เปิดตำนาน “ป่อเต็กตึ๊ง” จากคณะเก็บศพสู่มูลนิธิอันทรงพลัง

เปิดตำนาน “ป่อเต็กตึ๊ง” จากคณะเก็บศพสู่มูลนิธิอันทรงพลัง

จากแรงศรัทธาสู่การส่งต่อการช่วยเหลือ อดีตคณะเก็บศพก้าวขึ้นเป็นมูลนิธิด้านบรรเทาสาธารณภัยแถวหน้าของประเทศ ไปย้อนอดีตวันวานตั้งแต่ข้าวต้มชามแรกมาจนถึง "ป่อเต็กตึ๊ง" สมัยใหม่ที่ความดียังไม่มีสิ้นสุด

110 ปี เป็นระยะเวลาที่แทบไม่ต้องพิสูจน์อะไร สำหรับผลงานที่ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ทำมาตลอด นับตั้งแต่บทบาท คณะเก็บศพ ขยายงานจิตอาสาจนกระทั่งติดโผมูลนิธิเบอร์ต้นๆ ของประเทศ

จากวันนั้นจนวันนี้ ตัวเลข 110 ปี ที่ครบรอบไปตั้งแต่เมื่อปี 2563 ยังไม่หยุดนิ่ง ความช่วยเหลือแบบครบวงจรที่ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ทุ่มเทไปทั้งหมดยังเดินหน้าต่อ ตราบใดที่ยังมีคนต้องการความช่วยเหลือ ไม่ใช่แค่คนไทย แต่หมายถึงทุกคน

"ป่อเต็กตึ๊ง" ตำนานที่ยังมีลมหายใจ

ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2480 ที่ได้จดทะเบียนก่อตั้งเป็นมูลนิธิชื่อว่า มูลนิธิฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง หมายเลขทะเบียน 11 มีเงินทุน 2,000 บาท (สองพันบาทถ้วน) โดยพระอนุวัฒน์ราชนิยม (ฮง เตชะวาณิช) ต้นตระกูลเตชะวานิช

วิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เล่าให้จุดประกายฟังว่าสมัยนั้นก่อนจดทะเบียนเป็นมูลนิธิเป็น คณะเก็บศพไต้ฮงกง มาก่อน จึงทำให้ภาพจำของหลายคนในวันนี้ยังติดว่ามูลนิธิมีหน้าที่เดียวคือเก็บศพ แต่ในความจริงปัจจุบัน ป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง หรือว่า ป่อเต็กตึ๊ง ขยายงานออกไปหลายอย่างมาก

“ป่อ แปลว่าตอบแทน เต็ก แปลว่าสัจธรรมหรือคุณธรรม เซี่ยง คือความดี ตึ๊ง คือสถานที่ รวมกันเป็น สถานที่ประกอบคุณงามความดีเพื่อตอบแทนบุณคุณแผ่นดิน ชื่อเต็มๆ ฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง ที่เราไปจดทะเบียนเป็นทางการ ฮั่วเคี้ยว คือ คนจีนโพ้นทะเล แต่เพื่อให้สั้นก็เลยเรียกว่า ป่อเต็กตึ๊ง คนเลยจำได้แค่ว่า ป่อเต็กตึ๊ง เพราะฉะนั้นคำว่า ความดีที่ยั่งยืน ก็มาจากคำว่า ป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง”

เปิดตำนาน “ป่อเต็กตึ๊ง” จากคณะเก็บศพสู่มูลนิธิอันทรงพลัง วิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง

แต่ก่อนจะจดทะเบียน จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของ ป่อเต็กตึ๊ง ไม่ใช่ที่ประเทศไทย แต่เริ่มจากเรือสำเภาของชาวจีนที่ล่องเรือมาพร้อมเสื่อผืนหมอนใบ ทว่านอกจากเสื่อกับหมอน พวกเขายังแบกศรัทธาใน หลวงปู่ไต้ฮง เมื่อชาวจีนโพ้นทะเลกลุ่มนี้โล้สำเภามาถึงไทย นั่นคือจุดเริ่มต้นของการทำความดีที่ส่งต่อมาจนถึงทุกวันนี้

