ย้อนความทรงจำ “สกาลา” ดู “Pop Culture” ร่วมสมัยยุค 60’s

ย้อนความทรงจำ “สกาลา” ดู “Pop Culture” ร่วมสมัยยุค 60’s

ชวนย้อนรำลึกถึง “Pop Culture” ยุค 60’s ที่ทำหน้าเป็นสัญญะแห่งกาลเวลาร่วมสมัยกับโรงภาพยนต์สุดคลาสิค “สกาลา” หลังเหลือไว้เพียงความทรงจำ

“สกาลา” โรงภาพยนต์สแตนด์อโลนสุดคลาสสิคแห่งสุดท้ายของของกรุงเทพฯ ที่เพิ่งถูกทุบรื้อ เมื่อ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา 

โรงหนังสกาลา ก่อตั้งขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2512 หรือค.ศ. 1969 ซึ่งเป็นช่วงปลายของยุค 60 รอยต่อไปยังยุค 70 ซึ่งยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้ทำให้สกาลาเสมือนเป็นมรดกของยุคสมัย และสามารถสะท้อนถึงวัฒนธรรมและความนิยมของผู้คนในสังคมยุคนั้นได้อีกด้วย 

งานสถาปัตยกรรม ถูกสร้างสรรค์ด้วยศิลปะแบบ อาร์ตเดโค (Art Deco) โดย “จิระ ศิลป์กนก" ส่วนชื่อนั้นได้ตั้งตาม โรงอุปรากร Teatro alla Scala เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี โดยคำว่าสกาลา มีความหมายว่า บันได ในภาษาอิตาลี 

ศิลปะแบบอาร์ตเดโคนั้นได้ถูกสะท้อนออกมาผ่านโครงสร้างอาคารสกาลาอย่าง เสาโค้ง และโคมฟ้าระย้าทรงหยดน้ำค้างแข็ง 5 ชั้นขนาดใหญ่ ซึ่งสอดคล้องกับยุคสมัยที่อาร์ตเดโคได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษ 1920 ถึง 1960 หรืออาจจะบอกได้ว่าในช่วงเวลาที่สกาลาได้ก่อสร้างนั้น ถือเป็นยุคสุดท้ายที่อาร์ตเดโคได้รับความนิยม

นอกจากศิลปะแบบอาร์ตเดโคแล้ว ในช่วงยุคร่วมสมัยสกาลายังคงมี “Pop Culture” อีกหลายอย่างที่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวบอกเล่าเรื่องราวของยุคนั้น โดยบางสิ่งจากยุคร่วมสมัยสกาลาก็ยังได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน แต่ในทางตรงข้ามก็มีอีกหลายอย่างที่หมดความนิยมและได้เลื่อนหายไปจาก Pop Culture ของคนในยุคปัจจุบัน  

“กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จะพาผู้อ่านทุกท่านย้อนดูความนิยมที่เกิดขึ้นในช่วงร่วมสมัย “สกาลา” ว่ามีอะไรบ้าง และมีสิ่งไหนบ้างที่ยังคงได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบันนี้

 

  ย้อนดู “Pop Culture” ร่วมสมัย “สกาลา”  

  • นักแสดงไทยชื่อดัง : มิตร ชัยบัญชา-เพชรา เชาวราษฎ์ 

ย้อนความทรงจำ “สกาลา” ดู “Pop Culture” ร่วมสมัยยุค 60’s

(อ้างอิงภาพ : เรื่องย่อหนังไทยในอดีต)

ความนิยมในดารานักแสดงมีให้เห็นในปัจจุบัน ซึ่งก็ไม่ต่างจากในอดีต ช่วงร่วมสมัยสกาล่า มีนักแสดงมากพอสมควร แต่คู่ขวัญที่ได้มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก นั่นคือ มิตร ชัยบัญชา และ เพชรา เชาวราษฎ์  โดยในปี พ.ศ. 2512 ที่ก่อตั้งสกาลานั้น ทั้งคู่ก็มีผลงานการแสดงภาพยนต์คู่กัน 4 จาก 6 เรื่องของภาพยนต์ไทยที่ได้มีการออกฉายในปีดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม คนรุ่นหลังยุค 60 ก็ไม่มีโอกาสที่จะเห็นผลงานการแสดงของคู่ขวัญนี้อีก เนื่องจาก มิตร ชัยบัญชา ได้เสียชีวิตลงในปีพ.ศ. 2513 ด้วยอุบัติเหตุตกเฮลิคอปเตอร์จากการถ่ายภาพยนต์ เรื่อง อินทรีทอง ซึ่งได้แสดงร่วมกับ เพชรา เชาวราษฎ์ อีกหนึ่งเรื่อง จึงถือเป็นการปิดฉากนักแสดงคู่ขวัญแห่งยุค 60 

