ย้อนไทม์ไลน์“สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ถูกปลดอย่างเป็นทางการ

ย้อนไทม์ไลน์“สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ถูกปลดอย่างเป็นทางการ

กรณี"สุชาติ สวัสดิ์ศรี" ศิลปินเเห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2554 ถูกปลดออกจากการเป็น"ศิลปินแห่งชาติ" มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มติล่าสุดประกาศปลดอย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 64 สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินเเห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2554 ได้ออกมาโพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัว เผยแพร่เอกสาร แจ้งมติคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเรื่อง ถูกปลดออกจาก ศิลปินแห่งชาติ อย่างเป็นทางการ

  • เหตุผลการยกเลิกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ

ตามที่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม 2564 ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาในการประชุมลับ กรณีการประกาศยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติการเป็นศิลปินแห่งชาติ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี

 

ซึ่งเป็นการพิจารณาสืบเนื่องจากการยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติการเป็นศิลปินแห่งชาติ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พุทธศักราช 2564

ในคราวประชุมครั้งที่ 3 / 2564 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม 2564 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ที่เข้าร่วมประชุมให้ยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรตินายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ

ย้อนไทม์ไลน์“สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ถูกปลดอย่างเป็นทางการ Cr.สุชาติ สวัสดิ์ศรี

เนื่องจากนายสุชาติ สวัสดิศรี ได้ทำการโพสต์ข้อความที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคมลงในสื่อเฟซบุ๊กอยู่เป็นประจำ โดยมีถ้อยคำหรือภาพที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันหลักที่คนไทยทั้งชาติ ให้ความเคารพเทิดทูน โดยไม่สมควรและไม่เหมาะสม

ซึ่งตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 6 องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ เรื่องนี้ถือเป็นวัฒนธรรมในสังคมไทยที่สำคัญ

ซึ่งศิลปินแห่งชาติจะต้องเคารพในหลักวัฒนธรรมไทย และศิลปินแห่งชาติจะต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ประพฤติปฏิบัติโดยแสดงออกทางกาย วาจา และจิตใจ ที่ไม่ส่งผลให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย และมีความประพฤติที่เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม 

โดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้ให้ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ชี้แจงหรือโต้แย้งคัดค้านการมีมติดังกล่าวภายในสามสิบวันแล้ว แต่มิได้มีการชี้แจ้งหรือโต้แย้งคัดค้านใดๆ 

ดังนั้น คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงเห็นว่า การกระทำดังกล่าวของนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นพฤติกรรมที่มีความประพฤติเสื่อมเสียต่อการเป็นศิลปินแห่งชาติ ตามข้อ 10 วรรคสอง ของกฎกระทรวงกำหนดสาขาคุณสมบัติ หลักเกณฑ์

วิธีการคัดเลือก และประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2555 และแก้ไขเพิ่มเติมในกฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือก และประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ข้อ 2

ย้อนไทม์ไลน์“สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ถูกปลดอย่างเป็นทางการ

  • ย้อนไทม์ไลน์ ความเคลื่อนไหว

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นวันที่ 20 สิงหาคม 2564 เมื่อ สมชาย แสวงการ 1 ใน 250 สว. ได้โพสต์เฟซบุ๊คว่า “แว่วข่าวดีคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มีมติถอดนายสุ…จากศิลปินแห่งชาติแล้ว” สร้างความเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์กันมากมายในหมู่ศิลปินหลากหลายแขนง”

วันที่ 28 สิงหาคม 2564 สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เจ้าของนามปากกา สิงห์สนามหลวง ได้โพสต์เฟซบุ๊คว่า “ทราบมาว่า กก.วัฒนธรรม จะไม่ทบทวนมติ หนังสือถอดถอนจะมาถึงประมาณวันพุธ เพื่อให้อุทธรณ์ ไม่ว่าข้อกล่าวหาจะเป็นเช่นใด ผมไม่อุทธรณ์”

วันที่ 4 กันยายน 2564 จดหมายถอดถอน ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ก็มาถึง สุชาติ สวัสดิ์ศรี มีใจความว่า คณะกรรมการวัฒนธรรมมีมติให้ยกเลิกการเชิดชูเกียรติ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี เนื่องจากนายสุชาติ ได้ทำการโพสต์ข้อความที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคมลงในสื่อเฟซบุ๊คเป็นประจำ โดยมีถ้อยคำหรือภาพที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันหลักที่คนไทยทั้งชาติให้ความเคารพเทิดทูน โดยไม่สมควรและไม่เหมาะสม

ย้อนไทม์ไลน์“สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ถูกปลดอย่างเป็นทางการ

