8 ทศวรรษ "Chemex” ดีไซน์แห่งศาสตร์และศิลป์กาแฟ

8 ทศวรรษ "Chemex” ดีไซน์แห่งศาสตร์และศิลป์กาแฟ

รู้จัก “Chemex” หนึ่งใน “อุปกรณ์ชงกาแฟ” เพียงไม่กี่แบบ ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นภายใต้ดีไซน์แห่งศาสตร์และศิลป์ เป็นผลิตภัณฑ์ไม่กี่ชิ้นในยุคนั้น ที่มีบทบาทเสมือนเป็นสัญลักษณ์ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

ย้อนกลับไปในเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1941 หรือ 8 ทศวรรษผ่านมาแล้ว ดร.ปีเตอร์ ชลัมบอห์ม นักประดิษฐ์ชาวเยอรมันโดยกำเนิด ข้ามน้ำข้ามทะเลไปสร้างชื่อเสียงในฐานะนักประดิษฐ์ที่สหรัฐอเมริกา เป็นผู้คิดค้นโถแก้วคาราเฟ่ทรงเอวคอดแบบไร้รอยต่อสำหรับชงกาแฟแบบ Pour-over ขึ้นมาโดยไม่ต้องใช้ดริปเปอร์ มีกระดาษปอนด์เป็นตัวกรองผงกาแฟ สวยงามโดนตาต้องใจด้วยแผ่นไม้ล้อมรอบตรงกลางโถแก้วที่เว้าคอดเข้าไปสำหรับจับเพื่อรินกาแฟร้อนๆ พร้อมสายหนังผูกไว้ป้องกันแผ่นไม้กลมลื่นไถล ตั้งชื่อให้ว่า "Chemex coffeemaker"

ด้วยดีไซน์การออกและฟังก์ชันการใช้งานที่มีความ "ลงตัว" และมีความ “เฉพาะตัว" ผสมผสานอย่างสมบูรณ์แบบระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์ ทำให้ Chemex (เคมเม็กซ์) กลายเป็นผลิตภัณฑ์ระดับ “ไอคอน” ที่มีการพูดถึงกันมากในวงการกาแฟนานาชาติมาจนทุกวันนี้

8 ทศวรรษ \"Chemex” ดีไซน์แห่งศาสตร์และศิลป์กาแฟ ปีเตอร์ ชลัมบอห์ม นักประดิษฐ์ผู้คิดค้น Chemex / ภาพ : www.instagram.com/the_chemex

ในปีค.ศ. 1958 นักออกแบบของ "สถาบันเทคโนโลยีอิลลินอยส์" ถึงกับออกโรงมายกย่อง ว่า นี่คือ…หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบได้อย่างยอดเยี่ยมของโลกสมัยใหม่ จนถูกนำไปบรรจุอยู่ในคอลเลกชันของ "พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่" ในนครนิวยอร์ก

นับเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ทางเลือกยอดนิยมของบาริสต้าประจำคาเฟ่สายสโลบาร์หรือสายคราฟท์ รวมไปถึงนักดื่มผู้โปรดปรานสไตล์การชงกาแฟสดแบบ Pour- over ตามบ้านหรือตามออฟฟิศทั่วโลก รูปแบบการชงก็อาศัยหลักการใช้น้ำร้อนเทผ่านผงกาแฟคั่วบดบนกระดาษกรอง มีเทคนิคการชงคล้ายคลึงกับ กาแฟดริป (Drip coffee) ส่งผลให้มีรสชาติและกลิ่นคล้ายคลึงกัน

แต่ก็ยังมีความต่างกันอยู่บ้าง โดย "Chemex" นั้นไม่ต้องใช้ดริปเปอร์แต่อย่างใด เพราะโถแก้วคาราเฟ่ ถูกออกแบบมาเพื่อไม่จำเป็นต้องใช้ตัวดริปเปอร์รองกระดาษกรอง

