มองอารีย์แบบ เพื่อนบ้านอารีย์ ผู้ขอบันทึกเรื่องราวในย่านเก่าที่เติบโต

มองอารีย์แบบ เพื่อนบ้านอารีย์ ผู้ขอบันทึกเรื่องราวในย่านเก่าที่เติบโต

เข้าใจความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปในย่านเก่าที่กำลังเติบโตแบบร่วมสมัย จากมุมมองเพจ เพื่อนบ้านอารีย์ นิตยสารออนไลน์ที่ขอบันทึกถึงผู้คนในย่านนี้

“ย่านอารีย์” เติบโตและเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด นับตั้งแต่การมีรถไฟฟ้า BTS เมื่อปี 2542 การเข้ามาของดีเวลลอปเปอร์ซึ่งรวบรวมที่ดินทีละเล็กทีละน้อยจนได้โครงการขนาดใหญ่ กระทั่งการทยอยเปิดกิจการและธุรกิจร่วมสมัยของคนหนุ่มสาว ที่หมุนเวียนเปลี่ยนมือ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

ถ้าเมื่อหลายสิบปีก่อน  “ถนนข้าวสาร” คือหมุดหมายของนักเดินทางผู้แสวงหา คือการผจญภัยอันอิสระที่คนหนุ่มสาวมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน… ย่านอารีย์ในวันนี้ก็คงไม่ต่างกันในความหมายของพื้นที่การรวมตัวของผู้คนที่ต้องการเครือข่ายธุรกิจสร้างสรรค์ คล้าย ถ.เจริญกรุง ที่ชอบจัดนิทรรศกาลศิลปะ, ย่านนิมมานฯ จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีร้านรวงเล็กๆ เก๋ๆ แต่เอกลักษณ์ที่อารีย์มีไม่เหมือนใครคือความเป็นย่านที่อยู่อาศัย คาเฟ่ โฮสเทล มนุษย์เงินเดือน สถานที่ราชการ และสำนักงานของเอเจนซี่ Digital Marketing

มองอารีย์แบบ เพื่อนบ้านอารีย์ ผู้ขอบันทึกเรื่องราวในย่านเก่าที่เติบโต

  • มองอารีย์แบบเพื่อนบ้าน

ฮามิช เจ้าของเพจ “เพื่อนบ้านอารีย์” ย้ายเข้ามาอยู่ที่ซอยอารีย์ กว่า 5 ปีก่อน และตลอดเวลาเขานิยมหาความรู้และฟังเรื่องราวเกี่ยวกับย่านอารีย์จากคนที่เกิดและโตที่นี่

ฮามิช ผู้ก่อตั้งเพจเพื่อนบ้านอารีย์

เดิมที่เขามีถิ่นอาศัยอยู่ย่านหนองจอก กรุงเทพฯ แต่ก็ย้ายมาเช่าคอนโดที่ซอยอารีย์เพื่อใกล้กับสถานที่ทำงาน สะดวกในการเดินทาง ก่อนจะหลงรักเสน่ห์ละแวกนี้และคิดจะปักหลักทำนิตยสารออนไลน์ 2 ภาษา ผ่านแฟนเพจภาษาไทย "เพื่อนบ้านอารีย์” และเว็ปไซต์ 2 ภาษา www.yourneighborari.com 

“เราแทบไม่เคยได้คุยกับใครเลย ได้แต่ทักทายด้วยรอยยิ้ม หรือรู้จักกันเล็กๆ น้อย เช่นคนนี้เป็นดีเจ คนนี้เป็นนักออกแบบ คนนี้ทำงานบริษัท ก็รู้สึกแต่ละคนทำอาชีพสนุกๆ ด้วยกันทั้งนั้น เราเลยอยากคุยอยากทำความรู้จัก เลยทำอะไรที่มันทำให้เราได้คุย ได้บันทึก สิ่งทีเราเจอในแต่ละวัน” ฮามิช บอกจุดเริ่มต้นของโปรเจคเล็กๆ แห่งนี้

