รู้จัก Deep Space Food Challenge จาก NASA "อาหารอวกาศ" ต้องเป็นแบบไหน?

รู้จัก Deep Space Food Challenge จาก NASA "อาหารอวกาศ" ต้องเป็นแบบไหน?

เมื่อตัวแทนประเทศไทย (ทีม KEETA) สามารถผ่านเข้ารอบแรกบนเวทีแข่งขัน "Deep Space Food Challenge" ของ NASA ด้วยการใช้โปรตีนจากแมลงมานำเสนอเป็น "อาหารอวกาศ" ที่โดนใจคณะกรรมการ ชวนมาทบทวนความรู้กันหน่อยว่า อาหารอวกาศที่เหมาะสมต้องเป็นแบบไหน?

ไม่กี่วันที่ผ่านมา หลายคนคงทราบข่าวดีของวงการวิทยาศาสตร์ไทยแล้วว่า ตัวแทนประเทศไทย "ทีม KEETA (คีตะ)" ได้เข้าร่วมการแข่งขันในเวที Deep Space Food Challenge หรือโครงการผลิต "อาหารอวกาศ" ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด ขององค์การ NASA และองค์การอวกาศแคนาดา (CSA) ซึ่งทีมคนไทยได้ผ่านเข้ารอบเฟสแรกแล้ว ได้เป็น 1 ใน 10 ทีมนานาชาติที่เข้ารอบ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมารู้จักความน่าสนใจของโครงการ "Deep Space Food Challenge" รวมถึงจะพาย้อนไปทบทวนความรู้กันหน่อยว่า "อาหารอวกาศ" ที่เหมาะสมกับนักบินอวกาศที่ต้องทำภารกิจสำคัญนอกโลกนั้น ต้องเป็นแบบไหน?

1. โครงการ Deep Space Food Challenge คืออะไร?

Deep Space Food Challenge เป็นการแข่งขันระดับนานาชาติ ที่องค์การอวกาศแห่งสหรัฐอเมริกา (NASA) ได้จัดขึ้นมาใน Phase 1 ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2021 ที่ผ่านมา โดยเปิดรับแนวคิดการออกแบบเทคโนโลยีการผลิตอาหารแนวใหม่ ตามเป้าหมายและข้อกำหนดของการแข่งขัน

โดยเปิดรับสมัครทีมแข่งขันจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา และ ทั่วโลก เพื่อคัดเลือกไอเดียจากสหรัฐอเมริกา 20 ทีม และ จากนานาชาติ 10 ทีม พร้อมตั้งรางวัลในรอบคัดเลือกไว้มากถึง 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ

 

2. เป้าหมายของโครงการ Deep Space Food Challenge

ส่วนหลักการเบื้องต้นของโครงการนี้คือ ต้องการเปิดกว้างสำหรับไอเดียที่สร้างสรรค์เทคโนโลยีอาหารแนวคิดใหม่ หรือแนวทางการปฏิวัติห่วงโซ่การผลิตและแปรรูปอาหารระดับ “Game Changing” หรือพลิกรูปแบบและมุมมองของอุตสาหกรรมอาหาร

มุ่งเน้นการค้นหาแนวทางลดปัจจัยการผลิตอาหาร ในขณะที่สามารถเพิ่มผลผลิตอาหารที่ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ และน่ารับประทานได้ โดยวิสัยทัศน์ในการจัดแข่งขันนี้ ก็เพื่อหาวิธีผลิตอาหารที่ยั่งยืน เพื่อใช้ภารกิจอนาคตในอวกาศที่มนุษย์จะไปดวงจันทร์ระยะยาว

ในขณะเดียวกันการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออวกาศ ก็สามารถปรับปรุงการผลิตอาหารเลี้ยงคนบนโลกที่กำลังเผชิญหน้ากับภาวะขาดแคลนอาหาร ที่เกิดจากพื้นที่การผลิตอาหารแบบดั่งเดิมคุกคามธรรมชาติป่าไม้ของโลก บวกกับวิกฤติสภาพอากาศจากภาวะโลกร้อน

3. โจทย์ท้าทายผลิต "อาหารอวกาศ" ที่ไทยผ่านเข้ารอบแรกแล้ว

ส่วนโจทย์เบื้องต้นในการแข่งขัน Deep Space Food Challenge ที่ทีมประเทศไทยได้ผ่านเข้ารอบแรกไปแล้วนั้น มีเงื่อนไข ดังนี้