นอกจากนั้นแล้ว กระดาษกรองของทั้ง 2 วิธีชงนี้มีคุณสมบัติแตกต่างกันอยู่บ้างเล็กน้อย คือ กรองกระดาษกรองของทาง "Chemex" เป็นกระดาษปอนด์ จะมีความหนากว่าของแบบดริป จึงใช้เวลาในการชงนานกว่า ได้บอดี้กาแฟที่เข้มข้นกว่า แล้วประโยชน์ของกรองกาแฟแบบกระดาษปอนด์ที่มีความหนา อยู่ตรงที่ช่วยดูดซับคราบน้ำมันธรรมชาติที่เกิดจากการคั่วเมล็ดกาแฟ ทำให้กาแฟมีรสสัมผัสสะอาดเป็นพิเศษ แทบไม่มีผงกาแฟเล็ดลอดมารบกวนอารมณ์ดื่มเลย

หากจะให้ตัดสินว่าระหว่าง Chemex กับ Drip อย่างไหนดีกว่ากัน ตอบยากมากครับ เพราะต่างฝ่ายต่างมีจุดดีจุดเด่น เอาเป็นว่ารักใครชอบแบบไหน ก็เลือกกันตามรมนิยมดีกว่าครับ

8 ทศวรรษ \"Chemex” ดีไซน์แห่งศาสตร์และศิลป์กาแฟ กระดาษกรองของ Chemex จะมีความหนามากกว่าแบบ Drip ภาพ : Jacek on Unsplash

ในเดือนกันยายน ในปีค.ศ. 2021 นี้ ถือเป็นช่วงครบรอบ 80 ปีแห่งการประดิษฐ์คิดค้น Chemex ขึ้นมา จึงเป็นจังหวะอันดีที่เจ้าของธุรกิจอุปกรณ์ชงกาแฟสุดคลาสสิคชิ้นนี้ในปัจจุบันซึ่งก็คือครอบครัว "กราซซี่" ได้เปิดตัว Chemex โมเดลใหม่เอี่ยมอ่องออกมาถึง 2 รุ่นด้วยกัน คือ "Decal Chemex" กับ "Hand blown Chemex" เป็นรุ่นลิมิเต็ดเอดิชั่น ผลิตขึ้นมาในจำนวนไม่มากเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสพิเศษนี้

ขณะเดียวกันนั้น ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ของบริษัท ได้หยิบยกประวัติความเป็นมาของอุปกรณ์ระดับไอคอนของโลกที่ยังคงเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งด้วยสโลแกนที่ว่า "pure design pure flavor" มาบอกเล่าให้คอกาแฟได้รับทราบเรื่องราวกันอีกครั้ง รวมไปถึงวิดีโอแสดงเทคนิคการเป่าแก้วขึ้นรูปเป็นโถคาราเฟ่ด้วย

Decal Chemex รุ่นฉลอง 80 ปีแห่งการถือกำเนิด / ภาพ : www.chemexcoffeemaker.com Decal Chemex รุ่นฉลอง 80 ปีแห่งการถือกำเนิด / ภาพ : www.chemexcoffeemaker.com

ตัว "Decal Chemex" นั้น เป็นคาราเฟ่โมเดลรุ่นบุกเบิกดั้งเดิม อยู่ในซีรีส์คลาสสิคของบริษัท ขนาดความจุ 40 ออนซ์ หรือขนาด 8 แก้ว ตรงคอคอดสวมปลอกไม้ขัดเงาสำหรับจับ ผูกด้วยเชือกหนังตามสไตล์ ตรงกลางโถแก้วพิมพ์โลโก้สีฟ้าในวาระฉลอง 80 ปีแห่งการถือกำเนิด Chemex ติดเอาไว้ด้วย ส่วนสนนราคานั้น ในเว็บไซต์ของ  www.chemexcoffeemaker.com ตั้งค่าตัวไว้ที่  55.74 ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนตัว Hand blown Chemex อยู่ในซีรีส์แฮนด์โบลนด์ ขนาด 40 ออนซ์เช่นกัน มาในสไตล์วินเทจ คือตัวปลอกไม้จับลายสวยสะดุดตา ทำจากไม้ถึง 3 ชนิดด้วยกัน คือ ไม้มะฮอกกานี, ไม้เพอร์เพิ่ลฮาร์ท และไม้เมเปิ้ล มาพร้อมกับที่รองแก้ว 2 ชิ้น ถือเป็นรุ่นลิมิเต็ดเอดิชั่น ผลิตมาเพียง 100 ชิ้น วางขายในเว็บบริษัทเพียง 80 ชิ้น ในราคา 195 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทั้งปลอกไม้และที่รองแก้ว เป็นชิ้นงานที่ทำด้วยมือล้วนๆ จากโรงงานของบริษัทในมลรัฐแมสซาชูเซตส์

