"มินามาตะ" จากภาพสู่ภาพยนตร์สะท้อน "โศกนาฎกรรมน้ำมือมนุษย์"

"มินามาตะ" จากภาพสู่ภาพยนตร์สะท้อน "โศกนาฎกรรมน้ำมือมนุษย์"

"มินามาตะ" จากภาพสู่ภาพยนตร์โลกสะเทือนที่สะท้อนถึงโศกนาฎกรรมน้ำมือมนุษย์ นำแสดงโดย จอห์นนี่ เดปป์ ซึ่งเขาต้องการเป็นกระบอกเสียงให้โลกรู้ถึงอันตรายของปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม

ถ้าจะเอ่ยว่า “โรคมินามาตะ” เป็นทั้งหายนะ และเป็นสัญลักษณ์ของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่โตมากขึ้น ก็คงไม่ผิดนัก เดิมแล้ว มินามาตะ (Minamata) เคยเป็นเมืองเล็กๆ อันแสนสงบสุขทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ในจังหวัดคุมาโมโตะ แต่แล้วกลับต้องกลายเป็นความล่มสลาย พลเมืองกลับต้องเผชิญปัญหาสุขภาพทั้งพิการ เจ็บป่วย ไปจนถึงเสียชีวิตโดยความประมาทเลินเล่อ และเห็นแก่ตัวของมนุษย์ด้วยกันเอง

\"มินามาตะ\" จากภาพสู่ภาพยนตร์สะท้อน \"โศกนาฎกรรมน้ำมือมนุษย์\"

จากภาพสู่ ภาพยนตร์โลกสะเทือน

เมื่อไม่นานมานี้ เรื่องราวสะเทือนโลกดังกล่าว ได้ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ ชื่อเรื่อง Minamata (มินามาตะ) ซึ่งเป็นผลงานการทุ่มทุนของนักแสดงชั้นนำ อย่าง จอห์นนี่ เดปป์ ที่เขาต้องการให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นกระบอกเสียงให้โลกรู้ถึงอันตรายของปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม ที่ถ่ายทอดผ่านเรื่องราวของช่างภาพชื่อดังคนหนึ่ง

มินามาตะ ดำเนินเรื่องด้วย ช่างภาพนิตยสาร Life ชื่อดัง “วิลเลี่ยม ยูจีน สมิธ” เจ้าของภาพถ่ายโลกตะลึง ซึ่งเขาได้มีโอกาสบันทึกภาพผู้ป่วยโรค “มินามาตะ” อันเลื่องชื่อ จากการเดินทางไปยังเมืองมินามาตะแห่งนี้ด้วยตัวเองเมื่อกว่าห้าสิบปีก่อน

โรคมินามาตะ ถูกเรียกขานตามชื่อเมือง หากอธิบายแบบง่ายๆ คือ เป็นโรคที่เกี่ยวกับโรคทางระบบประสาทส่วนกลาง จากการได้รับพิษจากสารปรอท อันมาจากการทิ้งน้ำเสียที่มีสารปรอทเจือปนออกมาของบริษัทชิสโซะ ซึ่งเป็นโรงงานเคมีที่ผลิตสารเคมีจำนวนมาก โดยสารเคมีเหล่านี้ได้ถูกปล่อยลงสู่ทะเลชิระนุย บริเวณอ่าวมินามาตะ

\"มินามาตะ\" จากภาพสู่ภาพยนตร์สะท้อน \"โศกนาฎกรรมน้ำมือมนุษย์\" ภาพจาก : magnumphotos.com

การได้ไปพบกับผู้ป่วย โรคมินามาตะ อย่างไม่ทราบสาเหตุจำนวนมาก เป็นสิ่งที่ทำให้ยูจีนไม่อาจเพิกเฉยที่จะมีบทบาทในการเรียกร้องการชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติและมลพิษอุตสาหกรรมของชาวเมืองแบบตกกระไดพลอยโจร ซึ่งสุดท้ายชาวเมืองก็ใช้เวลายาวนานกว่าจะสามารถเรียกร้องการชดเชยความสูญเสียของพวกเขาที่ประเมินค่ามิได้เหล่านี้

ผลจากการที่โลกขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม แน่นอนว่าอาจส่งผลให้ “ปรากฎการณ์มินามาตะ” ไม่ได้เกิดแค่ที่ญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังมีการใช้สารเคมีสารปรอททำให้เกิดน้ำเสียและทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างล้นเหลือ และหนึ่งในนั้นยังมีประเทศไทยอีกด้วย 
เพื่อสะท้อนผลกระทบมลพิษทางอากาศจากการลักลอบปล่อยของเสียของโรงงาน

สำนักควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ และมูลนิธิบูรณะนิเวศ จัดฉายภาพยนตร์รอบพิเศษเรื่อง มินามาตะ ภาพถ่ายโลกตะลึง พร้อมร่วมกันถกประเด็นการขับเคลื่อนงานลดมลพิษทางอากาศที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ส่งสัญญาณกระตุ้นเตือนให้สังคมไทยได้ตระหนักปัญหามลพิษเหล่านี้
เพราะแม้เราจะหยุดการพัฒนาไม่ได้ แต่เราสามารถสร้างสังคมแห่งความรับผิดชอบเพื่ออยู่ด้วยกันได้อย่างสันติ

มินามาตะเป็นโศกนาฎกรรมของมนุษย์ชาติที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ ที่ก่อมลพิษอุตสาหกรรม คนที่เสียชีวิตหรือได้รับผลกระทบจากปัญหานี้กว้างขวางมาก” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ผู้ซึ่งยังได้มีโอกาสลงพื้นที่สัมผัสชาวมินามาตะตัวจริง เริ่มบอกเล่าสิ่งที่เธอได้ประสบมาจากการลงไปคลุกคลีกับชาวมินามาตะด้วยตนเอง

\"มินามาตะ\" จากภาพสู่ภาพยนตร์สะท้อน \"โศกนาฎกรรมน้ำมือมนุษย์\" ภาพจาก : magnumphotos.com

เด็กที่เป็นโรคนี้ไม่สามารถรักษาหายได้ ก็คือต้องพิการตลอดชีวิต ลองนึกภาพ หากเรากินปลาที่มีสารปรอท สมรรถภาพร่างกาย สุขภาพจะเสียไปและบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิต

โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมที่ปล่อยปรอทสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมถ่านหิน อุตสาหกรรมปิโตรเลียม เป็นต้น ซึ่งสามารถปล่อยได้ทั้งทางอากาศ และมีแนวโน้มลงสู่แหล่งน้ำได้ ซึ่งความน่ากลัวของสารปรอทคือ สามารถสะสมในห่วงโซ่อาหารได้ และเมื่อปลามากินจุลินทรีย์ในน้ำเสีย และแพลงตอนที่มีปรอทอยู่ก็จะได้รับสารปรอท แล้วเมื่อปลาตัวใหญ่ก็มากินปลาเล็กเข้าไป และเมื่อคนจับปลาไปบริโภค อาจเรียกได้ว่า หากสารปรอทหลุดเข้าไปห่วงโซ่อาหารคนแล้วจะแก้ได้ยาก

มากกว่าความเจ็บปวด

สำหรับมินามาตะความเจ็บปวดที่สุดของชาวเมือง ยังมิใช่เพียงการที่พวกเขาได้รับสารพิษ แต่เป็นเพราะยังเกิดการถ่ายโอนสารปรอทในตัวแม่ไปสู่ทารกได้ ส่งผลให้เด็กเกือบทั้งเมืองในเวลานั้นต้องกลายเป็นผู้พิการทั้งทางกายและสติปัญญาไม่น้อย

สิ่งที่เจ็บปวดยิ่งไปกว่านั้นคือ การได้รับความเพิกเฉย ละเลยจากทั้งผู้ผลิตและปล่อยสารพิษเหล่านั้น และภาครัฐ

แม้มินามาตะรักษาไม่หาย แต่เราป้องกันได้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายส่วน เริ่มตั้งแต่นโยบายของรัฐเองในการควบคุมโรงงานอุตสาหกรรม อย่าให้ความสำคัญการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐกิจ จนกระทั่งทำลายสิ่งแวดล้อม เมื่อเกิดปัญหาก็ต้องรีบจัดการ” เพ็ญโฉมบอกกล่าว

“ความจริงแล้ว โคโซกาว่า เป็นคุณหมอที่รักษาผู้ป่วยในเมือง เป็นผู้เริ่มสังเกตอาการ ว่ามีความผิดปกติบางอย่างที่เกี่ยวกับปัญหาน้ำเสียที่ปล่อยออกมา โดยมีการทดลองให้แมวดื่มน้ำเสีย ปรากฏแมวเสียชีวิต หมอพยายามแจ้งโรงงานแล้ว กลับไม่เป็นผล สุดท้ายต้องหนีไป เมื่อมีการฟ้องศาลหมอมาเป็นพยาน จากการทดลองของหมอมีผลต่อรูปคดี ทำให้ชาวบ้านชนะคดี รัฐบาลจัดตั้งกองทุนเยียวยา เนื่องจากบริษัทชิโสะล้มละลายทันที”