นอกจากทั้งสองคนที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังมีนักแสดงที่มีชื่อเสียงไม่แพ้กันและยังคงโลดแล่นในวงการบันเทิงจนถึงปัจจุบัน อย่าง สมบัติ เมทะนี ที่ได้รับตำแหน่งนักแสดงชายผู้ครองบทพระเอกมากที่สุดในโลกถึง 617 เรื่อง และ พิศมัย วิไลศักดิ์ ที่สามารถได้รับของฉายา ดาราเงินล้าน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501

  • ศิลปินดังสากล : The Beatles

ย้อนความทรงจำ “สกาลา” ดู “Pop Culture” ร่วมสมัยยุค 60’s

(อ้างอิงภาพ: Wikipedia) 

ในช่วงร่วมสมัยของสกาลา วัยรุ่นยุคนั้นได้มีโอกาสเข้าถึงวัฒนธรรมจากประเทศตะวันตกอย่างแพร่หลาย การฟังเพลงสากลจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นับว่าเป็น Pop culture ไม่ต่างอะไรจากคนยุคนี้ 

อย่างไรก็ตาม แนวเพลงหรือศิลปินที่ได้รับความนิยมนั้นก็ได้มีความเป็นสมัยนิยมของช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา แต่หลายครั้งคนในปัจจุบันก็ได้คิดถึงเสน่ห์ของความเป็นสมัยนิยมในอดีต 

โดยศิลปินที่ได้รับความนิยมในช่วงร่วมสมัยสกาลา และยังมีการพูดถึงอยู่ในปัจจุบัน คือ The Beatles ซึ่งในปีค.ศ.1969 ได้ออกอัลบั้ม Abbey Road ที่ต่อมาได้ขึ้นแท่นเป็น อัลบั้มที่ดีที่สุดตลอดกาล อันดับที่ 14 จากนิตยสาร Rolling Stone จึงไม่เป็นที่แปลกใจหากหลายคนจะยังคงชื่นชอบบทเพลงจากอัลบั้มดังกล่าวอยู่

 

  • ภาพยนต์ดัง : วิมานไฟ , 007 ยอดพยัคฆ์ราชินี

ย้อนความทรงจำ “สกาลา” ดู “Pop Culture” ร่วมสมัยยุค 60’s

(อ้างอิงภาพ: MonoMax และ แฟนด้อมไทยบันเทิง)

ภาพยนต์ก็เป็นหนึ่งสิ่งที่ทำการสะท้อนความนิยมในยุคสมัยนั้น นอกจากนั้นยังฉายสภาพแวดล้อมของช่วงเวลานั้นด้วยเรื่องราวที่ทำการถ่ายทอดผ่านผลงาน หลายครั้งเราได้รับรู้ความแตกต่างของยุคสมัยได้จากการรับชมภาพยนต์

ในช่วงร่วมยัคสมัยสกาลา ประเทศไทยก็ได้มีการผลิตภาพยนต์และมีการนำภาพยนต์จากต่างประเทศเพื่อออกฉาย ซึ่งการเกิดขึ้นของสกาลาก็เป็นเรื่องที่ยืนยันได้ว่าผู้คนในยุคนั้นได้มีความนิยมในการรับชมภาพยนต์ ซึ่งภาพยนต์ที่ได้รับความสนใจก็มีความเฉพาะกับยุคสมัยดังที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น 

สากล : 007 ยอดพยัคฆ์ราชินี (On Her Majesty’s Secret Service) 

007 ยอดพยัคฆ์ราชินี ภาพยนต์สายลับชุด เจมส์ บอนด์ เรื่องที่ 6 ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ร่วมสมัยการเกิดขึ้นของสกาลา โดย The New York Time ได้ระบุว่า เป็นหนึ่งในเรื่องที่ทำรายได้ได้สูงสุดในปีนั้น (1969) 

