"วันสารทไทย" 2564 รู้จักที่มาประเพณี "ชิงเปรต" ของพี่น้องชาวใต้

"วันสารทไทย" 2564 รู้จักที่มาประเพณี "ชิงเปรต" ของพี่น้องชาวใต้

รู้จักประเพณี "ชิงเปรต" หรือ "วันสารทไทย" หรือ "สารทเดือนสิบ" ปีนี้ตรงกับวันที่ 6 ตุลาคม 2564 เป็นประเพณีสำคัญของชาวนครศรีธรรมราช ที่ได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อมาจากทางศาสนาพราหมณ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ดวงวิญญาณของญาติผู้ล่วงลับ

"วันสารทไทย" หรือประเพณี "สารทเดือนสิบ" ปีนี้ตรงกับวันที่ 6 ตุลาคม 2564 เป็นงานบุญประเพณีของคนภาคใต้ โดดเด่นเป็นพิเศษในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีความสำคัญคือ เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณของญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว พร้อมมีกิจกรรมที่เรียกว่า "ชิงเปรต"

คนไทยเองก็มีความเชื่อเรื่องการทำบุญให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับเช่นกัน เชื่อกันว่าวิญญาณบรรพบุรุษจะสามารถเดินทางจากนรกมายังโลกมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 ของทุกปี เพื่อมารับส่วนบุญ หลังจากนั้นวิญญาณก็จะกลับไปยังนรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมาทำความรู้จักประเพณีนี้ให้มากขึ้น

1. เปิดที่มา "สารทเดือนสิบ" จ.นครศรีธรรมราช

ตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราช เชื่อว่าปู่ ย่า ตา ยาย และ ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หากทำความดีไว้ เมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ จะได้ไปเกิดในสรวงสวรรค์ แต่หากทำความชั่วจะตกนรก กลายเป็น "เปรต" ต้องทนทุกข์ทรมานในอเวจี ต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานอุทิศส่วนกุศลให้ในแต่ละปีเพื่อยังชีพในนรก

โอกาสนี้เอง ลูกหลานและผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ จึงนำอาหารไปทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที และเชื่อว่าหากทำบุญในวันนี้ไปให้ญาติแล้ว ญาติจะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่ และมีโอกาสหมดหนี้กรรมในนรก และได้ไปเกิดในที่สุด

ระยะแรกมีเพียงการเข้าวัดทำบุญตามประเพณี แต่ต่อมามีจัดงาน "เทศกาลเดือนสิบ” ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2466 ที่สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อหาเงินสร้างสโมสรข้าราชการซึ่งชำรุดมากแล้ว โดยจัดยิ่งใหญ่งาน 3 วัน 3 คืน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2535 ได้ย้ายสถานที่จัดงานไปยังสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด) ซึ่งมีบริเวณกว้างขวางกว่าเดิม

 

2. วันสารทเดือนสิบ ไหว้ขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์

อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญของการทำบุญ "สารทเดือนสิบ" ก็คือ เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตอบแทนแม่พระโพสพ ผีไร่ ผีนา ที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดี และออกรวงจนสุกให้เก็บเกี่ยวมากินและขายเลี้ยงชีพ

เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ทำนาเป็นอาชีพหลัก ในช่วงเดือนสิบ จะเป็ฯช่วงที่ชาวนาได้ปักดำข้าวกล้าลงในนาหมดแล้ว ระหว่างรอต้นข้าวกำลังงอกงาม และรอเก็บเกี่ยว จึงใช้เวลาว่างระหว่างนั้นจัดงานบุญไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยดูแลไร่นานั่นเอง

3. ความเชื่อและตำนานการ "ชิงเปรต"

มีตำนานเล่าขานกันว่า ในช่วงเดือนสิบของทุกปี มีเปรตที่ชื่อว่า "ปรทัตตูปชีวีเปรต” ถูกปล่อยใหัขึ้นมาจากนรก เพื่อมาร้องขอส่วนบุญต่อลูกหลาน ญาติ พี่น้อง ด้วยเหตุนี้ ญาติๆ บนโลกมนุษย์ของเปรตตนนี้ จึงได้มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ เพื่อหวังให้เปรตพ้นทุกข์จากนรก

