เผยสาเหตุ WADA แบน "ธงชาติไทย" ทั้งที่ไม่ได้ใช้ "สารกระตุ้น"

เผยสาเหตุ WADA แบน "ธงชาติไทย" ทั้งที่ไม่ได้ใช้ "สารกระตุ้น"

เปิดสาเหตุ WADA (วาดา) แบนไทย หลัง "บาส-ปอป้อ" รับเหรียญชนะเลิศแบดมินตันชิงแชมป์โลกเมื่อวานนี้ (19 ธ.ค.) ที่สเปน โดยใช้ธงสัญลักษณ์ "สมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย" แทนธงชาติไทย

จากทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ กรณี "ธงชาติไทย" ไม่ได้โบกสะบัดระหว่างพิธีรับเหรียญรางวัลการแข่งขันระดับนานาชาติที่ “บาส เดชาพล” และ “ปอป้อ ทรัพย์สิรี” นักแบดมินตันคู่ผสมมือ 1 ของโลกขวัญใจชาวไทย ได้รับเหรียญทองศึกแบดมินตันชิงแชมป์โลก ที่เมืองอูเอลบาร์ ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา และกลับต้องใช้ธงสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ซึ่งมีตัวอักษรภาษาอังกฤษ 3 ตัว เขียนว่า BAT (Badminton - Association - Thailand) แทน

เผยสาเหตุ WADA แบน \"ธงชาติไทย\" ทั้งที่ไม่ได้ใช้ \"สารกระตุ้น\" เผยสาเหตุ WADA แบน \"ธงชาติไทย\" ทั้งที่ไม่ได้ใช้ \"สารกระตุ้น\"
- เครดิตรูป : Badminton Photo -

สาเหตุของเรื่องนี้เป็นผลจากการลงดาบขององค์กรต่อต้านสารต้องห้ามโลก หรือ WADA (วาดา) ต่อวงการกีฬาไทยที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นข่าวใหญ่มากสำหรับวงการกีฬาไทย เพราะส่งผลกระทบต่อทีมนักกีฬาไทยทุกประเภทที่ไปแข่งขันในรายการระดับนานาชาติ

การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ชี้แจงล่าสุดว่า เรื่องดังกล่าวเป็นความเข้าใจตรงกันระหว่างทางผู้จัดคือ สหพันธ์แบดมมินตันโลกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยว่า ขั้นตอนจะดำเนินการอย่างไร เมื่อถึงกระบวนการรับเหรียญรางวัล ของแบดมินตันไทย "บาส-ปอป้อ"

ทั้งนี้ กกท.ระบุว่า ประเด็นธงชาติไทยในการแสดงตามการแข่งขันต่าง ๆ มีข้อจำกัดมาจากบทลงโทษของวาดา ที่ไทยกำลังอยู่ระหว่างการแก้ไขเรื่องดังกล่าว 

ด้วยการแก้ไขร่างกฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา ขณะที่กรณีธงชาติไทยที่ถูกห้ามหรือระงับ กกท.ได้ประสานขออนุญาตใช้ธงที่มีตราสัญลักษณ์คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ และ คณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย หรือ ธงสัญลักษณ์ของสมาคมกีฬานั้น ๆ 

เผยสาเหตุ WADA แบน \"ธงชาติไทย\" ทั้งที่ไม่ได้ใช้ \"สารกระตุ้น\"

WADA มองกฎหมายสารกระตุ้นไทย "ไม่ทันสมัย"

ก่อนหน้านี้ วาดาระบุเหตุผลในบทลงโทษประเทศไทยว่า องค์กรต่อต้านสารกระตุ้นของประเทศไทยบกพร่องในการนำกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลก 2021 ไปปรับใช้กับนักกีฬาในประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ผ่านการใช้กฏหมายของประเทศไทย

กล่าวคือ พ.ร.บ.สารกระตุ้นฉบับปัจจุบันของไทย ล้าหลังเกินไปในสายตาของวาดา  

วาดากำหนดถึงสารเคมีที่เข้าข่ายเป็นสารกระตุ้นไว้ตามเกณฑ์ 3 ข้อดังนี้ คือ
1. มีศักยภาพในการสมรรถนะการเล่นกีฬา
2. มีความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นกับนักกีฬา
3. ละเมิดจิตวิญญาณของเกมกีฬา

