เช็คสิทธิ 'ลูกจ้าง'ที่ประสบภาวะ 'น้ำท่วม' ขาดงานต้องได้รับงานชดเชย

เช็คสิทธิ 'ลูกจ้าง'ที่ประสบภาวะ 'น้ำท่วม' ขาดงานต้องได้รับงานชดเชย

กสร. ชี้แจงสิทธิของ'ลูกจ้าง'ที่ประสบภาวะ 'น้ำท่วม' ไม่ถือเป็นการขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ หากนายจ้างเลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย

นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและโฆษกกรม (กสร.) เปิดเผยว่า
จากสถานการณ์ฝนตกหนักทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ จนส่งผลให้ลูกจ้างไม่สามารถเดินทางเข้าทำงานในสถานประกอบกิจการของนายจ้างได้นั้น

อ่านข่าว-สรุป 'น้ำท่วม' 13 จังหวัด เดือดร้อนกว่า 65,000 ครัวเรือน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดูแลสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างในพื้นที่ที่ไม่สามารถทำงานได้เพราะประสบภาวะน้ำท่วม

  • 'ลูกจ้าง'ประสบภาวะ'น้ำท่วม'มาทำงานไม่ได้ ต้องได้รับเงินชดเชย

การที่ลูกจ้างไม่สามารถเดินทางไปทำงานในสถานประกอบกิจการของนายจ้างได้เพราะเกิดภาวะน้ำท่วมถนนสาธารณะ ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ตามปกติไม่ใช่ความผิดของลูกจ้าง จึงไม่ถือว่าลูกจ้างขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ นายจ้างจะนำมาเป็นเหตุลงโทษวินัยออกหนังสือเตือนรวมถึงเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไม่ได้

หากนายจ้างเลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย ลูกจ้างที่ประสบปัญหาการเดินทางไม่อาจไปทำงานได้ชั่วคราวควรมีการแจ้งให้นายจ้างหรือหัวหน้างานทราบทันที เพื่อให้นายจ้างได้จัดเตรียมลูกจ้างอื่นทำงานแทน หรือบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่กิจการของนายจ้างด้วย

โฆษก กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์การประสบภัยธรรมชาติส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการของสถานประกอบกิจการหลายแห่งซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งและการเลิกจ้าง การแก้ไขปัญหาแรงงานในภาวะเช่นนี้สมควรที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องพูดคุยกันด้วยเหตุผล ร่วมมือกันเพื่อให้เกิดความสงบสุขด้านแรงงาน ซึ่งระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำมาซึ่งความสงบสุขดังกล่าว