มองอารีย์แบบ เพื่อนบ้านอารีย์ ผู้ขอบันทึกเรื่องราวในย่านเก่าที่เติบโต

"เพื่อนบ้านอารีย์" เล่าเรื่องหลากหลายในย่านซอยอารีย์ ตั้งแต่เรื่องผู้คน วัฒนธรรม ธุรกิจรายย่อย และส่วนใหญ่เป็นความเรียงกึ่งบทสัมภาษณ์ของการบักทึกเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งก็คือตัวฮามิชเอง เช่น บทความที่ชื่อ “แวะมานั่งคุยเล่นกับสาวญี่ปุ่นเจ้าของร้านเสื้อผ้า Fumiikii Tokyo” หรือ “เช้าวันที่ฉันไปเดินสำรวจ ธรรมชาติ ในย่านอารีย์กับคนแปลกหน้า”

บางบทความ "เพื่อนบ้านอารีย์" ยังตั้งข้อสงสัยที่ผู้คนในละแวกคิดในใจแต่ไม่รู้จะบอกกับใคร เช่น บทความที่ชื่อ ประตูสีฟ้านี้คือบ้านใคร?” ซึ่งตอบคำถามผู้คนที่ว่า

“หลายคนรู้จัก Gump’s แหล่งท่องเที่ยวเชิงอินสตาแกรมสุดฮิต ที่เสาร์อาทิตย์จะเนืองแน่นไปด้วยหนุ่มหล่อสาวสวยที่มาถ่ายรูปเช็กอินกันตลอดวัน หลายคนอาจเคยไป Josh Hotel ที่รวบรวมคาเฟ่น่านั่งที่ห่างออกไปไม่กี่นาที แต่อาจไม่สังเกตประตูไม้สีฟ้าเก่า ๆ แห่งนี้ ที่ตั้งอยู่ระหว่าง Gump’s และ Josh Hotel เบื้องหลังกำแพงมีต้นไม้ขึ้นหนาทึบ ยากจะเดาว่าข้างในคืออะไร ไม่แปลกเลยที่หลายคนจะไม่สนใจมัน หลายครั้งประตูสีฟ้านี้ไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่าลานจอดรถเล็ก ๆ ของไรเดอร์ที่มารับออเดอร์แถวนั้น”

บ้านประตูสีฟ้า แหล่งพักเหนื่อยของชาวไรเดอร์ย่านอารีย์

  • อารีย์ในวันนี้

ในเชิงกายภาพซอยอารีย์คือความหมายของ ถ.พหลโยธิน ซอย 7 ซึ่งเป็นย่านอยู่อาศัยเดิมของข้าราชการ ที่ทำงานในละแวกนั้น เช่น กรมประชาสัมพันธ์, กระทรวงการคลัง, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ 

แต่ในความหมายของ “เพื่อนบ้านอารีย์” คือรัศมีที่กว้างกว่านั้น เพราะยังรวมถึงซอยราชครู (พหลโยธิน ซ.5) สนามเป้า ละแวก ถ.ประดิพัทธ์ สะพานควาย หรืออะไรก็ตามที่สามารถ "เดินเท้า" ทะลุออกไปจากซอยอารีย์ได้

“อารีย์มีความเป็นชุมชนกึ่งเก่ากึ่งใหม่ มีข้าราชการและผู้คนอยู่อาศัยดั้งเดิม มีธุรกิจและร้านค้าที่ตอบสนองความต้องการคนในชุมชนนั้นตามมาด้วย เช่น ทางข้ามรั้วริมกำแพงกระทรวงการคลัง ทางสัญจรของข้ารายการไปยังตลาดนัดซอยพิบูลย์วัฒนา 5 หรือที่เรียกกันว่า ตลาดนัดหลังกระทรงการคลังก็เป็นแหล่งขายอาหาร เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้สำหรับให้คนทำงานมาซื้อ”