โดยสารเคมีใดที่เข้าข่าย 2 ใน 3 ข้อนี้ จะถือเป็นสารกระตุ้นที่ถูกแบนโดยวาดา

อีกประเด็นคือ องค์กรต่อต้านสารกระตุ้นของประเทศไทย ยังมีปัญหาเรื่องความไม่เป็นอิสระในการทำงาน ตามกฎหมายขึ้นตรงอยู่กับ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการของวาดา ที่ต้องการให้เป็นองค์กรเอกเทศ เพราะอาจเกิดช่องว่างในกระบวนการที่หน่วยงานภาครัฐมีส่วนในการควบคุมกิจการ อาจเกิดปัญหาละเลย ช่วยเหลือนักกีฬาที่ใช้สารต้องห้าม โดยไม่ได้ถือปฏิบัติตามมาตรฐานที่วาดากำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

ถึงแม้วาดาได้ขีดเส้นตาย 21 วัน แต่ไทยไม่สามารถจัดการแก้ไข พ.ร.บ. ให้ทันตามเส้นตายได้ เนื่องจากขั้นตอนการแก้กฎหมายของไทยมีความซับซ้อนมากเกินไป

บทลงโทษของวาดาครอบคลุมอะไรบ้าง

ขอบเขตของประเทศไทยต่อบทลงโทษของวาดาที่สามารถทำได้ มีดังนี้

1. ประเทศไทยสามารถจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ในระดับภูมิภาค, ระดับทวีป และระดับโลก ในรายการที่ได้รับสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพ ก่อนวันที่บทลงโทษจากวาดาจะมีผล (ก่อนวันที่ 8 ต.ค. 2564) และประเทศไทยจะไม่สามารถเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติทุกระดับ หลังจากบทลงโทษมีผล ทั้งนี้ บทลงโทษข้อนี้ไม่ได้บังคับใช้กับการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกเกมส์ 

2. ประเทศไทยสามารถใช้ธงชาติไทยในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก พาราลิมปิก โอลิมปิกฤดูหนาว และยูธโอลิมปิกได้ แต่ ห้ามใช้ธงชาติไทยในการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ ในระดับภูมิภาค, ระดับทวีป และระดับโลก รวมทั้งรายการแข่งขันที่สหพันธ์เป็นผู้จัดการแข่งขันในทุกระดับ จะไม่สามารถใช้ธงชาติไทยได้เช่นกัน สำหรับเครื่องแต่งกายของนักกีฬาไทยที่เข้าร่วมการแข่งขันทุกระดับ สามารถติดธงชาติไทยและใช้ข้อความว่า THAILAND บนเครื่องแต่งกายได้ทุกรายการ 

3. เพื่อให้การใช้ธงชาติไทยในรายการที่มีข้อห้ามเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การกีฬาแห่งประเทศไทยอยู่ในระหว่างการประสานขออนุญาตใช้ธงที่มีตราสัญลักษณ์คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ และ คณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทยเพื่อใช้แทนธงชาติไทย ซึ่งในระหว่างนี้ กกท.ขอให้สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย ประสานไปยังสหพันธ์กีฬาของตนเอง เพื่อขอใช้ธงสมาคมกีฬา หรือ ธงสหพันธ์ ในการเข้าร่วมการแข่งขันไปก่อน 

ในส่วนของกองเชียร์คนไทยที่เดินทางไปร่วมเชียร์หรือคนไทยที่อยู่ในประเทศที่จัดในมหกรรมการแข่งขันกีฬานั้นๆ สามารถที่จะนำธงชาติไทยไปโบกสะบัดเชียร์ทีมไทยได้ โดยวาดาไม่ได้มีข้อห้ามนี้ไว้

ส่วนการแก้ไขปัญหาวาดาแบนไทยต่อกรณีไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดการใช้สารต้องห้าม คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน ก.พ. 2565 ซึ่งเมื่อแก้ไขเสร็จก็จะรีบแจ้งไปยังวาดาทันที และคาดว่าทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเดือน พ.ค. 2565

สำหรับบทลงโทษนี้จะคงสถานะไว้เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี หรืออาจจะยาวนานกว่านั้น หากไทยไม่สามารถแก้ไขข้อกฎหมายได้ตามกฎการต่อต้านสารกระตุ้นโลกของวาดา