"Kona Coffee" เร่งคลี่ปัญหา "กาแฟไม่ตรงปก"

"Kona Coffee" เร่งคลี่ปัญหา "กาแฟไม่ตรงปก"

เป็นกาแฟอีกตัวหนึ่งที่มีชื่อเสียงในระดับตำนานโลกกาแฟ “Kona Coffee” ได้รับความนิยมมานานมาก แต่ชื่อเสียงทำให้เกิด “กาแฟปลอม” กระทบรุนแรงทั้งวงการ

กาแฟโคน่า (Kona coffee) จากเกาะฮาวายในมหาสมุทรแปซิฟิกอันไกลโพ้น เคยได้รับคำชื่นชมจากมาร์ค ทเวน นักเขียนนามระบือลือลั่นชาวอเมริกันว่า มีรสชาติกลมกล่อมมากกว่ากาแฟจากที่อื่นๆ ถือเป็นกาแฟอีกตัวหนึ่งที่มีชื่อเสียงในระดับตำนานโลกกาแฟ ได้รับความนิยมมานานมาก

"กาแฟโคน่า" นอกจากจะเป็นชื่อของแหล่งปลูกแล้ว ยังเป็นชื่อแบรนด์ดังในตลาดกาแฟระหว่างประเทศ แต่ด้วยความโด่งดังนี้เอง ก่อให้เกิดด้านมืดขึ้นมาจากปัญหาสินค้าปลอมแปลง สร้างผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกรผู้ผลิต แถมบั่นทอนชื่อเสียงของกาแฟฮาวายด้วย

ซองบรรจุ "กาแฟโคน่า" ส่วนใหญ่ มักจะเป็นภาพธรรมชาติอันสวยงามของ "หมู่เกาะสวรรค์ฮาวาย" ตั้งแต่วิวทิวทัศน์ของภูเขาไฟ, ชายหาดอันเรืองรอง, ต้นมะพร้าวที่พัดไหว, สาวน้อยนักเต้นระบำฮูลา หรือกระทั่งดอกชบาแสนสวย อันเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของเกาะ ตามแต่บรรดาผู้ค้ากาแฟในฮาวายจะออกแบบกัน แน่นอนว่า ซองบรรจุกาแฟนั้นมักจะสร้างความเชื่อถือทางการตลาดด้วยการใช้คำว่า "Pure 100% Kona" ที่บ่งบอกว่านี่คือกาแฟโคน่าแท้ๆ หรือไม่ก็ “Kona blend” ซึ่งหมายถึงกาแฟโคน่าผสมเข้ากับกาแฟจากแหล่งอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม บรรดาคอกาแฟที่ซื้อ กาแฟ Kona มาดื่ม ก็ไม่แน่ว่าจะได้ลิ้มรสของแท้กันจริงๆ หรือถ้าเบลนด์มาก็มีสัดส่วนกาแฟโคน่าต่ำมาก

เพราะด้วยความดัง ชื่อ "กาแฟโคน่า" จึงถูกนำไปใช้ทางการตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าตลอดช่วงที่ผ่านมาทั้งในและนอกเกาะฮาวาย แต่การผลิตที่มีจำนวนจำกัดในแต่ละปี จึงนำไปสู่กรณี "โฆษณาเกินจริง" หรือ "สินค้าไม่ตรงปก" เข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค สร้างปัญหาให้บรรดาเกษตรกรตัวจริงในพื้นที่ จนนำไปสู่การรวมตัวกัน "ฟ้องร้อง" ผู้ค้ากาแฟจำนวนหนึ่งขึ้นมา กลายเป็นข่าวครึกโครมตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ภาพ : Engin Akyurt ภาพโดย Engin Akyurt

