"บรูซ แกสตัน" ปรมาจารย์ดนตรีไทยร่วมสมัย จากไปในวัย 74 ปี

"บรูซ แกสตัน" ปรมาจารย์ดนตรีไทยร่วมสมัย จากไปในวัย 74 ปี

"บรูซ แกสตัน" นักดนตรีตะวันตกที่มีหัวใจความเป็นไทย ผู้ก่อตั้ง"วงฟองน้ำ" มีความสนใจทั้งดนตรีไทย พุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทย เป็นอีกคนที่สังคมไทยต้องจารึกชื่อไว้ในความทรงจำ

ในแวดวงดนตรีไทยร่วมสมัย คงต้องจารึกเรื่องราวและชีวิตของ บรูซ แกสตัน ผู้ก่อตั้ง วงฟองน้ำ ที่เสียชีวิตด้วยวัย 74 ปีด้วยโรคมะเร็งตับ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2564 เอาไว้

นักดนตรีต่างชาติคนนี้ ทำให้คนต่างชาติรู้จักและหันมาสนใจดนตรีไทยมากขึ้น และที่สำคัญคือ เขาภูมิใจและรักดนตรีไทยมาก

ช่วงที่มีชีวิตอยู่ เขาไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับดนตรีไทย วัฒนธรรมรากเหง้าความเป็นไทยและปรัชญาทางพุทธศาสนา 

"บรูซ แกสตัน" ปรมาจารย์ดนตรีไทยร่วมสมัย จากไปในวัย 74 ปี

อาจารย์บรูซ มีความสามารถในการเล่นเครื่องดนตรีตะวันตกหลากหลายชนิด หลังจากมาอยู่เมืองไทย ได้ฝึกฝนการเล่นเครื่องดนตรีไทยกับครูบุญยงค์ เกตุคงและร่วมกันตั้งวงดนตรีฟองน้ำ เมื่อปีพ.ศ. 2522 รวมๆ แล้วกว่า 40 ปี

อัลบั้มแรกของวงฟองน้ำชื่อ “ต้นวรเชษฐ์” โดยการนำเอาเพลงไทย(เดิม) และเครื่องดนตรีไทย มาผสมผสานกับเครื่องดนตรีสากลได้อย่างลงตัว 

ส่วนอัลบั้มชุดต่อๆ มาของวงฟองน้ำ มีการพัฒนาสู่ความเป็นสากลมากขึ้น อาทิ ชุดโหมโรงจอมสุรางค์,สุดถนนคอนกรีต,ดนตรีแก้ว ฯลฯ และยังทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “ช้าง” อาทิ เพลงเสียงขวาน, มนตรา,ป่า และช้างกินใบไผ่ ฯลฯ รวมถึงเพลงประกอบละครเวทีเยาวชน ที่เขาให้ความสำคัญมาก 

"บรูซ แกสตัน" ปรมาจารย์ดนตรีไทยร่วมสมัย จากไปในวัย 74 ปี

ที่ผ่านมาอาจารย์บรูซ เคยมีผลงานประพันธ์เพลง “เจ้าพระยาคอนแชร์โต”เมื่อปี พ.ศ. 2525 ในงานฉลองกรุงเทพมหานครอายุครบ 200 ปี ผสมผสานดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้าน เข้ากับดนตรีสมัยใหม่  

และเคยนำวงดนตรีฟองน้ำเข้าร่วมเทศกาลมหกรรมดนตรีราชสำนัก ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2530  รวมถึงประพันธ์เพลง “Thailand the golden Paradise” ในปีเดียวกัน เพื่อเฉลิมฉลองปีท่องเที่ยวไทย

"บรูซ แกสตัน" ปรมาจารย์ดนตรีไทยร่วมสมัย จากไปในวัย 74 ปี

นอกจากนี้บรูซ แกสตัน เคยได้รับรางวัลศิลปาธรกิตติคุณสาขาคีตศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2552  ซึ่งเป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลนี้จากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

 