โดยการจัดอาหารคาวหวาน วางไว้ที่บริเวณวัด เรียกว่า "ตั้งเปรต” ตามพิธีไสยเวท ต่อมาพิธีกรรมดังกล่าวถูกพัฒนามาเป็น "การชิงเปรต” อย่างที่รู้จักกันในปัจจุบัน

4. ประเพณีปฏิบัติใน "วันสารทเดือนสิบ"

การทำบุญวันสารทเดือนสิบหรือวันชิงเปรตนั้น จะมีการทำบุญที่วัด 2 ครั้ง คือ 

  • ครั้งแรก วันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบเรียกว่า วันรับเปรต
  • ครั้งที่สอง วันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบเรียกว่า วันส่งเปรต

 

โดยมีประเพณีปฏิบัติ คือ

  • ก่อนวันงาน ชาวบ้านจะทำขนมที่เรียกว่า "กระยาสารท" และขนมอื่นๆ เตรียมไว้
  • วันงาน ชาวบ้านจัดแจงนำข้าวปลาอาหารและข้าวกระยาสารทไปทำบุญตักบาตรที่วัดประจำหมู่บ้าน ถือศีล เข้าวัด ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีล
  • นำข้าวกระยาสารทไปฝากเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เรือนเคียง หรือหมู่ญาติมิตรที่อยู่บ้านไกล เยี่ยมเยือนถามข่าวคราวกัน
  • บางท้องถิ่นทำขนมสำหรับบูชาแม่พระโพสพ ผีนา ผีไร่ด้วย เมื่อถวายพระสงฆ์เสร็จแล้ว ก็นำไปบูชาตามไร่นาต่ออีกที

5. พิธีกรรมสำคัญ 3 ขั้นตอน

ขั้นตอนที่ 1 : การจัดหมฺรับและยกหมฺรับ

"จัดหมฺรับ" เป็นการจัดเตรียมสิ่งของที่ใช้ เริ่มขึ้นในวันแรม 13 ค่ำ วันนี้เรียกกันว่า "วันจ่าย" ประชาชนจะไปตลาดต่างๆ เพื่อซื้ออาหารแห้ง ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และขนมที่เป็นสัญลักษณ์ของสารทเดือนสิบ จัดเตรียมไว้สำหรับใส่หมฺรับ และสำหรับนำไปมอบใ้ห้ผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ

ส่วนการ "ยกหมฺรับ" ตรงกับวันแรม 14 ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่ลูกหลานร่วมกันแบกหาม หรือ ทูนหฺมฺรับที่จัดเตรียมเรียบร้อยแล้ว ไปถวายพระที่วัด หรือบางทีอาจจะจัดเป็นขบวนแห่เพื่อความคึกคักสนุกสนานก็ได้

ขั้นตอนที่ 2 : การฉลองหมฺรับและการบังสุกุล

วันฉลองหฺมฺรับ ตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่นำอาหารคาวหวานไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัดครั้งใหญ่ ทำพิธีบังสุกุล อุทิศส่วนกุศลให้บรรพชน และตั้งเปรตเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้วิญญาณที่ไม่มีลูกหลานมาทำบุญให้ ขณะเดียวกัน ก็ทำพิธีฉลองสมโภชหฺมฺรับที่ยกมา

ขั้นตอนที่ 3 : การตั้งเปรตและการชิงเปรต

หลังจากการฉลองหมฺรับและถวายภัตตาหารแล้ว ประชาชนจะนำขนมอีกส่วนหนึ่งไปวางไว้ตามบริเวณวัดเรียกว่า "ตั้งเปรต" เมื่อตั้งขนม ผลไม้ และและเงินทำบุญเสร็จแล้ว ก็จะนำสายสิญจน์ที่ได้บังสุกุลแล้วมาผูกกับของจุดตั้งเปรต (หลาเปรต) เพื่อแผ่ส่วนกุศลด้วย เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์ ก็จะเก็บสายสิญจน์

จากนั้นการ "ชิงเปรต" จะเริ่มขึ้น ทั้งผู้ใหญ่และเด็กจะวิ่งกันเข้าไปแย่งขนมกันอย่างคึกคัก ตามความเชื่อว่า ของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ถ้าใครได้ไปกินก็จะได้กุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว

--------------------------------

ที่มา : m-culture.go.th/nakhonsrithammarat