ในปีค.ศ 2019 ชาวไร่ 3-4 รายในฐานะตัวแทนชาวไร่ "กาแฟโคน่า" หลายร้อยคนได้ยื่นฟ้องผู้ค้ากาแฟทั้งขายปลีกและขายส่งจำนวน 21 รายต่อศาลแขวงเมืองซีแอตเทิ้ล สหรัฐอเมริกา ในจำนวนนี้มีทั้ง วอลมาร์ท, เซฟเวย์, คอสท์โค และแอมะซอน ในข้อหาติดฉลากขายกาแฟโคน่าเบลนด์ไม่ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากกาแฟเหล่านั้นไม่ได้มาจากแหล่งปลูกในโคน่าของฮาวาย พร้อมเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนหนึ่ง และขอให้ระงับการขายและแคมเปญโฆษณาต่างๆ ด้วย

อันที่จริงๆ ชาวไร่ "กาแฟโคน่า" ตั้งข้อสงสัยมานานแล้วว่า มีผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟนำกาแฟราคาถูกมาบรรจุถุงขาย แล้วติดป้ายขายว่าเป็นกาแฟโคน่า ทำให้ตลาดท่วมท้นไปด้วยกาแฟโคน่าที่มีราคาต่ำ สร้างความอึดอัดคับข้องใจให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟยิ่งนัก

ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า หากปล่อยให้เป็นเยี่ยงนี้ต่อไป ยิ่งจะทำลายทั้ง "ชื่อเสียง" และ "รสชาติ" ที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของกาแฟอันดับหนึ่งของฮาวายไปจนหมดสิ้น

เมล็ดกาแฟคั่วบรรจุถุงจากไร่ Rancho Aloha ในเขตโคน่า / ภาพ : ranchoaloha.com/ เมล็ดกาแฟคั่วบรรจุถุงจากไร่ Rancho Aloha ในเขตโคน่า / ภาพ : ranchoaloha.com/

ก่อนหน้านี้ การฟ้องร้องแทบไม่เคยเกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องยากมากที่จะใช้ "กลิ่นรส" ของกาแฟ มาแยกแยะหาแหล่งกำเนิดที่แท้จริงหากเป็นกาแฟที่ให้รสชาติใกล้เคียงกันมากๆ ทำให้ปัญหาการนำเอากาแฟนอกเขตโคน่า และจากที่อื่นๆ ซึ่งเป็นกาแฟราคาถูก มาบรรจุถุงขายในนาม "กาแฟโคน่า" ยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ

ทว่าหลักฐานสำคัญที่ตัวแทนเกษตรกรนำมายื่นต่อศาลให้พิจารณาก็คือ "สารประกอบทางเคมี" ในกาแฟ แล้วปัจจัยตัวแปรที่ทำให้สารเคมีในกาแฟต่างกันออกไป ก็คือ สายพันธุ์กาแฟ, สภาพภูมิอากาศ, สภาพดิน รวมไปถึงวิธีแปรรูปและการคั่ว

เหมือนกับที่เคยมีการใช้ "คาร์บอน-14" พิสูจน์ว่าวิสกี้มีอายุน้อยกว่าที่ค่ายสุราโฆษณาเอาไว้ ชาวไร่กาแฟได้จ้างทีมนักวิทยาศาสตร์มาทำการแยกแยะหาสัดส่วนสารประกอบต่างๆ ที่อยู่ใน "กาแฟ Kona" แท้ๆ นำมาเปรียบเทียบกับอัตราส่วนของสารประกอบใน "กาแฟโคน่า" ที่วางจำหน่ายนอกรัฐ แล้วยื่นเป็นหลักฐานประกอบการฟ้องร้อง

นอกจากนั้น ตัวแทนชาวไร่กาแฟยังเรียกร้องให้บรรดาผู้ค้ากาแฟซึ่งเป็นจำเลย เปิดเผยข้อมูลว่าได้ "กาแฟโคน่า" มาจากที่ไหนด้วย เพราะในความเป็นจริงแล้วกาแฟในเขตโคน่ามีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 2.7 ล้านปอนด์ต่อปี แต่กลับมีกาแฟที่วางจำหน่ายมากกว่า 20 ล้านปอนด์ที่ติดฉลากว่าเป็น "กาแฟโคน่า"

ตอนนั้นเว็บไซต์ข่าว ลอสแองเจลิส ไทมส์ ถึงกับพาดหัวข่าวว่า "กาแฟโคน่าที่คุณซื้อจากคอสท์โคและวอลมาร์ท อาจเป็นของปลอมก็ได้...!"