  • ต้องเสนอโปรแกรมผลิตอาหารที่ยืนระยะได้ยาวนาน 3 ปี โดยไม่ต้องเติมเสบียงจากโลก
  • ต้องผลิตอาหารได้เพียงพอสำหรับนักบินอวกาศ 4 คน
  • สามารถใช้โมเดลอาหารเดียวกันนี้ ผลิตและแจกจ่ายให้คนบนโลกได้ ทั้งพื้นที่ในเมืองและพื้นที่ห่างไกลแร้นแค้น
  • ต้องผลิตอาหารได้ปริมาณมากที่สุด ด้วยปัจจัยการผลิตที่น้อยที่สุด และผลิตของเสียน้อยที่สุด
  • สร้างสรรค์เมนูอาหารที่หลากหลาย อร่อย โภชนาการสูง และปลอดภัย
  • นักบินอวกาศต้องสามารถเตรียมอาหารได้ในเวลาที่น้อยที่สุด

รู้จัก Deep Space Food Challenge จาก NASA \"อาหารอวกาศ\" ต้องเป็นแบบไหน?

 

4. ชวนทบทวนความรู้ "อาหารอวกาศ" ต้องเป็นแบบไหน?

มีข้อมูลจาก ศูนย์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STKC) ให้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า อาหารอวกาศ คือ อาหารสำหรับนักบินอวกาศที่ทำงานอยู่นอกโลก เป็นอาหารที่เน้นให้สารอาหารเป็นหลัก เนื่องจากนักบินอวกาศต้องเจอสภาวะมวลกระดูกลดลง เนื่องจากใช้แรงน้อยเมื่ออยู่บนอวกาศ 

ด้าน GISTDA หรือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ก็เคยให้ความรู้เรื่องนี้ในทำนองเดียวกันว่า "อาหารอวกาศ" ส่วนใหญ่มักเป็นอาหารแช่แข็ง อาหารแช่เย็น หรืออาหารกระป๋อง มนุษย์อวกาศเป็นคนเตรียมเมนูเองก่อนที่จะขึ้นบินไปยังสถานีอวกาศ โดยมีนักโภชนาการเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือและออกแบบเมนูให้มีโภชนาการที่เหมาะสม

5. วิวัฒนาการของ "อาหารอวกาศ" 

รู้หรือไม่? อาหารอวกาศก็มีการวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ ตามยุคสมัย โดยเราสรุปเป็นไทม์ไลน์มาให้ดู ดังนี้

5.1) โครงการเมอร์คิวรี : เป็นยุคแรกๆ ของการเดินทางไปนอกอวกาศของมนุษย์ โดยอาหารในยุคนี้จะเป็นอาหารบดจนมีสภาพกึ่งเหลว และอัดเข้าไปในหลอดคล้ายหลอดยาสีฟัน

5.2) โครงการเจมินี, โครงการอะพอลโล : อาหารอวกาศได้พัฒนาขึ้นมาก มีการแล่อาหารเป็นชิ้นบางๆ ปรุงรสและแช่แข็งทันทีในตู้ลดความดันอากาศ วิธีนี้จะทำให้ได้รสชาติอาหารที่ใกล้เคียงอาหารปกติ โดยนักบินอวกาศต้องเติมน้ำร้อนเข้าไปก่อนถึงจะสามารถกินได้

5.3) ยุคสถานีอวกาศนานาชาติ : พัฒนาสู่รูปแบบอาหารแช่แข็ง และไม่จำเป็นต้องผสมน้ำก่อนกินด้วย เพียงแค่อุ่นก็สามารถรับประทานได้ทันที 

ข้อควรรู้ : นักบินจะต้องคุมอาหารให้ได้พลังงานเฉลี่ย 3,000 กิโลแคลอรี่ต่อวัน อาหารอวกาศถือว่าเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง เพราะว่าเมื่ออยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก จะต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติ และยังมีแร่ธาตุเสริมต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกายด้วย

*สมาชิกทีม KEETA : 

  • นภัสธนันท์ พรพิมลโชค นักศึกษาฝึกงาน บ. Space Zab นักศึกษาวิศวกรรมอากาศยาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ประพันธ์พงศ์ ดำส่งแสง นักศึกษาปริญญาเอก KTH Royal Institute of Technology ประเทศสวีเดน
  • สิทธิพล คูเสริมมิตร นักศึกษาฝึกงาน บ. Space Zab นักศึกษาวิศวกรรมอากาศยาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • วัชรินทร์ อันเวช นักศึกษาปริญญาโทชีวเคมีการแพทย์และชีววิทยาโมเลกุล ม.มหิดล
  • ดร.วเรศ จันทร์เจริญ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

-------------------------------

อ้างอิง : 

deepspacefoodchallenge.org

worldspaceweekthailand

stkc society

siamrath

Properea