ขณะเดียวกันผู้คนที่เป็นสมาชิกใหม่ของที่นี่ คือกลุ่ม Young Adult ที่เข้ามาทำ “งาน” อะไรบางอย่าง เช่น ทำคาเฟ่ โฮสเทล แกลลอรี่งานศิลปะ หรือโปรดักส์สินค้าอะไรสักอย่างที่ต้องการให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งคนกลุ่มนี้เลือกมาอยู่ที่นี่เพราะต้องการเครือข่าย เพราะเชื่อว่า Ecosystem ธุรกิจที่ดีต้องเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน และการจะเติบโตคือการสร้างเครือข่ายของผู้คนในแต่ละความชอบ ความถนัด ไม่นับน้องนักเรียนที่เรามักจะเห็นเขามาถ่ายรูปในย่านนี้หลังเลิกเรียน หรือไม่ก็ช่วงเสาร์อาทิตย์” เจ้าของเพจเพื่อนบ้านอารีย์มองซอยอารีย์ในวันนี้

คนกลุ่ม Young Adult ของย่านอารีย์นี่น่าสนใจมากๆ เพราะคนเหล่านี้ต่างเป็นคนอายุไม่มากที่สร้างธุรกิจเล็ก ๆ จากความชอบของตัวเองทั้งสิ้น คนเหล่านี้รู้จักกันอย่างหลวม ๆ โดยมีซอยแห่งนี้เป็นจุดเชื่อมต่อ หากไม่มีอะไรตรงกัน ก็มีสิ่งหนึ่งคือพวกเขาต่างอยู่ใกล้ ๆ กัน สามารถเดินไปมาหาสู่กันได้

คุณต้น เจ้าของร้าน Lilou & Laliart coffee (ภาพจากเพจเพื่อนบ้านอารีย์)

“อารีย์มักจะเป็นพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่นึกถึงเมื่อต้องการลาออกจากงานประจำและเริ่มทำธุรกิจที่ตัวเองรัก เช่น ทำอาหารอาหารสุขภาพที่อาจไม่เป็นที่นิยมมากนัก ทำล้างฟิล์ม ส่วนทำไมต้องเป็นอารีย์ ไม่เป็นที่อื่น ผมมองว่าถ้าไม่นับเรื่องพื้นฐานอย่างโลเคชั่น หรือสถานที่ซึ่งพอจะหาเช่าได้แล้ว กลุ่มคน Young Adult ต้องการเครือข่าย ต้องการเพื่อน และต้องการสนับสนุนธุรกิจชุมชนรายอื่นๆให้เติบโตไปด้วยกัน สมมติเราทำแบรนด์เสื้อผ้า แล้วเราไปคาเฟ่ใกล้ๆ เราก็อาจจะเจอเพื่อนเป็นช่างภาพ หรือเจอเพื่อนที่ทำแบรนด์อื่นซึ่งสามารถแลกเปลี่ยน ถกเถียง ทำงานร่วมกันในแบบ Collaboration หรือสามารถพูดคุยกันแบบลึกได้ โดยไม่มีใครมองว่าแปลก”   

  • อนาคตของ “เพื่อนบ้านอารีย์”

แม้อารีย์จะมองว่าเป็นที่แห่งอนาคต แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าค่าครองชีพในย่านนี้ค่อนข้างสูง โดยปัจจุบันย่านอารีย์เป็นหนึ่งในย่านที่ได้รับความนิยมจากทั้งผู้อยู่อาศัยและนักพัฒนาที่ดิน มีโครงการติดริมถนนพหลโยธินที่ใกล้กับรถไฟฟ้า BTS สถานีอารีย์จำนวนมาก และระดับราคาก็ขยับขึ้นจากในอดีตไม่น้อย จาก 70,000-80,000 บาท/ตารางเมตร เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ขยับไปอยู่ที่เฉลี่ย 130,000-140,000 บาท/ตารางเมตร