สารภาพเลยครับว่า พอเห็นงานฝีมือทั้งสองซีรีส์แล้ว ในฐานะคอกาแฟอยากได้ไว้ในครอบครองมากๆ แต่จากการเข้าไปดูล่าสุดเมื่อ 29 กันยายนที่ผ่านมา พบว่า รุ่น Decal Chemex ยังมีวางจำหน่ายบนเว็บไซต์ ส่วนรุ่น Hand blown Chemex ขายหมดเรียบร้อยแล้ว

8 ทศวรรษ \"Chemex” ดีไซน์แห่งศาสตร์และศิลป์กาแฟ "Hand blown Chemex" รุ่นลิมิเต็ดเอดิชั่น งานสไตล์วินเทจ / ภาพ : www.chemexcoffeemaker.com

8 ทศวรรษที่แล้ว คือจุดเริ่มต้นของอุปกรณ์ชงกาแฟที่กลายเป็นมรดกตกทอดอันยาวนาน ครอบคลุมคอกาแฟผู้ใช้งานหลายชั่วอายุคนและทั่วโลก การออกแบบเปี่ยมด้วยทักษะทางศิลปะและวิทยาศาสตร์ จากฝีมือการคิดค้นของนักประดิษฐ์ชาวเยอรมันผู้โด่งดัง

ชื่อนี้มีตำนาน...ปีเตอร์ ชลัมบอห์ม ถือเป็นหนึ่งในบุคคลของวงการผลิตอุปกรณ์ชงกาแฟที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง นอกจากจะเป็นผู้คิดค้น "Chemex" แล้ว เขายังมีสิ่งประดิษฐ์ใหม่อีกหลายอย่างด้วยกันที่ออกทำตลาดในสหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในครอบครัวประเภทใช้แรงมือ เช่น เชคเกอร์ผสมค๊อกเทล,หม้อชงชา, เครื่องซักผ้า, ระบบทำความเย็น และ ฯลฯ รวมแล้วหลายร้อยหลายการด้วยกัน

แต่ดูเหมือนว่า “โถแก้วชงกาแฟ Chemex” จะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่อยู่ยงคงกระพันและสร้างชื่อเสียงให้เขามากที่สุด แล้วตัวต้นแบบก็ยังทำตลาดอยู่ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหน้าตาเลยตลอด 80 ปีที่ผ่านมา จะมีต่างออกไปบ้างเล็กน้อย ก็พวกโมเดลใหม่ๆ ที่เพิ่งทำขายกันในระยะหลัง จากการทำธุรกิจภายใต้บริษัท "Chemex Corp"

ปีเตอร์ ชลัมบอห์ม เกิดที่เมืองคีล ทางตอนเหนือของเยอรมัน เมื่อปีค.ศ. 1896  เป็นลูกคนโตของครอบครัวผู้ผลิตสีและเคมีภัณฑ์ เพียง 6 เดือนหลังจากจบมัธยมศึกษาตอนปลาย เขาก็ถูกเกณฑ์เข้าร่วมกองทัพเยอรมันประจำกองพลทหารปืนใหญ่ ทันทีที่กลับมาถึงบ้านเกิดในปีค.ศ. 1918 หนุ่มน้อยชลัมบอห์มได้สละมรดกในธุรกิจของบิดาให้กับสมาชิกในครอบครัว เพื่อแลกกับข้อตกลงที่ว่าจะสนับสนุนให้เขาได้ศึกษาต่อตราบเท่าที่ต้องการ

