ย้อนประวัติสถานะ “พระเกี้ยว” กับ “จุฬาฯ” ในวันที่บริบทสังคมเปลี่ยนไป

ย้อนประวัติสถานะ “พระเกี้ยว” กับ “จุฬาฯ” ในวันที่บริบทสังคมเปลี่ยนไป

จากกรณียกเลิกขบวนอัญเชิญ "พระเกี้ยว" ในงาน "ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์" ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการส่งเสริมให้ทุกคนเท่าเทียมกัน ชวนรู้จักความเชื่อมโยงระหว่างพระเกี้ยวและจุฬาฯ ให้มากขึ้น

ประเด็นอ่อนไหวอย่างเรื่อง “ความเท่าเทียม” ถูกพูดถึงมาตลอดตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปี 2564 อาจเพราะความตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้ประเด็นทางสังคมถูกวิพากษ์วิจารณ์ควบคู่กันไป โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่วันนี้กลายเป็นเวทีสาธารณะที่เปิดให้ทุกคนมีโอกาสออกมาแสดงความเห็น พูดคุย และถกเถียงเรื่อง “คนเท่ากัน” มากกว่าในอดีตที่ผ่านมา

แรงกระเพื่อมในประเด็นความเท่าเทียมที่ถูกพูดถึงตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เริ่มผลิดอกออกผลต่อการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ประเด็น โดยกระแสที่ถูกจุดติดขึ้นอีกครั้ง และมาแรงมากในวันนี้ คงหนีไม่พ้น การยกเลิกพิธีอัญเชิญพระเกี้ยวในงาน "ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์" โดยทางคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์มีมติรับรอง 29 ต่อ 0 เสียง ให้ยกเลิกกิจกรรมดังกล่าว โดยมีข้อความอธิบายเหตุผลระบุไว้ว่า

1. กิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว สนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม รวมถึงค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน รูปแบบกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวยังเป็นภาพแทนของวัฒนธรรมแบบศักดินา ที่ยกคนกลุ่มคนหนึ่งให้สูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง พร้อมสัญลักษณ์ของศักดินาคือ “พระเกี้ยว” บนเสลี่ยง

2. กระบวนการคัดเลือกผู้อัญเชิญฯ ยังเป็นที่กังขาถึงความโปร่งใส และยังมีข้อกังขาว่า เป็นการสนับสนุนความเป็นอภิสิทธิ์ชนผ่านค่านิยมมาตรฐานความงามแบบใดแบบหนึ่งในสังคม

3. การใช้อำนาจในการบังคับให้คนต้องมาแบกเสลี่ยง ดังที่เห็นจากกระบวนการหานิสิตหอในให้มาแบกเสลี่ยงเข้าสนามนั้น มีการบังคับโดยอ้างว่าจะมีผลต่อคะแนนการคัดเลือกให้มีสิทธิอยู่ในหอพัก 

ย้อนประวัติสถานะ “พระเกี้ยว” กับ “จุฬาฯ” ในวันที่บริบทสังคมเปลี่ยนไป

จากกรณีดังกล่าว ทำให้ประเด็นเรื่อง "พระเกี้ยว" ศักดินาของคนบางกลุ่ม และความเท่าเทียมในรั้วสีชมพู ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันไปในวงกว้าง ล่าสุด.. มีรายงานข่าวว่า สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ออกประกาศมาอีกหนึ่งฉบับ ระบุว่าเลื่อนจัดงานฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 75 และเผยว่าจะยังคงสืบสานให้มีการเชิญพระเกี้ยวต่อ

เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร ทั้งนิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบันของจุฬาฯ คงต้องร่วมหารือและตกผลึกความคิดร่วมกันอีกยาว ระหว่างรอความชัดเจน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปเจาะลึกเรื่องราวของ "พระเกี้ยว" ที่ว่ากันว่าเป็นสัญลักษณ์สูงสุดของชาวจุฬาฯ มาให้รู้จักมากขึ้น ดังนี้

 

  • “พระเกี้ยว” สัญลักษณ์สูงสุดของจุฬาฯ ?!

“พระเกี้ยว” เป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศาหรือพระเศียร ของพระราชโอรสและพระราชธิดา ของพระมหากษัตริย์ คำว่า เกี้ยว ถ้าเป็นคำนามแปลว่าเครื่องประดับศีรษะหรือเครื่องสวมจุก ถ้าเป็นคำกริยาแปลว่าผูกรัดหรือพัน

ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจุฬาฯ ระบุว่า พระเกี้ยว เป็นสัญลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สืบเนื่องจากชื่อของมหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ย้อนประวัติสถานะ “พระเกี้ยว” กับ “จุฬาฯ” ในวันที่บริบทสังคมเปลี่ยนไป

รวมถึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้พระเกี้ยวเป็นพิจิตรเรขาประจำรัชกาลของพระองค์ เมื่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือนหรือโรงเรียนมหาดเล็ก จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระเกี้ยว เป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียนมหาดเล็ก และได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายของโรงเรียน

เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กได้วิวัฒน์ขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เปลี่ยนข้อความใต้พระเกี้ยวตามชื่อซึ่งได้รับพระราชทานใหม่

 

 

  • การอัญเชิญ "พระเกี้ยว" ในงานฟุตบอลประเพณี

งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ คือ การแข่งขันฟุตบอลระหว่างสองมหาวิทยาลัย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยของประเทศไทย (ในอดีตนั้นมีมหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่แห่ง) โดยจัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2477