ดนตรีไทยร่วมสมัย

ที่ผ่านมา อาจารย์บรูซ เคยทำละครเพลงที่มีส่วนผสมระหว่างดนตรีไทยและดนตรีตะวันตก โดยเน้นปรัชญาทางพุทธศาสนา

ละครเพลงเรื่องแรกที่ประพันธ์ นำมหาเวชสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร มาผสมผสานเป็นละครเพลงร่วมสมัย

“ในสมัยนั้นถือเป็นละครเพลงสำหรับเด็กและเยาวชนเรื่องแรกในประเทศไทยที่มีความใกล้เคียงกับโอเปร่า แต่ใช้ภาษาไทยในการนำเสนอ โดยมีตัวละครเอกที่สำคัญ คือ ชูชก”

ตอนนั้นอาจารย์บรูซบอกว่า เป็นละครเพลงทำให้เด็กดู แต่เนื้อหาเน้นปรัชญาทางพุทธศาสนา โดยครั้งนั้นมีการเตรียมพร้อมไปขอคำปรึกษาจากท่านพุทธทาส สวนโมกข์ จ.สุราษฎฺร์ธานี ในเรื่องเนื้อหาและความหมายของมหาเวชสันดรชาดก 

"เนื้อเรื่องหลักเน้นการให้ ซึ่งตอนแรกไม่เข้าใจและรับไม่ได้ในเรื่องการให้ลูกแก่ขอทาน ทั้งๆ ที่เป็นขอทานที่ไม่เอาไหน จึงต้องไปขอพบท่านพุทธทาส เพื่อถกปัญหาเรื่องนี้"

ดนตรีไทยในทัศนะของอาจารย์บรูซ ก็คือ ตัวแทนความคิดอีกด้านหนึ่งที่ตรงข้ามกับมายาภาพ ซึ่งอาจารย์กล่าวไว้ว่า ต้องไม่ลืมแก่นของดนตรีไทย โลกทัศน์และวิธีมองโลกที่อยู่ในดนตรีไทย

 

"บรูซ แกสตัน" ปรมาจารย์ดนตรีไทยร่วมสมัย จากไปในวัย 74 ปี

"การผสมผสานที่เกิดขึ้นในดนตรีต้องอยู่ในวิถีทาง ตามมรดกของครูบาอาจารย์ที่ให้ไว้" อาจารย์บรูซ กล่าวไว้เช่นนั้น

และก่อนหน้านี้ เคยมีคำถามว่า ดนตรีไทยจะหมดสิ้นไปจากประเทศไทยหรือไม่

อาจารย์บรูซ บอกไว้ว่า "ดนตรีไทยจะไม่ตาย แม้จะมีหลาย ๆ วงคิดจะตกแต่งดนตรีไทยให้เข้าถึงเด็กสมัยใหม่โดยการเอาใจตลาด แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง"

นักดนตรีตะวันตกคนนี้ เคยยกตัวอย่างการบรรเลงดนตรีไทยไว้ว่า นักดนตรีไทยเล่นดนตรีร้อยหน ไม่เคยเหมือนกันสักครั้ง ร้อยครั้งก็ร้อยทาง ใช้ความคิดสร้างสรรค์ไปในวิธีของตัวเอง แต่ไปเจอในจุดเดียวกัน

"บรูซ แกสตัน" ปรมาจารย์ดนตรีไทยร่วมสมัย จากไปในวัย 74 ปี

“เพราะความเป็นไทยไม่ได้อยู่ที่รูปแบบ แต่อยู่ในจิตวิญญาณ ถ้าเราเข้าใจภูมิปัญญาที่แท้จริงของศิลปะแต่ละแขนง ความเป็นไทยจะสามารถอยู่ได้  ดนตรีไทยจะไม่ตาย ศิลปินแต่ละแขนง ต่างมีความเชี่ยวชาญในแขนงของตนเอง"

....................

ที่มา : ข้อมูลบางส่วนจากสารศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม 

ภาพ : จากเฟซบุ๊ค Fong Naam-วงดนตรีฟองน้ำ