เมื่อกลางปีมานี้เอง จำเลยหลายรายในคดีนี้ยินยอมจ่ายเงินค่าเสียหายให้ชาวไร่กาแฟ รวมๆแล้วเป็นเงินกว่า 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีบางรายตกลงจ่ายเงินชดเชยให้ แต่ไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขที่ชัดเจนก็มี

และเนื่องจากแรงกดดันจากเกษตรกรและสมาชิกสภาในพื้นที่ ผลที่ติดตามมาล่าสุด เมื่อต้นเดือนพ.ย.นี้เอง สภามลรัฐฮาวายได้ผ่านกฎหมายใหม่ ปรับระดับ "กาแฟ Kona Blend" ในส่วนผสมของ "กาแฟโคน่า" กับกาแฟจากแหล่งปลูกอื่นๆ เป็นให้มีกาแฟโคน่าขั้นต่ำ 51%  จากเดิมขั้นต่ำที่ 10% หากว่าผู้จัดจำหน่ายกาแฟทั้งร้านค้าหรือโรงคั่วต้องการใช้ชื่อ Kona Blend บนซองหรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ของกาแฟ

อันที่จริงแล้ว บรรดาชาวไร่กาแฟโคน่าพยายามผลักดันข้อเสนอหนึ่งให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายให้ได้ในอนาคต มีสาระสำคัญที่ค่อนข้างดุเดือดทีเดียว นั่นคือ ต้องการให้รัฐฮาวาย "แบน" การนำเข้า "สารกาแฟ" ทั้งหมด เพื่อปิดรูโหว่จากกฎหมายปัจจุบันที่อนุญาตให้ผลิตจำหน่าย "โคน่า เบลนด์" และปกป้องพืชผลในฮาวายจากการรุกรานของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น (invasive specie) เช่น ราสนิมใบกาแฟ

เดิมนั้น ฮาวายถูกเรียกว่า "หมู่เกาะแซนด์วิช" ตั้งชื่อโดยเจมส์ คุก หลังล่องเรือมาพบเกาะในปี ค.ศ. 1778 ปัจจุบันเป็นมลรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกา แล้วกาแฟไม่ใช่พืชพันธุ์ท้องถิ่นของหมู่เกาะฮาวาย แต่มีการนำเข้าไปปลูกเป็นครั้งแรกเมื่อเกือบ 300 ปีมาแล้ว เนื่องจากผ่านมานานเป็นร้อยๆ ปี ประวัติการเติบโตของต้นกาแฟในหมู่เกาะสวรรค์แห่งนี้มีหลากหลายแง่มุม  แต่ก็ยังพอมีข้อมูลให้สืบสาวได้ว่า ต้นกำเนิดของกาแฟที่โด่งดังในระดับตำนานและเคยมีราคาแพงที่สุดตัวหนึ่งของโลก เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1825 

ครั้งกระนั้น "หัวหน้าโบกิ" ผู้ปกครองเกาะโอวาฮู หนึ่งในเกาะสำคัญของหมู่เกาะฮาวาย ได้เดินทางไปเยือนเกาะอังกฤษ แล้วเกิดติดใจรสชาติกาแฟที่มีโอกาสดื่มเป็นคราแรกขึ้นมา ดังนั้น เมื่อเรือโดยสารหยุดแวะที่บราซิลระหว่างเดินทางกลับ หัวหน้าโบกิจึงนำผลเชอรี่กาแฟสุกติดมือกลับบ้านไปด้วยจำนวนหนี่ง เป็นกาแฟ "ทิปปิก้า" สายพันธุ์ดั้งเดิมของกาแฟคุณภาพสูงอย่างอาราบิก้า จากนั้นผลกาแฟเหล่านี้ก็ถูกนำไปปลูกยังพื้นที่ของเกาะโอวาฮู โดยฝีมือของจอห์น วิลกินสัน นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ

ต้นกาแฟจากเขตโคน่า เติบโตบนตามเชิงชั้นภูเขาไฟ / ภาพ : commons.wikimedia.org/Ekrem Canli ต้นกาแฟจากเขตโคน่า เติบโตบนตามเชิงชั้นภูเขาไฟ / ภาพ : commons.wikimedia.org/Ekrem Canli 

แล้วต้นกาแฟก็แพร่กระจายออกไปตามหมู่เกาะต่างๆ ของฮาวายในเวลาไม่นานนัก ไร่กาแฟแห่งแรกของฮาวายก็เกิดขึ้นในย่าน "โคน่า" ของเกาะหลักฮาวาย หรือเกาะบิ๊กไอส์แลนด์ (Big Island) ในอาณาบริเวณที่ลาดชันของภูเขาไฟฮูอาลาไล และภูเขาไฟเมานาโลอา ในระดับความสูงเฉลี่ย 800- 2,500 ฟุตจากระดับน้ำทะเล มีความยาวจากเหนือจรดใต้ประมาณ 30 ไมล์ กว้างประมาณ 2-3 ไมล์ กอปรด้วยสภาพภูมิประเทศและอากาศอันเป็นที่ชื่นชอบของต้นกาแฟพันธุ์อาราบิก้า แดดจ้ายามเช้า มีฝนในช่วงฤดูร้อน ปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกตลอดทั้งปี อุดมด้วยแร่ธาตุจากดินภูเขาไฟ เรียกขานย่านนี้กันในเวลาต่อมาว่า "Kona Coffee Belt" 

ปัจจุบัน ย่านโคน่ามีไร่กาแฟขนาดเล็กประมาณ 600 แห่ง แต่ละไร่มีพื้นที่ปลูกกาแฟไม่กี่เอเคอร์ ปริมาณการผลิตเฉลี่ยต่อปีถือว่าน้อยมาก มีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของการผลิตกาแฟทั่วโลก เนื่องจากแต่ละไร่มีขนาดเล็ก จึงยังคงเก็บเกี่ยวผลเชอรี่สีแดงด้วยสองมือของแรงงาน

ทุกวันนี้ย่านโคน่าแทบกลายเป็นพื้นที่เดียวบนเกาะฮาวายที่ผลิตกาแฟและส่งออกไปยังตลาดโลกไปแล้ว ขณะที่ส่วนต่างๆ ของหมู่เกาะ เพิ่งหันกลับมาทำไร่กาแฟกันอีกครั้งในช่วงไม่กี่ปีมานี้เอง หลังจากทิ้งช่วงไปนาน

บริเวณสีส้มคือพื้นที่ปลูกกาแฟโคน่า บนเกาะฮาวาย / ภาพ : royalkonacoffee.com บริเวณสีส้มคือพื้นที่ปลูกกาแฟโคน่า บนเกาะฮาวาย ภาพ : royalkonacoffee.com

"กาแฟโคน่า" เป็นที่แสวงหากันมากของร้านกาแฟที่คัดสรรคุณภาพตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากมีกรดเปรี้ยวต่ำ รสชาติออกโทนหวานผลไม้นำ ตามด้วยสไปซี่ มีบอดี้หรือเนื้อกาแฟค่อนข้างหนักแน่น แล้วตามตัวบทกฎหมายของมลรัฐฮาวาย มีเพียงกาแฟที่ปลูกในเขตโคน่าในบางพื้นที่เท่านั้น จึงจะได้รับสิทธิ์ให้ติดหรือปั๊มคำว่า "100% Kona Coffee" ลงไปบนแพคเกจจิ้ง เป็นแบรนด์แสดงสัญลักษณ์ว่าคือกาแฟที่เก็บเกี่ยวจากหนึ่งในแหล่งปลูกที่ดีที่สุดของโลก