“บรรพบุรุษดั้งเดิมของพวกเรามาจากเมืองจีน หนีร้อนมาพึ่งเย็น สมัยนั้นที่เดินทางมาทางเรือใช้เวลา 1 อาทิตย์ – 10 วัน ช้าหน่อยก็ 2 สัปดาห์ และก็ไม่ใช่เรือใหญ่ เป็นเรือสำเภา คนก็แออัด บางทีก็ติดโรคตาแดงก็มี การกินก็กินมื้ออดมื้อ คลื่นลมแรง บางทีก็มีพายุ มาจากทางใต้ของเมืองจีนแถบซัวเถา มาถึงท่าเรือที่กรุงเทพ ข้าวต้มชามแรก ก็เป็นป่อเต็กตึ๊งที่เอาไปบริการ เขาก็ดีใจ เพราะอดกันมานานแล้วมีข้าวต้มแบบจีนให้กิน มีเกี่ยมฉ่าย ผักดอง ให้กิน”

ตามประวัติ รูปจำลององค์หลวงปู่ไต้ฮง ได้รับการอัญเชิญมาเมืองไทยเมื่อ 2439 ถึงตอนนี้ 125 ปี ตอนนั้นมีคหบดีจีนชื่อว่าเบ๊ยุ่น อัญเชิญรูปจำลองหลวงปู่ไต้ฮงมาจากประเทศจีน มีคำร่ำลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ทำให้ผู้คนเกิดศรัทธา ใครขอพรก็ได้ตามความประสงค์ แต่ด้วยปัจจัยต่างๆ ทำให้รูปจำลองหลวงปู่ฯ ต้องย้ายไปหลายที่ จนกระทั่งภายหลัง ในปี 2452-2461 พระอนุวัฒน์ราชนิยมได้ซื้อที่ และก่อสร้างศาลเจ้าไต้ฮงกง อันเป็นที่ตั้งของ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ในปัจจุบัน

เปิดตำนาน “ป่อเต็กตึ๊ง” จากคณะเก็บศพสู่มูลนิธิอันทรงพลัง

หอประวัติมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เรื่องเล่าที่มากกว่าคณะเก็บศพ

ภายใต้ปณิธาน “ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต” และในโอกาสครบรอบ 110 ปี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิฯได้จัดกิจกรรมพิเศษตลอดทั้งปี เพื่อบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ให้สังคม ภายใต้แนวคิด “ความดีที่ยั่งยืน” โดยได้มอบอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์รวมมูลค่า 110 ล้านบาทให้แก่โรงพยาบาลของส่วนราชการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวม 37 แห่งทั่วประเทศ

รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ อาทิ การตั้งโรงครัวบริการอาหารและน้ำดื่ม การบริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตามชุมชนต่างๆ การก่อสร้างอาคารที่จอดรถที่โรงพยาบาลหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ วิทยาเขตยศเส เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังมีโครงการใหญ่อีก 2 โครงการ คือ การเปิดหอประวัติมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และ การสร้างศาลเจ้าไต้ฮงกง (สาทร) ถนนเจริญราษฎร์ เขตสาทร

สำหรับ หอประวัติมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง คือบันทึกประวัติศาสตร์ของมูลนิธินับตั้งแต่ก้าวแรก ที่ยังมีสถานะเป็นคณะเก็บศพไต้ฮงกง โดยเล่าผ่านนิทรรศการที่มี Inter-active ทันสมัย เรียนรู้ได้อย่างไม่น่าเบื่อ

ในหอประวัติศาสตร์ฯ ซึ่งตั้งอยู่ภายในมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งมีนิทรรศการที่เล่าทุกเรื่องเกี่ยวกับ ป่อเต็กตึ๊ง เช่น จุดกำเนิด วิวัฒนาการ การทำงาน ผลงาน ประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้พูดถึงแค่เรื่องของมูลนิธิ แต่ยังเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์การเข้ามาตั้งรกราก ทำมาหากินของชาวจีนโพ้นทะเลด้วย