เพ็ญโฉมยังให้แง่คิดต่อว่า กรณีมินามาตะ ความเสียหายจะไม่เกิดขึ้นมากเท่านี้ ถ้าหากว่ารัฐบาลญี่ปุ่นได้ตระหนักเมื่อเกิดปัญหาแล้วไม่นิ่งนอนใจแก้ไข จนลุกลามกลายเป็นปัญหาควบคุมไม่ได้

และที่สำคัญมาก คือผู้ก่อมลพิษ ซึ่งมีความมักง่าย ไร้ความรับผิดชอบ หากไม่มีการปล่อยน้ำเสียระดับเข้มข้นในแหล่งน้ำหรือทะเล หรือหากพบสาเหตุแล้วก็มีการปรับปรุงแก้ไขทันที ความเสียหายจะไม่กลายเป็นโศกนาฏกรรมระดับโลก และประเมินค่ามิได้เช่นนี้

\"มินามาตะ\" จากภาพสู่ภาพยนตร์สะท้อน \"โศกนาฎกรรมน้ำมือมนุษย์\" ภาพจาก : magnumphotos.com

มินามาตะ กับไทย?

หากถามว่ามีโอกาสที่ประเทศไทยเราจะเกิดเหตุการณ์แบบมินามาตะไหม? เพ็ญโฉมยอมรับว่ามีการพูดคุยห่วงใยกันไม่น้อย รวมถึงปัญหาต่างๆ อันเนื่องจากเกิดโรคที่เกี่ยวกับมลพิษ ของเสียจากภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เป็นสิ่งที่คนไทยต้องเห็นความสำคัญ

เรามองว่าสถานการณ์อาจไม่เลวร้ายเหมือนในประวัติศาสตร์ แต่ก็เป็นสิ่งที่เราไม่อาจประมาทได้ เพราะอุตสาหกรรมเดินหน้าไปทุกวัน แล้วก็ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกความรับผิดชอบของผู้ประกอบการว่ามีการควบคุมสารพิมพ์และการปล่อยของเสียแค่ไหน เราคงไม่อยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นในไทย

แต่จากการศึกษาล่าสุด ยังพบว่า มีสารปรอทระดับสูงปะปนในปลาในพื้นที่ที่มีภาคอุตสาหกรรมหนาแน่นในประเทศไทยหลายแห่ง

ในพื้นที่ที่เราทำวิจัย ได้แก่ ปราจีนบุรีและระยอง เราพบว่าในปลามีสารปรอทสูง รวมถึงในเส้นผมคน นอกจากนี้เราเคยศึกษาพื้นที่อื่น ๆ ด้วย อาทิ ขอนแก่นก็พบสารปรอทในปลาด้วยแต่ยังไม่สูงในเกณฑ์อันตรายมาก ซึ่งถ้าเราพบข้อเท็จจริงอย่างนี้แล้วเรารีบป้องกันปัญหา เชื่อว่า มินามาตะจะไม่เกิดขึ้นประเทศไทย

อย่างเด็กที่เราไปตรวจที่ตำบลท่าตูม ปราจีนบุรี ก็จะเกิดในช่วงที่เราทดลองวิเคราะห์ปลาพอดี ซึ่งพบเส้นผมแม่เขามีสารปรอทสูง ซึ่งแม่บริโภคปลาจากพื้นที่น้ำเสียจากโรงงานทุกวัน ด้วยความต้องการโปรตีนเพื่อบำรุงลูกในครรภ์ เราพบว่าเด็กที่คลอดออกมามีพัฒนาการช้า แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นวิกฤตมาก การจัดการของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดสารปรอทปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ขยะอันตรายอุตสาหกรรม ซึ่งตอนนี้เรากำลังเจอว่าหลายพื้นที่มีปัญหานี้

ด้าน อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวขอบคุณ สสส. ที่จัดฉายหนังเรื่องนี้ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทย เป็นภาคีลำดับที่ 66 อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท (The Minamata Convention on Mercury)” โดยอนุสัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2560 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาทางกรมฯ ทำงานกับพี่น้องประชาชนประสบปัญหาในด้านนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งก็มีการฟ้องร้องในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นเขตอุตสาหกรรม ทั้งหมดทั้งปวงเป็นเรื่องที่ยากมากในการแก้ไขปัญหานี้ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการสร้างความเข้มแข็งของพี่น้องประชาชนในการที่จะเป็นพลังเข้มแข็ง สร้างความร่วมมือระหว่างกันในการต่อสู้กับปัญหามลพิษ

