สร้างความเชื่อใจ หาความสมดุล กฎหมายภาคปฏิบัติของ "เพียงพนอ บุญกล่ำ"

สร้างความเชื่อใจ หาความสมดุล กฎหมายภาคปฏิบัติของ "เพียงพนอ บุญกล่ำ"

อะไรคือหลักคิดที่ทำให้ "เพียงพนอ บุญกล่ำ" ผู้หญิงธรรมดาๆ สู่ผู้บริหารหญิงคนสำคัญของ ปตท. ติดตามได้จากบทความนี้

คุณ เพียงพนอ บุญกล่ำ เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักกฎหมาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และเป็นหนึ่งในนักกฎหมายที่ผู้คนในแวดวงบริษัทจดทะเบียนรู้จักดี เพราะเธออยู่เบื้องหลังดีลสำคัญมากมาย ทั้งการพา ปตท. จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2544 คดีข้อพิพาทต่างๆ คดีสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ และยังเป็นผู้ดำเนินรายการกฎหมาย Legal in Action ให้กับกลุ่ม Facebook Page ห่วงใย Thai Business ที่สมาคมบริษัทจดทะเบียนให้การสนับสนุน ซึ่งให้มุมมองด้านกฎหมายเพื่อส่งเสริมความรู้ หาทางออก โดยเฉพาะภาวะวิกฤติโควิด-19 ซึ่งผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยต้องประสบปัญหาและต้องใช้กฎหมายระงับข้อพิพาท

ต้องไม่ลืมว่า ปตท. คือ องค์กรด้านพลังงานหลักที่เชื่อมโยงในหลายมิติของเศรษฐกิจไทย เป็นทั้งองค์กรรัฐวิสาหกิจ และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เกี่ยวข้องกับองค์กรในหลายระดับทั้งรายใหญ่และรายย่อย แถมยังครอบคลุมหลายธุรกิจ เช่น พลังงาน ค้าปลีก ปิโตรเคมี พลาสติก นวัตกรรม ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานั้น เป็นหลักฐานว่า ทำไมบทบาทผู้บริหารหญิงท่านนี้ถึงสำคัญ และอะไรคือหลักคิดที่ทำให้บุคคลธรรมดาๆ ท่านนี้ก้าวขึ้นสู่หน้าที่การงานที่สำคัญได้

ปตท.

สร้างความเชื่อใจให้กับคู่ค้า

ถ้าคุณไม่ได้ทำธุรกิจส่วนตัวหรือรับราชการ การเข้าสู่ตำแหน่งบริหารในองค์กรที่มีบทบาทต่อสังคม น่าจะเป็นงานที่ยากสำหรับใครหลายคน เช่นนี้แล้วหลักการทำงานของผู้บริหารที่ผ่านงานมาอย่างหนักหน่วง ได้รับโอกาสในองค์กรใหญ่ๆ ตั้งแต่เป็นนิสิตคณะนิติศาสตร์คืออะไร?

คุณเพียงพนอ บอกว่า หลักการทำงานตลอดหลายสิบปีคือ การ Put your Heart into it ซึ่งหมายถึงการใส่ หัวใจ ในการทำงาน โดยการ ใส่ใจ ที่ว่านี้ เป็นทั้งความหมายในเชิงของการทุ่มเททำงานให้หนัก หรือความหมายของการใส่พลังสมอง ความคิด เพราะหากเตรียมตัวมาดี โอกาสเกิดความผิดพลาดยิ่งน้อย และนี่คือสิ่งที่คนทำงานมืออาชีพควรยึดถือ

เราใส่ใจ ใส่สมอง Put my Heart ในทุกๆ งาน ยิ่งงานกฎหมายถือเป็นงานที่หนัก เจอเรื่องเร่งด่วนอยู่บ่อยๆ เช่น มีคดีที่ต้องเจรจาในเวลาจำกัดเพื่อลดความเสียหาย เราก็ต้องทำให้เยอะขึ้นในเวลาที่สั้นลง ต้องบริหารจัดสรรเวลา ต้องมีพลังสำรองไว้เสมอ เปรียบเหมือนกับรถยนต์คือ ถ้าเราเหนื่อย น้ำมันหมด ก็ต้องมีถังน้ำมันสำรองให้เรามาใช้ในสถานการณ์ที่อาจจะเกิดอะไรขึ้นก็ได้ และระหว่างที่เราใส่หัวใจทำงาน เราก็ต้องหามุมที่เราคิดว่าได้เรียนรู้ได้ตลอด พิจารณาว่าเราจะเติบโตขึ้นจากงานนี้อย่างไร ดีขึ้นจากงานนี้อย่างไร

แบ็คกราวน์ของคุณเพียงพนอ จบนิติศาสตรบัณฑิต และปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ Master of Laws จาก Columbia University School of Law, New York, USA เธอเป็นนักกฎหมายในสำนักงานกฎหมายต่างชาติระดับท็อป ที่ทำดีลและคดีสำคัญๆ มาตลอดหลายสิบปี เจอนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญที่เป็นทั้งคนไทยและต่างชาติ เรียนรู้ธุรกิจที่หลากหลาย โดยหนึ่งในองค์กรที่เธอข้องเกี่ยวมาตลอดคือ ปตท. ในฐานะที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย

พอถึงช่วงเวลาหนึ่งเราถามตัวเองว่าจะใช้ความรู้ ประสบการณ์ ความสามารถให้ดีที่สุดอย่างไร เมื่อมีโอกาสเราถามตัวเองแบบนี้ และ ปตท. ตอบโจทย์ทุกข้อ ประกอบกับเราเคยทำงานร่วมกับ ปตท. ในฐานะที่ปรึกษามานาน ผู้บริหารท่านหนึ่งเปรียบว่าเราเห็นทุกเรื่องของ ปตท. เหมือนกับหมอที่เห็นร่างกายคนไข้ ก็เลยเปลี่ยนตัวเองจากทำ Law Firm มาทำงานในองค์กร ซึ่งทีมกฎหมาย In-House” คุณเพียงพนอเล่าที่มาของจุดเปลี่ยนในการทำงาน

คุณเพียงพนอ เน้นย้ำว่า นักกฎหมายที่ดี ที่เก่ง ไม่ได้หมายถึง การใช้กฎหมายเพื่อเล่นกลหรือทำอะไรไม่ตรงไปตรงมา แต่หน้าที่ของเธอและทีมคือ การวิเคราะห์ว่าองค์กรจะเจอกับอะไรบ้าง ทางเลือก ทางออก ข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ และการขยายกิจการ ทุกความเคลื่อนไหวเชื่อมโยงกับกฎหมายใดบ้าง

ปตท.

ความสมดุลของหลักคิด

ประสบการณ์ทำงานมากเปรียบได้กับการตกผลึก เมื่อคิดถี่ถ้วนแล้วจะเห็นทางออก และในบริบทที่สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การค้นคว้าหาความรู้ รับฟังเพื่อเท่าทันอยู่เสมอ คือหนึ่งในทางออก

อย่างไรก็ดี การทำงานที่มีคุณภาพไม่จำเป็นต้องคิดให้ยาก คุณเพียงพนอ บอกว่า เธอเชื่อหลักง่ายๆ อย่างเรื่องความสมดุล และเชื่อว่าเราไม่จำเป็นต้องรู้แบบผู้เชี่ยวชาญไปทุกเรื่อง แต่ต้องมองโจทย์ให้ออกว่า ผู้คนต้องการอะไรจากงานของเรา หน่วยธุรกิจและองค์กรคาดหวังอะไร ก่อนจะสนับสนุนเรื่องที่ผู้คนต้องการ

อธิบายให้เป็นรูปธรรมกว่านั้นคือ ถ้าคดีที่เราถูกฟ้อง 100 ล้านบาท แต่เรารู้ปัญหาข้อเท็จจริงที่เราอาจมีส่วนที่ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญา ก็ต้องพยายามไกล่เกลี่ย แสดงถึงความจริงใจที่จะแก้ปัญหา และกรณีนี้อาจจะจบที่การชดใช้เงินที่ 20 ล้านบาท อันนี้ถือว่าเป็นการบริหารความคาดหวัง และจบลงไปด้วยดี

การทำงานกับ ปตท. เรามีผู้มีส่วนได้เสียค่อนข้างมาก เมื่อต้องอธิบายกับคู่ค้าก็พยายามใช้ภาษาอย่างง่ายๆ อย่าไปใช้ภาษาแบบ Lawman ต้องพยายามหาความรู้ในทางอื่น เช่น อ่านหนังสือ ดูรายการที่ให้สาระ และให้แง่มุมที่หลากหลาย อันนี้ก็ช่วยได้

ปตท.

พี่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ ตั้งแต่หนังสือวิชาการตลอดจนนวนิยายบางประเภท ที่มีข้อคิดหรือสาระหน่อยๆ อ่านหมด ทั้งนิยายจีนกำลังภายใน นิยายที่สะท้อนให้เห็นระบบการคิด ซึ่งเราสามารถเอามาใช้ในการทำงานได้ เช่น การนำเสนอข้อมูลให้ศาลอย่างไร เพื่อให้ศาลอ่านเอกสารจำนวนมากมายไปแล้วก็ยังจำคำฟ้อง ข้อแก้ต่าง เหตุและผลของเราได้ หรืออย่างตอนนี้ก็สนใจหนังสือพัฒนาตัวเอง เช่น เรื่อง Egos การมี Growth mindset เพราะเมื่อเวลาผ่านไป เราเติบโตขึ้น ต้องระวังหลุมพรางอีโก้ของตัวเอง ยิ่งประสบความสำเร็จ เราก็จะมีหลุมพรางความสำเร็จ เราก็ต้องเตือนตัวเองเยอะๆ และเมื่อเรามีอายุ มีตำแหน่งอย่างนี้ การจะหาคนมาเตือนเราก็ยากขึ้นทุกที ก็ใช้วิธีอ่านหนังสือในการที่ช่วยขัดเกลาเรา ต้องคิดเอง มันจึงเป็นการสร้างสมดุลทั้งในการทำงานและภายในใจของตัวเอง และทำให้ชีวิตการทำงานเติบโตไปพร้อมกับความรู้สึกภายใน