นอกจากการแข่งขันแล้ว จุดน่าสนใจของประเพณีนี้คือ ขบวนพาเหรดในพิธีเปิด ซึ่งมีการอัญเชิญตราสัญลักษณ์เข้ามาในสนามแข่งขัน เป็นสัญลักษณ์ของการเปิดงาน โดยทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการอัญเชิญตราพระเกี้ยว ส่วนทางธรรมศาสตร์มีขบวนอัญเชิญตราธรรมจักร

การอัญเชิญพระเกี้ยว ที่เก่าแก่ที่สุดที่ถูกบันทึกไว้คือ ปี 2507 จาก หนังสือพิมพ์สยามนิกร (พิเศษ) ฉบับวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม 2507 โดยระบุว่ามีผู้อัญเชิญเป็นนิสิตหญิงเพียงคนเดียว และองค์พระเกี้ยวมีขนาดเล็กกว่าองค์พระเกี้ยวจำลองที่ใช้ในปัจจุบัน

เหตุผลของการเชิญพระเกี้ยวนั้น หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การอัญเชิญตราพระเกี้ยวเปรียบเสมือนการอัญเชิญพระพุทธเจ้าหลวงทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งเป็นผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัย เข้ามาในงาน และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่นักกีฬาและเหล่ากองเชียร์ ดังประโยคที่ดังก้องอยู่ในใจชาวจุฬาฯ ทุกคนว่า "สีชมพูจักอยู่ในกายเจ้า พระเกี้ยวเกล้าจักอยู่เป็นคู่ขวัญ" 

ย้อนประวัติสถานะ “พระเกี้ยว” กับ “จุฬาฯ” ในวันที่บริบทสังคมเปลี่ยนไป

 

  • ปัญหา “คนไม่เท่ากัน” อภิสิทธิ์ชนผ่านค่านิยมตัวแทนอัญเชิญพระเกี้ยว

หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลอีกว่า นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกคน มีฐานะเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว เนื่องจากเป็นผู้ใช้พระเกี้ยวเป็นตราสัญลักษณ์ประจำสถาบันการศึกษา แต่ในงานฟุตบอลประเพณีฯ ไม่สามารถให้นิสิตจุฬาฯ ทุกคนขึ้นอัญเชิญพระเกี้ยวได้ทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคัดเลือกนิสิตจุฬาฯ ที่มีความเหมาะสม มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งรูปร่าง หน้าตา บุคลิกภาพ การวางตัว กิริยามารยาท ผลการเรียน ตลอดจนมีความรู้เกี่ยวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีความรู้รอบเหมาะสมกับการเป็นตัวแทนนิสิตจุฬาฯ ซึ่งนิสิตที่ทำหน้าที่อัญเชิญพระเกี้ยวนี้ ถือได้ว่าเป็นภาพลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย

ในสมัยก่อนจำนวนผู้อัญเชิญพระเกี้ยวมีตั้งแต่เป็นนิสิตผู้หญิงคนเดียว นิสิต 2 คน นิสิตหญิง-ชาย 2 คู่ มาจนถึงในปัจจุบันที่เป็นนิสิตหญิง-ชาย เพียงคู่เดียว บางปีคัดเลือกจากตัวแทนของคณะ มีการสัมภาษณ์จากอาจารย์ 

ในบางปีมีการคัดเลือกจาก "นางนพมาศ" ซึ่งในสมัยก่อนเรียกว่า "ดาวจุฬาฯ" จนภายหลังการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวก็ได้มีวิวัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงปัจจุบัน

จากการคัดเลือกสำหรับตัวแทนผู้ที่จะได้อัญเชิญพระเกี้ยวนี่เอง เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่กรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า กระบวนการคัดเลือกผู้อัญเชิญฯ ยังเป็นที่กังขาถึงความโปร่งใส และยังมีข้อกังขาว่า เป็นการสนับสนุนความเป็นอภิสิทธิ์ชนผ่านค่านิยมมาตรฐานความงามแบบใดแบบหนึ่งในสังคม

ย้อนประวัติสถานะ “พระเกี้ยว” กับ “จุฬาฯ” ในวันที่บริบทสังคมเปลี่ยนไป

 

  • พระเกี้ยว วัฒนธรรมแบบศักดินา?

นอกจากเรื่องการคัดเลือกตัวแทนผู้อัญเชิญพระเกี้ยวแล้ว ประเด็นที่กรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงสาเหตุของการยกเลิกอีกประการหนึ่งก็คือ เป็นการสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม รวมถึงค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน รูปแบบกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวยังเป็นภาพแทนของวัฒนธรรมแบบศักดินา ที่ยกกลุ่มคนหนึ่งสูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง พร้อมสัญลักษณ์ของศักดินาคือ “พระเกี้ยว” บนเสลี่ยง

โดยคำจำกัดความของคำว่า “ศักดินา” คือหนึ่งในรูปแบบการปกครองสมัยอยุธยา ที่มีการแบ่งชนชั้นทางสังคม และโดยชนชั้นสูงสุดคือชนชั้นปกครองอย่างพระมหากษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง

ก่อนหน้านี้ประเด็นเกี่ยวกับศักดินา และอัตลักษณ์ของจุฬาฯ เป็นประเด็นใหญ่มาแล้วในปี 2560 ที่มีนักศึกษาเดินออกจากพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้าเป็นนิสิตจุฬาฯ เพื่อถวายความเคารพพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6

เรื่องของการยกเลิกพิธีอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ยังคงเป็นที่ถกเถียงในวงกว้าง เคียงคู่กับการตั้งคำถามต่อสถานะของพระเกี้ยวที่อยู่คู่จุฬาฯ แต่ไม่ว่าอย่างไร งานประเพณีฟุตบอลระหว่างสองมหาลัยฯ ก็คงจัดอยู่เช่นเดิม

---------------------------------

ที่มา : 

chula.ac.th
memohall.chula.ac.th
sgcu.chula