สร้างพลังตื่นรู้ Active Citizen

คนไทยสามารถช่วยเป็นระบอกเสียงช่วยภาครัฐ เพื่อช่วยให้สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นได้” ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. เอ่ย และกล่าวต่อว่า สสส. จัดให้มลพิษอุตสาหกรรมเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ซึ่งพบว่า ในพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม เยอะๆ รวมถึงหลายพื้นที่ที่เป็นโรงงานขนาดเล็กที่ไม่ได้มาตรฐานและปล่อยสารพิษหรือของเสีย ได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนไม่น้อย

เห็นชัดเลยว่ามินามาตะผลกระทบลงไปสู่ระบบห่วงโซ่อาหารสำคัญของชุมชน เรามองว่าจุดเล็กๆ ส่งผลกระทบใหญ่ๆ ต่อการมีสุขภาวะจริงๆ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมเยอะมาก และกระจายตัวในทุกพื้นที่ของประเทศ ทำอย่างไรเราถึงจะตอบสนองอย่างเท่าทัน ทั้งในรูปกฎหมายที่ต้องมีการนำไปปฏิบัติใช้อย่างจริงจัง การบังคับใช้ บทลงโทษ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเองก็ปรับตัวไม่สร้างผลกระทบ และประชาชนเองก็ทันสถานการณ์

ซึ่งจากบทบาทสำคัญของ สสส. อีกหนึ่งอย่างคือ การส่งเสริมการสร้าง Active Citizen ชุมชนที่มีความตื่นรู้เพื่อต่อสู้ เรียกร้องการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อชุมชน ขณะเดียวกันในบทบาทสื่อสารการให้ความรู้ต่างๆ ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญ

การอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ หรือทำอย่างไรเราถึงจะป้องกันดูแลสุขภาพตัวเองให้ได้ มีองค์ความรู้ต่าง ๆ ซึ่ง สสส.ได้ร่วมกับภาคี ผลิตชุดความรู้เหล่านี้อย่างเข้มข้น ในการติดอาวุธความรู้ในการป้องกันดูแลรักษาตัวเอง ให้สามารถใช้ชีวิตปลอดภัยได้มากที่สุด

จากแนวคิดดังกล่าว สสส. พยายามสร้างให้เกิดการทำงานอย่างประสานเครือข่ายคนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นภาควิชาการ ที่ทำวิจัยในพื้นที่ งานนโยบายซึ่งรับประเด็นจากวิชาการ งานพัฒนาชุมชนคือการสร้าง Active Citizen อาทิ การให้ความรู้แก่ชุมชนสามารถ ว่าสภาพน้ำเป็นอย่างไร อากาศที่เขาสูดเข้าไปเป็นอย่างไร รวมถึงผืนดิน สิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพ ทั้งในพื้นที่สมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม ที่ทำงานร่วมกับ มูลนิธิบูรณนิเวศในการจัดการสิ่งแวดล้อมพื้นที่ต้นแบบ รวมถึงพื้นที่อีอีซี

สำหรับภาพยนตร์วันนี้ เรามองว่าเป็นจุดเริ่มต้น อย่างมินามาตะประเด็นคือสารปรอท แต่เรายังมีสารปนเปื้อนที่เป็นพิษอีกมากมาย การดูภาพยนตร์มองว่าเป็นบทเรียนสำคัญที่เราได้เห็นการต่อสู้ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อกว่าห้าสิบปีก่อน ซึ่งควรนำบทเรียนเหล่านี้เป็นเครื่องเตือนใจ เป็นแรงผลักดันกระตุ้นให้เราเห็นว่าอันตรายจริง ๆ และเกิดการตื่นตัวในการจัดการสิ่งแวดล้อมเหล่านี้เพื่อเป็นมิตรกับลูกหลาน

เราจะไม่เป็นมินามาตะ 2 ถ้าเรามีการควบคุม และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นช่องว่างที่สำคัญของประเทศ ถ้าเราเสริมพลังองค์กรภาคประชาสังคม ภาคชุมชน แต่ต้องมีภาคการบังคับที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น” ชาติวุฒิ เอ่ยย้ำทิ้งท้าย

\"มินามาตะ\" จากภาพสู่ภาพยนตร์สะท้อน \"โศกนาฎกรรมน้ำมือมนุษย์\" \"มินามาตะ\" จากภาพสู่ภาพยนตร์สะท้อน \"โศกนาฎกรรมน้ำมือมนุษย์\" \"มินามาตะ\" จากภาพสู่ภาพยนตร์สะท้อน \"โศกนาฎกรรมน้ำมือมนุษย์\" \"มินามาตะ\" จากภาพสู่ภาพยนตร์สะท้อน \"โศกนาฎกรรมน้ำมือมนุษย์\" \"มินามาตะ\" จากภาพสู่ภาพยนตร์สะท้อน \"โศกนาฎกรรมน้ำมือมนุษย์\"