เปิดใจ‘พระมหาไพรวัลย์’ เรื่องไหนโยมสงสัย อาตมาตอบให้

เปิดใจ‘พระมหาไพรวัลย์’  เรื่องไหนโยมสงสัย อาตมาตอบให้

ทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์ เรื่องพระๆ ยังเป็นกระแสต่อเนื่อง เรื่องนี้"พระมหาไพรวัลย์" มีคำตอบ ตั้งแต่เรื่องไม่สำรวม,ตลกฮาเกินพระ,พระสามนิ้ว,พระเซเลบ ฯลฯ ซึ่งคำตอบอาจไม่ถูกใจทุกคน...

เรื่องราวไลฟ์สด พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ และพระมหาสมปอง ตาลปุตโต วัดสร้อยทอง บางซื่อ ยังเป็นประเด็นที่คนในสังคมตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง  ตั้งแต่เสียงหัวเราะที่เกินงาม(โดยเฉพาะเสียงหัวเราะพระมหาไพรวัลย์),ตลกฮาเกินพระ ,ทำไมพระยุ่งเกี่ยวกับการเมืองฯลฯ

ล่าสุด “จุดประกาย-กรุงเทพธุรกิจ” มีโอกาสคุยกับพระมหาไพรวัลย์ในหลายมุม และทุกเรื่องมีคำอธิบาย อาทิ 

"ถ้าจะไม่พูดการเมืองเลย เป็นไปไม่ได้..."

"สอนให้คนทำบุญเยอะๆ แล้วเอาเทพมาไว้ในวัดให้คนมาไหว้ขอพร เพื่อที่จะถูกหวย ถูกต้องแล้วหรือ"

พระมหาไพรวัลย์ นักบวชที่สนใจทั้งการเมือง สังคม และชอบอ่านหนังสือทุกแนว ท่านจบปริญญาโทพุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ล่าสุดกำลังศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ มีคำอธิบายเรื่องเหล่านี้... 

 

บางคนบอกว่าการเทศน์ของพระอาจารย์ไม่เหมาะสม มีคำอธิบายอย่างไร

การตลกโปกฮาของเราไม่ได้เปลี่ยนคำสอนของพระพุทธเจ้า เรายังสอนหลักให้คนพึ่งตนเอง มีกำลังใจ เห็นศักยภาพตัวเอง ไม่ได้สอนให้งมงาย

ถ้าเมื่อไรอาตมาสอนให้คนมอมเมา พึ่งวัตถุอย่างอื่น บนบานศาลกล่าว นั่นคือการเปลี่ยนคำสอนของพระพุทธเจ้า

แม้อาตมาจะสอดแทรกมุก  แต่แนวทางยังเหมือนเดิม ทำให้คนพ้นทุกข์ พ้นความเครียด หาความสุขจากเสียงหัวเราะได้บ้าง อาตมาไม่ได้หลุดไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้า

พระมหาไพรวัลย์ (ภาพ : กรุงเทพธุรกิจ)

ในเรื่องความสำรวม ลองนึกถึงความเป็นจริง เวลาที่เราเข้าหาพระที่คุ้นเคยมากๆ ไม่มีการแหย่ แซว หรือหัวเราะเลยหรือ ไม่ใช่หรอก

พระก็ยังเป็นมนุษย์ ตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระอานนท์ที่ว่าบรรลุโสดาบันยังร้องไห้ พระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์แล้ว ตอนข้ามแม่น้ำยังกระโดดเหมือนเด็กๆ เพราะเป็นอุปนิสัยดั้งเดิมที่สะสมมานาน และยังหลงเหลืออยู่ขันธสันดาน

 

มีพระผู้ใหญ่หลายรูปออกมาตำหนิการไลฟ์สด ?

