"รังษิธร ภาณุพันธุ์" ZERO COVID THAILAND ต้องเกิดขึ้นได้ในเมืองไทย

"รังษิธร ภาณุพันธุ์"  ZERO COVID THAILAND ต้องเกิดขึ้นได้ในเมืองไทย

ชีวิตนี้คงหนี ‘โควิด’ ไปไม่พ้น แล้วจะอยู่กับมันอย่างไร เอาแค่เรื่อง‘ละอองลอย’ ถ้าเชื้อแพร่ระบาด อันตรายไม่แพ้ ละอองฝอย

“ช่วงต้นปี 2020 ผมเดินทางไปประเทศอเมริกา มีการระบาดของไวรัส โควิด-19 ข่าวรายงานคนติดเชื้อตายทุกวัน จากหลักร้อยมาเป็นหลักพัน แล้วตายเยอะสุดในเมืองที่เราอยู่ ผมมีคำถามในใจทำให้ไปค้นหาคำตอบด้วยตัวเองจนพบว่า การตรวจเยอะ ทำให้เจอเยอะ

คนที่นั่นให้ความสำคัญกับการ ตรวจโควิด มาก ขับรถมาต่อคิวกันเป็นพันๆ คัน ผมเองก็ขับรถไปตรวจโควิดทุกอาทิตย์ที่ Dodger Stadium เป็นสิบๆ รอบ เพราะเราจะ "ไม่สามารถทำอะไรได้เลยจากสิ่งที่วัดผลไม่ได้" นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งได้กล่าวไว้

ผมกลับมาเมืองไทยปลายเดือนกุมภาพันธ์ จึงได้ร่วมมือกับน้องสาวและเพื่อนๆ ที่สนใจศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์ในหลายๆ ประเทศ ที่มองเห็นว่า ทำไมประเทศหนึ่งจัดการโควิดได้ดี แต่อีกประเทศหนึ่งถึงเอาไม่อยู่ รวมตัวกันเป็นกลุ่ม endcononavirus.org ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก

เอาความรู้ที่แต่ละคนมีหลากหลายแขนง มาช่วยกันวิเคราะห์ปัญหาของแต่ละประเทศ แล้วเผยแพร่ความรู้วิธีการรับมือให้กับประชาชน โดยเน้นไปที่ การปฏิบัติตัว การเปลี่ยนพฤติกรรม มากกว่า เป็นการจัดการโควิดแบบไม่ใช้ยา"

Cr. ม.ล.รังษิธร ภาณุพันธุ์ โก้-ม.ล.รังษิธร ภาณุพันธุ์ 

โก้-ม.ล.รังษิธร ภาณุพันธุ์ บุตรชายคนโตของ ม.ร.ว.พันธุรังษี ภาณุพันธุ์ และ อาภาวรรณ ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา พูดถึงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้การมองโลกของเขาเปลี่ยนไป จนอยากลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง 

เขาและน้องสาว โม-ม.ล.รังษิอาภา ภาณุพันธุ์ จึงได้ทำสิ่งนี้ขึ้นมา ในเดือนเมษายน เปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น Zero Covid Alliance  มีอยู่ในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, เนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลีย

ส่วน เพจ Zero Covid Thailand เปิดตัวในเดือนพฤษภาคม 2564 ปัจจุบัน มีผู้ติดตาม 109,508 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ส.ค. 2564) เป็นเพจที่นำกรณีศึกษาจากต่างประเทศมาเผยแพร่ให้คนไทยรู้ว่าโควิดสามารถติดต่อกันได้ผ่านทาง ‘อากาศ’ ทำให้คนไทยระวังมากขึ้น"

เพจนี้มีวัตถุประสงค์อย่างไร

ผมอยากให้คนไทยติดโควิดน้อยลง หรือ เป็นศูนย์ ระยะหลังงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า ละอองลอย (aerosol) เป็นสาเหตุทำให้คนติดโควิดจำนวนมาก ซึ่งยังไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง รวมถึงประเทศไทยที่คอยระวังแต่ ละอองฝอย (Drop let) น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ

มีการติดโควิดจากหลาย ๆ เคสในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ อย่าง เคสฮ่องกง ที่อพาร์ทเมนท์หนึ่งมีคนติดโควิด ทั้งที่สองคนนี้ไม่เคยรู้จักหรือพบปะกันมาก่อน และอยู่ห่างกันถึง 10 ชั้น แต่ติดโควิดได้จากท่อห้องน้ำที่ตรงกัน

ส่วนอีกเคสหนึ่ง โบสถ์ในออสเตรเลีย มีคนติดโควิดในคนสองกลุ่มที่ไม่รู้จักกัน มาโบสถ์กันคนละวัน แต่มาฟังนักร้องในโบสถ์คนเดียวกันที่ติดโควิด ที่สำคัญ คนในโบสถ์ที่อยู่ห่างจากนักร้องถึง 15 เมตรก็ยังติดได้ เพราะเชื้อโควิด ละอองลอย (aerosol) มากับอากาศ โดยลมพัดพาไป

Cr. ม.ล.รังษิธร ภาณุพันธุ์ กับเครื่องวัดสภาพอากาศ CO2 ม.ล.รังษิธร ภาณุพันธุ์ กับเครื่องวัดปริมาณคาร์บอนได้ออกไซด์ 

ผมจึงออกมาพูดและสื่อสาร ถ้าช่วยคนได้ ทำให้คนปฏิบัติตาม แล้วลดการตายการเจ็บลด เพจนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อสื่อสารเรื่องนี้ให้คนทั้งประเทศได้รู้และป้องกันตัวเองได้อย่างแท้จริง

ซึ่งสิ่งที่ทำอยู่อาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่เรียนมา ปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ สาขาสื่อสารการตลาด มหาวิทยาลัยรังสิต, ปริญญาโท Msc. Consumer Marketing, The School of Management, University of Liverpool 

ตอนเด็กๆ มีความฝันว่าโตขึ้นอยากจะเป็นอะไร

ตอนเด็กๆ ผมชอบเรื่องจักรกล ชอบรถยนต์กับเครื่องบิน พอวาดรูปได้ ก็วาดรูปเครื่องบินโบอิ้ง 747 แบบลงรายละเอียด ปีกมันมีแฟลตกี่อัน มีเครื่องยนต์ 4 ตัว มีหน้าต่างกี่บาน 

ภาพที่นักบินคนหนึ่งถ่ายไว้ระหว่างบินจากอังกฤษไปไอซ์แลนด์แล้วมองเห็น ‘ออโรร่า’ (Aurora : แสงเหนือ) จากหน้าต่างเครื่องบิน มันกลายเป็นภาพความฝันของผมอยู่พักหนึ่งเลย 

ผมอยากเป็นนักบิน ไปสอบ 2 รอบแล้วไม่ได้ อย่างน้อยผมก็ได้ทำสุดทางแล้ว ทำให้รู้ซึ้งถึงประโยคที่ว่า 'ทำได้, ทำไม่ได้, หรือ ไม่ได้ทำ' ในเมื่อมันไม่ได้จริงๆ ก็ต้องแยกทาง

มีความฝันที่สองไหม

ผมได้รู้จักตัวเองมากขึ้นในช่วงเรียนปริญญาตรี อาจารย์ตั้งโจทย์ให้ทำโครงการห้ามสูบบุหรี่ แทนที่เราจะเอารูปคนสูบบุหรี่หรือคนเป็นโรคไปสื่อสารตรงๆ ผมก็เปลี่ยนมาคิดว่า ถ้าปอดสะอาด ชีวิตมันก็จะดีขึ้นในแง่ไหนได้บ้าง

ลมหายใจที่ดี บรรยากาศที่ดี เขาก็จะลืมบุหรี่ไปเอง ผมจึงทำ โครงการปอดสะอาด ขึ้นมา สร้างแบรนด์เอง ทำเสื้อโปโลสีฟ้ามีรูปปอด แล้วตั้งทีมไปรณรงค์ ลงพื้นที่จริง ผมจึงค้นพบตัวเองว่า เราชอบการ Branding การสร้างอัตลักษณ์

พอเรียนจบ ผมเลยไปสมัครงานที่ SUIT SELECT (THAILAND) แบรนด์สูทของญี่ปุ่นที่มาทำตลาดในเมืองไทยในตำแหน่ง Management Trainee แล้วต่อมาก็เป็น Brand Manager ปั้นแบรนด์นี้ขึ้นมาให้คนไทยรู้จักมากขึ้น 

