิ่มวันสอนมากขึ้น เริ่มสอนวันธรรมดา จากนั้นพัฒนาเป็นกิจกรรมอื่นๆ มีครูอาสาเข้ามามากขึ้น เริ่มขอทุนทำจริงจัง

ทำไปทำมาเป็นครูอาสาข้างถนนกว่า 8 ปี ? 

พอมีช่องทางอื่นๆ ทำให้เด็กได้ เราก็ทำ แล้วปัญหาเด็กคลองเตย ไม่ใช่ว่าไม่มีที่เรียนดนตรี แต่มีปัญหาความยากจน ปัญหาครอบครัว เราก็พยายามหากิจกรรม เพิ่มอาสาสมัคร ระดมทุน พัฒนาพื้นที่ ทำสนามเด็กเล่น

ตอนแรกๆ ที่เข้ามาบุกเบิก ทำกิจกรรมสอนเด็กๆ ในคลองเตย ก็ไม่มีเพื่อนอยู่ที่นั่น เป็นเครือข่ายอาสาสมัครชวนๆ กันมา ไม่ได้รู้จักใครเป็นการส่วนตัว

ตอนที่เข้ามาทำงานคลองเตย ครูแอ๋มมาด้วยความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไหม

เราเป็นองค์กรเล็กๆ ทำในสิ่งที่เราทำได้ ไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ใหญ่เกินตัว เกินกำลังและเราไม่ได้มีทุนมาก ไม่ได้รับงบจากรัฐ ทั้งๆ ที่บางเรื่องเป็นหน้าที่รัฐ เราก็ทดลองทำตามโมเดลของเรา

ช่วงโควิดระบาดหนัก(ปี 64) ครูแอ๋มประสานงานกับเครือข่ายต่างๆ จนผ่านวิกฤติไปได้ ตอนนั้นบริหารจัดการอย่างไร

เมื่อพ่อแม่เด็ก คนใกล้ตัว ชุมชนที่เรารู้จัก เริ่มติดเชื้อโควิด เป็นภาวะที่หลายคนตกใจ เป็นสถานการณ์ที่หลายคนงงว่าจะต้องทำยังไง เริ่มมีเครือข่ายต่างๆ เข้ามาช่วยคนในชุมชนติดเชื้อเยอะมาก รัฐช่วยเหลือไม่ทั่วถึง

เรากับทีมคลองเตยดีจัง ก็ออกแบบวิธีแก้ปัญหาหน้างานเลย ต้องแก้ปัญหาเรื่องปากท้องและคนตกงานก่อน จากนั้นแก้ปัญหาคนติดโควิด ระดมอุปกรณ์เข้ามา เมื่อคนเริ่มติดเชื้อ ก็ทำระบบติดตาม ระบบส่งต่อ ส่วนใหญ่รูปแบบที่ทำออกมา ก็เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

เพราะปัญหาแบบนี้ไม่ได้ถูกคิดไว้เป็นระบบเหมือนไฟไหม้ที่เรารู้ว่าต้องมีขั้นตอนการจัดการอะไรบ้าง การระบาดของโควิดเป็นปัญหาเกิดใหม่ เราใช้วิธีการประชุมวางแผน ดูปัญหาว่ามีอะไรบ้าง

คนต้นคิด\"คลองเตยดีจัง\": ครูแอ๋ม-ศิริพร สร้างทางเลือกใหม่ให้เด็กคลองเตย

(ครูแอ๋ม-ศิริพร คลองเตยดีจัง) 

ไม่เคยจัดการปัญหาการระบาดโควิดในชุมชนใหญ่ขนาดนี้ แล้วทำอย่างไร

ใช้สัญชาติญาณในการแก้ปัญหา เพราะเวลาทำโครงการต่างๆ เราก็ทำแบบนี้ เราเป็นองค์กรคนรุ่นใหม่ ไม่มีหัวหน้า เป็นองค์กรแนวราบ ไม่เหมือนระบบบริหารแบบบนลงล่าง เวลาตัดสินใจทำได้เลย ใช้ความเห็นที่ประชุม

ทุกคนเท่าเทียมกัน เราไม่ได้มีวัฒนธรรมองค์กรแบบเก่า เราเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง ซึ่งต่อไปคนรุ่นใหม่จะบริหารแบบแนวราบมากขึ้น

