วันเก่าก่อน อันอ่อนหวาน : "บ้านเก่า"ในหนังครั้งเยาว์วัย

วันเก่าก่อน อันอ่อนหวาน : "บ้านเก่า"ในหนังครั้งเยาว์วัย

เรื่องหนังๆ ต้องยกให้เจ้าของคอลัมน์ "หนังโรงเล็ก" นักวิจารณ์ภาพยนตร์คนนี้ชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ครั้งนี้เล่าถึง บ้านในหนัง เปรียบเปรยกับบ้านในชีวิตจริง

ไม่ว่าจะนอนดึกแค่ไหน แต่ทุกๆเช้า ผมมักจะมานั่งทำงานในร้านกาแฟใต้ตึกเนชั่นฯ ดูจะเป็นแบบนี้ทุกๆวัน …ที่ไม่เหมือนเดิมใน 29 ปีที่ผ่านมาก็คือ “ร้านกาแฟ” ในที่ทำงาน ซึ่งมีมากขึ้นและหลายชื่อหลากนาม ตั้งแต่ระดับ “แม่ค้า” จนถึง “แบรนด์เจ้าสัว”

หน้าทางเข้าตึก “จุดประกาย” สมัยก่อน ตอนนี้คือร้าน Amazon ที่สมัยก่อนเป็นพื้นที่สูบบุหรี่ของคน ทว่า ร้านที่ผมนั่งทุกวันคือ Bellini ที่ปีแรกๆ ก็เป็นร้านกาแฟบ้านๆ และพนักงานหลายคนก็มาสุมหัวกันที่นั่น มีคนทำงานดังๆหลายคนในวงการหนังนะครับ ที่ใช้ “ร้านกาแฟ” เป็นที่สร้างงาน

จิระ มะลิกุล ใช้ little home เป็นที่คิด คล้ายๆ เป็นเอก รัตนเรือง มี "ตาบัค" ทองหล่อ ไว้นอนและเขียนบท

วันเก่าก่อน อันอ่อนหวาน : \"บ้านเก่า\"ในหนังครั้งเยาว์วัย

แต่ผมชอบคนนี้ - marcel pagnol นักเขียนชาวฝรั่งเศส ที่หนังสือ my mother's castle ของเขาถูกนำไปทำเป็นหนัง โดยผู้กำกับ อีฟส โรแบร์ต (หนังออกฉายทั่วโลก ระหว่างปี 1990-1993 เป็นปีช่วงก่อรูปของ "เซคชั่นจุดประกายพอดี) 

มาร์เซย์(ขอสะกดคำไทย) บอกว่า เวลาเขามานั่งร้านกาแฟ ภาพที่เขาคิดคือ “บ้านเก่า” เมื่อครั้งเยาว์วัย ซึ่งก็คงไม่ต่างอะไรกับ “ที่อยู่อาศัย” ของคนบ้านนอกทั่วไป บ้านของ มาร์เซย์ อยู่ชนบท เวลาจะไปไหนที ก็ต้องเดินเท้าไกลๆ

ในละแวกบ้านของเขา มีคฤหาสน์ของเศรษฐีคนหนึ่ง ที่เวลาแม่ของเขาจะเดินผ่าน มักเกิดความยำเกรง เกรงกลัว

“บางที ไม่มีอะไรเลย เจ้าของก็ไม่ได้ดุ แม่ก็หวาดกลัวที่จะต้องเดินผ่านทางนั้น” (อ้างอิงจาก sight & sound) ภาพของแม่ ฝังอยู่ในความทรงจำของ มาร์เซย์

นั่นทำให้เมื่อเติบใหญ่ทำงาน แล้วกลายเป็นคนชื่อเสียง มาร์เซย์ จัดการ “ล้างแค้นอดีต” เขาทุ่มเงินซื้อบ้านหลังนั้นมาให้แม่เสียเลย (จบ)

เรื่องส่วนนี้ถูกนำไปทำเป็นหนังฝรั่งเศส และนักวิจารณ์ชื่นชมกันมาก (แม้ว่าคะแนนจะไม่ได้สูง)บางคนบอกว่า มันคือ การเอาคืน coming-of-age ในวัยเยาว์ของ มาร์เซย์

เจ้าตัวแก้ต่างว่า หนังส่วนตัวของเขา ไม่ได้พูดถึงแม่ แต่ต้องการแสดงความรักต่อวัยเยาว์ และบ้านที่เติบโตมา…

น่าสนใจ เข้าไปอีกว่า… ประเด็นเรื่อง “บ้าน” ถ้าดูกันแบบจริงจัง ช่วงระยะ 10 ปีหลัง จะจากโรงงานฮอลลีวู้ดหรือที่ทางของ “เนตฟลิกซ์” เรื่องของบ้าน แสดงตัวอยู่ในหนังมากมายหลายเรื่อง (แม้แต่หนังชนะออสการ์สองปีหลังอย่าง Parasite กับ Nomadland ก็มี “ก้อนความคิด” เกี่ยวกับครอบครัวและบ้าน ชัดเจน)