  • หนังสือราชการมาช้ากว่าข่าวลือ

วันที่ 8 กันยายน 2564 สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้โพสต์เฟซบุ๊คว่า เรื่อง ‘ยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติการเป็นศิลปินแห่งชาติ’ ของผมนั้น แม้ผมจะไม่แยแสแล้ว แต่ก็จำต้องถามหาบรรทัดฐานของความถูกต้อง... ตั้งใจทำให้ผมเสียหาย อับอาย ก่อนจะได้รับหนังสือ ‘ยกเลิกการยกย่อง’ จากกระทรวงวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการ ที่มาล่าช้ากว่าข่าวที่ปรากฎถึง 10 วัน

เพื่อต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมและเพื่อสร้างบรรทัดฐานไว้ให้ปรากฎแก่ ‘ศิลปินแห่งชาติ’ คนอื่น ๆ ในเวลาต่อไป เพื่อดำรงขั้นตอนต่าง ๆ ตามกฎหมายให้ถูกต้อง ผมจึงได้มอบอำนาจให้กับทนายจาก ‘ภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน’ เพื่อช่วยทำความจริงให้ปรากฎว่า

‘การยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติการเป็นศิลปินแห่งชาติ’ ของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรมครั้งนี้ มีความชอบธรรมในคำสั่งทางราชการหรือไม่

ย้อนไทม์ไลน์“สุชาติ สวัสดิ์ศรี” ถูกปลดอย่างเป็นทางการ

  • กลุ่มนักเขียน 103 คน ไม่เห็นด้วย

วันที่ 12 กันยายน 2564 กลุ่มนักคิดนักเขียนจำนวน 103 คน อาทิ สุจิตต์ วงษ์เทศ, อธิคม คุณาวุฒิ, ธีระพล อันมัย, บินหลา สันกาลาคีรี, ประจักษ์ ก้องกีรติ เป็นต้น ได้ร่วมกันออก แถลงการณ์ คัดค้านมติยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ โดยรณรงค์ที่เว็บ Change.org (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีผู้ลงชื่อสนับสนุน 7139 คน) แถลงการณ์ ว่า

“จากมติคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ อ้างเหตุผลการยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติระบุว่า นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี มีพฤติกรรมเสื่อมเสียโดยการแสดงความเห็นที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคม มีถ้อยคำหรือภาพที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านสื่อเฟซบุ๊ค

มติที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาข้อสงสัยหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

หนึ่ง ข้อกล่าวหาหมิ่นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นข้อกล่าวหาที่มีผลกระทบรุนแรง จำเป็นต้องแสดงพยานหลักฐานให้ประจักษ์ชัด ไม่สมควรกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยปราศจากหลักฐานอ้างอิง คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมิใช่ผู้มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยว่าผู้ใดหมิ่นหรือไม่หมิ่นสถาบัน เนื่องจากบทบาทดังกล่าวเป็นหน้าที่ขององค์กรตุลาการ เป็นการวินิจฉัยเกินเลยบทบาทหน้าที่

สอง หากวัฒนธรรมคือสิ่งที่วิวัฒน์ไปตามความเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนทางสังคม บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงควรติดตามทำความเข้าใจสภาพสังคมอย่างเท่าทัน... และมีขีดความสามารถในการจำแนกแยกแยะได้ว่า พฤติกรรมใดเป็นการปิดหูปิดตาประจบสอพลอ พฤติกรรมใดเป็นข้อเสนอโดยปรารถนาให้สถาบันกษัตริย์อยู่ร่วมกับสังคมที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเฉกเช่นปัจจุบัน...

ขอเสนอข้อเรียกร้องด้วยการให้ทบทวนและยกเลิกมติดังกล่าวอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้อาจนำไปสู่ขั้นตอนการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อดำรงหลักการความถูกต้องและชอบธรรมอีกหลายคดีความ”

โดยทนายจาก ‘ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน’ แจ้งว่าได้ส่งหนังสือลงวันที่ 10 กันยายน 2564 ถึง ‘ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม’ เรื่อง ‘ขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการประชุมพิจารณายกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติการเป็นศิลปินแห่งชาติ’ โดยมีหนังสือมอบอำนาจของนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี แนบไปด้วย และได้ให้เวลา 10 วันในการตอบกลับ

  • ฟ้องกลับ เรียกค่าเสียหาย

14 ตุลาคม 2564 สุชาติ สวัสดิ์ศรี พร้อมด้วยทนายความเดินทางไปยื่นฟ้องคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และกระทรวงวัฒนธรรม ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ทบทวนตรวจสอบการใช้อำนาจและเพิกถอนมติของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติที่ยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติการเป็นศิลปินแห่งชาติของตนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม

พร้อมเรียกร้องให้ กระทรวงวัฒนธรรม ชดใช้ค่าเสียหายต่อการถูกละเมิดสิทธิในเกียรติยศชื่อเสียง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง รวม 1,120,000 บาท และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวการเป็นศิลปินแห่งชาติของนายสุขาติ สวัสดิ์ศรี ไว้จนกว่าจะมีคำพิพากษา