นอกจากเนื้อหาที่ละเอียด เข้มข้น ยังมีสิ่งของเครื่องใช้ทั้งจำลองและของจริง ที่ช่วยให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสถึงความเป็นมารวมถึงความสำคัญของการทำงานด้านบรรเทาสาธารณภัย เช่น รถจำลองที่ใช้เก็บศพผู้ยากไร้ของคณะเก็บศพไต้ฮงกง หรือแม้แต่รถมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งที่คุ้นตากันก็มีมาโชว์ในนี้ด้วย

เปิดตำนาน “ป่อเต็กตึ๊ง” จากคณะเก็บศพสู่มูลนิธิอันทรงพลัง

ต้นไม้แห่งความดี บันทึกฉบับออนไลน์ “ป่อเต็กตึ๊ง”

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มีหน่วยงานในเครือเพื่อขับเคลื่อนปณิธานซึ่งได้แก่ โรงพยาบาลหัวเฉียว โรงพยาบาลที่ทันสมัยได้มาตรฐาน และเป็นศูนย์ฟอกไตเอกชนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ที่มีปณิธาน “เรียนรู้เพื่อรับใช้สังคม” มุ่งมั่นพัฒนาประสิทธิภาพของการศึกษานำไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ เพื่อสร้างสรรค์บัณฑิตที่รู้จริง ปฏิบัติงานได้จริง และเป็นผู้ประกอบด้วยความรู้ควบคู่คุณธรรม และคลินิกการประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว ที่ได้นำศาสตร์การแพทย์แบบจีน เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน

และปัจจุบันได้จัดตั้ง หัวเฉียวศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรจีนแบบครบวงจร อาคารคลังยาศรีสมาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยทั้ง 3 เครือข่าย ช่วยให้มูลนิธิฯ ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือสังคมได้อย่างต่อเนื่องและครบวงจร

วิเชียร เตชะไพบูลย์ บอกว่า “ป่อเต็กตึ๊งไม่ได้แสวงหากำไร บทบาทเราคือ บรรเทาทุกข์ บำรุงสุข ไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา ทุกชั้น วรรณะ ทุกเพศทุกวัย เครือข่ายของมูลนิธิฯ เรามีโรงพยาบาลหัวเฉียว มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เพราะฉะนั้นเรามีปณิธานว่า ช่วยชีวิต สร้างชีวิต รักษาชีวิต”

เปิดตำนาน “ป่อเต็กตึ๊ง” จากคณะเก็บศพสู่มูลนิธิอันทรงพลัง

ไม่เพียงเท่านั้น ในโอกาสครบรอบ 110 ปี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มีกิจกรรมให้คนไทยร่วมบันทึกเรื่องราวการทำความดีลงบนเว็บไซต์ https://www.ต้นไม้แห่งความดี.com หนึ่งในกิจกรรมสืบสานปณิธานความดีของมูลนิธิฯ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสะสมความดีทีละเล็กทีละน้อย หลอมรวมให้กลายเป็นพลังความดีที่ยิ่งใหญ่ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งความดีที่ยั่งยืนต่อไป

โดยผู้ที่ต้องการเข้าไปร่วมส่งต่อปณิธานความดี เพียงคลิกเข้าไปที่ www.ต้นไม้แห่งความดี.com เพื่อสะสมความดีซึ่งเลือกหมวดสะสมความดี “11 รากแก้วแห่งความดี” ที่มีอยู่ทั้งหมด 11 หมวด

“คนเราอยู่ในสังคมต้องแบ่งปัน ไม่ใช่ข้ารวยอยู่คนเดียว คนอื่นก็ช่างเขา แบบนี้สังคมอยู่ไม่ได้ คนที่มาทำบุญกับเราตอนนี้ ก็มีคนที่เคยได้รับข้าวต้มชามแรกจากเรา แล้วเขาบอกต่อลูกหลานว่าอย่าลืมบุญคุณเรา” ประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง กล่าว