  • นักแสดง 

จอร์จ เลเซนบี รับบท เจมส์ บอนด์

ไดอาน่า ริกก์  รับบท เทรซี่ ดิ วิเซ็นโซ่ 

เบอร์นาร์ด ลี   รับบท เอ็ม (เจ้านายบอนด์)

  • เข้าฉาย

18 ธันวาคม ค.ศ.1969 (รอบปฐมทัศน์ ณ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ)

ไทย : วิมานไฟ

วิมานไฟ ภาพยนต์ดังแห่งยุคร่วมสมัยสกาลา ผู้สร้างสรรค์บทประพันธ์เดียวกันกับผลงานชื่อดัง อย่าง เมียหลวง และ สวรรค์เบี่ยง แม้จะมีการนำมารีเมคในหลายครั้ง แต่ด้วยค่านิยมของสังคมปัจจุบันที่เริ่มเปลี่ยนไป จึงมีผลให้เรื่องนี้อาจไม่ได้รับความนิยมมากนักหากจะนำกลับมาออกฉายโดยไม่ดัดแปลงอะไรเลย ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าความก้าวหน้าของคนในสังคมนั้นก็มีผลให้ความนิยมที่เคยเกิดขึ้นในอดีตไม่อาจดำรงอยู่ต่อไปได้

  • นักแสดง 

มิตร ชัยบัญชา       รับบท ภุมเรศ

เพชรา เชาวราษฎ์  รับบท โรยทอง

เมตตา รุ่งรัตน์        รับบท ทาทอง

ศศิธร เพชรรุ่ง        รับบท รินทอง 

  • เข้าฉาย

4 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 

  • การรีเมค 

(1) ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2515 

(2) ภาพยนต์ พ.ศ. 2522

(3) ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2523

(4) ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2533

(5) ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2548

 

  • เทรนด์ศิลปะ : Art Deco (1920s-1960s)

ย้อนความทรงจำ “สกาลา” ดู “Pop Culture” ร่วมสมัยยุค 60’s

(อ้างอิงภาพ: สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์)

เป็นยุคแห่งศิลปะที่ต้องการสำแดงความแปลกใหม่ มีการใช้ศาสตร์ในหลายแขนงเพื่ออกแบบ ศิลปะรูปแบบอาร์ตเดโค (Art Deco) จะเน้นออกแบบที่เน้นความเป็นธรรมชาติในลวดลายและรูปทรง มีการแสดงความวิจิตรศิลป์ในงานออกแบบ แต่ก็ต้องเป็นความเรียบง่ายไม่หวือหวา ทำให้ลักษณะเด่นของ อาร์ตเดโค จึงเป็นการใช้เส้นโค้งและเส้นตรงที่เรียบง่ายแต่แข็งแรง 

ในงานสถาปัตยกรรม การออกแบบด้วยศิลปะอาร์ตเดโค จึงเป็นการนำเอาความโค้งมนที่เรียบง่ายและแข็งแรงมาใช้กับโครงสร้างตัวอาคาร อย่างที่เห็นได้จากโครงสร้างภายตัวอาคารของสกาลา

 

  • โทนสี : โทนสีสด 

ย้อนความทรงจำ “สกาลา” ดู “Pop Culture” ร่วมสมัยยุค 60’s

การชื่นชอบความมีสีสันของมนุษย์ ทำให้การสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ล้วนหยิบเอาสีมาแต่งแต้มเพื่อดึงดูดความสนใจ และยิ่งทวีความสำคัญกับสินค้าที่มีความเป็นสมัยนิยม อาทิ เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องประดับ เป็นต้น จึงทำให้โทนสีสามารถสะท้อนความเป็นยุคสมัยหนึ่งๆ ได้ 

ช่วงร่วมสมัยสกาลา หรือปลายยุค 60 โทนสีที่ได้รับความนิยมในเวลาดังกล่าว เป็นโทนสีสด อย่าง ชมพู โทน Hot Pink, ส้ม โทน  Vermillion Orange, ฟ้า โทน Cyan Blue, เขียว โทน Grass Green, เหลือง โทน Lemon Chrome และ ม่วง โทน Bright Violet 