ทำยังไงให้ผู้ชายไทยหันมาใส่สูท ในด้านส่วนตัวก็เริ่มแต่งตัวเป็น เริ่มรู้วิธีการต่าง ๆ พอรู้ลึกมากขึ้น ก็มีสื่อสิ่งพิมพ์มาเชิญให้ผมไปเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับแฟชั่นลงในนิตยสารต่าง ๆ 

สูทญี่ปุ่นมีความแตกต่างจากสูทฝรั่งอย่างไร

สูทของฝรั่ง สไตล์อังกฤษ, อิตาลี จะมีสองคัตติ้ง แบบคลาสสิค กับ แบบร่วมสมัย พอมาหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม อังกฤษก็เปลี่ยนจาก บิ๊กเดฟ มาเป็น ฟิตติ้ง จากกอง ๆ ที่ขากางเกงมาเน้นพอดีตัวมากขึ้น สำหรับคนเอเซียแล้ว ถ้าเอาสูทยุโรปอิตาลีอังกฤษมาใส่มันจะไม่ฟิตพอดีร่างคนเอเชียโดยตรง

ญี่ปุ่นจึงเอาคนเอเชียประมาณพันคนที่มีรูปร่างเตี้ยสุดจนถึงสูงสุดมาหาค่าเฉลี่ย แล้วทำเป็น ระบบไซส์ ออกมา โดยไม่ต้องสั่งตัด เป็น Ready to wear แล้วเอาสไตล์กลิ่นอายความไฮโซของประเทศเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในสูทญี่ปุ่น

โดยสรีระของคนไทยกับคนญี่ปุ่น ไม่แตกต่างกันมากนัก แล้วเขามีจำนวนไซส์เยอะมาก เวลามีงาน ถ้ามาที่ร้าน Suit Select ก็จะสามารถเลือกสวมใส่ให้ฟิตติ้งพอดีตัวได้เลย ตอนนี้ผมเป็นที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ด้านมาร์เก็ตติ้งของที่นี่ครับ

โลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว คิดว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

ดินแดนแห่งความฝันที่ผมอยากให้เกิดขึ้นและครอบคลุมมากที่สุดคือ ภูมิคุ้มกันหมู่ แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ การกลายพันธุ์ ดังนั้นการปฏิบัติตัวแบบนิวนอร์มอล การเฝ้าระวัง จึงต้องมีอยู่ แล้วก็ต้องเพิ่มเรื่อง การแพร่เชื้อทางอากาศ (Airborn Transmission) เข้าไปด้วย อีกทั้งเฝ้าระวังเรื่อง ดัชนีความแออัด

ผมจึงคิดค้น 'สูตร 2 V' ขึ้นมา V ตัวแรกคือ Vaccin : วัคซีน, V ตัวที่สองคือ Ventilation : การระบายอากาศ ผมได้ไปเรียนเรื่องการจัดการโควิดในสถานที่ทำงานกับโปรเฟสเซอร์สองท่านและนักวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มีการเอานวัตกรรมการระบายอากาศในโรงงานมาใช้

ทำเป็นหลักสูตร ถ่ายทอดผ่าน ZOOM ให้คนไทยทั้งประเทศได้เข้าไปเรียนรู้ฟรี มีสูตรคำนวนการระบายอากาศ, การใช้ระบบฟิลเตอร์, มีเรื่องวิศวกรรม, มีเรื่องประสิทธิภาพของหน้ากาก และเหตุผลว่าทำไมบุคลากรด่านหน้าควรต้องใส่ N95, N99

Cr.ม.ล.รังษิธร ภาณุพันธุ์ ม.ล.รังษิธร ภาณุพันธุ์ กับงานจิตอาสาช่วยโควิด

ทำไมการระบายอากาศถึงช่วยจัดการโควิดได้

นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งบอกไว้ว่า "มนุษย์ส่วนใหญ่ 90 % เป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในอาคาร" อยู่ในที่ร่ม ไม่ได้อยู่กลางแจ้งเหมือนสัตว์ประเภทอื่น เมื่อเราอยู่รวมกันมากๆ การระบายอากาศ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งในช่วงที่มีโรคระบาด ยิ่งต้องระบายอากาศให้มาก