เหมือนกับที่คุณ เพียงพนอ ยกตัวอย่างมาว่า เธอชอบ โรเจอร์ เฟดเดอเรอ (อดีตนักเทนนิสมือ 1 ของโลก)  ซึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า ทุกครั้งที่เขาแพ้ เขาจะวิเคราะห์ตัวเอง จะบอกตัวเองได้ว่าแพ้เพราะอะไร ซึ่งถ้าเราวิเคราะห์ตัวเองได้ เราก็จะปรับปรุงตัวเองได้

มันคงไม่มีใครดีไปหมด เราต้องแพ้ได้ เห็นความผิดของตัวเอง อย่างประชุมบางครั้ง เราก็คิด คอยเตือนตัวเอง คิดว่าเราไม่น่าจะพูดแบบนั้น เราน่าจะตัดสินใจแบบนี้ เมื่อพลาดก็ต้องแก้ไข ทุกๆ ครั้งเราต้องเติบโตเรื่อยๆ ยิ่งเติบโตขึ้น เราก็ยิ่งต้องเตือนตัวเอง

Legal in Action หลักกฎหมายภาคปฏิบัติ

ถึงตรงนี้ แน่นอนว่าความภาคภูมิใจของคนทำงานกฎหมาย ไม่ได้หมายถึงการชนะคดี หรือลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นเพียงเท่านั้น แต่คือ การเอาความรู้ด้านกฎหมายมาปฏิบัติงานจริงเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา คุณเพียงพนอ ยังเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ ห่วงใย Facebook Page Thai Business ซึ่งเป็นชุมชนของนักธุรกิจ CEO ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ ที่ขออาสามาเป็นแบ่งปันความรู้และทางออกให้กับผู้ประกอบการไทยในสภาวะวิกฤติโควิด-19 โดยไม่แสวงหากำไรและผลตอบแทน

รายการ Legal in Action สำหรับธุรกิจที่น่าจะประสบปัญหา และสื่อสารในหลายประเด็นที่ควรรู้ ตั้งแต่การเลิกจ้าง การปรับโครงสร้างหนี้ ฟื้นฟูกิจการ ฯลฯ 

นักกฎหมายท่านนี้ไม่เพียงแต่ตั้งปณิธานว่า จะช่วยให้องค์กรสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมแล้ว ยังอยากสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีวิธีคิด วิธีทำงานที่ถูกต้อง นำความรู้สู่การปฏิบัติ โดยในอนาคตตั้งเป้าหมายว่าจะหาวิธีให้ความรู้กฎหมายแบบง่ายๆ เพื่อช่วยเหลือคนเล็กคนน้อยที่กำลังเจอปัญหา

ถามเร็ว-ตอบเร็ว แบบ "เพียงพนอ บุญกล่ำ"

ชื่อกรุ๊ปกลุ่มไลน์ที่แปลกที่สุดที่คุณเข้าร่วมด้วย : มธญ.chill chill

หนังล่าสุดที่คุณดู : Pursuit of Happyness

เช้าวันอาทิตย์ เวลา 10.00 น. คุณมักจะทำอะไร : หาอะไรดู อะไรฟัง ที่ส่งเสริมวิธีคิดการดำเนินชีวิต

เพลงที่ร้องบ่อยที่สุดตอนอยู่บนรถยนต์ : แพ้ใจ ใหม่ เจริญปุระ

ถ้าพักร้อนได้ในวันพรุ่งนี้ เราจะเห็นคุณไปที่ใด : อยากไปอเมริกาใต้

กิจกรรมที่ชอบทำตอนอยู่กับเพื่อนสนิทที่โตมาด้วยกัน : เมาท์สิคะ

เน็ตไอดอลที่ติดตามใน facebook : คุณลิซ่า แบล็คพิงค์ ตอนนี้เพลง Lalisa อยู่ในหัวเอาออกไม่ได้เลย (ไม่รู้ใช้เน็ตไอดอลรึเปล่านะ)

คำว่า Generation Gap ในองค์กร : ต้องตอบยาวหน่อยนะ แต่เราต้องพยายามที่จะเห็นอกเห็นใจ พยายามรับฟัง และหาจุดที่เราเข้าใจ หามุมในการมอง การเติบโต พยายามทำความเข้าใจ หลายเรื่องมันเป็นข้อเท็จจริง คุยด้วยเหตุผลได้ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน

อาชีพที่อยากทำหากไม่ได้เป็นนักกฎหมาย : นักเขียน

ซีรีส์ที่คุณดูค้างไว้อยู่ : Law School ใน Netflix

ปตท.