“ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” โฉมใหม่ ดีไซน์ไม่แพ้ศูนย์ประชุมใดในโลก

“ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” โฉมใหม่ ดีไซน์ไม่แพ้ศูนย์ประชุมใดในโลก

“ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” กำลังจะกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ ทั้งการออกแบบสุดอลังการ ภายใต้คอนเซปต์ลึกซึ้ง เก็บทุกรายละเอียดอย่างงดงาม สมกับเป็นศูนย์การประชุมแห่งชาติ ที่สู้ได้ทุกศูนย์การประชุมทั่วโลก

“สืบสาน รักษา ต่อยอด” ทั้งสามคำคือ คีย์เวิร์ดของการรีโนเวทชนิดทำใหม่หมดทั้งพื้นที่ของ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่แม้คอนเซปต์จะออกไปทางอนุรักษ์ แต่หลังจากซุ่มปรับปรุงจนหลายคนคิดถึง สิ่งที่ทำให้ ศูนย์สิริกิติ์ ขึ้นชื่อว่าโฉมใหม่ น่าจะทำให้คนที่หลงใหลสถาปัตยกรรม งานออกแบบ และศิลปวัฒนธรรม ต้องตั้งตารอชม

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คิดทุกชั้น

ออ - อริศรา จักรธรานนท์ บริษัท ออนเนียน จำกัด (ONION) เล่าถึงการออกแบบให้แต่ละชั้นสะท้อนคาแรกเตอร์และบริบทของชั้นนั้นๆ ไล่เลียงตั้งแต่ชั้น LG หรือว่าชั้นใต้ดินที่เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT

“ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” โฉมใหม่ ดีไซน์ไม่แพ้ศูนย์ประชุมใดในโลก ออ - อริศรา จักรธรานนท์

ชั้น LG มีความเคลื่อนไหวมาก ถือเป็นพื้นที่ ที่แอคทีฟ และไม่จำเป็นต้องทางการนัก จึงมาลงเอยที่การออกแบบ Casual Thai (ไทยลำลอง) โดยได้แรงบันดาลใจ และการตกแต่งจากการหยิบจับเสน่ห์ชุดผ้าไทย ความสบายของลายผ้าขาวม้า ลายผ้าถุง การจับจีบผ้า และการซ้อนเกล็ด มาใช้ในการตกแต่งพื้นที่ เพื่อให้ความโล่ง โอ่โถงของชั้นนี้ ห่อหุ้มไปด้วยความอบอุ่น ผ่อนคลาย

ถัดขึ้นมาที่ชั้น G ซึ่งเป็นชั้นเดียวกับถนนและทางเข้าหลักของ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จึงมีความเป็นทางการมากขึ้น การออกแบบเป็นแบบ Thai Formal เพราะคือ พื้นที่จัดงานหลักเป็นทางการ ลักษณะของงานดีไซน์ชั้น G จะให้ความรู้สึกนิ่ง เรียบ หรู สะท้อนความเป็นไทย แรงบันดาลใจจากชุดไทยประยุกต์โจงกระเบน ซึ่งขยับจากไทยลำลอง สู่ความเป็นไทยที่ดูเป็นทางการขึ้น มีการใช้สีของหินอ่อนมาทำผนัง และจับจีบผนังให้เกิดรูปโค้งแบบลายไทย มีการใช้เส้นแนวนอนนำสายตา รับกับฝ้าที่มีการจับจีบเป็นระยะ

“ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” โฉมใหม่ ดีไซน์ไม่แพ้ศูนย์ประชุมใดในโลก

ที่ชั้น 1 และชั้น 2 เป็นโซนห้องประชุมต่างๆ จุดเด่นของสองชั้นนี้คือ การออกแบบสไตล์ Modern and Exotic Thai ให้สอดคล้องกับฟังก์ชันของห้องประชุมที่มีความสากล และใช้ได้ทุกงาน แต่ในความทันสมัยก็ยังมีความหรูหรา

อริศรา อธิบายว่า ชั้นนี้ประกอบด้วยห้องบอลรูม (Ballroom) และเพลนารีฮอลล์ (Plenary Hall) ที่มีพื้นที่รองรับการจัดงานรวมกันกว่า 10,000 ตารางเมตร โดยภายในห้องบอลรูม ได้แรงบันดาลใจในการตกแต่งมาจากผ้าไทยชาวเขาที่เล่าเรื่องราวของธรรมชาติในรูปแบบลายเส้น และรูปทรงเรขาคณิต การใช้วัสดุตกแต่งสีเงินมาจากเครื่องเงินซึ่งเป็นเครื่องประดับที่ชาวเขานิยมสวมใส่

“ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” โฉมใหม่ ดีไซน์ไม่แพ้ศูนย์ประชุมใดในโลก

สำหรับภายในห้องเพลนารีฮอลล์ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชุดไทยพระราชนิยม แบบชุดไทยจักรี (Majestic Luxury Thai) โดยเลือกลายไทยที่เป็นลวดลายพื้นฐานอย่าง “ลายประจำยาม” มาลดทอนรายละเอียด ขยายสัดส่วนให้ใหญ่ขึ้น และหยิบบางส่วนของเส้นสายในชุดไทยจักรีที่มีความประณีตมาตกแต่งบรรยากาศให้ดูร่วมสมัย