โทนสีดังกล่าวได้สะท้อนถึงความสดใสของยุคสมัยที่เหล่าเบบี้บูมเมอร์กำลังเติบโตเป็นวัยรุ่น หลังจากยุคสมัยที่ต้องประสบกับภาวะสงคราม ยุคดังกล่าวยังเป็นยุคที่วัยหนุ่งสาวมีพลังเต็มเปี่ยมพร้อมขับเคลื่อนสังคมด้วยความหวังที่จะเห็นโลกใหม่ที่ดีกว่าที่ผ่านมา

 

  • รถยนต์ : Toyota Corolla KE , Nissan Prince Skyline S50, Mercedes-Benz 300 SEL 6.3

ย้อนความทรงจำ “สกาลา” ดู “Pop Culture” ร่วมสมัยยุค 60’s

(อ้างอิงภาพ: FavCars, Toyota Corolla Sprinter KE15 และ DriveTribe )

สินค้าอุตสาหกรรมอย่างรถยนต์นั้น ได้รับการพัฒนาให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแทบจะในทุกยุคทุกสมัย สังเกตจากรูปร่างของโครงสร้างรถที่มีความเปลี่ยนแปลงไป ยี่ห้อที่ได้รับความนิยม หรือสีสันของรถที่ขายในตลาด เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้คือสามารถบอกถึงความนิยมของในช่วงเวลานั้นได้ด้วยเช่นกัน 

ช่วงร่วมสมัยสกาลา สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นความเปลี่ยนแปลง คือ สีสันของตัวรถที่มีให้เลือกหลากหลายมากขึ้น แม้ว่าตัวรถแต่ละสีจะมีต้นทุนที่ต่างกัน แต่หากผู้ใดที่ชอบความทันสมัย ก็ยอมที่จะจ่ายแพงกว่า เพื่อให้ได้รถที่มีสีสันสดใส มีความเป็นสมัยนิยมในช่วงเวลานั้น 

นอกจากนั้น ในยุคนี้คนไทยได้มีการหันไปขับขี่รถยนต์บนท้องถนนมากขึ้นกว่ายุคก่อนๆ ประกอบกับค่ายรถหลากหลายยี่ห้อทั้งจากค่ายฝั่งยุโรปและญี่ปุ่น ที่ได้เข้ามาทำตลาดเปิดขายรถให้คนไทยทั่วไป อาทิ Toyota, Nissan และ Mercedes-Benz เป็นต้น สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมทางเศรษฐกิจของคนไทยที่เพิ่มมากขึ้นด้วย 

 

  • แฟชั่น

เสื้อผ้า : มินิสเกิร์ต , กางเกงขาบาน

ย้อนความทรงจำ “สกาลา” ดู “Pop Culture” ร่วมสมัยยุค 60’s

(อ้างอิงภาพ: Thai Fashion Magazine 1968)

เสื้อผ้า เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สามารถสะท้อนความเป็นยุคสมัยได้ ในช่วงร่วมสมัยสกาลา หรือระหว่างยุค 60 และ 70 มีความนิยมสวมกระโปรงสั้นในหมู่วัยรุ่นหญิง และกางเกงขาบานในหมู่วัยรุ่นชาย ซึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลของแฟชั่นจากประเทศแถบตะวันตก 

อย่างไรก็ตาม มีเพียงแฟชั่นการใส่กระโปรงสั้นเท่านั้นที่ปัจจุบันยังคงมีความนิยมอยู่ ในทางตรงกันข้าม การใส่กางเกงขาบานของวัยรุ่นชายนั้นได้หมดความนิยมตามยุคสมัย 

ทรงผม : ตีโป่ง, แสกผมให้อีกฝั่งพอง, ปอมปาร์ดัวร์ (Pompadour)

ย้อนความทรงจำ “สกาลา” ดู “Pop Culture” ร่วมสมัยยุค 60’s

(อ้างอิงภาพ: Thai Fashion Magazine 1968, Kapook และ Thai Movie Posters)

ความนิยมในการทำผมทรงต่างๆ นั้นก็แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยไม่ต่างกัน หลายคนอาจมีโอกาสได้เห็นทรงผมของคนยุคนั้นจากรูปถ่ายของพ่อแม่หรือญาติที่ได้ผ่านการใช้ชีวิตในสมัยนั้น ซึ่งช่วงร่วมสมัยสกาลานั้นก็มีทรงผมสุดฮิต อย่าง การตีโป่งผมให้ขึ้นสูงจนมีลักษณะคล้ายรังผึ้ง (ฺBeehive hair) หรือการแสกผม (Flip hair) ให้ผมหนึ่งฝั่งมีความพองขึ้นเพียงเล็กน้อยแล้วปล่อยปลายผมในรูปแบบที่ต้องการ 