ตำหนิก็รับ อาตมารับฟัง  ต้องขอบคุณที่ท่านมีเมตตา พระอาจารย์สมปองพูดเสมอว่า ถ้าวันไหนพระท่านไม่พูดถึงเราสิ อันนั้นน่าห่วง เพราะท่านไม่สนใจ ปล่อยเราแล้ว ไม่ว่าพระเทพปฏิภาณวาที (ท่านเจ้าคุณพิพิธ) หลวงพ่อพยอมดีมาก พูดชัดว่า ถ้าไม่ดื้อ ดีทุกอย่าง 

ถ้าอะไรพอปรับได้ ก็ปรับ หาวิธีการ เทคนิค ให้พอดี แต่ก็ยังมีความฮา อารมณ์ขันอยู่

 

แล้วกรณีที่เข้าไปข้องเกี่ยวกับการเมือง...ใช่กิจของสงฆ์ไหม

การเมืองกับศาสนาแยกกันไม่ได้ อาจารย์พุทธทาสเคยพูดว่า คนที่บอกว่าการเมืองกับศาสนาไม่เกี่ยวข้องกัน นั่นหลับตาพูด ธรรมะเกี่ยวกับการเมืองมีไหม มีเยอะแยะ จักกวัตติสูตร อัคคัญญสูตร ....

สูตรเหล่านี้พูดถึงวิธีการปกครองทั้งหมด ทำอย่างไรให้รู้จักแจกจ่ายทาน ลดความเหลื่อมล้ำ ให้คนมีที่ทางทำมาหากิน แล้วคนปกครองมีธรรม ไม่ประพฤติผิดฆ่าคน

ถ้าจะไม่พูดการเมืองเลย เป็นไปไม่ได้ แต่จะพูดยังไงให้เป็นเชิงบวก ไม่สนับสนุนให้คนใช้ความรุนแรง ไม่ว่าฝ่ายไหน รัฐหรือประชาชน ควรมีพื้นที่พูดคุยกัน ซึ่งหลังจากนี้อาตมาจะพยายามทำเรื่องเหล่านี้

 

ศาสนาต้องรับใช้สังคมอย่างไร ?

ถ้าศาสนาไม่อยู่กับสังคม ศาสนาจะอยู่กับใคร พระพุทธเจ้าสร้างศาสนามา แล้วไม่รับใช้สังคมหรือช่วยคน หากพระพุทธเจ้าไม่เทศน์ เป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า รู้องค์เดียวไม่ต้องสอนคนอื่นได้ไหม

พระพุทธเจ้าตรัสว่า“ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขของคนหมู่มาก คนหมู่มากก็คือสังคม” 

พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่า ให้เธอเที่ยวจาริกไปเพื่อความสุขของตัวเอง อาตมาถือคตินี้ จะทำยังไงให้ศาสนาไม่ตายไปจากสังคม นี่คือ การบ้านโจทย์ที่อาตมาคิดอยู่เสมอ ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

แก่นของธรรมะกับเปลือกนอกต่างกัน และมีคำอธิบาย(ภาพ : กรุงเทพธุรกิจ)

 

ช่วงที่ไลฟ์สด ก็มีสื่อส่องว่า ท่านอ่านหนังสืออะไรบ้าง

การอ่านหนังสือมีส่วนสำคัญที่ทำให้เราเป็นแบบนี้ เราอ่านหนังสือเยอะ อ่านหนังสือก็จะเห็นแง่มุมทางสังคม เชิงมนุษยศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศาสนา สังคม การเมือง เห็นหมด 

คนส่วนใหญ่มองประเด็นแยกเป็นส่วนๆ ทั้งๆ ที่มีความเกี่ยวเนื่อง เป็นอิทัปปัจจยตา(ผลทุกอย่างมาจากเหตุ)

ถ้าจะบอกว่า เวลาพูดถึงธรรมะ ต้องเป็นธรรมะล้วนๆ พูดการเมืองไม่ได้ ถ้าศึกษาดีๆ อ่านเยอะๆ มันมีความเกี่ยวเนื่องกัน

 

