บุคคลสำคัญของโลก"หลวงปู่มั่น"และ"สมเด็จฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส"  

บุคคลสำคัญของโลก"หลวงปู่มั่น"และ"สมเด็จฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส"  

เรื่องเล่า "หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต" บูรพาจารย์สายพระป่า และ"สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส" สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 10 ทั้งสองเป็น“บุคคลสำคัญของโลก” ปี 2563-64  ซึ่งมีความสำคัญต่อ"พุทธศาสนาของโลก"

เมื่อสองปีที่แล้ว (ปี 2562) ยูเนสโก มีมติรับรองการร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบบุคคลสาคัญและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในวาระปี 2563 -2564 ได้ยกย่องบุคคลสำคัญ 2 รูป ได้แก่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ครบรอบ 150 ปีชาตกาล (20 มกราคม 2563) และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครบ 100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ (2 สิงหาคม 2464)

และเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 64 รัฐบาลไทยและยูเนสโกได้ร่วมกันเฉลิมพระเกียรติคุณ วาระครบ 100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โดยพิธีการประกาศพระเกียรติคุณ จัดที่ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร และปีนี้พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ครบรอบ 151 ปีชาตกาล

ในโอกาสนี้ จึงอยากบอกเล่าเรื่องราวสองบุคคลสำคัญของโลกในบทบาทภิกษุสงฆ์

บุคคลสำคัญของโลกปี 64

หากถามว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มีความสำคัญต่อพุทธศาสนาอย่างไร...

พระองค์ทรงวางรากฐานการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นระบบเดียวทั่วราชอาณาจักรตามหลักพระธรรมวินัย ผสานกับกฎหมายของบ้านเมือง จนเป็นที่มาของเนติธรรมสำคัญคณะสงฆ์ นั่นก็คือ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ปี 2445

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 47 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาแพ ประสูติเมื่อวันที่ 12 เมษายน

ปีพ.ศ.2403

บุคคลสำคัญของโลก\"หลวงปู่มั่น\"และ\"สมเด็จฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส\"  

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

 

ทรงได้รับการเลี้ยงดูโดยเสด็จป้า คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสฐสุดา (พระองค์เจ้าบุตรี) เป็นทั้งผู้สอนเลขและสอนหนังสือไทย พงศาวดาร วรรณคดี และเรื่องศาสนา และเรียนภาษาอังกฤษกับครูชาวสก็อต

ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อปีพ.ศ.2422 เมื่อพระชนมายุ 20 ปี อยู่ในพรหมจรรย์กว่า 42 ปี ทรงปกครองวัดบวรนิเวศวิหารมานานกว่ า 28 ปี และทรงดำรงอยู่ในสมณเพศจวบจนสิ้นพระชนม์

ทรงศึกษาเรื่องกวีนิพนธ์ ดาราศาสตร์ และคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนากับพระอุปัชฌาย์ของพระองค์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราชไทย พระองค์ที่ 8 เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารในเวลานั้น ซึ่งเป็นบุคคลต้นแบบสำหรับพระองค์ในการวางรากฐานพุทธศาสนา

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีพระคุณูปการทั้งด้านการศาสนา การบริหารการจัดการคณะสงฆ์ ทรงเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ทรงพัฒนาหลักสูตรนักธรรม ทั้งยังทรงมีพระนิพนธ์ด้านวิชาการทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ปรากฏทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ทรงเห็นว่า การศึกษาพุทธศาสนาในยุคนั้น จำกัดอยู่เฉพาะในหมู่ภิกษุสามเณรที่เรียกกันว่า การศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งเป็นการศึกษาพระพุทธศาสนาในภาษาบาลี

และในหมู่ภิกษุสามเณรเอง ยังจำกัดอยู่เฉพาะในผู้ที่รู้ภาษาบาลีเท่านั้น ผู้ที่ไม่รู้ภาษาบาลีก็แทบจะไม่ได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องพระพุทธศาสนาเลย

เมื่อทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารสืบต่อจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เมื่อพ.ศ.2435 ขณะมีพระชนมายุ 33 ปี จึงมีบทบาททางการคณะสงฆ์อย่างเต็มที่ ทรงริเริ่มวางหลักสูตรสำหรับภิกษุสามเณรบวชใหม่ในวัดบวรนิเวศวิหารให้ได้ศึกษาธรรมวินัยเป็นภาษาไทย 