เนื่องจากหายากและมีราคาสูง ผู้ผลิตกาแฟบางเจ้าก็จำหน่ายกาแฟในชื่อ "Kona Blend" โดยมีการนำ "กาแฟโคน่า" ไปเบลนด์ผสมกับกาแฟจากแหล่งผลิตต่างๆ เช่น โคลอมเบียหรือบราซิล ปกติจะใช้สัดส่วนกาแฟโคน่าขั้นต่ำ 10 เปอร์เซ็นต์ กับกาแฟจากที่อื่นอีก 90 เปอร์เซ็นต์ โดยสัดส่วนนี้เป็นไปตามกฎหมายของมลรัฐฮาวายที่ออกมาเมื่อปีค.ศ. 1991 ซึ่งอนุญาตให้ผู้จัดจำหน่ายใช้ชื่อกาแฟฮาวาย ทั้ง "Kona" และ "Ka’u" บนซองผลิตภัณฑ์ได้ ตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ข้างต้น ก่อนที่จะปรับเพิ่มเป็นขั้นต่ำ 51% เมื่อเร็วๆ นี้

กาแฟโคน่า เป็นที่แสวงหากันมากของร้านกาแฟตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน / ภาพ : cocoparisienne from Pixabay กาแฟโคน่า เป็นที่แสวงหากันมากของร้านกาแฟตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน / ภาพ : cocoparisienne from Pixabay

ระหว่างการประชุมสภามลรัฐฮาวายเมื่อสัปดาห์ก่อน เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟที่เดินทางไปร่วมประชุมด้วย ได้ลุกขึ้นอภิปรายตอนหนึ่งว่า การเจือจางกาแฟโคน่า ซึ่งเป็นแบรนด์ดังของเกาะ ด้วยการอนุญาตให้เบลนด์เข้ากับกาแฟจากแหล่งปลูกอื่นๆ ทำให้ชาวไร่กาแฟท้องถิ่นโดน "ผลักดัน" ให้ออกจากกรอบการมีส่วนแบ่งทางการตลาด ทั้งยังสร้างความเสียหายให้กับแบรนด์อย่างถาวร

ประการหนึ่ง เพราะผู้บริโภคถูกทำให้เข้าใจผิดคิดไปว่าตนได้ดื่มกาแฟโคน่าแท้ๆ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่

ประการสอง การนำไปเบลนด์เข้าไปกับกาแฟอื่นๆ ก็ทำให้กาแฟโคน่าสูญเสียเอกลักษณ์ทางรสชาติไป

ประการสาม ชาวไร่ผู้ปลูกกาแฟตัวจริง กลับถูกเบียดบังผลประโยชน์ที่ควรได้ไปโดยธุรกิจค้ากาแฟจำนวนหนึ่ง

แต่กว่าที่กฎระเบียบฉบับใหม่จะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาระดับมลรัฐก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และต้องผ่านอีกหลายกระบวนการกว่าจะมีผลบังคับใช้ ที่ผ่านมาก็มี “แรงต้าน” มาจากบริษัทค้ากาแฟในฮาวายเองที่ทำกำไรได้อย่างงามจากโคน่าเบลนด์ในแบบที่เป็นสินค้าไม่ตรงปกบ้าง สินค้าผิดฝาผิดตัวบ้าง หรือไม่ก็โฆษณาเกินจริงบ้าง

อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายฮาวายไม่สามารถบังคับใช้เอากับผู้จัดจำหน่ายหรือโรงคั่วที่ตั้งอยู่นอกรัฐ แต่นี่ก็เป็นกรณีล่าสุดที่กลไกการทำงานจากภาครัฐได้ออกโรงช่วยคุ้มครองผลประโยชน์ของชาวไร่กาแฟรายเล็กๆ ไม่ให้ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่ร่ำไป โดยเฉพาะกับ "กาแฟโคน่า" อันเป็นแบรนด์ดังดั้งเดิมมาแต่ไหนแต่ไรของเกาะฮาวาย