ลอยกระทง ลอยประทีป ลอยโคม...ความเป็นมาของประเพณีแห่งสายน้ำ

ลอยกระทง ลอยประทีป ลอยโคม...ความเป็นมาของประเพณีแห่งสายน้ำ

ประเพณี “ลอยกระทง” ของคนไทย ตรงกับ "วันเพ็ญเดือน 12" ในขณะที่ชาวเอเชียในหลายประเทศมีประเพณี “ลอยประทีป” หรือ “ลอยโคม” ลงสายน้ำ เพื่ออธิษฐานขอพร ให้สมหวัง ให้มีสุขภาพดี และอุทิศแก่ดวงวิญญาณที่ล่วงลับ

สายน้ำเป็นสัญลักษณ์ของการปลดปล่อย การปล่อยวาง การเดินทางสู่อิสระ ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่า คนเกิดจากน้ำ ส่วน “แสงสว่าง” เป็นเครื่องหมายของการเกิดใหม่ การเริ่มต้น การนำทางสู่ความหวังและความรุ่งเรือง

ลอยกระทง ลอยประทีป ลอยโคม...ความเป็นมาของประเพณีแห่งสายน้ำ   ปล่อยโคมสู่สายน้ำ (ภาพ: waterlanternfestival.com)

คนจีนมีงาน “เทศกาลโคมไฟ” หรือ ซ่างหยวน จัดในที่ 15 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ซึ่งเป็นวันฉลองวันสุดท้ายของเทศกาลปีใหม่จีน บางท้องถิ่นจัดงานใหญ่โต แขวนโคมประดับที่บ้าน เด็ก ๆ ถือโคม ผู้ใหญ่ซื้อโคมกลับบ้าน งานออกร้าน สวมหน้ากาก เป็นงานรื่นเริงต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ

คนไทย ลอยกระทง เพื่อบูชาสายน้ำ ในขณะเดียวกันก็ขอพรให้สมปรารถนา บันทึกไว้เริ่มมีสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ในประเทศจีนประเพณีปล่อยโคมประทีปสู่สายน้ำ มีประวัติว่าเริ่มสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) เรียกว่า Floating water lantern (放河灯) ชาวบ้านจะลอยกระทงที่พับเป็นรูปดอกบัว ประทีปหรือโคม ติดไฟไว้ข้างในแล้วลอยสู่สายน้ำ ทุกวันนี้ยังมีประเพณีปล่อยประทีปลงแม่น้ำตามเมืองต่าง ๆ เป็นทั้งประเพณี งานเทศกาล และส่งเสริมการท่องเที่ยว มีการแสดงดนตรี งานศิลปะพื้นถิ่น งานออกร้านขายอาหารท้องถิ่น สอนทำโคม ฯลฯ นิยมจัดช่วงปลายฤดูร้อนก่อนจะหนาว เช่นที่ กุ้ยหลิน งานลอยประทีปโด่งดังมาก จัดบริเวณภูเขาแมว (猫儿山) และอีกหลายสถานที่ที่มีแม่น้ำหรือทะเลสาบ ตอนปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน

ลอยกระทง ลอยประทีป ลอยโคม...ความเป็นมาของประเพณีแห่งสายน้ำ     โคมรูปดอกบัว (ภาพ: taiwangods.com)

ความรัก ความหวัง ทุกข์โศกและโรคภัย ฝากสายน้ำลอยไป โดยมีแสงเทียนนำทาง ใน ไต้หวัน ประเพณี The Yilan Water Lantern ที่เมือง Yilan (เมืองอี๋หลาน อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะไต้หวัน ไม่ไกลจากไทเป) จัดช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นกรกฎาคม บางปีก็เลื่อนวันจัดออกไปตามปฏิทินจันทรคติของจีน ถ้าปีไหนตรงกับคืนวันประตูนรกเปิด (Ghost gate) ก็จะเลื่อนออกไปบ้าง งานลอยประทีปที่ไต้หวันครึกครื้นมาก มีการแสดงดนตรี ออกร้าน งานกุศล บันทึกว่าเริ่มจัดสมัยราชวงศ์ชิง ฉลองเทศกาลปล่อยผี (แบบไต้หวัน) และมีเรื่องเล่าว่า พ่อค้าขายบะหมี่ยากจนคนหนึ่งไปภาวนาที่วัดขอให้ภรรยาสุขภาพดีขึ้น เทพเจ้าบอกว่าให้เขาจัดขบวนพาเหรดเต้นรำรอบเมือง คนขายบะหมี่ก็ทำ ไม่นานภรรยาก็สุขภาพดีขึ้น พ่อค้าบะหมี่เลยทำทุกปี แต่ละปีมีชาวบ้านมาร่วมงานมากขึ้น พอปี 2020 ทางการเลยช่วยทำให้งานใหญ่ขึ้น มีองค์กรพุทธศาสนาและลัทธิเต๋ามาร่วมกันจัดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

ลอยกระทง ลอยประทีป ลอยโคม...ความเป็นมาของประเพณีแห่งสายน้ำ    เทศกาลลอยโคม (ภาพ: theculturetrip.com)