คือให้ได้เรียนพุทธประวัติ ธรรมะ และวินัยบัญญัติเป็นภาษาไทย โดยพระองค์ทรงสอนเอง พร้อมทั้งได้ทรงแต่งตำราเกี่ยวกับพุทธประวัติ ธรรมะ และวินัยบัญญัติ อย่างย่นย่อ สำหรับให้ภิกษุสามเณรบวชใหม่ สามารถเรียนจบได้ภายใน 1พรรษา 3 เดือน และปรากฏว่าได้ผลดี เป็นที่สนใจของผู้บวชใหม่ ทำให้ภิกษุสามเณรบวชใหม่ได้รู้จักพระพุทธศาสนาดีขึ้น

แสวงหาวิชาความรู้พัฒนาพระองค์เอง

เมื่อได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 10 ทรงปกครองคณะสงฆ์ทั่วพระราชอาณาจักร ปี พ.ศ.2454 ทรงเห็นผลดีของการศึกษาพระพุทธศาสนาในภาษาไทยที่ทรงพระดำริขึ้น และนิยมแพร่หลายอยู่ในคณะธรรมยุต

จึงได้ทรงนำหลักสูตรการศึกษาพระพุทธศาสนาในภาษาไทย มาตั้งเป็นหลักสูตรสำหรับเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานของคณะสงฆ์ทั่วพระราชอาณาจักร เรียกว่าหลักสูตรนักธรรมเริ่มแต่ พุทธศักราช 2456

ปัจจุบัน การศึกษานักธรรมได้แพร่หลายไปยังประเทศใกล้เคียงที่นับถือพระพุทธศาสนา ตลอดไปถึงในประเทศทางยุโรปและอเมริกา ที่พระธรรมทูตไทยไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา 

นอกจากนี้ หนังสือพระนิพนธ์ที่เป็นหลักสูตรนักธรรมทุกชั้นก็ได้มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษครบทุกเรื่อง รวมถึงแปลเป็นภาษาอื่น ๆ อีกหลายภาษา เพื่อนำไปใช้ศึกษาในประเทศนั้น ๆ ด้วย

พระองค์ทรงรอบรู้หลายภาษา คือ บาลีสันสกฤต อังกฤษ ฝรั่งเศส ทรงอาศัยความรู้ทางภาษาดังกล่าว แสวงหาวิชาความรู้พัฒนาพระองค์เอง พร้อมทั้งทรงใช้พระปรีชาสามารถทางภาษา สร้างวรรณกรรมอันทรงคุณค่าทางการศึกษาทั้งทางธรรมและทางโลกไว้มากมายไม่น้อยกว่า 400 เรื่อง

.....................

บุคคลสำคัญของโลก\"หลวงปู่มั่น\"และ\"สมเด็จฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส\"  

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บุคคลสำคัญของโลกปี 63

หลวงปู่มั่น เป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกายชาวจังหวัดอุบลราชธานี เป็นบูรพาจารย์สายพระป่าในประเทศไทย

ตลอดที่บวชเรียนได้ปฏิบัติตนตามแนวทางคำสอนพระศาสดาอย่างเคร่งครัด และยึดถือธุดงควัตรด้วยจริยวัตรปฏิปทางดงาม จนได้รับการยกย่องจากผู้ศรัทธาทั้งหลายว่า เป็นพระผู้เลิศทางธุดงควัตร 

ท่านวางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าให้แก่สมณะประชาชนอย่างกว้างขวาง จนมีพระสงฆ์และฆราวาสเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก  แนวคำสอนของท่านเป็นที่รู้จักกันดีในนามว่าคำสอนพระป่า (สายพระอาจารย์มั่น)

หลวงปู่มั่นเกิดเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2413 (ชาตกาลครบ 151 ปีในปี 2564) หลังจากท่านมรณภาพ ปี พ.ศ. 2492 ยังคงมีพระสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์ สืบต่อแนวทางปฏิบัติกรรมฐานสายวัดป่า จึงทำให้ท่านได้รับยกย่องจากผู้ศรัทธาให้เป็นพระอาจารย์ใหญ่สายวัดป่า

บูรพาจารย์สายพระป่า

ช่วงที่หลวงปู่มั่น ใกล้มรณภาพในวัย 80 ปี ท่านจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ จ.สกลนคร 5 พรรษา ช่วงนั้นพระอาจารย์หลุย จันทสาโร เป็นพระรับใช้ใกล้ชิด ท่านเลือกดับขันธ์ (เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2492 ) ที่วัดป่าสุทธาวาส ตัวเมืองสกลนคร