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่สุดทั้งดีไซน์และวัสดุ

“ถ้าสังเกตโทนสีของ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จะออกอุ่นๆ ธรรมชาติๆ เพราะเวลาคนมาจัดงาน เราจึงดีไซน์โทนสีให้กลางๆ เพื่อจัดงานได้ทุกงาน เพราะ ศูนย์สิริกิติ์ เป็นสถานที่ให้คนเช่าจัดงาน

ซึ่งความยากของโจทย์การออกแบบที่นี่คือ หนึ่ง เป็นศูนย์การประชุมแห่งชาติ เราอยากให้มีความเป็นไทยแต่ต้องมีความเป็นสากลด้วย รองรับการประชุมระดับนานาชาติได้โดยยังมีเอกลักษณ์อยู่ และการแปลแรงบันดาลใจของชุดไทยต่างๆ มาเป็นไอเดียการออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ สิ่งเหล่านี้คือ ความยาก”

ไม่ใช่แค่คอนเซปต์ แต่ความยิ่งใหญ่ของพื้นที่ก็เป็นสนามที่โหดหินของนักออกแบบ เพราะจำเป็นต้องมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก อริศราเปิดเผยว่า การดีไซน์ต้องคำนึงถึงสเกลที่คนจะมองเห็นดีเทลด้วย แม้กระทั่งบันไดเลื่อนก็ใช่

บันไดเลื่อนของที่นี่ไม่เพียงแต่อำนวยความสะดวกผู้คนขึ้นไปยังชั้นต่างๆ ภายในศูนย์ฯ ที่มีถึง 6 ชั้น แต่ยังเป็นแลนด์มาร์คสำคัญ ที่ช่วยบอกพิกัดให้ผู้มาเยือนรู้ว่าอยู่ ณ ตำแหน่งใด จากชั้น LG ซึ่งเป็นชั้นใต้ดิน ชั้นนี้มีเสาสูงหกเหลี่ยมเป็นจุดดึงดูดสายตาที่น่าสนใจ มีบันไดเลื่อนสีทองเชื่อมต่อขึ้นไปสู่ชั้น G

“ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” โฉมใหม่ ดีไซน์ไม่แพ้ศูนย์ประชุมใดในโลก

นอกจากดีไซน์คอนเซปต์จะชวนว้าวแล้ว วัสดุที่ใช้ใน ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ บอกได้คำเดียวว่า “สุด” ยกตัวอย่างเช่น ผนังหินยาว 300 เมตร มีที่มาน่าสนใจคือ ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมา

“เราต้องการหินสีนี้ ไม่เข้มไป ไม่อ่อนไป และเราต้องใช้ค่อนข้างเยอะ เราเลยต้องไปจองก่อน เขาต้องใช้เวลาหาหิน 6 เดือน พอได้หินก็ส่งมาให้โรงงานที่ประเทศไทยทำ”

ไม่ได้มีแค่วัสดุหายากจากอีกซีกโลก แต่วัสดุท้องถิ่นก็เป็นวัสดุหลักที่ถูกนำมาใช้

“วัสดุที่เราใช้เราพยายามใช้วัสดุที่เป็น Local ในส่วนต่างๆ การทำงานกับวัสดุเหล่านี้มีความท้าทายอยู่ เช่น ดินเผาจะมีความไม่เท่ากันในแต่ละก้อน สีที่มันดิบ แต่เราคิดว่ามันเป็นเสน่ห์ของความคราฟท์ ไม่เป๊ะ ไม่เหมือนวัสดุที่ออกมาจากโรงงาน

“ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” โฉมใหม่ ดีไซน์ไม่แพ้ศูนย์ประชุมใดในโลก

เอกลักษณ์ที่ยังอนุรักษ์ของ “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์”

หากจำกันได้ แลนด์มาร์ค และสถาปัตยกรรมที่สะท้อนเอกลักษณ์ของ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นั้นมีอยู่หลายอย่าง อาทิ โลกุตระ, ผนังรูปยักษ์ ฯลฯ ถึง ศูนย์สิริกิติ์ จะเปลี่ยนโฉมแต่ยังเก็บรักษาอัตลักษณ์เหล่านี้เอาไว้ เพียงแต่นำมาแต่งองค์ทรงเครื่องแล้วเล่าด้วยวิธีใหม่

“ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” โฉมใหม่ ดีไซน์ไม่แพ้ศูนย์ประชุมใดในโลก

“งานศิลปะเดิมของศูนย์ เราก็เก็บเอาไว้ แล้วเอามา Re-locate ให้เหมาะสมกับศูนย์ใหม่ แล้วเพิ่มศิลปินรุ่นใหม่เข้าไปด้วย เพื่อให้มีทั้งของใหม่และของเก่า จากคอนเซปต์หลักคือ สืบสาน รักษา ต่อยอด เราเลยเก็บของเก่าแล้วเอามาใช้ใหม่ และเราพยายามครีเอทความเป็นไทยในลักษณะที่โมเดิร์นขึ้น สากลขึ้น เป็นภาษาที่เราอยากสื่อออกไปในความเป็นศูนย์ประชุมแห่งชาติ

ตอนนี้เอกลักษณ์ของที่นี่ เราไม่ได้เทียบกับศูนย์ประชุมในประเทศ แต่เราเทียบในระดับนานาชาติ แล้วสิ่งที่ทำให้คนมาที่นี่แล้วจำได้คือ เอกลักษณ์ที่เราใช้ความเป็นไทยเข้าไป มีทุกอย่างครบครัน มี Hall ทุกแบบ มีการบริการระดับนานาชาติแล้ว”

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์