ชลัมบอห์มเข้าศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกด้านเคมีที่ มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน จากนั้้นก็ใช้ชีวิตอีก 4-5 ปี ไปกับการตระเวนเที่ยวยุโรป ทั้งเยอรมนี, ฝรั่งเศส และอังกฤษ พร้อมๆ กับเสนอขายสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่้เขาคิดค้นขึ้นมาด้วย เขาเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเป็นทริปแรกเมื่อปี ค.ศ. 1931 เพื่อพยายามขายสิทธิบัตรการผลิตน้ำแข็งแห้ง รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ ด้วย

แล้วเรื่องราวของการก่อกำเนิด Chemex ที่หลายคนบอกว่าหน้าตาออกไปทางทรงนาฬิกาทราย หรือเครื่องแก้วทางวิทยาศาสตร์ จึงเริ่มต้นขึ้นที่ห้องแล็บในแมนฮัตตันเมื่อปลายทศวรรษ 1930 จนนำไปสู่การจดสิทธิบัตรในปีค.ศ. 1939

อย่างไรก็ตามแม้ Chemex จะเป็นอุปกรณ์ชงกาแฟที่มีชื่อเสียงด้านการออกแบบ เป็นไอเทมระดับคุณภาพที่ต้องเข้าไปประจำการยังพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ แต่ชลัมบอห์มไม่ใช่นักออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยทางการศึกษาเขาเป็นนักเคมี และโดยอาชีพเขาเป็นนักประดิษฐ์ผู้ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์

ดังนั้น ในการออกแบบแต่ละผลิตภัณฑ์ เขาจึงเน้นการหา "ปัญหา" ให้เจอเสียก่อน แล้วจึงพยายาม "ประดิษฐ์" สิ่งต่างๆ ขึ้นมา เพื่อเป็นทางออกของปัญหานั้นๆ

8 ทศวรรษ \"Chemex” ดีไซน์แห่งศาสตร์และศิลป์กาแฟ

ในช่วงเวลาดังกล่าว หม้อต้มกาแฟแบบเสียบปลั๊กไฟฟ้ามีการทำตลาดขายกันบ้างแล้วในสหรัฐ ขณะที่สถานการณ์ด้านการเมืองนั้นก็ล่อแหลมที่โลกจะเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะขาดแคลนวัตถุดิบต่างๆ ได้ ดังนั้น ไอเดียของการออกแบบก็คือ วัสดุที่ใช้ผลิตต้องหาไม่ยาก วิธีชงกาแฟต้องเรียบง่ายแต่มีสไตล์ ได้รสชาติกาแฟที่อร่อย และไม่เป็นพิษต่อสุขภาพร่างกายผู้ดื่ม 

ภายในห้องทำงานที่แมนฮัตตันในในปี ค.ศ. 1941 ชลัมบอห์มก็สร้างอุปกรณ์ชงกาแฟ Chemex สำหรับครัวเรือนขึ้นมาเป็นผลสำเร็จโดยใช้ “แก้วทนความร้อนสูง” จากนั้นก็เริ่มผลิตออกจำหน่ายในปีถัดมา โดยวางขายที่ห้างสรรพสินค้าเมซีส์เป็นครั้งแรก

ส่วนที่มาของชื่อแบรนด์ Chemex นั้น ไม่มีข้อมูลที่ระบุเอาไว้ชัดเจนนัก แต่หลายคนเชื่อว่า เนื่องจากมีการออกแบบกันในห้องแล็บซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของชลัมบอห์ม ก็เป็นไปได้ว่าชื่ออุปกรณ์ชงกาแฟก็น่าเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับชื่อทางเคมี

ด้วยความที่เป็นอุปกรณ์ชงกาแฟแบบโถแก้วไร้รอยต่อ ไม่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า แค่มีกระดาษกรองกับน้ำร้อนก็สามารถชงกาแฟอร่อยๆ ดื่มกันได้แล้ว อีกทั้งวัสดุที่ใช้ผลิตก็หาได้ง่ายและไม่ขาดแคลน เช่น แก้ว, ไม้ และหนัง แล้วบังเอิญก็สอดรับกับช่วงเวลานั้นที่เป็นช่วงเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี ซึ่งมีการปันสวนสินค้าอุปโภคและบริโภค ประกอบกับเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีไซน์มีเสน่ห์เฉพาะตัวซึ่งถูกคิดค้นโดยศาสตร์ของฟิสิกส์และเคมี ทำให้ Chemex ได้รับความนิยมขึ้นอย่างช้าๆ ในครัวเรือนอเมริกันชน