ตอนนั้นคลองเตยดีจัง เป็นจุดเชื่อมกับองค์กรต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือคนคลองเตย ทำงานกับเครือข่ายเป็นพันๆ คน เราแค่เป็นตัวเชื่อมในการแก้ปัญหา ข้อสำคัญคือ มีคนเก่งๆ แต่ละเครือข่ายเข้ามาช่วย เราก็ประสานภายในกับภายนอก ทำให้จัดการปัญหาโควิดได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนใหญ่งานเพื่อสังคมรายได้ไม่มาก แล้วครูแอ๋มบริหารจัดการชีวิตอย่างไร

แรกๆ ที่มาทำงานอาสาในคลองเตย ก็ถูกคนรอบข้างตั้งคำถาม แต่เราก็บอกว่า เราจัดการชีวิตได้ ไม่มีปัญหา เราเองไม่ได้ทำงานองค์กรพัฒนาสังคมอย่างเดียว เราทำงานอื่นๆ ด้วย

ต้องเลี้ยงตัวเองให้ได้ก่อน ไม่ว่างานอีเว้นท์ งานดนตรี ออแกไนซ์ ทำกระบวนการค่ายเด็ก เราทำทุกอย่าง เป็นทักษะที่เรามีอยู่ แม้เราจะทำงานเพื่อสังคม แต่เราก็มีเงินเดือนจากโครงการที่ขอทุน 

เราไม่ได้เป็นองค์กรชัดเจน เราเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำงานฟรีแลนซ์เพื่อสังคม อย่าง“คลองเตยดีจัง” มีหลายโครงการที่เราขอทุนรายปีทำงาน แล้วก็ระดมจากภาคเอกชน ตอนนี้ขึ้นปีที่ 8 เรามีอาสาสมัครเข้าๆ ออกๆ หลายร้อย มีคนทำงานหลักๆ 5 คนมีเงินเดือน

ปัญหาคนคลองเตยก็ยังเป็นเรื่องความยากจน ปัญหาหลักอีกอย่างคือการศึกษาของเด็กๆ เด็กหลายคนไม่รู้จะทำอะไร ไม่ได้เรียนหนังสือหลายคนหันไปใช้ยา พอมีพื้นที่มีโอกาสหลายคนก็กลับมา

คนต้นคิด\"คลองเตยดีจัง\": ครูแอ๋ม-ศิริพร สร้างทางเลือกใหม่ให้เด็กคลองเตย

ไม่ได้มีรายได้ทางเดียวจากงานเพื่อสังคม มีรายได้อื่นๆ เพื่อเลี้ยงตัวเองด้วย ? 

 มีรายได้อีกส่วนจากการลงทุนเล่นหุ้น ขายของบ้างแต่ไม่จริงจัง รับงานออแกไนซ์ ทำรายการสารคดี”ที่นี่บ้านเรา”ทางไทยพีบีเอส เราก็หาเงินด้วยวิธีการหลากหลาย

ทำงานเพื่อสังคมและลงทุนในหุ้นด้วย มีวิธีการลงทุนอย่างไร

ถ้าถามถึงชีวิตส่วนตัว คือ การลงทุนในหุ้นก็ทำมานานกว่าสิบปี เป็นรายได้หลัก ก่อนจะลงทุนก็อ่านหนังสือ ทดลองเล่น เข้าคอร์สทั้งเสียเงินและไม่เสียเงิน การลงทุนหุ้นเหมือนการสะสมเงิน ทำให้เรามีรายได้ พอหาเงินมาได้ ก็นำมาลงทุนในหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

การลงทุนในหุ้น จะเป็นรายได้หลักไม่ได้เลย ถ้าเราลงทุนไม่นานพอ เราลงทุนในหุ้นเพื่อสะสมเงิน ต่อยอดให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ คนเล่นหุ้นส่วนหนึ่งคิดว่าจะรวยได้เงินทันที มันไม่เป็นแบบนั้น สำหรับเราเป็นการสะสมทุน มีรายรับระยะยาวๆ เล่นตั้งแต่ SETตลาดหลักทรัพย์ 900 กว่าจุด ตอนนี้ SET1,600 ขึ้นมาเกือบเท่าตัว 