“เราจะไม่มรณภาพที่นี่ (บ้านหนองผือ) ถ้าเราตายที่นี่ คนทั้งหลายก็จะพากันมามากมาย ฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ ฆ่าสัตว์ทั้งหลาย เนื่องด้วยศพของเราจะทำให้ชาวบ้านเป็นบาป” จากหนังสือประวัติชีวิต การงานและหลักธรรมพระอาจารย์มั่นที่พระอาจารย์วิริยังค์ ลูกศิษย์บันทึกไว้

หากมองย้อนเส้นทางธรรมของหลวงปู่มั่น  ท่านเป็นแบบอย่างของพระป่าสายวิปัสสนา ที่ศึกษาธรรมจริงจัง ท่านมีลูกศิษย์ในวิปัสสนากรรมฐานทั่วประเทศ อาทิ พระอาจารย์ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู,พระอาจารย์แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่,พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร ,พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากแป้ง จ.เลย ,พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์,พระอาจารย์ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี ฯลฯ

พระอาจารย์มั่น บวชสามเณรเมื่ออายุ 15 ปี หลังจากนั้นลาสิกขามาช่วยงานครอบครัว ในช่วงวัยหนุ่มบรรพชาอุปสมบทอีกครั้ง ท่านศึกษาธรรมกับหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล 

บ่อยครั้งที่ทั้งสองเดินธุดงค์ร่วมกันทั้งในอีสานและลาว เพื่อปลีกวิเวกบำเพ็ญธรรมในป่า ซึ่งสมัยนั้นมีสิงสาราสัตว์มากมาย ตลอดเส้นทางที่ท่านไปจำพรรษาหรือปฏิบัติธรรม มักจะมีภิกษุมาขอเป็นลูกศิษย์

พระอาจารย์วิริยังค์ บันทึกเรื่องราวพระอาจารย์มั่นไว้ว่า

“ท่านเป็นศิษย์ที่ไม่กลัวครู หมั่นเข้าหาครู เฝ้ารบเร้าให้พระอาจารย์เสาร์สอนธรรมอยู่ร่ำไป นานๆ เข้า อาจารย์ก็ชักจะหมดภูมิ เพราะท่านเรียนรู้ทางธรรมได้อย่างรวดเร็ว”

ต้นแบบพระกรรมฐาน

ทำไมพระอาจารย์มั่นถึงศึกษาและปฏิบัติธรรมได้แตกฉาน จนกลายเป็นต้นแบบของพระปฏิบัติกรรมฐานหรือพระธุดงค์กรรมฐาน เพราะข้อวัตรปฏิบัติที่วางไว้ ก็เพื่อกำจัดกิเลสในตัวเอง

ภิกษุในสายพระป่า ต้องใช้ชีวิตเรียบง่าย มีปัจจัยจำกัด และมุ่งเน้นความสงบเพื่อบำเพ็ญภาวนาสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อดับทุกข์ พระกรรมฐานจะใช้ผ้าบังสุกุลเพียง 3 ผืน ฉันวันละมื้อเดียว ลุกจากที่แล้วไม่ฉันอีก ฉันเฉพาะในบาตร ฯลฯ

ในพิพิธภัณฑ์อาจารย์มั่น วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร จะมีอัฐบริขารของพระอาจารย์มั่น เพื่อแสดงให้เห็นว่าท่านใช้ชีวิตเรียบง่ายมาก พระป่าสมัยนั้นจะใช้ไม้เจียเป็นไม้สีฟัน ทำจากไม้คนธา จันทร์หอม ข่อย และสะเดา 

ส่วนกระบอกกระโถนไม้ไผ่เป็นอัฐบริขารที่พระอาจารย์มั่นใช้เป็นประจำ ถ้าเปลี่ยนที่พัก ท่านจะให้ญาติโยมทำถวายแทบทุกแห่ง ท่านจะใช้อะไรง่ายๆ ใช้ได้ประโยชน์รวดเร็ว และทันใจ

พิจารณาอริยสัจ 4

ว่ากันว่า หลวงปู่มั่น เป็นพระภิกษุที่มีความวิริยะในการปฏิบัติธรรม พร้อมที่จะตายระหว่างการภาวนาไม่ว่าที่ใดก็ตาม ท่านปลีกวิเวกในป่าเขาและถ้ำ และเคยออกธุดงค์ในลาว พร้อมพระอาจารย์เสาร์ และสามเณรอีกรูป ตอนนั้นภิกษุทั้ง 3 รูปป่วยเป็นไข้ป่าจนแทบเอาตัวไม่รอด

“แม้จะตายขอให้ตายด้วยการภาวนา บริกรรมพุทโธๆๆ กายนี้เป็นที่อาศัยของจิต ถ้าจิตมัวยึดกลายเป็นตนอยู่เมื่อใด ย่อมเป็นทุกข์