แล้วความดังก็ข้ามฟากไปยังแผ่นดินยุโรปทีเดียว โถแก้วชงกาแฟในแบบฉบับของ Chemex นั้น ปรากฏชื่ออยู่ในนวนิยายสายลับอันดับหนึ่งตลอดกาล เรื่อง "เจมส์ บอนด์ 007" ตอน "From Russia, with Love" จากบทประพันธ์ของเอียน เฟลมมิ่ง เมื่อปี ค.ศ. 1957 ในฉากที่เจมส์ บอนด์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในลอนดอน กำลังใช้โถ Chemex ชงกาแฟดื่มโดยไม่ใส่น้ำตาลแต่อย่างใด

ดร.ปีเตอร์ ชลัมบอห์ม เสียชีวิตลงเมื่อปีค.ศ. 1962 ในวัย 66 ปี แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เขาได้มอบธุรกิจของบริษัทให้กับเลขานุการของเขาเอง จากนั้นธุรกิจก็ถูกเปลี่ยนมืออีกสองสามครั้งรวมไปถึงสถานที่ผลิตด้วย ในที่สุดก็ตกไปอยู่ในความครอบครองของ ”ครอบครัวกราสซี่” ในปีค.ศ. 1980 มาจนถึงปัจจุบัน โดยโรงงานผลิตตั้งอยู่ที่เมืองชิโคปี มลรัฐแมสซาชูเซตส์

การผลิตในปัจจุบันยังคงเน้นทำจากมือเหมือนกับจุดเริ่มต้น ตั้งแต่โถแก้ว, ปลอกไม้ และเชือกผูกคล้อง ขณะที่ทรายที่ใช้ทำโถแก้วนั้นขุดมาจากเหมืองในนิวเจอร์ซี ก่อนนำขึ้นเรือส่งไปยังโรงงานในไต้หวันและเยอรมนีเพื่อทำเป็นโถแก้ว โดยใช้วิธีขึ้นรูปด้วยการเป่าและด้วยแม่พิมพ์ 

จากนั้นโถแก้วจะถูกส่งกลับมายังสหรัฐผ่านทางท่าเรือในบอสตันและนิวยอร์คซิตี้ ก่อนส่งเข้าโรงงานในแมสซาชูเซตส์เพื่อใส่ปลอกไม้และเชือกผูกเพิ่มเติม และบรรจุลงหีบห่อ รวมไปถึงตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนจัดจำหน่าย

ทั้งนี้ เหตุที่ต้องส่งไปทำเป็นโถแก้วถึงต่างประเทศนั้น ก็เพราะในสหรัฐ มีแต่โรงงานที่ใช้แต่เครื่องจักรในการผลิตแก้ว  

หลังจากที่ปีเตอร์ ชลัมบอห์ม เสียชีวิตลงไม่นาน "ราล์ฟ แคปแลน" นักเขียนและนักออกแบบชื่อดังชาวอเมริกัน ได้ให้คำจำกัดความของอุปกรณ์ชงกาแฟที่ชลัมบอห์มประดิษฐ์ขึ้นว่า เป็น "บทสรุปแห่งตรรกะและความบ้าคลั่ง"

แคปแลนก็เฉกเช่นเดียวกับคอกาแฟทั่วโลกจำนวนหนึ่งที่ชื่นชอบ Chemex เป็นพิเศษ ด้วยเห็นตรงกันว่า นี่คือหนึ่งในการออกแบบที่ทันสมัยเพียงไม่กี่แบบ ที่ทุกๆ คนสัมผัสได้ถึงความชื่นชมผสมกับความหลงใหล ภายใต้ดีไซน์แห่งศาสตร์และศิลป์ ทั้งยังเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ไม่กี่ชิ้นจากนักออกแบบหรือนักประดิษฐ์ในยุคนั้น ที่มีบทบาทเสมือนหนึ่งเป็น "สัญลักษณ์" ในวัฒนธรรมสมัยนิยมเลยทีเดียว