ที่ ญี่ปุ่น งานลอยประทีปเรียกว่า Toro Nagashi  หรือ เทศกาลลอยโคม Glowing Lantern Festival ปล่อยโคมที่ทำด้วยโครงไม้ไผ่ทรงสี่เหลี่ยมกับกระดาษสา ข้างในจุดเทียน เช่นเดียวกับโคมไฟของชาวจีน ประเพณีปล่อยโคมลงสู่สายน้ำของญี่ปุ่นมีมานานนับพันปี เป็นหนึ่งในประเพณีทางพุทธศาสนา เรียกว่า O-bon Festival จัด 3 วัน ช่วงปลายเดือนสิงหาคม บางท้องถิ่นก็จัดกลางเดือนกรกฎาคม เช่น เกียวโต นางาซากิ ฮอกไกโด โตโกชิมา แรกเริ่มนั้นเพื่ออุทิศแก่ดวงวิญญาณที่ล่วงลับ ต่อมาก็กลายเป็นประเพณีที่ครอบครัวมารวมกันเพื่อลอยโคมให้กับสมาชิกในครอบครัวที่จากไป ต่อมาก็เป็นประเพณีที่ใหญ่ขึ้นเพื่อลอยโคมระลึกถึงผู้ที่จากไปในสงคราม และในเหตุภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ ฯลฯ

ลอยกระทง ลอยประทีป ลอยโคม...ความเป็นมาของประเพณีแห่งสายน้ำ     (ภาพ: theculturetrip.com)

O-bon สื่อถึงวิญญาณคนที่ตายแล้วจะกลับบ้านในช่วงสั้น ๆ การจุดไฟเพื่อนำทางดวงวิญญาณให้กลับบ้านถูก ความเชื่อของคนญี่ปุ่นที่ว่า “คนเกิดจากสายน้ำ หมายถึงเมื่อตายไปวิญญาณก็จะกลับคืนสู่ที่จากมาคือสายน้ำ

ปี 1946 เป็นปีที่คนญี่ปุ่นปล่อยโคมลงน้ำมากเพื่ออุทิศให้แก่ผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ ฮิโรชิม่า เป็นงานใหญ่ มีคนลอยโคมนับหมื่นดวงลงทะเล ย้อนกลับไปปี 1923 ชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตจากแผ่นดินไหว (Great Kanto Earthquake) สายน้ำในปีนั้นจึงเต็มไปด้วยโคมส่องสว่าง

ใน อินเดีย เรียกว่า Light Festival จัดช่วงปลายตุลาคมถึงพฤศจิกายน ชาวฮินดู ซิกข์ เจน ร่วมกันปล่อยประทีปลงแม่น้ำ บางที่เรียกว่า เทศกาล Diwali เพื่อบูชาเทพเจ้าและฉลองชัยชนะ

ลอยกระทง ลอยประทีป ลอยโคม...ความเป็นมาของประเพณีแห่งสายน้ำ     (ภาพ: OneWorld Lantern Festival)

ในอเมริกาก็มีเทศกาลปล่อยโคมลงแม่น้ำ เรียกว่า Water Lantern Festival จัดในหลายเมืองในอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก เข้าใจว่ามาจากชาวเอเชียที่ไปอยู่ในทวีปอเมริกา มักจัดช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงต้นพฤศจิกายน เริ่มที่รัฐยูทาห์ เมื่อปี 2018 ต่อมาก็จัดใน 34 เมืองทั่วอเมริกา เป็นงานเทศกาลที่สนุกสนาน พ่อแม่ลูก เพื่อน คู่รัก ชวนกันมาปล่อยโคมทรงสี่เหลี่ยม เขียนคำอธิษฐาน หรือเขียนอะไรก็ได้ ชาวอเมริกันจะเขียนสารพัดสิ่งที่นึกถึงหรืออยากได้รอบ ๆ โคม บางคนก็วาดรูปเขียนลวดลายสวย ๆ จุดเทียนแล้วปล่อยลงน้ำ การจุดเทียนชาวคริสต์บอกว่า เพื่อใช้แสงสื่อถึงพระเจ้า และเอาชนะปีศาจหรือความมืด แสงสว่างยังหมายถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่

ลอยกระทง ลอยประทีป ลอยโคม...ความเป็นมาของประเพณีแห่งสายน้ำ   เขียนบางสิ่งลงบนโคม (ภาพ: FB: waterlanternfestival)

นักจิตวิทยาบอกว่า การปล่อยโคม ลอยประทีป หรือลอยกระทง ช่วยปลดปล่อย แสดงความรู้สึกของตัวเองออกมา เป็นการบำบัดที่เรียกว่า Bridget Jones Effect (จากหนังฮอลลีวู้ด) เหมือนเวลาที่คนเขียนไดอารี่บันทึกความนึกคิดลงไป เล่าความรู้สึกของตัวเอง ตั้งแต่รัก เกลียด สมหวัง ผิดหวัง ความวิตกกังวล เศร้า โกรธ ความรู้สึกผิด ฯลฯ  

รู้สึกอย่างไรให้ฝากสายน้ำไป...