เมื่อหมดหนทางไม่มีใครช่วย เราก็กำหนดจิตให้สงบเป็นหนึ่ง จนเหงื่อไหลเหมือนรดน้ำ ไข้หาย และนี่คือ การระงับอาพาธด้วยธรรมโอสถเป็นครั้งแรกของเรา” พระอาจารย์มั่น เล่าไว้ในหนังสือประวัติชีวิตพระอาจารย์มั่น และมีตอนหนึ่ง ท่านเคยบอกพระอาจารย์เสาร์ว่า

“อย่าห่วงเรื่องการปรารถนาเป็นปัจเจกโพธิ ขอให้พิจารณาอริยสัจเพื่อพ้นทุกข์เสียแต่ชาตินี้เถิด เพราะกระผมก็ปรารถนาพระโพธิญาณและได้ละความปรารถนานั้นแล้ว เนื่องจากการท่องเที่ยวในสังสารวัฏมันนานแหลือเกิน”

หลวงปู่มั่นได้วางรากฐานการปฏิบัติธรรมไว้ให้ลูกศิษย์หลายเรื่อง อาทิ 

“ผู้ต้องการพ้นทุกข์จริงๆ ต้องไม่หลงใหลในความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นระหว่างความสงบ ไม่ว่าญาณระลึกชาติ ญาณบอกเหตุการณ์ในอนาคต และการรู้จักวาระจิตความนึกคิดของผู้อื่น ถ้าหลงติดในญาณเหล่านี้ จะทำให้เกิดความเนิ่นช้าในการปฏิบัติเพื่อเข้าสู่อริยสัจธรรม”

ว่ากันว่าแนวทางการปฏิบัติสายพระอาจารย์มั่น ต้องมีขันธวัตร 14 ระเบียบวิธีปฏิบัติในสังคมภิกษุ ยกตัวอย่าง วิธีปฏิบัติของลูกศิษย์ต่ออุปัชฌาย์ ต้องเข้าไปรับใช้ถวายน้ำล้างหน้า บ้วนปาก ช่วยนุ่มห่มจีวรให้ ซักผ้า ล้างบาตร ทำความสะอาดกุฏิ เอาใจใส่ในยามอาพาธ ฯลฯ ลูกศิษย์ต้องอ่อนน้อมต่อครูบาอาจารย์ ซึ่งวัตรปฏิบัติเหล่านี้ได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ก่อนที่พระอาจารย์มั่นจะมรณภาพ ท่านเคยกล่าวถึงการปฏิบัติธรรมในอนาคตไว้ว่า “ต่อไปการทำกรรมฐานของพระภิกษุสามเณรจะรุ่งโรจน์ แต่จะไปรุ่งโรจน์ในเมือง การธุดงค์จะเบาบางลง เพราะหาป่าเขาวิเวกยากยิ่งขึ้น

ประกอบกับความไม่เข้าใจของการธุดงค์ที่จะทำให้เกิดผลอย่างแท้จริง แต่จะธุดงค์พอเห็นเหมาะก็สร้างวัด เพื่อเป็นแหล่งบำเพ็ญสมณธรรมตามประเพณีเท่านั้น เพราะแต่ละแห่งต้องการพระเพื่อสั่งสอนพวกเขา จึงเกิดวัดป่ามากขึ้น”

แม้ในช่วงที่ท่านใกล้มรณภาพ พระอาจารย์มั่นก็ทรงเมตตาสัตว์น้อยใหญ่ ไม่อยากให้ญาติโยมบ้านหนองผือฆ่าสัตว์ จึงให้ญาติโยมแบกหามท่านมาที่วัดป่าสุทธาวาส เพราะที่นั่นมีตลาดใหญ่ สัตว์ใหญ่น้อยไม่ต้องถูกฆ่า

“เราตายได้ทุกกาล ทุกสถานที่ ไม่อาลัยเสียดายร่างกายเลย เพราะเป็นเพียงส่วนผสมของธาตุรวมกันชั่วระยะกาล จากนั้นแตกสลายคืนสู่ธาตุเดิมของมัน จะมาอาลัยเสียดายหาประโยชน์อะไร” พระอาจารย์วิริยังค์ได้บันทึกคำของพระอาจารย์มั่นไว้

เมื่อท่านมรณภาพที่วัดสุทธาวาส เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2492 และเป็นสถานที่ประชุมเพลิงศพ

ปัจจุบันมีการตั้งพิพิธภัณฑ์อาจารย์มั่นตามคติความเชื่อพุทธศาสนา มองจากภายนอกเหมือนเรือสำเภา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นว่า พุทธศาสนาจะพาชาวโลกให้หลุดพ้นความทุกข์