สารภาพว่า My Mother's Castle ทำให้ผมนึกอยากทำแบบเดียวกัน กับบ้านหลังแรกที่พ่อกับแม่ซื้อในย่านพระประแดง ซึ่งเป็นตึกแถวสองคูหา สูงสามชั้น

ผมไม่ใช่มาร์เซย์ และแม่ก็ไม่มีเวลาไปเดินเล่น เพราะวันๆทำงานตามขนบ “สะใภ้คนจีน” แต่ถึงอย่างไร…ผมก็ขี่จักรยานเป็นวันแรกที่บ้านหลังนั้น รถโรงเรียนมาจอดหน้าบ้าน ก็ยื้อขาแม่ยาวนานที่บ้านหลังนั้น

บ้านหลังนี้ ยังอยู่นะครับ และผมก็วนรถไปดูบ่อยๆ (ชั้นสามของบ้านหลังนี้ มีแทงค์น้ำ)

พูดถึงบ้าน, ตอนนี้เทรนด์เรื่องการเก็บรักษา “ที่อยู่อาศัย” ของคนดังก็กลายเป็นกระแส (แม้ไม่เท่า 32 ล้านวิวใน 6 ชั่วโมงของ คุณน้อง ลิซ่าคนเก่ง) เช่นมีการอนุรักษ์บ้านของ นอร์แมน เบสต์ ในหนัง Psycho มีการมอบบ้านของ จอห์น เลนนอน วัยเยาว์ โดย โยโกะ โอโนะ มอบให้เป็นมรดกของเมืองลิเวอร์พูลไปเลย นอกจากนี้ ยังมีแนวคิด อนุรักษ์บ้านของนักเขียนดังๆ อีกหลายคน

ผมมีหลายบ้านเหมือนกัน เพราะถ้านับกันจริงๆ หลังจากคุณพ่อเสียชีวิตในวัยเยาว์มาก แม่ผมต้องย้ายบ้านมากถึง 7 ครั้ง เรียกว่าความทรงจำเกี่ยวกับบ้านของผม ค่อนข้าง “กระจัดกระจาย” (แต่ตกเป็นเศษไปที่พื้น ก็เก็บมาครบ-เมื่อเขียน)

ผมชอบบ้านตึกแถวโทรมและเก่า ที่ผมอยู่กับแม่ตอนนี้มากที่สุด เพราะผมอยู่กับแม่สองคนในบ้านหลังนี้ยาวนานที่สุดกว่าทุกบ้าน ความทรงจำอบอวล และที่สำคัญ แม่ผมซื้อบ้านหลังนี้ตอนที่ผมเริ่มทำงาน “จุดประกาย” ปีที่ 2

ความสุขที่เดินทางมา 29 ปีในการงาน ความรัก และครอบครัว จึงเหมือนเป็น “ที่ดิน” ในบ้านหลังนี้ โดยที่ “บ้านอีกหลัง” คือ “หนังโรงเล็ก” กรอบแคบผอม แนวดิ่งของหน้าสุดท้าย ทุกวันศุกร์ ใน “จุดประกาย-ภาพยนตร์” และกลายเป็น “หนังสือเล่มแรก” คือ “หนังโรงเล็ก” ปกสีฟ้า

ขอไม่พูดถึง “หนังโรงเล็ก” เพราะไม่ชอบมาอวยตัวเอง แต่อยากจะเอ่ย ถึงเพื่อนหลายคน ซึ่งเติบโตไปตามเส้นทางตัวเอง เพื่อนหลายคนที่ “ปิดหน้า” กันทั้งวันและดึกดื่น

ออฟฟิศที่อยากอยู่นานๆ โดยไม่เบื่อ โรงอาหาร(ผมชอบคำนี้มากกว่าฟู้ดคอร์ท) ที่เต้นท์ริมถนนและชั้น 9, สนามบอลเล็กริมคลองรั้วเหล็ก และรถบริษัทไปส่งกลางเมืองหลายเที่ยว

และที่ชอบที่สุดคือ ชั้น 5 ตึกหลัง อันเป็น “บ้านของชาวจุดประกาย” อย่างแท้จริง (น่าอยู่มากกว่าบ้านในหนัง The Other และสวยกว่าบ้านของ เจนนี ใน Forrest Gump)

ผมน่าจะแก่แล้วโดยความทรงจำ แม้โดยวัย - จะ 52

แต่เป็น 52 ที่ยังนั่งร้านกาแฟที่ทำงาน ทุกวัน

ให้กลิ่นลาเต้ พาไป “เห็น” เวลาเช้า…

ให้ความทรงจำ “ดันหลัง” เบาๆ…

"""""""""""""""""""

สิ่งละอันพันละน้อยเกี่ยวกับ “บ้าน”

 