สำหรับผู้ชาย การไว้ความยาวผมด้านบนแล้วเซ็ตด้วยการม้วนหรือเสยขึ้นไปนั้นเป็นที่นิยมของยุคร่วมสมัยสกาลาเป็นอย่าง สังเกตได้จากการทำผมทรงดังกล่าวของนักแสดงชื่อดัง สมบัติ เมทะนี ซึ่งผมทรงนี้มีชื่อเรียกว่า ปอมปาร์ดัวร์ (Pompadour) 

จากทรงผมที่ได้ยกตัวอย่างไป จะเห็นได้ว่ามีความนิยมเพียงเฉพาะยุค แม้การแสกผมจะยังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน แต่รูปแบบที่เป็นที่นิยมจริงๆ นั้นก็ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ถึงกระนั้น ทรงผมทั้ง 3 ที่ได้ยกตัวอย่างไปข้างต้น ก็ถือเป็นหนึ่งในเสน่ห์ที่คลาสสิคของยุคร่วมสมัยสกาลา 

 

  การทำหน้าที่เป็น “สัญญะแห่งกาลเวลา” ของความนิยมในอดีต  

การเปลี่ยนแปลงความนิยม ไม่ได้ความว่าผู้คนให้ความชื่นชอบกับสิ่งดังกล่าวลดน้อยลง แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนรูปแบบจากแบบหนึ่งที่เคยเป็นที่นิยมในสมัยหนึ่ง ไปยังอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งก็จะเป็นตัวก่อให้เกิดความร่วมสมัยในอีกยุคแทน

อย่างไรก็ตาม ความนิยมที่ลดน้อยลงนั้นอาจมาพร้อมกับสัญญะของยุคสมัย ทุกครั้งที่เราได้มองภาพถ่ายของสิ่งต่างๆ ที่ต่างไปจากปัจจุบัน เราจะรู้ได้ทันทีว่าภาพดังกล่าวนั้นเป็นอดีตในยุคใดยุคหนึ่ง ดังนั้น แม้ว่าสกาลาจะเป็นเพียงสถาปัตยกรรมในอดีตที่อาจไม่ได้รับความนิยมแล้ว แต่การมีอยู่ของสกาลานั้นสามารถให้สัญญะของกาลเวลาและยุคสมัยได้ในตัวเอง ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยจึงได้เรียกร้องให้มีการรักษาสกาลาไว้ในฐานะมรดกของยุคสมัยหนึ่งๆ 

การรื้อถอนสกาลา โรงหนังสแตนด์อโลนสุดคลาสสิคของย่านสยามแสควร์ จึงเสมือนเป็นการฝังกลบความทรงจำในอดีตอย่างไม่แยแสต่อการเรียกร้องให้อนุรักษ์ อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (2 พ.ย.) ทางเซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ผู้พัฒนาที่ดินแถบสกาลา ได้ออกมาชี้แจงว่า มีแผนที่จะสร้างสกาลาให้เหมือนเดิม ไม่มีผิดเพี้ยนจากรูปแบบเดิม ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการออกแบบรายละเอียด จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามต่อไปว่า สกาลาแห่งใหม่ที่กำลังจะถูกสร้างนี้ จะสามารถทำหน้าที่เป็นสัญญะของเวลาได้เหมือนเดิมหรือไม่ 

 

อ้างอิง

เซ็นทรัลพัฒนา จ่อสร้าง "สกาลา" แห่งใหม่ - ประชาชาติธุรกิจ

พาไปรู้จักกับ ศิลปะไอเดียการตกแต่งบ้านจาก 12 ยุคที่สำคัญ - Kittipong 

รู้จักทรงผม Pompadour - Waraporn

สกาลา : หอภาพยนตร์คัดสรรหนังดีฉายอำลาโรงหนังในตำนานที่ให้บริการมากว่าครึ่งศตวรรษ - บีบีซี ประเทศไทย 

ART DECO - Bareo 

Colors through time: บอกเล่าชีวิต ผ่านเทรนด์สีแห่งยุค - ปรางวลัย พูลทวี

60s Hairstyles for Women and Teens - Vintage Dancer