ความเติบโตของอารีย์ไม่ใช่แค่ความเป็นชุมชนแหล่งๆ สำหรับอยู่อาศัยและเริ่มต้นใหม่ แต่อีกทางหนึ่งก็มี Demand สูงในเชิงพาณิชย์ สะท้อนได้จากโครงการอาคารสำนักงานเกรดเอใหม่ ๆ ที่อัตราค่าเช่าเฉลี่ยเริ่มต้นไม่น้อยกว่า 600-700 บาท/ตารางเมตรเริ่มเกิดขึ้น เช่น อาคารสำนักงานเพิร์ล แบงค็อก (Pearl Bangkok) ของกลุ่ม พฤกษา เรียลเอสเตท อาคารสำนักงานเอสซี ทาวเวอร์ ของกลุ่ม SC Asset

ในความโรแมนติกเล็กๆที่อบอวลไปด้วยความฝันแห่งการเริ่มต้น อีกด้านหนึ่งอารีย์ก็เติบโตในเรื่อง ‘ค่าเช่า’ และก็น่าสนใจว่า ทั้งสองด้านนี้จะประนีประนอมกันได้อย่างไร

ฮามิช บอกว่า เป็นความจริงที่ค่าเช่าในอารีย์ค่อนข้างสูง และก็ทำให้ธุรกิจต้องหมุนเวียนเปลี่ยนหน้า และไม่ว่าจะมีหน้าเก่าออกไปเท่าใด ก็จะมีหน้าใหม่เข้ามาเรื่อยๆ  เพราะอารีย์มีเสน่ห์ดึงดูดพอที่จะทำให้ผู้คนเหล่านั้นกล้าที่จะเสี่ยง

ลักษณะประตูบ้านในย่านอารีย์ที่มีความเก่าแก่และความร่วมสมัยอยู่ในคราวเดียวกัน

“เพื่อนบ้านอารีย์” ซึ่งเป็นทั้งเว็ปไซต์และแฟนเพจ ก็เป็นแผนระยะยาวที่ฮามิช เอาจริงเอาจังกับเพื่อนอีก 1 คน ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นไปได้ ในในแง่การมีเรื่องราวให้บันทึกในวันที่ชุมชนค่อยๆเติบโต ผู้คนหมุนเวียนกันเข้ามา ขณะเดียวกันก็อยู่ได้ในเชิงธุรกิจด้วยการตั้งเป้าเป็นสื่อของชุมชน ในรูปแบบใหม่

“ธุรกิจของทุกคนในนี้ก็ไม่ต่างกัน เราตั้งขึ้นด้วยความเชื่อและความต้องการอะไรบางอย่าง ก่อนมาทำผมก็เตรียมใจ เตรียมทุนมาบ้างเพื่อสำรองไว้ตอนที่มันอาจจะขลุกขลักในตอนแรก แต่เมื่อถึงวันนี้ กว่า 3 เดือนที่เราเริ่มก่อตั้ง ก็เห็นว่ามีแนวโน้มที่ดี แล้วเราก็มีความสุขที่จะบอกเล่าเรื่องของผู้คนที่นี่”

“เคยมี Expat (ชาวต่างชาติที่ทำงานในไทย) ท่านหนึ่ง เจอเราแล้วบอกว่า ตอนที่รู้ว่าต้องมาทำงานในกรุงเทพฯ ยูรู้ไหมว่าไอตัดสินใจมาอยู่อารีย์เพราะได้อ่านเรื่องราวที่ยูนำเสนอ และก็คิดไม่ผิดจริงๆที่เลือกมาอยู่ที่นี่ เพราะรู้สึกมีความสุขและลงตัวกับวิถีชีวิตมาก ในย่านอารีย์”