ตอนเด็กๆ พระอาจารย์ฝันอยากเป็นอะไร

เราเกิดในครอบครัวยากจน ก็เลยไม่มีความฝัน ถ้าเป็นเด็กฐานะดีหน่อย คงฝันอยากเป็นโน้นเป็นนี่ อาตมาก็บวชได้เรียนหนังสือ ไม่ต้องฝัน ไปทางไหนก็ทางนั้น เมื่อเรามีวุฒิภาวะ ก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะใช้ชีวิตแบบไหน

 

เมื่อตั้งคำถามกับชีวิต ค้นพบคำตอบไหม

เวลาพูดถึงอนาคต คนก็จะพูดถึงความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ความเจริญก้าวหน้า สำหรับอาตมาไม่มีสิ่งเหล่านี้ อาตมาจะมีความสุขที่ได้ทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่างมีคนติดตามไลฟ์สดกว่าสองแสนคน แค่นี้คือความสำเร็จที่เราพอใจ ก็แค่นั้นเอง

 

มีคนบอกว่า พระอาจารย์เป็นพระนักคิด ? 

อาตมาไม่เคยจำกัดตัวเอง แต่ถูกติดป้ายจากคนอื่นว่า เป็นพระนักคิดนักเขียน บางทีก็ถูกจำกัดว่าเป็นพระนักเคลื่อนไหวทางการเมือง สภาพเหมือนแกนนำม็อบยังไงไม่รู้

 

เป็นแกนนำม็อบ?

อาตมามองว่า อะไรที่เราถูกมอง เขาไม่ได้มองจากสิ่งที่เราเป็น เพราะสื่อพยายามยัดเยียดอะไรบางอย่างให้คนจดจำภาพเราแบบนั้น ใครจะรู้บ้างว่า อาตมาเคยเป็นพระที่ซีเรียส 

เวลานึกถึงความขัดแย้งในสังคม สื่อฯต้องมาถามพระมหาไพรวัลย์ พอวันหนึ่งเราเทศน์ฮาๆ มีความสุขกับคนบ้าง แม้กระทั่งพระพยอมยังพูดว่า ไม่คิดว่าพระมหาไพรวัลย์จะมีมุมแบบนี้ ก็เลยสรุปว่า สิ่งที่คุณมองเรา ไม่ใช่สิ่งที่เราเป็นทั้งหมด

 

ไม่ได้เปลี่ยนจากพระนักคิดนักพัฒนา มาเป็นพระนักเทศน์สายฮา ? 

บุคลิกแบบนี้(ฮาๆ )อาตมามีมานานแล้ว รู้ในมุมแคบๆ ในกลุ่มโยมที่สนิทกัน หรือพระเณรลูกศิษย์ที่เราสอนหนังสือ อีกอย่างเรารู้ตัวดีว่า เราเป็นอะไร 

อย่างเรื่องการเมือง อาตมาไม่ได้ถึงขั้นเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือล้มล้างรัฐบาล ไม่ใช่แบบนั้น ที่ทำมากที่สุดแค่ให้ความเห็น แต่ถามว่าในสังคมไทยให้พื้นที่กับความเห็นต่างไหม...ไม่มี

แค่คุณแอคชั่นเรื่องใดนิดเดียว คุณโดนติดป้ายทันที ยุคแรกๆ ก็บอกว่าอาตมาเป็นพระเสื้อแดง ต่อมาก็พระสามกีบ 

อาตมาถืออย่างอาจารย์สุลักษณ์ อาตมาไม่ได้เอนหรือมีธงในใจว่าต้องเป็นฝั่งนี้เท่านั้น เราถือเหตุผล ธรรมะและความเป็นธรรมเป็นสำคัญ

 

เรื่องไลฟ์สดธรรมะ พระอาจารย์ทำมานานแค่ไหน

ปกติไลฟ์สดคนเดียวมีคนดูสี่หมื่นกว่า พอมาคุยธรรมะคู่กับพระอาจารย์สมปองก็มีคนสนใจเยอะ และสมัยที่พระอาจารย์สมปองดังแล้ว อาตมาเพิ่งอายุ 15 ปี ท่านก็เป็นไอดอลเรา

 