วันเก่าก่อน อันอ่อนหวาน : \"บ้านเก่า\"ในหนังครั้งเยาว์วัย 1.หนัง Betty Blue

ภาพของ “ซอร์ก” ที่ยืนทาสีบังกะโล กับซีน “เบ็ตตี้” ตัดสินใจเผาบ้าน แล้วพาแฟนหนุ่มออกไปตามหาฝัน เมื่อบวกรวมกับฉาก “เรือใบสีขาวโต้” โต้ลมอย่างมั่นคง กลางทะเลกว้าง นี่คือรายละเอียดง่ายๆ ที่หนัง Betty Blue ใส่เข้ามาในเรื่อง

สาวเร่าร้อนอย่าง เบ็ตตี้ กับ ซอร์ก ช่างทาสี ที่ใช้ชีวิตอย่างไม่มีหัวนอนปลายตีน มีความฝันถึงการสร้างบ้าน

ซึ่งในที่นี้คือ “ครอบครัว” ไม่ใช่บ้านแบบบังกะโล แต่เป็นบ้านที่มั่นคง ยืนยาว มีฉากท้ายๆที่ทั้งสองคนเห็นครอบครัวเพื่อน พ่อแม่ลูก ครบพร้อม ยิ่งทำให้ความหมายของบ้านแจ่มชัด 

Betty Blue เป็นงานที่เน้นไปที่ความงามของชีวิต แม้ว่าในท้ายที่สุด บ้านหลังนั้นของทั้งสองจะไม่มี แต่ความงามคือ เบ็ตตี้ ได้ทำให้ผู้ชายคนหนึ่ง ได้คิดทำอะไรเพื่อตัวเองเสียที

อยากรู้ว่า หนังยุโรปดีๆ ที่ดูง่าย มีสัดส่วน มีการแอบแทรกรายละเอียดแบบ “น่าทึ่ง” เป็นอย่างไร Betty Blue คือตัวอย่างอันน่ายกย่อง…

..............................

วันเก่าก่อน อันอ่อนหวาน : \"บ้านเก่า\"ในหนังครั้งเยาว์วัย

2.วรรณกรรม To Kill a Mockingbird

ผมโชคดีที่โตมากับการอ่านหนังสือ - มีหนังสือเล่มหนึ่งชอบมาก แม้ไม่ชอบที่สุด To Kill a Mockingbird ของ ฮาร์เปอร์ ลี เป็นหนังสือที่อ่านเพื่อสร้างกำลังใจได้ดีถึงการ “ยืนหยัด” เพื่อบางสิ่ง

ฟินซ์ เป็นทนายความว่าความให้กับ ทอม คนผิวสีที่ถูกใส่ร้ายว่า ไปข่มขืนหญิงผิวขาวในบ้าน นี่คือเรื่องราวที่สะท้อนถึงโลกสองด้านที่ต่างกันมาก และผิดทันทีที่คุณเกิดมาผิวดำ ฟินซ์ ผิวขาวแต่สู้เพื่อคนผิวดำ 

การจัดวางตัวละครของ ฟินซ์ เป็นคาแรคเตอร์แบบที่ฝรั่งเรียกว่า Guardian Angel หรือเทวดาประจำบ้าน ประจำตัว ที่คุ้มครองใครคนนั้น 

ฮาร์เปอร์ ลี บอกว่า อุดมคติที่แข็งแรง แม้ยืนท่ามกลางพายุมรสุม ก็จะไม่มีใครทำอะไรได้ บ้านของ ฟินซ์ มีเขาเป็น guardian angel และถ้าทอมเป็น นกม็อคกิ้ง - ฟินซ์ คือชาวสวน ที่ไม่ยิงนก…

.............

วันเก่าก่อน อันอ่อนหวาน : \"บ้านเก่า\"ในหนังครั้งเยาว์วัย

3.อัลบั้ม Running on Empty

ถ้าเป็นแฟนของ แจ็คสัน บราวน์ หลายคนคงชอบอัลบั้ม late for the sky แต่ผมรัก running on empty งานที่ใช้วิธีบันทึกเสียงจากหลายรูปแบบ ทั้งบนรถ ในโรงแรมที่พัก เวทีคอนเสิร์ต และอีกหลายแห่ง

เป็น concept album ที่สัมผัสได้ถึง “การเดินทางคือบ้านหลังหนึ่ง” ของศิลปิน ก่อนจะจบลงอย่างสวยงามด้วย the load out / stay ที่แป้งชื่อหนึ่งบ้านเรา เอาเพลงมาก๊อป แปลงเนื้อ ในอดีต

เวลาขับรถไปต่างจังหวัดไกลๆ ผมชอบฟังอัลบั้มนี้ เหมือนมีเพื่อน… ชอบมาก ซื้อ cd ไว้ 8 แผ่น มีเทปและแผ่นเสียงครบ

............

ผลงานเขียนเรื่องนี้ ตีพิมพ์ในเซคชั่นจุดประกายฉบับพิเศษ เนื่องในวาระครบรอบ 35  ปีหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (ู 6 ตุลาคม 64)