โครงการ คลองเตยดีจัง ทำมาอย่างต่อเนื่องกว่า 8 ปี อะไรเป็นแรงจูงใจ

ตอนเริ่มทำ เราแค่อยากทำ พอทดลองทำ แล้วไปต่อได้ก็ทำต่อ ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะเป็นคลองเตยดีจังแบบนี้ เราไม่ได้มองว่า 10 ปีข้างหน้าต้องเป็นอย่างไร แค่คิดว่าช่วงเวลานั้นอยากทำอะไร แล้วเรื่องอื่นๆ จะตามมา เราไม่ได้คิดว่าจะพาคลองเตยดีจังมาแบบนี้ เพราะเป็นงานอาสาสมัคร 

ทำๆ ไปก็เติบโตใหญ่ขึ้น มีอาสาสมัครเข้าออกเยอะแยะ คลองเตยดีจังจึงไม่ได้เกิดจาก “แอ๋มมีความฝันแล้วมาสร้างองค์กร” แต่เกิดจากพวกเราช่วยกันทำ พอทำได้ก็ขยับทำงานที่ยากขึ้น เช่น ศูนย์การเรียนรูปแบบใหม่ ไม่ได้คิดไว้ตั้งแต่แรก

ศูนย์การเรียนรูปแบบใหม่เป็นอย่างไร

เราเห็นว่า เด็กในคลองเตยออกจากระบบการศึกษา เรียนไม่จบเยอะ จึงเริ่มทำเรื่องนี้  ตั้งใจจะทำเรื่องนี้ก่อนโควิดระบาด เพื่อรองรับเด็กที่หลุดจากระบบ อยากให้พวกเขามีวุฒิการศึกษา ไม่ว่าระดับประถมหรือมัธยมต้น

เราทำเป็นศูนย์การเรียน ตามพรบ.การศึกษามาตรา 12 ซึ่งสามารถจดทะเบียน คล้ายๆ โรงเรียนเอกชน สามารถออกวุฒิการศึกษาให้เด็กได้ แต่รายละเอียดเยอะมาก มีการประเมิน วัดผล 

ถ้าทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ แค่ให้เด็กมาเรียนรู้ ออกวุฒิการศึกษาไม่ได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า ศูนย์การเรียน กับศูนย์การเรียนรู้ เป็นแบบเดียวกัน 

ศูนย์การเรียนที่เรากำลังจะทำ คือโรงเรียน เป็นสาขาหนึ่งของการศึกษาประเภทหนึ่ง ซึ่งภาคเอกชน องค์กรทั่วไปจดทะเบียนได้ เราก็ต้องออกแบบการเรียนให้เหมาะสม ไม่ใช่แค่นั่งเรียนในห้องเรียน

คิดว่าจะพาเด็กคลองเตยไปไกลแค่ไหน

เป้าหมายแรกคือ อยากให้เขามีที่เรียนและเรียนจนจบ มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ เราเพิ่งวางกระบวนการและระบบ พวกเรารวมเงินจากการทำงานร่วมกัน และเงินสะสม ซื้อที่ดิน 4 ไร่ในจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อตั้งศูนย์การเรียน แต่ไม่ได้เป็นศูนย์การเรียนที่เด็กต้องนั่งเรียนยาวๆ เป็นปี เด็กคลองเตยอาจมาเรียนที่สุพรรณบุรี 2-3 เดือน และเรียนที่คลองเตยด้วย ตอนนี้เราเซ็ตระบบไว้คือ ต้องมีระดับประถมและมัธยมต้น รูปแบบคล้ายๆ โฮมสคูลผสมโรงเรียน เพื่อแก้ปัญหาเด็กไม่ได้เรียน เป็นเรื่องที่พวกเราต้องใช้พลังเยอะ เพราะมีทีมหลักแค่ห้าคน 

ครูแอ๋มวางเป้าหมายในชีวิตไว้อย่างไร

     ไม่ได้คิดอะไรไกลๆ แค่คิดว่า เราทำสิ่งที่พอทำได้และอยู่ตรงหน้า ไม่เคยคิดจะเปลี่ยนแปลงสังคมอะไรมากมาย ไม่ได้มองว่าชีวิตเราต้องมีนั่นมีนี่ มีเงินมีบ้านแค่นั้นแค่นี้ คิดแค่ว่าทำอะไรได้ ณ ตอนนั้นก็ทำ ไม่ได้มองไกลมาก ก็ทำเรื่องที่เราอยากทำในช่วงเวลานั้นให้สำเร็จ