การจัดการการระบายอากาศ สำหรับผู้ที่อยู่อาศัยในห้องแคบๆ ทางออกเดียวที่จะช่วยได้ คือ ATK ชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง (Antigen Test Kit : ATK) เพื่อคัดกรองคนที่ติดเชื้อให้แยกออกมาจากคนที่ไม่ติด เพื่อจะได้ไม่เป็นกันทั้งหมด

ยังมีเครื่องมืออีกตัวหนึ่งที่ช่วยได้ ก็คือ เครื่องวัดปริมาณ CO2 (คาร์บอนไดออกไซด์) ใช้วัดสภาพอากาศในบริเวณนั้นๆ ว่าแออัดหรือไม่ มีอากาศดีมีมากน้อยแค่ไหน ถ้ามี CO2 เยอะ เราก็ยิ่งเสี่ยง ถ้าหากสูดลมหายใจของคนติดโควิด ก็ทำให้เราติดได้ 

เครื่องวัดปริมาณ CO2 (คาร์บอนไดออกไซด์) ถูกใช้เป็นมาตรการของหลายๆ ประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์ ทุกวันนี้มีคนเจ็บคนตายทุกวัน ผมและทีมงาน ZERO COVID จึงทำทุกอย่างที่ช่วยได้ ผมมีข้อแนะนำ 7 ข้อมาฝากดังนี้

7 ข้อที่ต้องรู้ในการป้องกันโควิด 

1.เชื้อไวรัสโควิด-19 ลอยอยู่ในอากาศได้นาน 3 ชั่วโมง สิ่งที่ควรกังวลไม่ใช่ละอองฝอยจากการไอจาม แต่เป็นละอองลอยจากการพูด, การหายใจ ที่ลอยค้างอยู่ในอากาศ ยิ่งในสถานที่แออัดจะทำให้เชื้อโควิดอาศัยอยู่ในอากาศได้มากขึ้น

2.เชื้อไวรัสโควิด-19 กระจายในอากาศได้ไกลกว่าที่เราคิด จากงานวิจัยชี้ว่า เชื้อโควิดสามารถเดินทางในอากาศได้ 15 เมตรเป็นอย่างต่ำ

3.หลีกเลี่ยงห้องน้ำสาธารณะ เพราะเป็นสถานที่มีความเสี่ยงต่อการรวมตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 เราอาจไม่ได้ติดโควิดจากการสัมผัสสิ่งของในห้องน้ำ แต่อาจติดเพราะความแออัดของสภาพอากาศในนั้น นอกจากนี้ การกดชักโครกแบบไม่ปิดฝายังทำให้เชื้อโควิด-19 แพร่กระจายสู่อากาศอีกด้วย

4.Social Distancing ได้ผลน้อยกว่าที่คิด เพราะเชื้อโควิด-19 ไม่ได้อยู่แค่ในระยะ 1-2 เมตร ยิ่งถ้าเราอยู่ในสถานที่แออัด เชื้อโควิดก็ยิ่งกระจายได้ทั่วทั้งห้อง แต่สุดท้ายจะติดหรือไม่ติด ขึ้นอยู่กับตัวเราว่าจะป้องกันตัวได้ดีมากน้อยขนาดไหน

5.หน้ากากที่เหมาะสมที่สุดในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 คือหน้ากากตระกูล N95, KN95, KF94 หากจำเป็นต้องใช้หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยก็ให้สวมใส่อย่างถูกวิธี และการใส่หน้ากากอนามัย 2 ชั้นก็ช่วยให้ป้องกันได้มากขึ้น 

6.การเปิดพัดลม ระบายอากาศ และเปิดหน้าต่างช่วยลดความเสี่ยงได้ การเปิดพัดลมช่วยลดความเสี่ยงได้มากกว่า เพราะพัดลมจะพัดเอาละอองลอยที่มีเชื้อไวรัสโควิด-19 ออกไปจากห้องได้

7.วิธีการขับรถให้ปลอดภัยในช่วงโควิด-19 คือ ลดกระจกรถลงทั้ง 4 บาน และกดปุ่มให้อากาศจากภายนอกเข้ามาหมุนเวียนในรถ จะช่วยลดความแออัดในรถได้