การเทศน์ให้คนรุ่นใหม่ฟัง วางแนวทางอย่างไร

ต้องหาเทคนิควิธีดึงคนรุ่นใหม่ที่ไม่เอาศาสนากลับมา พูดภาษาเดียวกับเขา พอเด็กไม่เข้าวัดก็ว่าเด็ก พอเด็กเข้าวัดก็ว่าอีก แล้วต้องการอะไร ถ้าไลฟ์สดของอาตมามีคุณมากกว่า มีโทษเล็กๆ น้อยๆ ก็ถือเอาคุณเป็นสำคัญ ถ้ามีโทษมากกว่าคุณ ก็อย่าทำเลย

สิ่งที่ยากของการสอนคือ ทำยังไงให้คนอยากฟัง ไม่ต้องพูดถึงคนรุ่นใหม่หรอก คนรุ่นกลางๆ เวลาพูดถึงธรรมะคนก็ไม่เอาแล้ว

เมื่อก่อนอาตมาเทศน์บนศาลา คนทำบุญเยอะ ถึงช่วงเทศน์เหลือ 5-6 คน เพราะคนรู้สึกว่า น่าเบื่อ ถ้าพูดถึงธรรมะเท่ากับง่วง ไม่อยากฟัง

ต้องดึงคนให้ได้ก่อน ทำยากมาก และธรรมะจะไปสู่คนทุกคนเป็นไปไม่ได้ ไม่มีทาง 

แน่นอนกลุ่มที่ติดตามอาตมาตอนนี้คือ วัยรุ่น ก็ต้องทำธรรมะสำหรับวัยรุ่น ไม่ใช่ธรรมะที่เหมาะกับคนสูงวัยหรือคนที่ต้องการเนื้อหาจริงจัง เป็นไปไม่ได้

 

ในมุมพระอาจารย์การเผยแพร่ธรรมในสังคมไทยเป็นอย่างไร

มีปัญหาคือ บางทีไม่ถูกต้องตามหลักคำสอน ธรรมะส่วนใหญ่ไม่ได้สอนให้คนหันกลับมานับถือตัวเอง พึ่งพาตัวเองในแบบพระพุทธเจ้าอยากให้เป็น คือถือธรรมเป็นใหญ่ ธรรมะส่วนใหญ่เป็นธรรมะมอมเมา

 

ธรรมะมอมเมา ?

สอนให้คนทำบุญเยอะๆ แล้วเอาเทพมาไว้ในวัดให้คนไหว้ขอพร เพื่อที่จะถูกหวย หรือสอนธรรมะโลกหลังความตาย จะได้ผลธรรมต้องรอให้ตายก่อน ทำบุญมากๆ ตายไปขึ้นสวรรค์ ได้โน้นได้นี่ นี่แหละธรรมะมอมเมา

ทำบุญก็ดี อย่าเมาบุญ อาจารย์พุทธทาสบอกว่า เมาบุญก็เมาอย่างหนึ่ง เมาความดีก็เป็นสุดยอดความเมาทั้งหมด

 

เป็นพระนักคิดนักเขียน แล้วมีเวลาปฏิบัติธรรมไหม

อาจารย์พุทธทาสพูดไว้ชัด การทำงานคือการปฏิบัติธรรม คนก็นึกว่าการปฏิบัติธรรมคือการนั่งเงียบๆ หามุมสงบๆ หรือเข้าโบสถ์สวดมนต์ แต่ท่านอาจารย์พุทธทาสหมายถึงการเอาธรรมไปปฏิบัติตอนทำงาน ปฏิบัติธรรมแล้วอยู่กับคนในสังคมให้ได้ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าปฏิบัติธรรมแล้วอยู่ตัวคนเดียว เวลาอยู่กับคนอื่น อยู่ไม่ได้ แล้วปฏิบัติธรรมจะมีประโยชน์อย่างไร

อาตมาก็สอนหนังสือเผยแพร่ธรรมะทำงานกับสังคม นี่แหละคือการปฏิบัติธรรม และต้องกลับมาที่คนมองเรื่องการปฏิบัติธรรมแคบหรือกว้างแค่ไหน